|
ความหวังสุดท้ายของ Detroit
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
Detroit "เมืองแห่งรถยนต์" เคยฝากความหวังไว้กับโรงงานผลิตรถยนต์ที่ทันสมัยที่สุดของ GM เมื่อ 23 ปีก่อน แต่ก็ต้องผิดหวัง บัดนี้ โรงงานแห่งเดียวกันนี้กำลังจะผลิตรถพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุด Detroit จะฝันสลายอีกหรือไม่
โรงงานประกอบรถยนต์ Detroit Hamtramck "Det Ham" ของ GM เป็นโรงงานผลิตรถยนต์เพียง 1 ใน 2 แห่งที่ยังหลงเหลือและยังคงผลิตรถยนต์อยู่ในเมือง Detroit รัฐมิชิแกนของสหรัฐฯ เมืองซึ่งการผลิตรถยนต์ได้ถือกำเนิดขึ้น
GM สร้างโรงงานแห่งนี้ขึ้นเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ในช่วงที่อุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันกำลังประสบวิกฤติครั้งใหญ่จากการรุกไล่ของรถนำเข้าจากญี่ปุ่น ค่ายรถอเมริกันต้องตัดรายจ่ายกันอย่างหนัก GM เชื่อว่าการสร้างโรงงานใหม่คือคำตอบ แต่จะต้อง เป็นโรงงานที่ใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่นๆ Coleman Young นายกเทศมนตรี Detroit ในขณะนั้น มองเห็นโรงงานใหม่ของ GM ที่กำลังจะสร้างขึ้น เป็นเหมือนสิ่งที่สวรรค์ส่งมา และยอมที่จะรื้อถอนอาคารบ้านเรือน ร้านค้าและโบสถ์ทั้งหมดในเขต Poletown ทั้งเขต เพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ของ GM จนถูกชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านอย่างหนัก และเกิดคดีความฟ้องร้องมากมาย
นายกเทศมนตรีเป็นฝ่ายชนะ GM สร้างโรงงานสำเร็จแต่ผลที่เกิดขึ้น กลับไม่ได้ดังหวัง หลายปีหลังจากนั้น ความต้องการซื้อรถของ GM เหือดหายไปเรื่อยๆ และคนงานของโรงงานซึ่งแต่เดิมมี 6,000 คนก็ลดลงเหลือเพียง 4,000 คน เหลือ 3,000 คนและน้อยกว่านั้น โรงงานแห่งนี้กลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความอัปยศของการวางแผนยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดของ GM ที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานานหลายสิบปี เป็นตัวที่สะท้อนความหยิ่งยโสของบริษัทหนึ่งที่ยังคงเชื่อว่า สิ่งที่ดีกับ GM ย่อมดีต่อ Detroit และดีต่อประเทศ
มาวันนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันเผชิญวิกฤติอีกครั้งและ GM ยังคงคิดเหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยน โดยคิดว่าเทคโนโลยีคือคำตอบและโรงงานแห่งเดียวกันนี้ คือโรงงานที่ GM วางแผนจะให้เริ่มผลิตรถ Chevy Volt รถ hybrid ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าราคา 40,000 ดอลลาร์ โดยจะเริ่มการผลิตตั้งแต่ปลายปีหน้า
ไม่มีเดิมพันครั้งใดจะสูงไปกว่านี้อีกแล้ว ทั้งต่อ GM ซึ่งเพิ่งโงหัวขึ้นจากมาตรา 11 กฎหมายล้มละลาย ต่อประชาชนผู้เสีย ภาษี ซึ่งเงินภาษีอากรจากพวกเขาถูกนำไปอุ้ม GM เป็นเงินกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้รัฐบาลอเมริกันกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 60% ของ GM ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกัน ซึ่งกำลังดิ้นรนปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ทั้งหมด ในยามที่ยุคเครื่องยนต์แบบใช้น้ำมัน กำลังเดินทางมาถึงช่วงสนธยา และต่อเมือง Detroit ซึ่งยังคงฝันว่าสักวันจะกลับไปรุ่งเรืองเป็นเมือง Motor City เหมือนเดิม แม้ว่าความฝันนั้นจะเลือนรางเต็มทีก็ตาม
