|

มายาภาพของผลกำไร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาพรวมธุรกิจธนาคารจากผลประกอบการไตรมาส 3 ซึ่งมีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 จากไตรมาส 2 กำลังเป็นข้อบ่งชี้ที่สะท้อนการปรับตัวของธุรกิจธนาคารที่ฟื้นตัวขึ้นมากกว่าภาพรวมในระบบเศรษฐกิจ
เพราะกำไรที่เพิ่มมากขึ้นเป็นผลจากความพยายามในการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่จะได้รับอานิสงส์จากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มชัดเจนขึ้นในไตรมาส 3/ 2552 เนื่องจากธุรกิจหลักอย่างการปล่อยสินเชื่อสุทธิยังคงหดตัว จากไตรมาสก่อนหน้า
โดยเฉพาะในส่วนของการกันสำรองหนี้เสียที่ลดลงถึง 6.5 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนผลของการเปลี่ยนแปลงวิธีการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง รวมถึงปริมาณการกันสำรองหนี้เสียที่ลดลง หลังจากที่นโยบายบริหารคุณภาพสินทรัพย์ ในลักษณะอนุรักษนิยมในช่วงที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการควบคุมการปรับขึ้นของปริมาณเอ็นพีแอล ดังจะเห็นได้จากเอ็นพีแอล 2 ของไตรมาส 3/2552 ที่มีจำนวน 3.87 แสนล้านบาท (5.72% ของสินเชื่อรวม) ใกล้เคียงกับของไตรมาส 2/2552 ที่มีจำนวน 3.86 แสนล้านบาท (5.76% ของสินเชื่อรวม)
ขณะเดียวกันรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้ค่าธรรมเนียมที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 จากไตรมาสก่อนหน้า ก็เป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยผ่านธนาคาร (Bancassurance) ธุรกิจบัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต และธนาคาร ทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ตามการรุกตลาดของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน อาทิ บริการให้คำปรึกษาและรับประกันการจำหน่ายหุ้นกู้เอกชนที่ยังคงออกมาค่อนข้างหนาตาในช่วงระหว่างไตรมาสด้วย
นอกจากนี้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นผลมาจากการเติบโตของกำไรจากการปริวรรต หลังจากที่ได้ปรับตัวลดลงในไตรมาส 2/2552 ที่ผ่านมา รายได้จากการรับประกันภัยของบริษัทในเครือที่ถีบตัวสูงขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้า ตลอดจนรายการพิเศษอย่างกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ หนี้สูญรับคืน หรือกำไรจากการเข้าซื้อกิจการ เป็นต้น
ความพยายามในการเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ซึ่งมีความสำคัญรองลงมาจากรายได้ดอกเบี้ยดังกล่าว ได้ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30.8 ในไตรมาส 2/2552 มาที่ร้อยละ 31.9 ในไตรมาส 3/2552 สวนทางกับรายได้หลักอย่างรายได้ดอกเบี้ยที่ลดความสำคัญลงมาที่ร้อยละ 68.1 จากร้อยละ 69.2 ในไตรมาส 2/2552
อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยสุทธิซึ่งสะท้อนธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์นั้น กลับลดความสดใสลง โดยหดตัวร้อยละ 3 จากปีก่อน คิดเป็นการลดลงจำนวนประมาณ 2.1 พันล้านบาท ตามอิทธิพลของการหดตัวของสินเชื่อ (ขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น) และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่สามารถทยอยรับรู้ผลต่อต้นทุนอย่างเต็มที่ในทันที
ในทำนองเดียวกัน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยก็ขยับลดลงชัดเจนจากร้อยละ 3.75 ในไตรมาส 3/2551 มาเหลือเพียงร้อยละ 3.45 ในไตรมาส 3/2552 อันยังคงตอกย้ำถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อเนื่องมายังธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองก็ยังปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าแนวโน้มธุรกิจแบงก์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ยังเผชิญหลากปัจจัยที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการลงทุนของภาคธุรกิจ ยังขึ้นกับทิศทางของเศรษฐกิจ แม้สัญญาณบวกทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จะผลักดันให้ภาคการส่งออกของไทยปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 เป็นต้นมา และน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ซึ่งหมายความถึงความต้องการสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital Loans) จากภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
เช่นเดียวกับความต้องการสินเชื่อรายย่อยที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่คงจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ความต้องการสินเชื่อประเภท Term Loans ที่ใช้ในการลงทุนอาจยังผันแปรตามความต่อเนื่องและระดับโมเมนตัมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ซึ่งในกรณีที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนและต่อเนื่องจริง ก็คงจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ จนนำมาสู่การตัดสินใจขยายการลงทุน และความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนจากธนาคารพาณิชย์ได้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจยังเผชิญความเสี่ยงหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ รวมถึงปัญหาความไม่ชัดเจนเกี่ยวข้องกับ 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น แนวโน้มความต้องการสินเชื่อ เพื่อการลงทุนดังกล่าวของภาคธุรกิจ ก็อาจถูกเลื่อนออกไป อันอาจทำให้แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในไตรมาสสุดท้ายของปี ไม่ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างที่เดิมคาดหวังเอาไว้
นอกจากนี้ การแข่งขันระดมเงินฝากที่อาจเข้มข้นขึ้นและผลตอบแทนจากสภาพคล่องที่อาจยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจกดดัน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า โดยในไตรมาสสุดท้ายของทุกปี มักเป็นช่วงที่การแข่งขันระหว่างเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ กับช่องทางการออมและลงทุนประเภทอื่นๆ จะทวีความเข้มข้นขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลของการลงทุนเพื่อแสวงหาประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษี อาทิ การลงทุนในกองทุน LTF และ RMF รวมถึงประกัน ประกอบกับจะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพิ่มเติมด้วย ภายใต้มุมมองที่การเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังเผชิญข้อจำกัดต่างๆ ทำให้การประคับประคองผลประกอบการในภาพรวม ยังต้องอาศัยตัวช่วยที่สำคัญอย่างรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งก็น่าจะยังคงสามารถรักษาการเติบโตจากไตรมาสก่อนในอัตราที่เข้าใกล้ระดับทศนิยมสองตำแหน่งได้
โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจ Bancassurance ตามฤดูกาลลงทุนในประกันเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบัตรพลาสติกที่น่าจะได้รับประโยชน์ จากเทศกาลการใช้จ่ายในช่วงปลายปี สิ่งที่น่าสนใจมากประการหนึ่งอยู่ที่ปัญหาคุณภาพหนี้คงจะต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเอ็นพีแอลมักเป็นตัวแปรตาม (Lagging Indicators) ที่จะเปลี่ยนแปลงตามหลังการปรับตัวทางเศรษฐกิจ นั่นคือ แม้ว่า เศรษฐกิจในภาพรวมจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าจะมีผลดีต่อคุณภาพหนี้ในทันที
ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในบางภาคส่วน อาจยังคงเผชิญความยากลำบากจากปัญหาสภาพคล่องและพิษวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 อยู่ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงอาจยังมีความจำเป็นจะต้องจับตาและบริหารคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด
ซึ่งถึงที่สุดแล้วการมีผลกำไรเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ อาจเป็นเพียงมายาภาพที่แทรกตัวเข้ามาในห้วงยามที่ระบบเศรษฐกิจยังหาความชัดเจนไม่ได้เท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|