|

กลยุทธ์การกวดวิชาจากแบรนด์ เปปทีน มาม่าไปจนถึงการเมือง
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 29 สิงหาคม ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เครื่องดื่มเปปทีน และบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดโครงการเตรียมสมอง ติวเข้ม Smarten ครั้งที่ 2 เขตภาคกลาง ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2552 ซึ่งจัดติวให้แก่นักเรียนที่สนใจศึกษาต่อใน 6 คณะ ได้แก่ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บัญชี และสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยมีนักเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางกว่า 2,000 คน เดินทางเข้าร่วม
นั่นเป็นภาพบรรยากาศกิจกรรมที่เปปทีนพยายามสร้างขึ้น เพื่อทำการตลาดให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย
โครงการเตรียมสมอง ติวเข้ม Smarten ที่เวียนจัดทั่วประเทศ
"โครงการที่จัดขึ้นนี้ถือเป็นการปรับโฉมติวแนวใหม่ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ว่า สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในคณะที่ใช่ สาขาที่ชอบ ด้วยระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการสอบแกต (GAT) ที่เน้นการวัดผลความคิดวิเคราะห์ ถือเป็นเรื่องใหม่ที่นักเรียนไม่คุ้นและไม่เคยฝึกการสอบลักษณะนี้มาก่อน นอกจากนี้ยังมีการจัดสอบตรงเฉพาะนักเรียนที่สนใจเข้าศึกษาต่อในคณะนั้นๆ เป็นการเฉพาะ อาทิ แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เป็นต้น" ยอดมิตร ทองยงค์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เครื่องดื่มเสริมสุขภาพและฟังก์ชันนัล บริษัท โอสถสภา จำกัด
"เราได้นำปัญหาเหล่านี้มาวิเคราะห์จนสรุปผลได้ว่าจะช่วยเหลือนักเรียน ด้วยการเน้นการติวรูปแบบใหม่ที่เฉพาะเจาะจงเป็นคณะ แทนที่จะติวแบบเหมารวมทุกวิชา ซึ่งจะติวใน 11 คณะสำคัญที่นักเรียนต้องการศึกษาต่อมากที่สุด และเป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทเนชั่นฯ ในการจัดเตรียมอาจารย์ติวที่มีศักยภาพสูงในแต่ละคณะมาให้ความรู้แก่นักเรียน"
เปปทีนสร้างความแตกต่าง โดยติวบางคณะแบบ "เฉพาะเจาะจง"แทนการ "เหมารวม"
เป็นการเสริมความรู้เฉพาะทางเช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช วิศวะ บัญชี ฯลฯ
จากเดิมการติวในอดีตที่ผ่านมาอาจจะมีการติวเป็นรายวิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ
โครงการ "เตรียมสมอง ติวเข้ม Smarten" ที่ทยอยจัดขึ้นในแต่ละภาค จนจบโครงการแล้วจะมีนักเรียนเข้าร่วมติวไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน
ต้นตำรับที่บุกเบิกการติวเข้ามหาวิทยาลัย คือ "แบรนด์" ยอดซุปไก่
ต้นปีที่ผ่านมา แบรนด์ ได้จัด "แบรนด์ ซัมเมอร์แคมป์" ครบรอบ 20 ปี โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด โดยเป็นโครงการที่ช่วยติวเข้มและสรุปรวบยอดทั้งเคล็ดลับ และแนวข้อสอบ O&A Net แบบเจาะลึกข้อสอบสู่รั้วมหาวิทยาลัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยกำหนดให้มีการเรียนการสอนขึ้นถึง 7 วัน 7 วิชา มีนักเรียนเข้าร่วมกว่า 40,000 คน