Dave Bing นายกเทศมนตรีคนปัจจุบันของ Detroit กล่าวว่า Detroit จะยังคงเป็นบ้านและเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมการผลิตรถยนต์ต่อไป Detroit จะเป็นที่ที่เกิดการออกแบบและสร้างรถพลังงานไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ของยุคหน้า เมื่อต้นปี Jennifer Granholm ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมือง Detroit ได้อนุมัติการคืนเงินภาษี (tax credit) และเงินช่วยเหลือรวม 945 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนารถใช้พลังงานทางเลือกในมิชิแกน แม้กระทั่งรองประธานาธิบดี Joe Biden ถึงกับเดินทางไปยัง Detroit เพื่อไปแจกเงินช่วยเหลือ 1.35 พันล้านด้วยตนเองเมื่อเดือนสิงหาคม แต่ความช่วยเหลือทั้งหมดนี้มาทันเวลาหรือไม่ หรือว่า Detroit จะต้องฝันสลายอีกครั้ง
Detroit ในยุคทศวรรษ 60 เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลของการผลิตรถยนต์ ส่วน GM ก็เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดและมีกำไรมากที่สุดในอเมริกา แต่ตลอดทศวรรษ 1970 ถัดจากนั้น ค่ายรถญี่ปุ่นค่อยๆ กลืนกินส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อย่างมั่นคง จนสหรัฐฯ ขู่จะตั้งกำแพงภาษี ญี่ปุ่นแก้เกมด้วยการย้ายฐานการผลิต เข้าไปในสหรัฐฯ เสียเลย เริ่มต้นที่โรงงานของ Honda ใน Marysville ในรัฐโอไฮโอ ซึ่งเปิดในปี 1982 พอถึงปี 1990 ค่ายรถญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ทุกค่าย ต่างก็มีโรงงานอย่างน้อย 1 แห่งในอเมริกา โรงงานซึ่งใช้เครื่องจักรมากกว่าคน และไม่มีสหภาพแรงงาน ทั้งยังไม่เคยทำผิดกฎหมายอเมริกันในเรื่องสถานที่ตั้งโรงงาน คือตัวเร่งที่ทำให้ Detroit ตกต่ำ
โรงงาน Det-Ham ของ GM ถือกำเนิดขึ้นเพื่อหวังพลิกวิกฤติดังกล่าว ด้วยการเป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดในทุกๆ ทาง โรงงานซึ่งมีชั้นเดียว ประสิทธิภาพสูง และเต็มไปด้วยเทคโนโลยีล่าสุด George McGregor คนงาน GM วัย 63 ปี และทำงานกับ GM มานาน 41 ปี มองโรงงานใหม่ในสมัยนั้นด้วยสายตาที่ชื่นชม มันทั้งทันสมัย โอ่โถง ติดแอร์ และมีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมอยู่ในที่ในทางที่มันควรจะอยู่ McGregor และคนงานทุกคนรู้สึกว่า มันเป็นสถานที่ทำงานในอุดมคติ และรู้สึกภาคภูมิใจกับโรงงานใหม่อย่างมาก แม้ว่าคนงานหลายคนจะต้องตกงานเพราะถูกหุ่นยนต์มาแย่งงาน
อย่างไรก็ตาม McGregor เล่าว่า ดูเหมือนหุ่นยนต์ในโรงงานแห่งนี้จะมีปัญหาตั้งแต่วันแรกเลยทีเดียว เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหลายครั้งที่หาสาเหตุไม่ได้ จนลือกันว่าโรงงานใหม่มีอาถรรพณ์ เมื่อยอดขายของ GM ตกต่ำลงตลอด 25 ปีหลังจากนั้น GM ก็ต้องปลดคนงานไปเรื่อยๆ
แต่ปีนี้โรงงานแห่งนี้กำลังค่อยๆ ฟื้นการผลิตอีกครั้ง หลังจากปลดคนงานชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือน Teri Quigley ผู้จัดการโรงงานสาวบอกว่า โรงงานของเธอจะเริ่มการผลิตรถอย่างเต็มกำลังอีกครั้ง ในจำนวนโรงงานประกอบรถยนต์ทั้ง 14 แห่งของ GM ที่อยู่ในสหรัฐฯ มีเพียง 2 แห่งที่มีผู้จัดการโรงงานเป็นผู้หญิงและ Quigley คือหนึ่งในสอง
