แอลจี ลอนช์ แอลอีดีทีวี ต่อจิ๊กซอว์สู่พรีเมียมแบรนด์


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 พฤศจิกายน 543)



กลับสู่หน้าหลัก

แอลจี ส่งแอลอีดีทีวี เติมเต็มตลาดพรีเมียมทีวี ขณะที่ซัมซุงซอยเซกเมนต์สร้างตลาดอินเทอร์เน็ต@ทีวี สนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคไซเบอร์ที่ชอบเช็กข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต

แอลจี รุกตลาดพรีเมียมทีวี ลอนช์ แอลอีดีทีวี ภายใต้ซีรีส์ใหม่ LG Live) BORDERLESS ชูดีไซน์ขอบจอหนา 3 เซนติเมตร พร้อมฟังก์ชั่นในการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่านบลูธูท สามารถชมภาพและเสียงเพลงจากโทรศัพท์มือถือบนหน้าจอ โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 32,990-109,990 บาท โดยใช้งบกว่า 80 ล้านบาทในการรุกตลาดทีวีรุ่นใหม่ ซึ่งจะสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่กลุ่มเป้าหมายใช้หาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้า

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาช่องทางการจำหน่าย ซึ่งจากการทำวิจัยของแอลจีพบว่าเป็นจุดสำคัญในการทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหรือไม่ ดังนั้นแอลจีจึงมีการปรับปรุงช่องทางจำหน่าย การจัดดิสเพลย์ และพัฒนาส่วนงานขายภายใต้แคมเปญเอวีพรีเมียร์ลีกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขายและสวิตชิ่งแบรนด์ฐานลูกค้าคู่แข่งให้หันมาเลือกแอลจีแทน โดยช่องทางที่สำคัญในการสร้างยอดขายทีวีพรีเมียมคือแอลจีชอป 4 สาขา คือที่เซ็นทรัลเวิลด์ เชียงใหม่ หัวหิน และพัทยา ตลอดจนช่องทางที่เป็นโมเดิร์นเทรด

แอลจี ตั้งเป้าที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดแอลซีดีทีวีเชิงมูลค่าจาก 17% เป็น 20% และจาก 21% เป็น 25% ในเชิงปริมาณ ซึ่งปัจจุบันซัมซุงเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งการตลาดเชิงปริมาณ 35% เชิงมูลค่า 35% ตามด้วยโซนี่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเชิงปริมาณอยู่ที่ 21% ส่วนแบ่งเชิงมูลค่าอยู่ที่ 25% ขณะที่แอลจีมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่อันดับที่ 3 นอกจากนี้แอลจียังตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขาย Full HD TV จาก 30% เป็น 50% เช่นเดียวกับตลาดพลาสม่าทีวีที่แอลจีพยายามเพิ่มสัดส่วนยอดขายที่เป็นพรีเมียมทีวี ไม่ว่าจะเป็น Full HD TV หรือการโฟกัสขนาดหน้าจอจาก 50 นิ้วในปีนี้เพิ่มเป็น 60 นิ้วในปีหน้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรให้กับธุรกิจ

ช่วงต้นปีที่ผ่านมาแอลจีลอนช์คอนเซ็ปต์ Time for Change เพื่อสื่อสารไปสู่ผู้บริโภคให้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของแอลจี โดยแอลซีดีทีวีทุกรุ่นที่ลอนช์ออกมาจะใช้เทคโนโลยีสูงสุดผสานกับการดีไซน์ที่สอดคล้องกับแบรนด์คอนเซ็ปต์ของแอลจีที่ว่า Stylish Design and Smart Technology เพื่อเจาะตลาด Uncompromise Seeker โดยผนึกภาพยนตร์ Transformers II หวังสร้างการรับรู้และยอมรับแบรนด์ ควบคู่ไปกับการโปรโมตการใช้งานควบคู่กับชุดโฮมเธียเตอร์และเครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ ซึ่งมีการจับคู่แต่ละรุ่นให้ใช้งานร่วมกันโดยมีดีไซน์ที่สอดคล้องกันในแต่ละชุด ช่วยให้แอลจีสามารถสร้างยอดขายแบบโซลูชั่นได้มากขึ้น

