|
แฟร์เกม '3G' รายเล็กต้องเกิด กันต่างชาติ ฮุบ-ฮั้ว-ป่วนตลาด
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 พฤศจิกายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดอกเปลือยทุกประเด็น 3G ชี้ผลได้ผลเสียกระทบไล่ตั้งแต่ประชาชนผู้ใช้บริการจนถึงประเทศชาติกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และพร้อมเป็นผู้ประกอบการไทยรายเล็กที่จะงัดข้อกับกลุ่มทุนรัฐวิสาหกิจต่างชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง ปิดตายระบบผูกขาดเพียงยักษ์ใหญ่สองรายที่อาจทำตลาด 3G ไทยป่วนในอนาคตแบบยากจะคาดเดา
หลังจากที่ ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แสดงจุดยืนและจุดประเด็นเรียกร้องต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ใน 2 ประเด็นหลักเกี่ยวกับการประมูลใบอนุญาต (ไลเซนส์) 3G คือ 1.ราคาประมูลไม่ควรสูงเกินไป เพราะอาจทำให้การประมูลด้วยวิธีนี้ผิดพลาด เนื่องจากผู้ประกอบการยังต้องมีภาระการลงทุนด้านโครงข่าย ดังนั้นต้นทุนที่สูงขึ้น ภาระจะตกอยู่กับผู้ใช้บริการ ส่วนประเด็นที่ 2 ทำอย่างไรไม่ให้อุตสาหกรรมนี้ถูกควบคุมและครอบงำโดยต่างประเทศ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจต่างชาติ
การแสดงจุดยืนและการจุดประเด็นดังกล่าวของทรู คอร์ปอเรชั่น ส่งผลต่อเนื่องไปทุกภาคส่วนที่ได้นำคำพูดของบอสใหญ่ค่ายทรูฯ ไปขยายวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยกัน กทช. นักกฎหมาย วุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักการเมือง นักวิชาการ ต่างพาเหรดกันออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา
ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เปิดอกเปิดเผยทุกรายละเอียดกับ 'ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์' ในทุกประเด็นที่เกิดขึ้นตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาว่าประเด็นที่บอกว่าประเทศไทยควรจะเก็บค่าไลเซนส์ 3G ในอัตราที่แพงอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษที่มีการเรียกเก็บถึง 1.6 ล้านล้านบาท โดยมีการยกประเด็นของโทรทัศน์ช่อง 7 ที่จ่ายเงินสัมปทานเพียงปีละ 270 ล้านบาท สามารถขายโฆษณาในอัตราที่สูงถึง 200,000-300,000 บาทต่อนาที แต่ไอทีวีต้องจ่ายสูงถึง 1,000 ล้านบาท กลับคิดค่าโฆษณาในอัตราที่ต่ำกว่าช่อง 7 มาก แสดงให้เห็นว่าการเรียกเก็บค่าคลื่นในอัตราสูง ไม่สามารถที่จะไปเรียกเก็บเงินโฆษณาจากลูกค้าได้ในอัตราที่สูง เมื่อเทียบกับค่าไลเซนส์ 3G เลยมีความคิดว่าถ้ามีการเก็บค่าไลเซนส์แพงๆ ก็บริการก็จะไม่สามารถแพงตามได้
ธัช บุษฎีกานต์ ผู้อำนวยการด้านกฎหมายโทรคมนาคม และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎข้อบังคับ และรองหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การเรียกเก็บค่าไลเซนส์ 3G กับกรณีของค่าคลื่นทีวีเป็นคนละประเด็นและไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากการใช้งาน 3G เป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องซื้อ ไม่เหมือนกับการดูฟรีทีวีที่ไม่ต้องเสียเงิน เพราะฉะนั้นหากภาคเอกชนที่เข้ามาประมูลไลเซนส์ 3G มีต้นทุนที่มีราคาแพง ภาระจะต้องตกกับผู้ใช้บริการอย่างแน่นอน
'ธรรมชาติของบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์การทำธุรกิจของทุกคนก็มุ่งหวังรายได้และผลกำไร เมื่อมีต้นทุนการทำธุรกิจที่แพงภาระก็ต้องตกกับผู้ใช้งานอย่างแน่นอน'
ผลกระทบที่เกิดขึ้นหากกทช.ในฐานะผู้กำกับดูแลคลื่น 3G เก็บค่าไลเซนส์แพงเกินจริง ปัญหาจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่สามารถจะเข้าไปแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงินทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะมาจากสิงคโปร์หรือนอร์เวย์ก็ตาม
ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยืนยันว่าหากไม่มีข้อจำกัดเรื่องของเงินค่าไลเซนส์จำนวนมากหลายหมื่นล้านบาท ทางบริษัทพร้อมและมีเงินทุนสำหรับการพัฒนาโครงข่าย 3G อย่างแน่นอน แต่หากว่าต้องนำเงินที่เตรียมไว้สำหรับการพัฒนาโครงข่าย 3G มาเป็นเงินที่ต้องจ่ายล่วงหน้าให้กับรัฐ ย่อมส่งผลกระทบอย่างหนักและอาจทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่นไม่สามารถที่จะแข่งขันกับผู้ให้บริการรายใหญ่ได้
'ลองคิดดูว่าหากมีผู้ประกอบการเพียง 2 ราย การให้บริการจะกลับไปสู่ยุคผูกขาด และเมี่อเขาได้ไลเซนส์ 3G ไปในราคาแพงเขาคงจะไม่แบกภาระเงินลงทุนโดยไม่เอาคืนหรือผลักภาระไปสู่ผู้ใช้บริการ'
ธัช ได้ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเกี่ยวกับการให้ไลเซนส์ 3G อย่างประเทศญี่ปุ่นมองว่าการเก็บค่าคลื่น 3G ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ จึงไม่มีการเรียกเก็บและให้ไลเซนส์กับผู้ให้บริการทุกราย ปรากฏว่าทุกรายแข่งขันกันให้บริการและดำรงอยู่ในตลาดได้อย่างแข็งแรง จนปัจจุบันมีการเพิ่มผู้ให้บริการจากเดิม 3 รายเป็น 4 ราย จากความต้องการใช้ที่มาก ผิดกับเอกชนที่ต้องเสียค่าคลื่น 3G แพงๆ ในอังกฤษการพัฒนาโครงข่ายก็ช้า การให้บริการยังไม่กว้างขวาง อีกทั้งเอกชนไม่สามารถที่จะยืนยันทำธุรกิจได้
ยิ่งไปกว่าในประเทศแถบอาเซียน ประเทศสิงคโปร์มีการเรียกเก็บค่าไลเซนส์ 3G เพียง 1,925 ล้านบาท มาเลเซีย 462 ล้านบาท โดยให้กับผู้ให้บริการทุกราย ส่วนฮ่องกงก็ใช้สูตรการเรียกเก็บค่าไลเซนส์แบบทยอยจ่ายเป็นรายปี ที่สำคัญประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา และเวียดนาม ทุกประเทศไม่มีการเรียกเก็บค่าไลเซนส์ทั้งนั้น
'สูตรการเก็บค่าไลเซนส์ 3G ในแต่ละประเทศได้พิสูจน์แล้วว่าสูตรไหนประสบความสำเร็จและเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ต่อมา'
หากมองในแง่ผลที่ภาครัฐจะได้รับหากภาคเอกชนสามารถประกอบธุรกิจ 3G ให้เดินหน้าไปได้ โดยรัฐเก็บค่าไลเซนส์ที่ลดลง รัฐจะสามารถเก็บภาษีได้ตั้งแต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากผู้ใช้บริการ เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตจากผู้ประกอบการสูงถึง 30% เก็บภาษีเงินได้จากพนักงานที่ทำงานในบริษัทที่ให้บริการ 3G และค่าธรรมเนียมที่กทช.จะได้รับอีก 6.5% ทั้งหมดเป็นเงินจำนวนมหาศาลที่รัฐจะได้รับ หากไม่มีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าจำนวนมหาศาลจากผู้ประกอบการ
สำหรับประเด็นที่มองว่ารัฐจะสูญเสียรายได้จากสัญญาสัมปทานเดิมนับแสนบาทนั้น ธัช กล่าวว่าที่ผ่านมาตลอด 19 ปีที่ผู้ให้บริการทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ จ่ายให้รัฐนั้นมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท โดยสัญญาสัมปทนของทั้ง 3 รายก็เหลือเพียง 4-6 ปีเท่านั้น การเปิดเสรีโทรคมนาคมโดยกทช.กับการให้ไลเซนส์ 3G จึงเป็นคนละประเด็นกัน และในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามข้อกำหนดของกทช.ที่กำหนดว่าผู้ให้บริการ 3G ต้องพัฒนาโครงข่ายให้ครอบคลุม 50%ของประชากรใน 2 ปี และภายใน 4 ปี ให้ครอบคลุม 80% นั้น การย้ายโอนลูกค้าเดิมของผู้ให้บริการแต่ละรายไม่ใช้เรื่องง่ายๆ แม้ว่าโครงข่าย 3G จะพัฒนาได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ผู้ใช้บริการก็ยังอาจจะเลือกใช้บริการในคลื่นเดิมอยู่ก็ได้ และระหว่างที่มีการพัฒนาโครงข่าย 3G อย่างไรผู้ให้บริการทุกรายก็ยังต้องจ่ายเงินสัมปทานเดิมอยู่ดี เพราะผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ยังต้องใช้งานอยู่
