|

ปฏิบัติการsocial network เครื่องมือการตลาดชิ้นเอกยุคดิจิตอล
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 พฤศจิกายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
-social network หรือชุมชนออนไลน์ ปรากฏการณ์สร้างมูลค่าการตลาดทั้งด้านยอดขาย และแบรนดิ้ง ยุคดิจิตอล
-กลยุทธ์ขยายกลุ่มก้อนลูกค้าเป้าหมายบนอินเทอร์เน็ตสู่ความสำเร็จบนต้นทุนต่ำ แต่มีอิทธิพลสูงต่อผู้บริโภค
-นักโฆษณาชี้ ดิจิตอลมาร์เกตติ้งมาแรง ศักยภาพแซงสื่อหลักไปแล้ว
social networking อาจไม่ใช่ประเด็นใหม่ของวงการตลาดเมืองไทย และทั่วโลก มันเป็นสิ่งที่พูดกันมาค่อนข้างนาน และเป็นเครื่องมือการสร้างมูลค่าตลาดในฝัน ของเจ้าของแบรนด์สินค้า เพราะอาวุธนี้มีประสิทธิภาพสูง ใช้ต้นทุนต่ำ แต่ในตอนนี้สัญญาณการขยายตัวของการสร้างชุมชนออนไลน์เพื่อสร้างแบรนด์สินค้า กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและรุนแรง ผ่านปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น facebook, twitter หรือ hi5
เจ้าของสินค้าหลายๆ แบรนด์เริ่มหันมาใส่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่างๆ เข้าไปในชุมชนออนไลน์เหล่านี้ เพื่อหวังให้เป็นสื่อที่เข้าถึงลูกค้า รวมถึงการสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นสินค้าประเภทใด ตั้งแต่รถยนต์ ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงเครื่องสำอาง นอกจากนี้ social networking ยังเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยตรงระหว่างเจ้าของผลิตภัณฑ์ และกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ทั้งผู้ส่งและผู้รับสามารถโต้ตอบแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในเวลาอันรวดเร็วอีกด้วย
กูรูเว็บแนะกลยุทธ์ สร้าง social network
ต่อบุญ พ่วงมหา ประธานบริหาร บริษัทสนุกดอทคอม จำกัด ผู้บริหารเว็บไซต์สนุกดอทคอม กล่าวถึงกระแสชุมชนออนไลน์ social network ว่า เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพสูงในปัจจุบัน และใช้งบประมาณค่อนข้างต่ำ สื่อเดิมทำหน้าที่ได้เพียงการสื่อสารจากจุดหนึ่ง ไปสู่วงกว้าง แต่การใช้ social network เป็นการสร้างจุดศูนย์กลางในการสื่อสาร ที่มีคนอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ สามารถเชื่อมจากหลายจุดไปสู่หลายๆ จุดที่กว้างขึ้นกว่าเดิม คอนเนกต์เชื่อมถึงกันอย่างไม่มีพรมแดน ช่วยให้การโฆษณากระจายออกไปอย่างไม่มีขีดจำกัด เหนือกว่าการใช้สื่อแบบเดิมๆ ที่วันนี้เริ่มเข้าถึงกลุ่มแคบลง
'การทำการตลาดด้วย social network นั้น นักการตลาดจำเป็นต้องวางเป้าหมายที่ชัดเจน และใจร้อนไม่ได้ สื่อนี้ไม่ใช่การสร้างยอดขายในทันที แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย เมื่อถึงโอกาสที่เหมาะในการทำตลาดให้กับสินค้า ทำโปรโมชั่นเพื่อสร้างยอดขาย แต่เหนือสิ่งอื่นใด คอนเทนต์ที่จะส่งถึงกลุ่มเป้าหมายนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต้องใช้ความเนียน กลมกลืนกับสังคมนั้นๆ ก็จะสามารถสร้างให้เป็นสื่อที่มีประสิทธิผล และมีระยะยืนยาว '
ต่อบุญ กล่าวต่อว่า การสร้างคอมมูนิตี้ให้เป็น social network นักการตลาดสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเว็บไซต์ของตนเอง บางครั้งอาจสร้างคอมมูนิตี้ไว้บนสื่ออินเทอร์เน็ต เช่น facebook, twitter หรือ hi5 หรือแบรนด์ที่มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง แต่ไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายมากนัก ก็อาจใช้สื่ออินเทอร์เน็ตที่เป็น open platform เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้น สร้างสังคมแล้วดึงให้เข้ามาอยู่บนเว็บไซต์ของตนได้เช่นกัน ซึ่งประสิทธิภาพของ social network หากสามารถตอบโจทย์ได้ก่อนว่า ลูกค้าของแบรนด์คือใคร อยู่ที่ไหน และมีคอนเซ็ปต์ในการสื่อสารถึงกันที่ดีจริง อาจไม่จำเป็นต้องใช้สื่อหลักเช่น ทีวี วิทยุ เลย ก็สามารถประสบความสำเร็จได้
