|
ปตท.สผ.ส่งทีมประเมินเสียหายหลุมเจาะน้ำมัน
ASTVผู้จัดการรายวัน(4 พฤศจิกายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ดับไฟที่แท่นเจาะแหล่งมอนทาราได้แล้ว ปตท.สผ.เตรียมส่งทีมผู้เชี่ยวชาญขึ้นไปประเมินความเสียหายและโครงสร้างแท่นสัปดาห์หน้า หลังได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลออสซี่ พร้อมทบทวนแผนการผลิตน้ำมันเชิงพาณิชย์จากแหล่งนี้อีกครั้ง คาดว่าจะเลื่อนจากไตรมาส 2/2553 ไม่นาน ยันประกันภัยวงเงิน 9 พันล้านครอบคลุมความเสียหายได้ทั้งหมด “วรรณรัตน์”รายงานครม. ยันไม่กระทบแผนการใช้ก๊าซและน้ำมันของไทย
นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ. ) เปิดเผยว่า บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทปตท.สผ. แจ้งว่าสามาถดับเพลิงที่แท่นเจาะ West Atlas และแท่นหลุมผลิต (Wellhead platform) ในแหล่งมอนทาราในทะเลติมอร์ได้แล้ว เมื่อเวลาประมาณ 17.15 น. ของเมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย โดยได้ทำการอัดน้ำโคลน (Heavy mud) ลงไปในหลุมที่มีการรั่วไหล เพื่อสกัดกั้นการรั่วไหลของก๊าซธรรมชาติได้สำเร็จ ทำให้เพลิงบนที่แท่นดับลง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเฝ้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปบนแท่นหลุมผลิต เพื่อตรวจสอบและประเมินความเสียหายและวางแผนการดำเนินงานขั้นต่อไป
“ในสัปดาห์หน้าจะหารือกับรัฐบาลออสเตรเลียเพื่อขออนุญาตส่งทีมผู้เชี่ยวชาญขึ้นไปประเมินความเสียหายและโครงสร้างแท่นเจาะและแท่นหลุมผลิตมอนทาราว่าจะใช้งานได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งช่วงนี้คงยังไม่สามารถสงเจ้าหน้าที่ขึ้นไปได้ เพราะยังไม่ปลอดภัย คงต้องรอให้แท่นดังกล่าวเย็นตัวลงก่อน รวมทั้งประเมินความปลอดภัยของแท่นด้วย”นายอนนต์กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินจากรูปภาพเชื่อว่าโครงสร้างของแท่นหลุมผลิตน่าจะยังใช้ได้เป็นส่วนใหญ่ แต่จะรายละเอียดแท้จริงหลังจากส่งทีมขึ้นไปแล้ว รวมถึงสาเหตุการเกิดพลิงไหม้ เพื่อที่จะสรุปผลว่าแหล่งมอนทาราจะผลิตน้ำมันเชิงพาณิชย์ได้เมื่อใด หลังจากก่อนหน้านี้ได้เลื่อนการเปิดเชิงพาณิชย์จากปลายปี 2552 เป็นไตรมาส 2/2553แทน โดยเชื่อว่าเหตุการณ์เพลิงไหม้ดังกล่าวทำให้ต้องดีเลย์ออกไปอีกแต่คงไม่นานนัก
ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลของออสเตรเลีย (Australian Maritime Safety Authority : AMSA) และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เพื่อสลายและสกัดกั้นคราบน้ำมันด้วยวิธีการต่างๆ โดยสถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ปกติแล้ว ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานรัฐบาลด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศออสเตรเลียเพื่อดูแลรักษาและเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมในทะเลติมอร์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับทุกฝ่าย ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าน้ำมันรั่วไหลจากแหล่งมอนทาราไปทำให้สัตว์น้ำในทะเลที่อินโดนีเซียตายจำนวนมาก ไม่เป็นความจริง
นายอนนต์กล่าวว่า ขอขอบคุณหน่วยงานรัฐบาลออสเตรเลียที่ให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาต่างๆ แก่บริษัทเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ส่วนเรื่องแผนการผลิตน้ำมันในแหล่งมอนทารา จะทบทวนแผนการผลิตอีกครั้งหลังจากที่ได้มีประเมินความเสียหายจากผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านแล้ว
“จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2552 บริษัทได้ประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เป็นจำนวนเงิน 5,174 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทยังมีกำไรสุทธิ 5,259 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกัน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2552 นั้น บริษัทจะทำการเข้าไปตรวจสอบ และประเมินค่าเสียหายทันที”
ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีการประกันภัยที่คุ้มครองความเสียหาย 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่ง ปตท.สผ. จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัย ตามเงื่อนไขความคุ้มครอง และจะบันทึกเป็นรายได้ทันทีที่ได้รับค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าจะสามารถครอบคลุมค่าเสียหายได้หมด แต่หากเกินกว่าที่ทำวงประกันไว้ทางบริษัทก็ต้องรับภาระไว้เอง
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้รายงานกรณีแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แหล่งมอนทารา ในประเทศออสเตรเลีย เกิดไฟลุกไหม้ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ โดยปตท.สผ.อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และจะมีการสรุปความเสียหายทั้งหมด
ทั้งนี้ ปตท.สผ.ได้มีการอพยพคนงานออกจากแท่นขุดเจาะเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งกำจัดคราบน้ำมันที่ปล่อยออกสู่ทะเล และดำเนินการสกัดการรั่วไหลของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
“ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลให้ ปตท.สผ.สูญเสียโอกาสในการจำหน่ายน้ำมันและก๊าซ ช้าไปอีก 1-2 เดือน แต่ไม่กระทบต่อภาพรวมมากนัก เนื่องจากประเทศไทยยังมีแหล่งผลิตก๊าซ และน้ำมันจากแหล่งอื่นรวมประมาณ 240,000 บาร์เรลต่อวัน โดยแหล่งมอนทารา มีกำลังการผลิตประมาณ 40,000 บาร์เรลต่อวัน”นายแพทย์วรรณรัตน์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|