ในขณะที่ ซัมซุง พยายามรุกตลาดทีวีพรีเมียมในทุกเซกเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นบุกเบิกตลาด LED TV การปลุกตลาดพลาสม่าทีวีด้วยการร่วมกับโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เพื่อเจาะตลาดคอภาพยนตร์พร้อมโปรโมตพลาสม่าทีวี 63 นิ้ว ทว่าถูกฟิลิปส์ บล็อกตลาดพลาสม่าทีวี ด้วยการเปิดตัว Philips Cinema 21:9 แอลซีดีทีวีที่มีจอภาพสัดส่วนเดียวกับจอในโรงภาพยนตร์ ด้วยจอภาพที่มีรายละเอียดสูงสุดระดับ Full High Definition (Full HD) ขนาด 56 นิ้ว พร้อมเทคโนโลยี Ambilight ให้อรรถรสเสมือนชมอยู่ในโรงภาพยนตร์ หวังกินรวบตลาดแฟลตพาแนลที่มีทั้งพลาสม่าทีวี และแอลซีดีทีวี ซึ่งที่ผ่านมาค่ายผู้ผลิตพลาสม่าต่างชูคุณสมบัติในการรับชมภาพยนตร์ได้ดีกว่าแอลซีดีทีวี

ล่าสุดซัมซุงลอนช์เทคโนโลยีใหม่ อินเทอร์เน็ต@ทีวี ใส่เทคโนโลยี Online Widgetทำให้ผู้บริโภคสามารถรับชมอินเทอร์เน็ตผ่านทีวีซัมซุงรุ่นใหม่ๆได้ โดยช่วงแรกจะรับชมได้ 4 เว็บไซต์คือ YouTube, AccuWeather.com, USA Today News และช่องข่าวจากเครือเดอะเนชั่น โดยผู้บริโภคไม่ต้องเชื่อมต่อผ่าน CPU แต่จะต้องมีสาย LAN หรือ Wi-Fi นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆผ่าน USB port โดยอินเทอร์เน็ต@ทีวี ของซัมซุงจะมีราคาเท่ากับทีวีรุ่นเดิมที่มีฟังก์ชั่นเดียวกัน เพียงแต่ใส่ฟังก์ชั่นเพิ่มเพื่อสร้างความได้เปรียบในการดึงดูดผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อ

ปัจจุบันตลาดทีวีโดยรวมมีปริมาณความต้องการอยู่ที่ 3.2 ล้านเครื่อง แบ่งเป็นพลาสม่าทีวี 65,000 เครื่อง แอลซีดีทีวีและแอลอีดีทีวีรวมกัน เกือบ 1 ล้านเครื่อง ที่เหลือเป็นทีวีจอแก้ว หรือซีอาร์ที ทีวี แม้จะเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ทว่าเป็นเซกเมนต์ที่มีปริมาณความต้องการลดลง เนื่องจากเริ่มถูกแทนที่ด้วยแฟลตพาแนลทีวีจอแบนบางอย่างแอลซีดีทีวี ที่มีขนาดต่ำกว่า 32 นิ้ว จะมีราคาอยู่ที่หลักพันบาทซึ่งแพงกว่าทีวีจอแก้วไม่มากนัก ทำให้เกิดการสวิตชิ่งไปใช้แอลซีดีทีวีมากขึ้น

ตลาดทีวีเมืองไทยได้รับแรงสั่นสะเทือนนับตั้งแต่แบรนด์เกาหลีเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยใหม่ๆ ต่อมาก็มีแบรนด์จีนที่เข้ามาถล่มราคาในตลาด จนส่งผลให้บรรดาแบรนด์ใหญ่พัฒนาโปรเจกชั่นทีวีซึ่งถือเป็นก้าวแรกของทีวีจอใหญ่ แม้จะยังคงใช้เทคโนโลยีหลอดภาพแบบซีอาร์ที ทีวีทั่วไป แต่ก็สร้างพฤติกรรมในการรับชมทีวีจอใหญ่ โดยยุคแรกโปรเจกชั่นทีวี มีราคาร่วมแสนบาท จากนั้นก็มีราคาตกลงมาเหลือไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น ซึ่งแพงกว่าซีอาร์ที ทีวีจอแบนขนาดใหญ่ไม่มากนัก จึงมีผู้บริโภคบางส่วนยอมควักกระเป๋าตังค์จ่ายเงินเพิ่มขึ้นแต่ได้ทีวีจอใหญ่สมใจ เนื่องจากซีอาร์ที ทีวีจอแบนขนาดใหญ่อย่างมากก็แค่ 32 นิ้ว ในขณะที่โปรเจกชั่นทีวีใหญ่กว่า 40 นิ้วขึ้นไป

