แบงก์ชาติเตือนผู้ส่งออกปรับตัว รับมือผลกระทบบาทแข็งค่า แนะเปิดตลาดใหม่ๆ เพื่อกระจาย
ความเสี่ยง ธปท. เน้นดูแลค่าบาทไม่ให้ผันผวน เกาะกลุ่ม 8 ชาติเอเชีย ขณะที่อดีตรองผู้ว่าฯแบงก์ชาติ
"ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์" เชื่อเงินบาทแข็งค่าตามปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก
ด้านเอกชนยังเชื่อว่า ทิศทางแข็งค่าจะเป็นระยะสั้น ขณะที่นักวิชาการจุฬาฯเตือนอสังหาริมทรัพย์อาจซ้ำรอยเกิดฟองสบู่อีก
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) กล่าววานนี้ (24 ก.ย.) ว่า ธปท. ไม่เป็นห่วงค่าเงินบาทมากนัก เนื่องจากติดตามความเคลื่อนไหวค่าเงินต่อเนื่อง
แม้บาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องช่วงนี้ แต่ยังคงปรับตัวไปทิศทางถูกต้อง และสอดคล้องภาวะตลาด
ที่เงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้น เชื่อว่าการที่บาทแข็งค่า จะกระทบการส่งออกในภาพรวมไม่มากนัก
สาเหตุที่บาทแข็งค่าขึ้น จากจังหวะและเวลาของวัฏจักรเศรษฐกิจที่เหลื่อมกัน หรือไม่สมดุลกัน
2 ด้าน ประการแรก เกินดุลการค้าของประเทศ จากภาวะเงินทุน ไหลเข้าและออกไม่สมดุลกัน
เพราะปริมาณส่งออกมากกว่านำเข้า
ประการที่ 2 เงินทุนไหลเข้า ไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทย
ลงทุนบริษัทผลประกอบการดีขึ้น ที่ผ่านมาการส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ
ส่งออกของไทยเฉลี่ย 4,500-4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจปรับตัวดี
ทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นที่เฉลี่ย 6,200 ล้านดอลลาร์
ขณะที่การนำเข้าก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ประมาณ 5,800-5,900 ล้านดอลลาร์ หลังวิกฤต
ลดเหลือ 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์ แต่ล่าสุด การนำเข้าเพิ่มขึ้นมาที่ 5,800 ล้านดอลลาร์
เห็นได้ว่า ขณะที่การส่งออกขยายตัว แต่การนำเข้าหดตัว ส่งผลเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น
"แต่ผมเชื่อว่า การที่เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น จะทำให้การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนทางการเพิ่มขึ้น
จะทำให้นำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรเพิ่มมากขึ้น และจะทำให้วัฏจักรการนำเข้าและส่งออก
ปรับตัวสมดุล ซึ่งจะส่งผลให้ดุลการค้าลดลง ซึ่งตอนนี้เหมือนกับว่ามีเงินเข้ามารอเพื่อการลงทุนภาคเอกชนใหม่ๆ
จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติของประเทศ ที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตและหากวัฏจักรเริ่มกลับ
มาสมดุลกัน ก็อาจจะทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่ามากนักจากปัจจุบันได้ ซึ่ง ธปท. กำลังติดตามดูแล
อยู่อย่างใกล้ชิด โดยการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของธปท.ขณะนี้ ถือว่าสอดคล้องกับภาวะตลาด"
เขายอมรับว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น อาจกระทบผู้ส่งออก 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มผู้ที่ส่งออกประเทศที่ค่าเงินผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ
เช่น การส่งออกสหรัฐฯโดยตรง จีน มาเลเซีย เป็นต้น กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มส่งออกประเทศที่
3 คู่แข่งประเทศผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ
แนะผู้ส่งออกปรับตัว
การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จะทำให้ความสามารถการแข่งขันด้านราคาสินค้าลดลง
หรือทำได้ยากมากขึ้นโดยเฉพาะการตั้งราคาสินค้าเป็นดอลลาร์ ที่จะเกิดงวดต่อไป ระยะเวลา
3-6 เดือนข้างหน้า เขาจึงมองว่า ผู้ประกอบการส่งออก ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน
รวมถึงการที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น เช่น หาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น หรือตลาดที่ไม่ผูกติดกับดอลลาร์
ขณะนี้ ถือว่าผลของมาตรการสกัดเก็งกำไร ค่าเงินบาทก่อนหน้านี้ ประสบผลสำเร็จอย่างดี
เนื่องจากขณะนี้ เงินเก็งกำไรดังกล่าว ลดต่อเนื่องล่าสุดเงินไหลเข้าสุทธิเฉลี่ยต่อวัน
30 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ลดจาก 200 ล้านดอลลาร์ หลังจากแบงก์ชาติออกมาตรการดังกล่าวประมาณ
1 สัปดาห์ ลดจากเดิมที่เคยมีเงินทุนไหลสูงเฉลี่ยถึง 2,200 ล้านดอลลาร์ต่อวัน
ด้านนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี อดีตรองผู้ว่าการ ธปท.