'เราต้องเสียเงินทั้งค่าสัมปทานเดิม และยังต้องลงทุนพัฒนา 3G นี่คือเรื่องจริงที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระและความเสี่ยงเพราะอนาคตก็ยังไม่รู้ว่าจะมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ย้ายจากระบบเดิมไปสู่ 3G มากน้อยเพียงไร'
ส่วนประเด็นเรื่องการครอบงำโดยต่างชาตินั้น ทางทรู คอร์ปอเรชั่น ไม่ได้มีการกีดกั้นคู่แข่งขันหรือเอกชนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ เพราะที่ผ่านมาทรูฯ และเครือซีพีฯ ก็มีเอกชนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจด้วยเสมอมา แต่สิ่งที่ทรูฯ ตั้งเป็นประเด็นก็คือเรื่องของรัฐวิสาหกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมสื่อสารของไทยมากกว่า โดยในแง่ความมั่นคงของประเทศก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทางทหาร รัฐบาลต้องลงมาดูแลเรื่องนี้ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการคนไทยปัจจุบันที่ต้องยอมรับว่าขณะนี้มือถือกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวัน การที่กิจการสื่อสารเป็นของรัฐวิสาหกิจต่างชาติ ในอนาคตอาจเกิดปัญหาที่กทช.ไม่สามารถที่จะเข้าไปควบคุมกิจการเหล่านี้ได้
'หากรัฐวิสาหกิจต่างชาติเกิดฮั้วกันขึ้นราคา หรือไม่ยอมให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทย อะไรจะเกิดขึ้นกับเสียหายเหล่านี้'
ตัวอย่างในบางประเทศ อย่างอเมริกาที่ถือเป็นประเทศที่เปิดเสรีทางการค้า ยังมีข้อจำกัดหากอเมริกามองว่าการเข้ามาของต่างชาตินั้นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอเมริกาก็จะไม่ให้มีการลงทุนนั้นเกิดขึ้น หรืออย่างที่เกิดขึ้นในมาเลเซียที่ให้ไลเซนส์ 3G กับทุกผู้ให้บริการ เว้นเพียงบริษัทที่มีกลุ่มเทเลนอร์ถือหุ้น เนื่องจากบริษัทนั้นกลุ่มเทเลนอร์ถือหุ้นถึง 61% กทช.มาเลเซียบอกให้เทเลนอร์มีการลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 49% ก่อนจึงจะให้ไลเซนส์ 3G ซึ่งทางเทเลนอร์ก็ยอมทำตาม เช่นเดียวกันในประเทศไทยน่าที่จะนำสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมากำหนดและบังคับใช้ในประเทศเช่นกัน
"เราอยากเห็นการลงทุนแบบตรงไปตรงมาไม่ได้มีอะไรแอบแฝง และเราก็ไม่ได้รังเกียจคนต่างชาติ"
สำหรับประเด็นการให้ไลเซนส์พร้อมกัน 4 ใบนั้น ในความเป็นจริงผู้ประกอบการทุกรายจะต้องพยายามให้ได้ใบไลเซนส์ในราคาที่เหมาะสมที่สุดอยู่แล้ว และก็ถือเป็นการสร้างความเท่าเทียมไม่ให้ผู้ประกอบการายใหญ่เข้ามาทุ่มเงินชิงบริการก่อนแบบผูกขาดแต่ผู้เดียว
"วันนี้เราไม่มีเงินมากองเพื่อให้ได้ใบไลเซนส์ ก็เหมือนกับถีบเราออกจากตลาด"
ธัช มองว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเอไอเอสและดีแทคต่างมีความร่ำรวยอย่างมหาศาลจากทั้งกลุ่มเทมาเส็กและเทเลนอร์ ที่มีเงินทุนมากกว่าเงินงบประมาณของประเทศไทยทั้งประเทศด้วยซ้ำ แม้ว่ากลุ่มทรูฯ ที่มีเครือซีพีสนับสนุนอยู่ก็ไม่อาจเทียบได้ แต่จำเป็นต้องมีผู้ประกอบการรายเล็กอย่างทรูฯ ให้บริการ 3G ด้วย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันไม่มีการผูกขาดตลาด ประชาชนผู้ใช้บริการก็จะได้รับประโยชน์
"เราต้องการให้ทั้งเอไอเอสและดีแทคแข่งขันกันต่อในบริการ 3G เราขอท้ารบแต่จะต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับกทช.ว่าจะมีการตรวจสอบและวางข้อกำหนดต่างๆ โดยไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับรายใหญ่จนรายเล็กไม่สามารถเกิดและให้บริการ 3G ได้" ธัชกล่าวในท้ายที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|