ไหม้แท่นขุดน้ำมัน PTTEP ยังคุมไม่ได้ ร้ายแรงสุดรอบ 25 ปี


ASTVผู้จัดการรายวัน(3 พฤศจิกายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งออสเตรเลีย ของ ปตท.สผ. (PTTEP) ยังคงเกิดเพลิงลุกไหม้อย่างไม่อาจควบคุมได้เมื่อวานนี้(2) และกำลังกลายเป็นเหตุเพลิงไหม้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ของการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งในแดนจิงโจ้ อีกทั้งยังสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อมลามไปถึงเขตอินโดนีเซียแล้ว โดยเจ้าหน้าที่หลายคนเตือนว่า คงไม่สามารถดับไฟได้หากไม่อาจอุดรูรั่วที่มีน้ำมันดิบไหลออกมาเป็นจำนวนมากตลอดช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียสั่งสอบสวนเหตุเพลิงไหม้รุนแรงครั้งนี้เป็นการฉุกเฉิน พวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็เตือนว่า หากไฟยังลุกไหม้ต่อไปและไม่สามารถอุดรูรั่วที่น้ำมันจากใต้ทะเลไหลออกมาได้ ก็จะเป็นการทำลายท้องทะเลอันบริสุทธิ์นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของวาฬและโลมา

ทั้งนี้ แท่นขุดเจาะน้ำมัน “เวสต์ แอตลาส” แห่งนี้ ได้เกิดเพลิงไหม้ตั้งแต่วันอาทิตย์ (1) ระหว่างที่กำลังมีการพยายามอุดรูรั่วซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา และทำให้มีน้ำมันหลายพันบาร์เรลไหลลงสู่ทะเลติมอร์

บริษัทผู้ดำเนินการแท่นขุดเจาะน้ำมันดังกล่าวคือ พีทีทีอีพี ออสเตรเลเชีย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ระบุว่าการอุดรูรั่วเป็นหนทางเดียวที่จะหยุดเพลิงที่โหมท่วมแท่นขุดเจาะและหลุมพัฒนานอกชายฝั่งไปราว 250 กิโลเมตร และบริษัทจะพยายามอุดรูรั่วนี้อีกครั้งหนึ่งในวันอังคาร(3)

“วิธีดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดในการดับไฟก็คือ ปิดหลุมด้วยการอัดโคลนปริมาณมากๆ เข้าไปในหลุมที่มีรูรั่วเสีย” โฮเซ มาร์ตินส์ ผู้อำนวยการของพีทีทีอีพีกล่าว

“โคลนตามสูตรที่เราผสมขึ้นนี้จะไหลย้อนไปยังหลุมที่มีรูรั่ว และหยุดก๊าซกับน้ำมันที่ระดับพื้นผิวของหลุมเอช 1 ซึ่งจะเป็นการตัดแหล่งเชื้อเพลิงที่ทำให้ไฟลุกไหม้อยู่บนแท่นขุดเจาะ วิธีนี้ถือเป็นการปิดถมหลุมและจะดับไฟได้”

ทางด้าน มาร์ติน เฟอร์กูสัน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและพลังงานออสเตรเลียกล่าวว่า อุบัติเหตุคราวนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีขนาดใหญ่ถึงเพียงนี้ในรอบระยะเวลา 25 ปีแห่งการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งกันมาของแดนจิงโจ้ “จะส่งผลกระทบต่อสถานภาพของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในออสเตรเลียด้วยอย่างแน่นอน”

“ผมขอบอกเพียงว่าทันทีที่ถมปิดหลุมแล้ว แท่นขุดเจาะก็จะปลอดภัย จากนั้นผมจะดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้อย่างละเอียดและไม่เข้าข้างฝ่ายใด เพื่อประเมินหาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ครั้งนี้ รวมทั้งพิจารณาเรื่องวิธีแก้ปัญหาในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย”

สตีเฟน เคฟนาจ ช่างภาพคนหนึ่งซึ่งขึ้นเครื่องบินสำรวจสถานการณ์ครั้งนี้ด้วย ระบุว่าเป็นเหตุเพลิงไหม้รุนแรงที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นมาในชีวิต

“มันเป็นเหตุเพลิงไหม้ขนาดใหญ่มากจนเราต้องบินวนดูสถานการณ์ถึงสองหรือสามรอบ ตอนหลังพอผมวางกล้องลง แล้วมองดูจากทางหน้าต่าง ผมตกใจมากที่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น” เขาเล่า