ชี้ดิจิตอลมาร์เกตติ้งไทยวิ่งฉิว ประสิทธิภาพเจ๋งเหนือสื่อหลัก
ธอมัส ไอเดีย อินเตอร์แอกทีฟเอเยนซีชั้นนำของไทย เผยถึงพัฒนาการด้านดิจิตอลมาร์เกตติ้งในประเทศไทยว่า วันนี้มีความพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคนิวมีเดียเต็มรูปแบบ และมีศักยภาพเทียบเท่าตลาดสากลด้วยมาตรฐานและแผนการตลาดที่เข้มแข็ง ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะแวดวงไอทีเพียงอย่างเดียว แต่เข้าไปถึงสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ไลฟ์สไตล์ และที่อยู่อาศัย เริ่มหันมาใช้กลยุทธ์ออนไลน์มากขึ้น โดยนักการตลาดไทยที่มีการปรับตัวตอบโจทย์สนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทันกระแสโลกยุคใหม่ ได้พิสูจน์แล้วว่า สื่อดิจิตอลสร้างความคุ้มค่ามากกว่าสื่อหลัก เพราะสามารถตอบโจทย์การตลาด ช่วยเร่งยอดขาย วัดผลได้รวดเร็ว และสามารถประยุกต์ข้อมูลไปใช้วางกลยุทธ์ที่หลากหลายมากขึ้น
อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัส ไอเดีย จำกัด กล่าวว่า ผู้บริโภคในวันนี้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีมากขึ้น มีแนวโน้มหันมาบริโภคสื่อออนไลน์ทดแทนสื่อกระแสหลัก และยังกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เป็นผลให้เจ้าของสินค้าหรือนักการตลาดที่มีงบการสื่อสารการตลาดที่จำกัดในช่วงเศรษฐกิจหดตัวเช่นเวลานี้ ต้องย้ายงบจากการโฆษณาในสื่อหลัก เปลี่ยนมาเป็นสื่อทางเลือก โดยเฉพาะสื่อดิจิตอลมากขึ้น เป็นผลให้นักการตลาดรุ่นใหม่มองเห็นโอกาสและความสำคัญของดิจิตอลมาร์เกตติ้งมากขึ้น กระแสของชุมชนออนไลน์ที่เติบโตขึ้นยิ่งทำให้นักการตลาดไทยมองเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีอินเตอร์แอกทีฟมากขึ้นในหลายๆ ด้าน อาทิ การสร้างชุมชนออนไลน์, การสร้างตลาดออนไลน์ซื้อขาย, การสื่อสารเพื่อส่งเสริมแคมเปญการตลาด และการสร้างกลยุทธ์วางระบบออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูลลูกค้าที่ชัดเจนและแม่นยำ เป็นต้น
ธอมัส ไอเดีย ยังให้มุมมองถึงข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับนักการตลาดที่ต้องการใช้ดิจิตอลมาร์เกตติ้งเป็นเครื่องมือสร้างยอดขายว่า จุดเด่นที่ช่องทางอินเตอร์แอกทีฟมีเดียนี้แตกต่างจากสื่อหลักในการทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาดประกอบด้วย
การสร้างแบรนด์เอ็นเกจเมนต์ให้เกิดขึ้น (brand engagement) ที่สื่อเว็บไซต์สามารถเพิ่มเนื้อหา และให้ข้อมูลที่มากกว่าสื่อหลักอย่างทีวี วิทยุ หรือสิ่งพิมพ์ อีกทั้งอายุของเว็บไซต์ก็ยาวนานกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่จ่ายไปจึงถือว่าคุ้มค่ามากกว่า
การสร้างแรงจูงใจต่อผู้บริโภค (purchase intent) เนื่องจากพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคยุคใหม่เข้าใจในระบบโปรโมชั่นและโฆษณามากขึ้น มีการแสวงหาข้อมูลออนไลน์เพื่อช่วยกระตุ้นให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้น อีกทั้งเป็นช่องทางที่ทำให้นักการตลาดสามารถสื่อสารได้ถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้จริง