กล่าวถึงเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องขณะนี้ว่า การแข็งค่าบาทยังเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น
หากพิจารณาการปรับตัวค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี จนถึง ส.ค. แม้บาทแข็งค่าขึ้น 4%
แต่หากเทียบเงินสกุลอื่น คู่ค้าสำคัญอื่นๆ ของไทย ซึ่งทำให้คำนวณอัตราแลกเปลี่ยนแท้จริง
อยู่ที่ 1.4%
แม้กระทบผู้ส่งออกของไทยบ้างแต่ตรงกันข้าม เงินเฟ้อที่ต่ำขณะนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบ
การสามารถกำหนดราคาสินค้าได้ต่ำ สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออก ซึ่งเป็นคู่แข่งของไทย
ได้เช่นกัน ขณะนี้สถานการณ์ค่าบาทเชื่อว่า ธปท. ยังสามารถดูแลอยู่ในอัตราเหมาะสม
ส.อ.ท.เตือนผู้ส่งออกกระจายเป้าหมายการตลาด
นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีความเห็นสอดคล้องกันว่า
การแข็งตัวบาทขณะนี้ ถือว่าแข็งค่าระยะสั้น แม้ส่งผลกระทบการสั่งซื้อปัจจัยการผลิตเพื่อส่งออกบ้าง
แต่ไม่กระทบธุรกิจส่งออกมากนัก
เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯในเอเชียทั้งหมด กระทบจากปัจจัยดังกล่าวเช่นกัน
ผู้ประกอบการส่งออกควรปรับตัวเรื่องประเทศเป้าหมายการส่งออก ควรกระจายความเสี่ยงไปคู่ค้าอื่นๆ
เพื่อไม่ให้มีภาระจากความผันผวนค่าเงินอนาคต
3 เหตุผลดันเงินบาทแข็งค่า
นางอัจนา ไวความดี ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงการแข็งตัวบาทขณะนี้
เกิดจาก 3 ปัจจัย คือ การอ่อนตัวดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนปัจจัยพื้นฐานสหรัฐฯขณะนี้
การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นผลจากการส่งออกของไทยขยายต่อเนื่อง
รวมทั้งการไหลเข้าเงินทุน ซึ่งที่ผ่านมาเธอยอมรับว่า เงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท
ซึ่งธปท.ออกมาตรการป้องกันไป แล้ว
ปัจจัยที่ ธปท. จะใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ขณะนี้จะคำนึงถึงการดูแลให้ค่าเงินบาทไม่ผันผวน
มีการเคลื่อนไหวตามความต้องการและปริมาณเงินในระบบ รวมทั้งให้ค่าเงินบาทเกาะกลุ่มสกุลเงิน
8 ประเทศในเอเชีย เพื่อรักษาความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศ ขณะที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยขณะนี้
สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงิน ถึง 6-7 แสนล้านบาท ยังกดดันอัตราดอกเบี้ยในประเทศ
ยังต้องอยู่ในระดับต่ำต่อไป
โดยจะมีปัจจัยอัตราเงินเฟ้อเป็นเครื่องชี้วัดว่า ทิศทางดอกเบี้ยระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร
เพราะหากเงินเฟ้อสูงขึ้น จะกระทบต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้" นางอัจนากล่าว
BBL เผยดอลล์แนวโน้มอ่อน
นายบรรลือ ฉันทาดิศัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยภาวะตลาดเงินปีนี้
และแนวโน้มปี 2547 โดยเน้นอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย ว่าค่าเงินบาทเมื่อ
เทียบดอลลาร์ ไม่ได้แข็งค่าขึ้นมาก เมื่อเทียบประเทศคู่ค้า
ขณะนี้ ดอลลาร์แนวโน้มจะอ่อนค่าต่อเนื่อง เป็นผลมาจากปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
ที่สูง มาก บวกขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯที่เพิ่ม ขึ้นรวดเร็ว เขาเชื่อว่าทั้งปีนี้สหรัฐฯจะขาดดุลประมาณ
5 แสนล้านดอลลาร์
ประเทศไทย ตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ เชื่อว่าแนวโน้มบาทจะแข็งต่อเนื่อง หนี้ต่างประเทศ
ลดต่อเนื่องเช่นกัน ปัจจุบันหนี้ระยะสั้นเหลือเพียง 30% ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไทยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ มากเกินไป นักเศรษฐศาสตร์มองว่า
สัดส่วนที่เหมาะสมระยะสั้น ต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ประมาณ 1 : 1 แต่ไทยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ
3 เท่าของหนี้ระยะสั้น
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเงินทุนในตลาดหุ้นยังคงดีต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัย
น่าจับตามองเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน คือการส่งออก ทางการต้องดูแลในเรื่องนี้ด้วย
