BAY ย้ำแนวคิดซื้อพอร์ตขยายฐาน ตั้งเป้าปีหน้าสินเชื่อโต 6%


ASTVผู้จัดการรายวัน(4 พฤศจิกายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์กรุงศรีเผยตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 53 โตราว 6% ตามจีดีพี ปีหน้าที่คาดว่าจะโต 3% มั่นใจปีนี้ทำงานเข้าเป้าหลังรุกซื้อจีอีมันนี่ไทยแลนด์ ดึงยอดสินเชื่อพุ่ง เผยภายหลังควบรวมสินเชื่อรายย่อยแตะสัดส่วน 42% จากปัจจุบันอยู่ที่ 36% ย้ำเดินหน้าแผนซื้อกิจการต่อยอดทางธุรกิจ ล่าสุดเอาใจแฟนแมนยูในไทย ออกบัตรเดบิต แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตั้งเป้าสิ้นปีหน้ามียอดบัตร 3 แสนบัตร

นายตัน คอง คูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า เป้าหมายการสินเชื่อรวมของธนาคารในปี 2553 ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนงาน ซึ่งคาดว่าธนาคารจะสามารถประกาศแผนปีหน้าได้ประมาณเดือนมกราคมปีหน้า แต่โดยหลักแล้วการธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อที่สอดคล้องกับการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ( จีดีพี)ของประเทศซึ่งฝ่ายวิจัยของธนาคารคาดว่า จีดีพี ในปีหน้าจะโตอยู่ที่ราว 2.5%-3.5% หรือโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ดังนั้นจึงประเมินเป้าสินเชื่อในปีหน้าโต 1.5 เท่าของจีดีพีที่ประมาณ 6%

ส่วนการดำเนินธุรกิจต่างๆภายในปีนี้ ธนาคารเชื่อว่าจะเป็นไปตามเป้าอย่างแน่นอน แม้ว่าในการตั้งเป้าดังกล่าวในตอนต้นปีจะอยู่ภายใต้การคาดว่าจีดีพีปีนี้จะเป็นบวกก็ตาม โดยธนาคารก็จะยังคงเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อรวมไว้ตามเดิมที่ 6% หรือคิดเป็นมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท และพยายามทำให้ได้ตามนั้น แม้ว่า 9 เดือนที่ผ่านมาธนาคารทำได้เพียง 0.1% หรือคิดเป็นมูลค่า 500 ล้านบาท แต่เชื่อว่าจากการซื้อธุรกิจของ GE Money Thailand (GEMT) จะดันสินเชื่อรวมให้โตได้ตามเป้าหมาย

ด้านการบริหารต้นทุนต่างๆ ได้แก่ เงินฝากประเภทออมทรัพย์และกระแสรายวัน โครงสร้างสินเชื่อในส่วนของรายย่อย และอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ธนาคารตั้งเป้าอยู่ที่ 34%, 36% และ 4.2% ตามลำดับ ซึ่ง 9 เดือนที่ผ่านมาสามารถทำได้ 40%, 36% และ 3.87% ตามลำดับ ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมในปีนี้ตั้งเป้าโต 10% ซึ่งธนาคารสามารถทำได้ทะลุเป้าดังกล่าวแล้วโดยอยู่ที่ 15%

อย่างไรก็ดี หากธนาคารซื้อกิจการจีอีมันนี่ไทยแลนด์เสร็จสิ้นก็จะกระทบต่อเงินกองทุนฯ เพียง 1.2% คือเงินกองทุนฯ จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 14.4% จากเดิมอยู่ที่ 15.6% และเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าในอนาคตธนาคารยังสามารถเติบโตจากภายนอกได้อีก แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น โดยธนาคารคาดว่ากระบวนการซื้อจีอีมันนี่ไทยแลนด์จะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ และหลังจากนั้นคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนในการรวมกิจการทั้งหมดเข้ามายังธนาคาร