การสร้างฐานลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) เพื่อให้การสร้างช่องทางสื่อสารระหว่างลูกค้าและแบรนด์มีประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ในการออกแบบระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีสนับสนุน และทีมงานที่รองรับการดูแลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก
การสร้างกระแสชุมชนออนไลน์ (social media) ให้กลายเป็นเครื่องมือการตลาดและประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ word of mouth ที่ทรงพลัง เช่น facebook, hi5, twitter และ blog ต่างๆ โดยมีข้อควรระวัง คือ กลยุทธ์การสื่อสารที่ดี และระบบบริหารจัดการสมาชิกที่เป็นกลุ่มคนจริงๆ ในโลกไซเบอร์นั้น หากมีข้อผิดพลาดก็จะกลับกลายเป็นผลร้ายต่อสินค้าได้โดยง่าย
อุไรพร กล่าวต่อว่า นักการตลาดควรมีทีมที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอินเตอร์แอกทีฟและการวางกลยุทธ์การตลาดควบคู่กัน ยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วเท่าไร พฤติกรรมผู้บริโภคก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น จากเดิมที่สื่อหลักเป็นตัวกำหนดเทรนด์ วันนี้กลายเป็นการไล่ตามกระแสออนไลน์ นักการตลาดจึงต้องก้าวให้ทันด้วยการวางกลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เกตติ้งที่ประสานทั้งการตลาดและเทคโนโลยีให้เป็นหนึ่งเดียว
"กลไกการทำดิจิตอลมาร์เกตติ้ง หรืออินเตอร์แอกทีฟมาร์เกตติ้งได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางการสื่อสารที่สะดวกและคุ้มค่า สร้างผลตอบแทนทางธุรกิจได้ ซึ่งมีตัวอย่างของบริษัทไทยหลายแห่งที่ได้รับรางวัลระดับโลกในส่วนของการสร้างสรรค์ออกแบบ และพัฒนาระบบเว็บไซต์ในเชิงดิจิตอลมาร์เกตติ้ง ดังนั้น องค์กรธุรกิจควรให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ออนไลน์ และศึกษาระบบแอปพลิเคชั่นอินเตอร์แอกทีฟที่มีอยู่ว่ารองรับการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้งานได้มากกว่าการเป็นเว็บไซต์แสดงข้อมูลองค์กรดังที่เคยเป็นมาในอดีตหรือไม่ เพื่อให้องค์กรสามารถทันต่อการแข่งขันในสงครามการตลาดยุคใหม่ได้ทันท่วงที"
ชุมชนออนไลน์สื่อฮอต ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องมือการตลาดสร้างสังคมชุมชนออนไลน์ เป็นยุทธวิธีตลาดของบรรดาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แบบแม่นยำ ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างลอยัลตี้ให้แบรนด์อีกด้วย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเมื่อกระแสเทคโนโลยี มือถือ คอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต และได้เปลี่ยนพฤติกรรมคนในยุคนี้สื่อสารกันบนโลกออนไลน์
กอปรกับกฎการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐ เหตุผลดังกล่าวได้ส่งผลให้ค่ายเหล้านำเข้า ดิอาจิโอ และเพอร์นอต เริ่มปรับมาใช้การสื่อสารบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อหนึ่งที่กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ใช้ในชีวิตประจำวัน และชีวิตการทำงาน ระยะหลังเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่าง วอดก้า และเบียร์ทั้ง3 ค่ายในตลาดคือ ไฮเนเก้น สิงห์ และช้าง เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการทำตลาดผ่านโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น