นายมานพ พงศทัต นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปี
2547 แม้เศรษฐกิจจะเติบโต แต่ไม่ยั่งยืน ปี 2548 จะอันตรายที่สุด เพราะเป็นปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้งในไทยใหม่
ทำให้รัฐบาลต้องทำทุกอย่างดีขึ้น การเติบโตจึงเกิดขึ้นทุกภาคธุรกิจ ตลาดหุ้นจะร้อนแรงขึ้น
เห็นได้จากปัจจุบัน เก็งกำไรตลาดเงินและตลาดทุนเริ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์
เริ่มเก็งกำไรต่อเนื่อง เหมือนก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เห็นได้จากอัตราสร้างที่อยู่อาศัยต่อเนื่อง
โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ซึ่งคาดว่าปีนี้ จะขยายตัว 20% จากปี 2545 จะขยายตัวมากขึ้นถึง
25% ปี 2547 ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจ ดี ประชาชนเริ่มมีกำไร ก็ลงทุนในตลาดหุ้น ได้เงินก็นำเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ต่อ
จนเป็นวัฏจักรคล้ายช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ที่มีทั้งปั่นหุ้น ปั่นราคาที่ดิน หรืออสังหาฯ
และปั่นค่าเงินบาท ท้ายที่สุดก็ถูกโซรอสปั่นจนเศรษฐกิจพัง
ปัจจุบัน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศถึง 1 ใน
4 โดยธุรกิจดังกล่าว ต้องใช้เงินลงทุนถึง 20% ของเงินทั้งระบบ ถือเป็นธุรกิจที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของประเทศหากธุรกิจเติบโตเศรษฐกิจ
ก็จะดีตาม แต่เมื่อใดธุรกิจล้มเศรษฐกิจก็จะล้มตามด้วยเช่นกัน
"วัฏจักรของเศรษฐกิจกำลังหมุนกลับไปเหมือนยุคปี 2540ซึ่งจะสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ไทยเกิดมาแล้ว 5 ครั้ง ในทุกๆ 7 ปี
เป็นผลจาก วิกฤตการณ์น้ำมัน 3 ครั้ง ตลาดทุน 1 ครั้ง และ วิกฤตล่าสุดเกิดจากตลาดเงิน
เพราะฉะนั้น จึงคาดว่าวัฏจักรอาจจะมีกลับมาอีก"
สำหรับในส่วนของธุรกิจอสังหาฯคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 จนถึงปลายปีนี้ผู้ประกอบการจะเร่งรีบก่อสร้างเพื่อให้ทันกับมาตรการภาษีในการฟื้นฟูธุรกิจซึ่งรัฐบาลจะให้ปีนี้เป็นปีสุดท้าย
ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็จะเร่งดำเนินการ
เพื่อเร่งรับรู้รายได้ จึงเชื่อได้ว่าในปลายปีนี้การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์จะมีออกมาอย่างต่อเนื่อง
สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำด้วยเช่นกัน
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ระมัดระวังในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตเกินไปรัฐบาลควรที่จะมีการกำหนดหรือจำกัดการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ
ดังกล่าวว่าไม่ควรจะขยายตัวเกิน 20% ในรยะเวลา 5 ปี
รวมทั้งควรจะมีการต่อภาษีฟื้นฟูอสังหาริมทรัพย์ให้กับธุรกิจที่เป็น NPL และ
NPA แต่ไม่ควรต่ออายุการลดหย่อนภาษีเงินโอน เพราะประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ขณะที่ผู้ประกอบการได้รับกำไรมากพอแล้วจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น
ตลอดจนสนับสนุนการนำกฎหมาย เอสโคร์ว หรือกฎหมายที่ดินสำหรับผู้ซื้อบ้านมาใช้ เพื่อป้องกันการเก็งกำไร
ขณะที่อัตราดอกเบี้ย ควรจะคงที่ไปถึงปี 47-48 เพราะหากอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะลอยตัวอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
1% จะส่งผลต่อภาระหนี้ของผู้ผ่อนชำระเพิ่มขึ้น 8% ทำให้หนี้เสียกลับเข้ามาสู่ระบบอีกครั้ง
นอกจากนั้นไม่ควรกระตุ้นยอดขายด้วยการใช้บัตรเคดิต มาซื้อสังหาริมทรัพย์ เพราะอสังหาริมทรัพย์เป็นหนี้สินระยาว
ขณะที่การชำระบัตรเครดิตเป็น การชำระหนี้ระยะสั้น
นอกจากนั้น บริษัทอสังหาฯ ที่จดทะเบียน อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบัน เป็นธุรกิจต่างชาติเกือบ
50% ซึ่งการเติบโตด้วยคุณภาพจริงๆ ไม่ใช่เติบโตจากฐานทุนของต่างประเทศ
นายมานพ กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาฯจะล้มลง มาอีกครั้งหรือไม่ในรอบนี้ ต้องพิจารณา3
ปัจจัย ประกอบด้วยราคาน้ำมัน เพราะหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น
ระบบการเงินที่ไม่มั่นคง และตลาดหุ้นที่มีการปั่นราคากันจนเกินเหตุ