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ พากันออกมาวิจารณ์รัฐบาลออสซี่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำมันรั่วครั้งนี้ โดยบอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการคุกคามชีวิตนกและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่นอกชายฝั่งทางตอนเหนือของออสเตรเลียตะวันตกซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

“เราจัดอันดับเหตุการณ์นี้เป็นหายนภัยร้ายแรงทางด้านสิ่งแวดล้อม” จอห์น แครีย์ โฆษกของกลุ่ม “Pew Environment Group” กล่าวและเสริมว่าน้ำมันเป็นเพชฌฆาตที่ทำลายสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลอย่างเงียบๆ และช้าๆ

ยิ่งกว่านั้น บริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้เป็น “ทางด่วนของสัตว์น้ำหลายสายพันธุ์ที่เดินทางผ่านไปมาในแถบนั้น จึงถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญยิ่งต่อโลก และยังเป็นบริเวณที่วาฬและโลมาราวหนึ่งในสี่ของโลกอาศัยอยู่ด้วย”

กิสเลน เลเวลลิน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของ WWF Australia ได้ออกสำรวจพื้นที่เกิดเหตุเป็นเวลาสามวัน เธอกล่าวว่าขนาดของเพลิงที่ลุกไหม้และระยะเวลาที่มีน้ำมันรั่วออกมาในทะเลทำให้สัตว์น้ำและนกในแถบนั้นมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายอย่างสูง

เธอบอกอีกว่าเราอาจไม่พบความรุนแรงในลักษณะที่มีสัตว์ลอยน้ำตายเป็นจำนวนมาก หรือถูกคลื่นชัดไปติดตามชายหาด แต่สัตว์จำนวนมากจะจมลงไปตายในน้ำเมื่อตัวเปื้อนคราบน้ำมัน

“การดำเนินธุรกิจในพื้นที่ห่างไกล ไม่ได้มีข้อยกเว้นเรื่องการที่จะต้องเฝ้าระวัง จัดเจ้าหน้าที่ดูแล และจัดหน่วยสนับสนุนให้พร้อมอยู่เสมอ” เลเวลลินกล่าว

ส่วนสมาคมอนุรักษ์สัตว์น้ำแห่งออสเตรเลียก็คาดหวังว่าการสอบสวนของรัฐบาลจะกดดันให้ผู้ประกอบธุรกิจปรับปรุงการบริหารจัดการกับอุบัติเหตุให้ดีขึ้นกว่าเดิม

“เราไม่รู้ว่าหายนภัยครั้งนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุใด และเราต้องการทำความเข้าใจเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทำนองนี้อีกในอนาคต” ดาร์เรน คินด์ลีไซด์ กรรมการของสมาคมกล่าว

อนึ่ง เฟอร์ดี ตาโนนี แห่งมูลนิธิเวสต์ติมอร์แคร์ ซึ่งให้การสนับสนุนพวกชาวประมงยากจนในแถบภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย แถลงเมื่อวานนี้ว่า น้ำมันจำนวนมากที่รั่วไหลลงสู่ทะเลติมอร์เหล่านี้ กำลังแพร่ลามมาสร้างความเสียหายให้แก่พวกหมู่บ้านประมงยากจนในจังหวัดนูซา เตงราการา ตะวันออก ของอินโดนีเซียแล้ว โดยน้ำมันเหล่านี้ทำให้สัตว์น้ำเสียชีวิต และรายได้ของชาวประมงที่มีอยู่ราว 7,000 คนก็ตกต่ำลงทุกที จากที่ลดลงราว 40% ในตอนแรกๆ พอถึงสัปดาห์ที่แล้วก็ต่ำลงถึง 80%

**ปตท.สผ.รับแผนผลิตน้ำมันสะดุด

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการควบคุมเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นจากแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) ของแหล่งมอนทารา ออสเตรเลีย ที่เกิดการติดไฟอย่างไม่ทราบสาเหตุ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยบริษัทได้แก้ไขปัญหาจากต้นตอของเชื้อเพลิง เตรียมการสกัดกั้นการรั่วไหลของน้ำมันและก๊าซฯด้วยการอัดโคลนกลับเข้าไปอีก คาดว่าจะดับไฟได้ภายใน 1-2 วันนี้