แนวทางตลาดโดยใช้สื่อชุมชนออนไลน์เป็นเครื่องมือตลาดในการเข้าถึงเป้าหมายในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีในทุกเซกเมนต์ตลาด ไม่ว่าจะเป็นสก็อตช์วิสกี้ ระดับสแตนดาร์ดไปจนถึงระดับพรีเมียม
ในช่วงแรกๆ เพอร์นอต เจ้าตลาดเหล้านอกกลุ่มสแตนดาร์ด เริ่มสร้างสังคมออนไลน์สำหรับการทำตลาดฮันเดรด ไพเพอร์ส โดยนำมาเป็นสื่อสำหรับสื่อสารกิจกรรมมิวสิกมาร์เกตติ้ง "ร็อคฮันเดรด" กับกลุ่มลูกค้า
หลังจากนั้นปีที่ผ่านมา เมื่อมีการขยายการจัดกิจกรรมไปที่ สปอร์ตมาร์เกตติ้ง ในแคมเปญ "100 แฟนตาซี ฟุตบอล" เกมฟุตบอลลิขสิทธิ์จากอังกฤษ เพื่อตอกย้ำกลยุทธ์สปอร์ตมาร์เกตติ้งผ่าน www.HYPERLINK "http://www.100community.com/" \t "_blank" 100HYPERLINK "http://www.100community.com/" \t "_blank" community.com ในช่วงที่เป็นฤดูการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ซึ่งจะเป็นการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลและคนที่ชื่นชอบเกมออนไลน์ ที่มีจำนวนหลักแสนคน
ในจุดนี้นับว่าสื่อบนโลกออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยการใช้เว็บไซต์สร้างชุมชนของฮันเดรด ไพเพอร์ส ยังเป็นสื่อสำหรับการตลาดสร้างประสบการณ์ โดยแฟนฟุตบอลที่คลิกเข้ามาร่วมสนุกชิงรางวัลลุ้นคว้าสิทธิ์ไปชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ถึงขอบสนาม
ปีนี้กิจกรรมทางการตลาดเว็บไซต์สร้างชุมชนของฮันเดรด ไพเพอร์ส ต่อยอดมาด้วยรูปแบบการจัดปาร์ตี้เพื่อเพื่อนๆ ชาว 100 community และ 100 fantasy footballพร้อมทั้งเปิดตัวแคมเปญการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ในฤดูการแข่งขันใหม่ ปัจจุบัน นับว่าแนวทางในการทำตลาด ผ่านทาง www.100community.com กลายเป็นสื่อที่สำคัญสำหรับกิจกรรมหลักเกี่ยวกับเรื่องกีฬาฟุตบอล และดนตรีร็อกของฮันเดรด ไพเพอร์ส
เช่นเดียวกัน การตลาดสร้างชุมชนออนไลน์เป็นสื่อที่ ดิอาจิโอ ค่ายเหล้าที่ครองตลาดสก็อตช์วิสกี้กลุ่มพรีเมียม นำมาเป็นสื่อสำหรับการทำตลาดแบรนด์หัวหอก "จอห์นนี่ วอล์กเกอร์" เบนมอร์ กระทั่งการตลาดของเหล้ากลุ่มไวท์สปิริต สเมอร์นอฟวอดก้า
การสร้างชุมชนออนไลน์ของ จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ เรด เลเบิ้ล ที่เน้นกลยุทธ์การตลาด "มิวสิกมาร์เกตติ้ง"ผ่านเว็บไซต์ www.redioactiveparty.com เพื่อสร้างเครือข่ายทางสังคม ผ่านรูปแบบกิจกรรมปาร์ตี้ต่างๆ
ขณะเดียวกัน จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ แบล็ค เลเบิล เจ้าตลาดสก็อตช์วิสกี้กลุ่มพรีเมียม ก็มีสื่อออนไลน์สำหรับสื่อกิจกรรมการตลาดในรูปแบบเอ็กซ์คลูซีฟ อีเวนต์ เข้าถึงลูกค้าอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป เป็นคนรุ่นใหม่ ทันสมัย และชอบความท้าทาย โดยเฉพาะกลยุทธ์การตลาด black planet ซึ่งเป็นแคมเปญเพื่อตอกย้ำความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่เน้นการตลาดสร้างประสบการณ์ร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย หรือ experiential marketing ผ่านเว็บไซต์ www.blackplanetcitizen.com
กระทั่งการตลาดของเหล้ากลุ่มไวท์สปิริต สเมอร์นอฟวอดก้า ที่ใช้เครื่องมือสื่อออนไลน์ ก็เป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับสร้างการรับรู้แบรนด์ และสินค้า ซึ่งการดื่มวอดก้า ถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องมีการเอ็ดดูเคตตลาดกันอีกมาก โดยปีที่ผ่านมา สเมอร์นอฟ เปิดเกมรุกตลาดด้วยวิธีสร้าง SOCIAL NETWORKING ทั้งในตลาดระดับโลกและระดับประเทศผ่าน 3 แคมเปญใหญ่ คือ THE SMIRNOFF TEN ในระดับประเทศ ได้แก่ SMIRNOFF BRAND AMBASSADOR และ SMIRNOFF PARTY CONTEST