Quigley เล่าว่า ปัจจุบันโรงงาน Det-Ham ผลิตรถ 2 รุ่น คือ Cadillac DTS และ Buick Lucerne โดยใช้กำลังการผลิตไปเพียงส่วนเสี้ยวของกำลังการผลิตทั้งหมด ความหวังของโรงงาน ในขณะนี้คือ การที่จะได้ผลิต Volt ซึ่ง Quigley บอกว่า จะเริ่มผลิตแบบจำกัดจำนวนในเดือนมีนาคมปีหน้า ระหว่างนี้คนงานจะได้รับการฝึกเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษและเนื่องจากการผลิต Volt ที่นี่ จะเป็นเพียงการประกอบรถเท่านั้นจึงไม่จำเป็นต้องฝึกพิเศษเพิ่มเติมและไม่จำเป็นต้องเพิ่มคนงาน Volt จะเริ่มออกสู่ท้องถนนจริงๆ ในเดือนพฤศจิกายน 2010 อย่างช้าๆ GM ไม่ได้กำหนดจำนวนการผลิต Volt ที่แน่นอน Quigley บอกว่า จำนวนผลิตในช่วงแรกคงจะ "ต่ำ" ซึ่งอาจหมายถึงเพียงไม่กี่พันคันต่อปีในปีแรกคือปีหน้า แต่หลังจากที่ GM ทดสอบเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดจนแน่ใจแล้ว โรงงานแห่งนี้ก็จะได้ผลิต Volt แบบเต็มกำลังการผลิต
ไม่ว่า Detroit จะได้รับประโยชน์ใดๆ จาก Volt แต่ที่แน่ๆ คงไม่ใช่ในช่วงปีแรกๆ ถึงแม้หากยอดผลิต Volt จะพุ่งสูงถึงหลัก หมื่นก็ตาม เพราะโรงงาน Det-Ham สามารถทำงานได้เพียงกะเดียว ซึ่งไม่เพียงพอที่จะช่วยลดอัตราว่างงานที่สูงถึง 29% ของ Detroit อันเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราว่างงานเฉลี่ยทั่วประเทศถึง 3 เท่าได้ นอกจากนี้คนงานที่โรงงานนี้ยังไม่ได้เป็นชาว Detroit ด้วยซ้ำไป 70% ของคนงานอาศัยอยู่นอก Detroit GM ยังไปลงทุน 43 ล้านดอลลาร์ปรับปรุงโรงงานใน Wayne County ในมิชิแกน เพื่อประกอบชุดแบตเตอรี่ที่จะใช้เป็นแหล่งพลังงานของ Volt ซึ่ง Detroit ก็ไม่ได้ประโยชน์อีกเช่นกัน แม้ว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นรัฐมิชิแกน ซึ่ง Detroit ตั้งอยู่ก็ตาม
นอกจากนี้ อย่าลืมว่า GM ยังอยู่ในฐานะเป็นเพียงคนไข้ในความดูแลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เท่านั้น CEO คนใหม่ถูกส่งตรงมาจากรัฐบาล และ GM ก็ยังไม่เคยประสบความสำเร็จ ในการพัฒนารถพลังงานสีเขียวเลย ความหวังของ GM ที่กำลังหวังว่าจะสามารถกระโดดข้ามหน้าคู่แข่ง ด้วยเทคโนโลยีที่แสนแพงและถูกพัฒนาขึ้นอย่างรีบร้อน จะสามารถฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน และสามารถเริ่มจ่ายคืนหนี้ให้แก่รัฐบาล ด้วยการกระโจนเข้าสู่ธุรกิจรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น มันจะเป็นการหวังสูงเกินไปหรือไม่ และ Detroit คิดถูกหรือไม่ ที่ฝากความหวังสุดท้ายเอาไว้กับ Volt ว่าจะสามารถช่วยพลิกฟื้นและรักษาฐานะเมืองแห่งการผลิตรถของ Detroit เอาไว้ได้
McGregor คนงานผลิตรถของ GM ผู้ผ่านโลกมากกว่า 60 ปีอาจจะมีคำตอบ เขาบอกว่าก็เหมือนคนที่กำลังจมน้ำที่ต้องคว้าอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้ตัว โดยไม่รู้ว่ามันคืออะไรและจะช่วยให้รอดได้หรือไม่ คนที่กำลังตกงานแล้วมีคนโยนงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเล็กๆ มาให้ คือการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เราก็ต้องคว้าเอาไว้ก่อน แม้เราจะไม่รู้ว่ามันจะช่วยให้เรารอดได้จริงหรือไม่
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ฟอร์จูน 12 ตุลาคม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|