ทว่าโปรเจกชั่นทีวี เต็มไปด้วยจุดด้อย ทั้งในเรื่องแสงสว่างหน้าจอที่น้อย ทำให้ไม่เหมาะในที่ที่มีแสงสว่างมากเพราะจะทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด รวมถึงมุมมองที่แคบ น้ำหนักมาก ขนาดใหญ่ เคลื่อนย้ายลำบาก จึงมีการพัฒนาไปสู่พลาสม่าทีวี ขนาดหน้าจอ 40 นิ้วขึ้นไป ซึ่งเริ่มต้นด้วยราคาระดับแสนบาท โดยมี LCD TV รุกตลาดจอแบนบางที่ขนาดหน้าจอต่ำกว่า 37 นิ้ว ด้วยราคาระดับแสนบาทเช่นกัน แต่หากเทียบราคาต่อนิ้วแล้ว LCD TV จะมีราคาแพงกว่าพลาสม่าทีวีในช่วงแรก 2-3 เท่า ทำให้พลาสม่าทีวีได้รับความนิยมมากกว่า LCD TV ในช่วงแรก

ทั้งนี้ ทีวีทั้งสองประเภทมีความบางค่อนข้างมาก เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คนเมืองที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมซึ่งต้องการเครื่องใช้ในบ้านที่สามารถประหยัดพื้นที่ได้ รวมถึงใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในบ้านได้ จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคระดับบนที่กระเป๋าหนัก

แต่ด้วยกระแสความนิยมทีวีจอใหญ่แบนบางที่มาแรงในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ผลิต LCD TV หันมาพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง ทำให้ LCD TV ข้ามผ่านข้อจำกัดในการทำขนาดหน้าจอให้ใหญ่กว่า 40 นิ้วได้ พร้อมกับการพัฒนาความคมชัดของภาพเคลื่อนไหวให้เทียบเคียงพลาสม่าทีวี จนทำให้ LCD TV มีจุดเด่นเหนือพลาสม่าทีวี โดยเฉพาะในเรื่องของการประหยัดพลังงานกว่าพลาสม่าทีวี ประกอบกับกระแสการทำการตลาดสีเขียวที่ส่งผลให้เทคโนโลยีที่กินไฟน้อยกว่าอย่าง LCD TV ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีการพัฒนาสินค้าและผลิตออกมาในปริมาณที่มากจนเกิด Economy of Scale ส่งผลให้ทั้ง LCD TV และพลาสม่าทีวีมีระดับราคาต่ำกว่าแสนบาท ทว่าสงครามราคาก็รุกคืบเข้ามา ส่งผลให้ราคาเทคโนโลยีทั้งสองตกลงมาอยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ โดยพลาสม่า 40 นิ้ว มีราคาอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าบาท ส่วน LCD TV 32 นิ้ว มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 บาท ซึ่งบางครั้งก็ถูกนำมาทำราคาเหลือ 9,000 กว่าบาท ในช่องทางที่เป็นดิสเคานต์สโตร์ซึ่งแข่งขันรุนแรงในเรื่องราคา

แม้ตลาดทีวีจอใหญ่จะได้รับความนิยมมากขึ้น ทว่าตลาดทีวีจอเล็กยังมีความต้องการอยู่ทั้งในส่วนของผู้ที่อาศัยในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ หรือบ้านใหญ่ที่ต้องการทีวีเครื่องที่ 2 ในห้องนอน ดังนั้น หลายๆ ค่ายจึงยังคงผลิตทีวีจอเล็กซึ่งส่วนใหญ่เป็นทีวีจอแก้วซึ่งไม่ได้สร้างกำไรให้กับธุรกิจมากนัก ดังนั้น หลายๆค่ายจึงเน้นไปที่ LCD TV ที่มีขนาดต่ำกว่า 32 นิ้ว เช่น 19 นิ้ว 22 นิ้ว 26 นิ้ว ซึ่งมีราคาสูงกว่า ซีอาร์ที ทีวี ไม่มากนัก เป็นเหตุผลที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคในเมืองยอมจ่ายแพงเพื่อได้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีซีอาร์ที ทีวี ก็ถูกพัฒนาให้เป็นสลิมฟิตทีวี ทำให้บางกว่าซีอาร์ที ทีวีทั่วไป

หลังจากแฟลตพาแนลทีวีได้รับความนิยมมากขึ้น มีผู้เล่นมากขึ้น ก็เริ่มมีการทำสงครามราคา จนต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้นไปสู่การเป็น Full HD TV ที่ให้ภาพที่คมชัดขึ้น จนมาถึงเทคโนโลยี LED TV ที่รวมเอาจุดเด่นของ LCD TV และพลาสม่าทีวี เข้าด้วยกัน อีกทั้งยังประหยัดไฟกว่า LCD TV 40% ในขณะที่มีระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่หลักแสนบาท ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าให้กับตลาดทีวี ทั้งนี้ หากเทียบราคา LED TV กับ LCD TV ที่เป็นไฮเอนด์ หรือระดับ Full HD แล้วLED TV จะมีราคาแพงกว่า 15% แต่ถ้าเทียบกับ LCD TV ธรรมดาแล้ว LED TV จะมีราคาแพงกว่าเกือบเท่าตัว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.