การสร้างชุมชนออนไลน์ เพื่อใช้เป็นสื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ค่ายฟองเบียร์อย่าง ไฮเนเก้น พัฒนาเป็นเครือข่ายกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ และไม่ได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นการรวมเป็นเครือข่ายออนไลน์ของกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบเบียร์ไฮเนเก้นทั่วโลก
นายรอนนี่ เตียว ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้น เปิดเผยว่า ในเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุด เทรนด์ดังกล่าวทำให้ไฮเนเก้นต้องปรับการตลาด นำเสนอไอเดียการสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่โดยมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
ไฮเนเก้น ทุ่ม 100ล้านบาท เปิดตัวโครงการสร้างเครือข่ายสังคม "ไฮเนเก้น กรีนสเปซ"ด้วยการเปิดเว็บไซต์ www.i-greenspace.com ภายใต้คอนเซ็ปต์ เอาโลกออนไลน์มาสู่โลกแห่งความเป็นจริง เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และทำให้แบรนด์เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคบนโลกเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มอันดับความนิยมในแบรนด์และย้ำภาพลักษณ์ของไฮเนเก้น
ประเดิมสร้างคอมมูนิตี้ ด้วยการนำเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ มาช่วยสมาชิกให้สามารถติดต่อกันได้ทั้งออนไลน์และพบปะกันในชีวิตจริงที่ปาร์ตี้ และสถานที่สังสรรค์ของกรีนสเปซ นอกจากนี้ยังได้เตรียมจัดโปรแกรมคอนเสิร์ตและปาร์ตี้ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผ่านสถานบันเทิง ผับ บาร์ 10 แห่ง และกิจกรรมครั้งใหญ่ 2 แห่ง จากนั้นบริษัทจะต่อยอดกิจกรรมอื่นๆ ตามมา ทั้งนี้โครงการสร้างเครือข่ายสังคม นำร่องที่ไทยเป็นประเทศแรกก่อน และพัฒนาเป็นรีจินัลแคมเปญและโกลบอลแคมเปญ ในไปในอนาคต
"เราปรับการทำตลาดให้แบรนด์อยู่กับการใช้ชีวิตของผู้บริโภค เป็นการสร้างประสบการณ์ตรงให้กับผู้บริโภค โดยยึดการใช้ชีวิตในรูปแบบซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของการจัดกิจกรรม ทั้งนี้ รูปแบบเว็บไซต์ www.i-greenspace.com จะไม่เน้นโฆษณาแบรนด์ แต่ใช้คอนเซ็ปต์และความต้องการผู้บริโภคเป็นหลัก และคาดว่ามีผู้ที่เข้ามาสมัคร 1 แสนราย"
การตลาดผ่านสื่อออนไลน์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีการสกรีนคนที่จะเข้ามาร่วมชุมชนออนไลน์ โดยผู้ที่สนใจสมัครเป็นสมาชิกต้องระบุวัน เดือน และปีเกิดอย่างชัดเจน เพื่อเป็นการสกรีนผู้ที่สนใจต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยภายในเว็บจะมีกิจกรรมในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน กิจกรรมปาร์ตี้ และสิทธิประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสมาชิกอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
CYBER BRANDING
แม้ตัวเลขการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยยังน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ คือเพียงแค่ 12% และเชื่อว่ายังคงอีกนานกว่าจะใกล้เคียงสหรัฐอเมริกา ประเทศทางแถบยุโรป หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ได้ แต่อย่างน้อยๆ ปีนี้ (2552) ถือเป็นปีแรกที่ผู้คน (อาจเฉพาะวัยรุ่น และคนเมือง) ใช้เวลาบนโลกออนไลน์ หรือโลกไซเบอร์มากกว่าดูโทรทัศน์ ส่งผลให้สัดส่วนการใช้เงินโฆษณาทางสื่อออนไลน์ปีนี้ถีบตัวขึ้นไปยืนอยู่บนหลัก 1พันล้านบาทเข้าไปแล้ว
