Companies Are People, Too


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

องค์กรก็เป็นคนคนหนึ่ง

เมื่อลูกค้านึกถึงบริษัท สิ่งที่พวกเขารู้สึกได้คือบุคลิกลักษณะของบริษัทนั้น ซึ่งปรากฏผ่านสินค้าและบริการของบริษัท ความรู้สึกถึงความมีตัวตนของบริษัทนี้ก็เช่นเวลาที่คุณนึกถึงภาพยนตร์ของดิสนีย์ โฆษณาของไนกี้ หรือบริการของ Nordstrom และการที่บริษัทเหล่านี้รู้จักตัวเองดีว่าเป็นใคร และปฏิบัติสอดคล้องกับบุคลิกภาพของตนอยู่เสมอนี้เอง ที่เป็นที่มาแห่งความสำเร็จมีชื่อเสียงของพวกเขา

Fekete ที่ปรึกษาการตลาดผู้ประสบความสำเร็จได้พัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้นำธุรกิจ สามารถเข้าใจตัวตนและบุคลิกภาพขององค์กรของตน เพื่อให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรได้สูงสุด ช่วยผ่อนคลายความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงองค์กร สามารถอธิบายคุณค่าที่บริษัทยึดถือออกมาเป็นคำพูดได้ และสามารถสื่อ "สาร" ที่คงเส้นคงวาแก่สมาชิกในองค์กรได้ เครื่องมือที่ Fekete พัฒนาขึ้นนี้ นับเป็นวิธีใหม่ในการประเมินความแข็งแกร่งภายในขององค์กร และการตระหนักถึงโอกาสใหม่ของการเติบโต ส่งผลให้องค์กรสามารถสร้างแบรนด์ที่ดีกว่า สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และแก้ไขปัญหาเรื้อรังที่เคยแก้ไม่ตกได้

บุคลิกภาพขององค์กร

Fekete พัฒนาเครื่องมือประเมินบุคลิกภาพของบริษัทขึ้นมาจากทฤษฎีทางจิตวิทยา ที่ถูกนำไปใช้ในที่ทำงานอย่างแพร่หลายมานานแล้ว ซึ่งเป็นทฤษฎีของ Carl Gustav Jung ปรมาจารย์ด้านจิตวิทยาที่มีชื่อเสียง บวกกับผลงานของสองแม่ลูก Katherine Cook Briggs และ Isabel Briggs Myers ซึ่งนำแนวคิดทางจิตวิทยาแบบ Jung ไปประยุกต์จนได้เป็นเครื่องมือวัดประเมินบุคลิกภาพที่มีชื่อว่า Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) ซึ่งเป็นแบบประเมินบุคลิกภาพของคน เพื่อช่วยให้แต่ละคนค้นพบวิธีจัดการกับโลกภายนอกที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพของตนเอง MBTI จัดแบ่งประเภทของบุคลิกภาพของคนออกเป็น 16 แบบ ซึ่ง Fekete ได้นำมาปรับใช้กับการประเมินบุคลิกภาพของบริษัทที่เรียกว่า CAP2 (Companies Are People, Too) เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถทุ่มเทพลังงาน รวบรวมข้อมูล ทำการตัดสินใจและวางโครงสร้างงานได้สอดคล้องกับบุคลิกภาพของบริษัท

แบบประเมินบุคลิกภาพบริษัทของ Fekete มี 84 ข้อ เมื่อทำเสร็จแล้ว ผู้นำธุรกิจจะเข้าใจธุรกิจของตนได้ชัดเจนขึ้น และเห็นภาพความเป็นตัวตนของบริษัทได้ถูกต้องตรงตามความจริงมากขึ้น และสามารถอธิบายบุคลิกภาพของบริษัทออกมาเป็นคำพูดได้ ผลก็คือผู้นำจะสามารถกำหนดวิสัยทัศน์หลัก ภารกิจเป้าหมายและคุณค่าหลักของบริษัทได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ผู้นำจะสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น และดำเนินการเปลี่ยนแปลงบริษัทได้อย่างสอดคล้องกับบุคลิกภาพของบริษัท และเมื่อบริษัทรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้แล้ว ย่อมพร้อมที่จะเติบโตและใช้ประโยชน์สูงสุดจากการรู้จักบุคลิกภาพของตนเอง ดังเช่นที่บริษัทชื่อดังอย่าง Nike, Kentucky Fried Chicken และ Atari ได้เคยประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่หมด หลังจากที่ได้ค้นพบคุณค่าและเป้าหมายในอนาคตอีกครั้ง

ชนะความกลัวเก่าๆ พบความสำเร็จใหม่ๆ

Fekete ยกตัวอย่าง AOL Time Warner, Xerox และ Home Depot ซึ่งดำเนินการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่ออธิบายกระบวนการและผลที่เกิดขึ้น เมื่อผู้นำตัดสินใจเปลี่ยนเอกลักษณ์ของบริษัท และตั้งเป้าเป็นผู้นำของอุตสาหกรรม Fekete ชี้ว่า เมื่อองค์กรค้นพบบุคลิกภาพที่แท้จริงของตน และดำเนินการเปลี่ยนแปลงบริษัทอย่างสอดคล้องกับบุคลิกภาพนั้น ก็จะได้รับความสำเร็จใหม่ๆ สามารถเอาชนะความกลัวเดิมๆ มีความเชื่อมั่นมากขึ้น และสร้างบรรยากาศความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมาในบริษัทได้อีกครั้ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.