ทั้งนี้ หลังจากสามารถดับไฟได้ บริษัทจะส่งทีมเข้าไปตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ขณะนี้ได้จัดทำแผนคู่ขนานกันไปว่าจะสามารถกลับมาเริ่มผลิตน้ำมันได้เร็วที่สุดเมื่อไหร่ จากเดิมที่บริษัทเคยตั้งเป้าหมายว่าแหล่งมอนทาราจะผลิตน้ำมันดิบขนาด 3.5 หมื่นบาร์เรล/วันได้ภายในปลายปีนี้ แต่จากการรั่วไหลของน้ำมันและก๊าซฯตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนต้องเลื่อนการผลิตน้ำมันเชิงพาณิชย์ไปเป็นไตรมาส 2/2553 แต่หากความเสียหายที่แท่นผลิตมาก อาจจะต้องเลื่อนการผลิตน้ำมันในแหล่งมอนทาราออกไปอีก

“ขณะนี้บริษัทกำลังพยายามควบคุมเพลิงอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เรือดับเพลิงเข้าควบคุมเพลิง และใช้ทีมผู้เชี่ยวชาญการควบคุมหลุมน้ำมันของบริษัท ALERT Well Control ที่ประจำอยู่ที่แท่นเจาะ West Triton เข้าควบคุมสถานการณ์ ซึ่งแท่น West Triton เป็นแท่นที่เจาะหลุมควบคุมความดันเพื่อหยุดการรั่วไหลในแหล่งมอนทารา ตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร”

นายอนนต์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นอุบัติเหตุครั้งรายแรงที่สุดของปตท.สผ. แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการเติบโตของบริษัท และคาดว่าไม่น่าจะส่งผลต่อการซื้อแหล่งโอลิเวอร์ ที่ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลออสเตรเลียก่อน

“ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของเพลิงไหม้แท่นหลุมผลิตมอนทารา สืบเนื่องจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจากหลุมพัฒนาในแหล่งมอนทารา โครงการ พีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ในทะเลติมอร์ ซึ่งบริษัทได้เร่งดำเนินการแก้ไขสถานการณ์การรั่วไหลโดยได้รับอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐบาลออสเตรเลีย ให้ดำเนินการเจาะหลุมควบคุมความดัน (Relief Well) และอัดน้ำโคลนเพื่อหยุดการรั่วไหลของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง”

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 52 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการเจาะหลุมควบคุมได้เข้าไปถึงระดับความลึกและตำแหน่งที่ต้องการแล้ว จึงได้ทำการอัดน้ำโคลนตามขั้นตอนเพื่อยุติการรั่วไหล โดยในระหว่างการดำเนินการได้เกิดการติดไฟขึ้นบริเวณแท่นเจาะWest Atlas ซึ่งเป็นของผู้รับเหมา รวมทั้งแท่นหลุมผลิตของแหล่งมอนทารา โดยปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการติดไฟ อย่างไรก็ตามไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ที่ผ่านมา บริษัทได้ประสานงานกับรัฐบาลออสเตรเลียมาโดยตลอดเรื่องการกำจัดคราบน้ำมันและดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงแผนการสกัดการรั่วไหลของน้ำมันและก๊าซฯ เนื่องจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียเข้มงวดมาก บริษัทฯจึงเลือกที่จะหยุดการรั่วไหลโดยการเจาะหลุมใหม่เข้าไปสกัดการรั่วที่ก้นหลุม ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัท Alert Well Control ที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านและเป็นบริษัทที่เคยเข้าไปดับไฟบ่อน้ำมันที่คูเวตในช่วงสงครามอิรัก

นายอนนต์ กล่าวต่อไปว่า ความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้แท่นผลิตที่แหล่งมอนทารานี้ จะเรียกร้องค่าชดเชยจากผู้รับประกันที่ทำไว้รวม 270 ล้านเหรียญสหรัฐต่อไป หากเกินวงเงินประกันก็ต้องรับภาระเอง โดยจะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงไตรมาส 4 นี้ ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ประมาณการค่าเสียหายจากการรั่วไหลน้ำมันที่มอนทาราเป็นเงิน 5,174 ล้านบาท โดยบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในไตรมาส 3แล้ว ทำให้ส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัท 2,198 ล้านบาท

ปตท.สผ.ได้ซื้อกิจการน้ำมันและก๊าซฯในต้นปี 2552 มีแหล่งน้ำมัน 2 แหล่ง คือJabiru+Challis , Montara และแหล่งก๊าซฯ 1 แหล่ง คือ Cash Maple ซึ่งแหล่งมอนทาราได้มีการพัฒนามาได้แล้วครึ่งทาง ซึ่งบริษัทฯมารับช่วงต่อ ซึ่งปริมาณสำรองน้ำมันในแหล่งนี้อยู่ที่ 40 ล้านบาร์เรล โดยอายุของแหล่ง 5ปีนับจากเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.