“ยิ่งเราซื้อจีอีมันนี่ไทยแลนด์เสร็จสิ้นเมื่อไหร่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อรายได้ของธนาคารเร็วขึ้นเท่านั้น แต่เราก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้การซื้อขายเสร็จสิ้นภายในปีนี้ และตอนนี้อยู่ที่กระบวนการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าถึงไหนแล้ว ถ้าซื้อเสร็จจะประกาศทันที ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามแผน ส่วนธุรกิจในอนาคตต้องดูว่าอะไรที่เพิ่มมูลค่ากับธนาคารบ้าง ซึ่งเหตุผลที่ซื้อเพราะช่วยเราเรื่องรายได้และความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร ถ้าซื้อเสร็จสิ้นเราจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ แต่ในปีนี้คงยังเห็นไม่เต็มที่” นายตัน กล่าว

ปัจจุบันโครงสร้างสินเชื่อของธนาคารมีอยู่ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ สินเชื่อรายใหญ่ คิดเป็น 34% สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) คิดเป็น 30% และสินเชื่อรายย่อย คิดเป็น 36% ทั้งนี้ ธนาคารมองว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการซื้อกิจการดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราส่วนโครงสร้างสินเชื่อรายย่อยเเพิ่มขึ้นเป็น 42% ในสิ้นปีนี้ จากที่ตั้งเป้าหมายในอนาคตจะให้เติบโตถึง 50% ของสินเชื่อรวม ซึ่งธนาคารไม่ได้กำหนดระยะเวลาต้องการภายในปีไหน

ปิดตัวบัตรแมนยูตั้งเป้า 3 แสนใบ

โดยล่าสุดนายรอยย์ กุนารา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารเดินหน้าขยายฐานลูกค้าบัตรเดบิตด้วยการจับมือกับสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมสโมสรชั้นนำของอังกฤษ ออกบัตรเดบิต แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่มีตราสัญลักษณ์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บนหน้าบัตร โดยตั้งเป้าจากปัจจุบันจนถึงสิ้นปี 2553 จะมีลูกค้าถือบัตรดังกล่าว 3 แสนบัตร จากจำนวนแฟนแมนยูฯที่มีอยู่ในประเทศไทย 6 ล้านคน

“บัตรเดบิตแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้มอบสิทธิประโยชน์มากมาย เพื่อเอาใจแฟนพันธุ์แท้ของแมนยูฯ อาทิ ลุ้นโชคชิงตั๋วชมนัดวันแดงเดือด ระหว่างทีมแมนยูกับลิเวอร์พูล ที่สนาม Old Trafford รวมทั้งจะได้ครอบครองเสื้อทีมพร้อมลายเซ็นนักเตะ และของรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่า 1.5 ล้านบาท นอกจากนี้จะได้รับส่วนลดสินค้าจาก MU Shop ทั้งนี้ในส่วนของสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ด้านหน้า เป็นปกแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดซึ่งมีทั้งสิ้น 1.5 แสนเล่มเท่านั้น” นายรอยย์ กล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันธนาคารมียอดบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตรวมกันประมาณ 3.5 ล้านบัตร โดยแบ่งเป็นบัตรเอทีเอ็ม 2.6 ล้านบัตร และบัตรเดบิตอีก 800,000 บัตร ซึ่งการออกบัตรเดบิตแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็มในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มฐานบัตรเดบิตของธนาคารจากจำนวนการสมัครบัตรเดบิตทั่วไปกับธนาคารอยู่ที่เดือนละ 3.5 หมื่นบัตร และมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตร 10% ของฐานบัตรเดบิตที่ธนาคารมีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการซื้อสินค้า เติมน้ำมันและใช้จ่ายในร้านอาหารต่างๆ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ธนาคารออกบัตรเดบิตดังกล่าวไปแล้วเชื่อว่าจะช่วยให้ลูกค้ามีการยกเลิกบัตรน้อยและช้าลง จากเดิมที่ยอดการยกเลิกบัตรเดบิตของธนาคารอยู่ที่ 10% ของจำนวนบัตรที่สมัครใหม่ต่อเดือน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.