แสดงให้เห็นว่าหลายสินค้านิยมใช้โลกไซเบอร์ในการทำกิจกรรมการตลาดของตนเองมากขึ้น-มากขึ้น
แล้วการแบรนดิ้ง หรือการทำตลาดบนโลกออนไลน์ที่เป็น new media จะแตกต่างจากการสร้างแบรนด์บนสื่อดั้งเดิมอย่างไร
ทศวรรษของการแบรนดิ้ง บนโลกใบใหม่
ปัจจุบันไซเบอร์เป็นอีกโลกหนึ่งที่มีผู้คนนับร้อยล้านคนเข้ามาใช้ชีวิตดูหนัง ฟังเพลง หาคู่ เช็กข้อมูล ดูข่าว และอื่นๆ อีกสารพัน กว่าทศวรรษที่ผ่านมา นักอนาคตศาสตร์พยากรณ์ว่าอีกไม่นานผู้คนจะใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากกว่าดูทีวี และต่อไปหากประเทศไทยเข้าสู่ยุค 3 จี ก็น่าจะทำให้การเข้าถึงโลกออนไลน์ของคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นและเร็วขึ้น แม้เกือบทั้งหมดจะใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อบันเทิงก็ตาม
ไม่ว่าจะใช้เพื่อบันเทิง หรือเพื่อหาข้อมูล แต่ช่องทางนี้ก็เป็นอีกช่องทางหลักในการนำตราสินค้า หรือกิจกรรมการตลาดส่งตรงถึงผู้บริโภคได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง
แม้เวลาจะผ่านไปกว่าทศวรรษ แต่รูปแบบการทำตลาดในโลกไซเบอร์ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เว้นแต่มี เว็บไซต์ หรือช่องทางที่เจาะเข้าไปตอบสนองกลุ่มผู้ใช้จำนวนมหาศาล อย่าง youtube, twitter, hi5, facebook เพิ่มจำนวนมากขึ้น แถมยังมีเว็บไซต์ที่เจาะกลุ่มผู้เล่น "เน็ต" ที่มีความสนใจเฉพาะด้านอีกมากมายนับไม่ถ้วน ส่งผลให้การทำตลาดกับคนบนโลกไซเบอร์สามารถทำได้ทั้งในวงกว้างและลงลึกในรายละเอียดได้มากขึ้น และง่ายขึ้น กว่าการทำตลาดผ่านสื่อแบบดั้งเดิม และเชื่อว่าอีกไม่นานนักสัดส่วนการสร้างแบรนด์บนอินเทอร์เน็ตจะขยับจาก 30% ขึ้นมาอยู่ที่ 50%
ปฐม อินทโรดม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เออาร์ อินฟอร์เมชั่น แอนด์ พับลิเคชั่น จำกัด ให้ความเห็นว่า อีก 4-5 ปีนับจากนี้ไปคำว่าไซเบอร์ แบรนดิ้ง จะหายไป เพราะอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นช่องทางหลัก ถึงเวลานั้นการสร้างแบรนด์จะมาสร้างบนออนไลน์ ขณะที่การสร้างแบรนด์บนเทรดดิชั่น มีเดีย อาจลดความสำคัญลงไป
จุดสำคัญที่ทำให้การสร้างแบรนด์บนโลกอินเทอร์เน็ตทวีบทบาทเพิ่มขึ้นมาจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก การเกิดขึ้นของบล็อก (blog) หรือไมโครไซต์ ทำให้คนลงโฆษณาเห็นได้ชัดเจนว่า แทนที่จะไปทุ่มเงินมหาศาลกับสื่อแบบเดิมๆ ที่เสียค่าโฆษณานาทีละหลายแสนบาท หรือทุ่มเงินมหาศาลกับเว็บใหญ่ๆบางเว็บ สู้ไปจ่ายเงินให้กับไมโครไซต์ที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนมิดีกว่าหรือ เช่น หากต้องการลงโฆษณาขายบ้านหรูหลังละ 50 ล้านบาท แทนที่จะลงโฆษณากับเว็บที่มีจำนวนคนเข้าจำนวนมาก แต่มีกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อเพียงน้อยนิด น่าจะไปลงโฆษณาในบล็อกของคนใช้นาฬิกาฟิลิป ปาเต๊ะ ที่มีราคาเรือนละหลายแสนบาทน่าจะเข้าถึงกลุ่มที่มีกำลังซื้อได้ดีกว่า
"การเข้ามาของบล็อกในปี 2002-2003 ทำให้รูปแบบของการโฆษณาเปลี่ยนจากแมสเป็นนิชมากขึ้น"
ปัจจัยที่สอง การเกิดขึ้นของเว็บ 2.0 ซึ่งเป็นสังคมแบบ 2 ทาง คือ ผู้ใช้บริการสามารถป้อนข้อมูลเข้าไปในอินเทอร์เน็ตได้ด้วย จากเดิมที่เจ้าของเว็บไซต์เป็นผู้ให้ข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "Community" เป็นเครือข่ายชุมชนออนไลน์ที่มีพลังทางการตลาดมหาศาล สามารถบันดาลให้สินค้ากลายสภาพจาก "เทพ" ไปเป็น "มาร" หรือ "มาร" กลายเป็น "เทพ" ได้เพียงเวลาไม่นาน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|