ในที่สุดก็ขาย


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

"BBL ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของธนาคารสินเอเซีย คิดเป็นร้อยละ 19.26 ของหุ้นทั้งหมดให้แก่ไอซีบีซี ในราคา 11.5 บาทต่อหุ้น อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ได้ในเมล" เป็นข้อความของฝ่ายประชาสัมพันธ์ธนาคารกรุงเทพที่ส่งผ่านโทรศัพท์มือถือให้กับสื่อมวลชนเมื่อเช้าตรู่เวลา 05.53 น. วันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL รับหน้าที่ส่งข่าวตั้งแต่เช้า เป็นเพราะว่าธนาคารกรุงเทพตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ในธนาคารสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) จำนวนร้อยละ 19.26 ให้ธนาคารอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า ลิมิเต็ด (ICBC) ในราคา 11.5 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 3,519 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ธนาคารไอซีบีซี ประเทศจีน ได้พยายามเจรจากับธนาคารกรุงเทพต่อหลายครั้ง แต่ก็เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น

แม้ว่าเวลาในการเจรจาไม่ได้เปิดเผยว่าใช้เวลายาวนานเท่าใด แต่ธนาคารไอซีบีซีกลับเลือกที่จะเปิดเผยข่าวนี้ใกล้เคียงกับการเฉลิมครบรอบ 60 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1949 ที่ประธานเหมาประกาศการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนบนพลับพลาเทียนจินเหมิน

ในเอกสารข่าว ชาตรี โสภณพานิชประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่าธนาคารกรุงเทพมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไอซีบีซีจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในครั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพและไอซีบีซีได้รักษาความสัมพันธ์อันดีในทางธุรกิจระหว่างกันมาโดยตลอด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าธนาคารทั้งสองแห่งจะพัฒนาความร่วมมือในทางธุรกิจเพิ่มเติมต่อไป และพร้อมจะให้บริการทางด้านการเงินมีคุณภาพดียิ่งขึ้นทั้งในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทย

เป็นนัยสำคัญว่าเงื่อนไขการเข้ามาซื้อหุ้นธนาคารไอซีบีซี ไม่ได้สิ้นสุดลงหลังจากที่ธนาคารกรุงเทพขายหุ้นของธนาคารสินเอเซีย หากแต่ว่าจะมีความร่วมมือเกิดขึ้นภายหลัง แต่เป็นเรื่องที่ยังไม่มีการเปิดเผยเท่านั้นว่าความร่วมมือจะเป็นรูปแบบใด

การเข้ามาถือหุ้นในธนาคารสินเอเซียของธนาคารไอซีบีซี ธนาคารแห่งนี้ไม่ได้มองตลาดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นยุทธศาสตร์การแผ่อิทธิพลของจีนที่ต้องการมีส่วนร่วมในธุรกิจลุ่มแม่น้ำโขงและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเป้าหมายหนึ่งของ ดร.เจียง เจิ้ยนชิง ประธานกรรมการธนาคารไอซีบีซี

สิ่งที่ทำให้ธนาคารเอเชียดูน่าสนใจอีกส่วนหนึ่งในสายตาของธนาคารไอซีบีซี อาจเป็นเพราะว่าธนาคารเอเชียให้ความสำคัญ เปิดสาขาในภูมิภาคที่มี 11 แห่ง จากทั้งหมด 16 แห่ง และสาขา ของธนาคารแห่งนี้จะเน้นเปิดในภาคตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งใกล้กับภูมิศาสตร์ยุทธศาสตร์ลุ่มน้ำโขงของธนาคารไอซีบีซี

ธนาคารไอซีบีซีไม่ได้มีเป้าหมายเข้าซื้อหุ้นจากธนาคารกรุงเทพเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ด้วย รูปแบบการซื้อโดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer) ปัจจุบันธนาคารสินเอเซียมีผู้ถือหุ้นหลัก คือกระทรวงการคลัง ที่ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 30 และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ซึ่งธนาคารไอซีบีซีต้องการครอบครองหุ้นทั้งหมดร้อยละ 100

การเจรจาซื้อหุ้นร้อยละ 100 ไม่ได้เปิดเผยว่าจะสิ้นสุดเมื่อ ใด แต่ข้อตกลงการซื้อหุ้นระหว่างธนาคารไอซีบีซีกับธนาคาร กรุงเทพคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน

แม้ว่าในฝั่งผู้บริหารของธนาคารสินเอเซียจะบอกว่า การเข้ามาของธนาคารไอซีบีซีจะช่วยเป็นแหล่งเงินทุนอย่างไม่จำกัด และช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าผู้บริหารก็คงหวาดหวั่นไม่น้อยว่าธนาคารสินเอเซียจะเปลี่ยนโฉมไปเพียงใด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.