"แบรนด์" ของเซเรบอส มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่โฟกัสไปที่กลุ่มนักเรียน นักศึกษามา ต่อเนื่องทั้ง "แบรนด์ ซัมเมอร์แคมป์" หรือ BRANDS Gen ที่จัดเวทีประลองไอเดีย อัจฉริยะ เฟ้นหาพลังสมองชั้นแนวหน้า
ส่วน มาม่า ก็มีโครงการ ทบทวนความรู้สู่มหาวิทยาลัยกับมาม่า หรือโครงการติวมาม่า
โครงการติวเอนทรานซ์ให้กับน้องๆ เพื่อเตรียมตัวก่อนลงสนามสอบแอดมิชชั่นให้กับเด็กมัธยมปลาย โดยเฉพาะนักเรียนระดับชั้น ม.6 ทั้ง 4 ภาค ทั่วประเทศฟรี
ทั้งนี้ ทางโครงการติวมาม่าจะจัดสอน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เน้นการสอน O-Net และ A-Net โดย O-Net จะสรุปเนื้อหาการเรียนทั้ง 6 เทอม ส่วน A-Net จะสอนแบบเน้นวิเคราะห์โจทย์เป็นหลัก โดยจะจัดผ่านตัวแทนมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ภาค
ส่วนทางรัฐบาลก็มีติวเตอร์ ชาแนล ฝั่งอดีตนายกฯ ทักษิณ ก็จะมีช่องไว้กวดวิชาฟรี
แม่ะ! ใครๆ ก็ดูเหมือนจะใช้กวดวิชาเข้าช่วยกันหมด
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น บอกอะไรกับเราบ้าง??
บทวิเคราะห์
กวดวิชากลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเรียนทุกคนที่ปรารถนาจะผ่านการสอบเอนทรานซ์เข้าสู่คณะในมหาวิทยาลัยที่ตนต้องการ ดังนั้นโรงเรียนกวดวิชาที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด จึงมีนักเรียนขึ้นมากมาย เหมือนกับแจกฟรียังไงยังงั้น
ดังนั้น อาจารย์สอนกวดวิชาชื่อดังจึงมีมนต์ขลังทางการตลาดสูงมาก
แบรนด์ดังๆ ของอาจารย์กวดวิชานั้น มีอยู่เพียงไม่กี่แบรนด์ เช่น เคมี อ.อุ๊ ฟิสิกส์ อ.ประกิตเผ่า อังกฤษ อ.สงวน ครูพี่แนน อ.ปิง ครูลิลลี่
ความสำเร็จของ ร.ร.กวดวิชาเหล่านี้เกิดจากความสำเร็จของนักเรียนที่สอบเข้าได้ในคณะดีๆ พูดกันปากต่อปาก จนกระทั่งกลายเป็นแบรนด์ และในที่สุดเมื่อนักเรียนจะกวดวิชาก็มีอาจารย์ที่อยู่ในใจอยู่แล้ว ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่คน
อาจารย์ชื่อดังของ ร.ร.กวดวิชาต่างๆ จึงอยู่ในกฎ 95/5 คือแห่กันมาเรียนแบรนด์ดังๆเหล่านี้กันถึง 95% เหลือให้ ร.ร.โนเนมเพียง 5% หรืออาจต่ำกว่านั้น
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ร.ร.กวดวิชาต่างๆ ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของนักเรียนทั่วไทยได้
และนี่คือโอกาสทางการตลาดของแบรนด์ดังๆ ต่างๆ หรือกระทั่งโอกาสสำหรับนักการเมืองทั้งฟากรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพราะ Demand มากกว่า Supply
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่จะเห็นแบรนด์ต่างๆ ใช้การกวดวิชาเป็นการส่งเสริมการขาย โดยโครงการเหล่านี้ไม่ใช่ CSR แต่เป็น Cause Related Marketing คือได้ผลทางการตลาดด้วย ยกตัวอย่างเช่น มาม่าติวนักเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถามว่าตอนดึกๆ ถ้าหิวขึ้นมา นักเรียนเหล่านี้จะไปกินไวไวกันหรือ
แบรนด์ยอดซุปไก่ บำรุงร่างกาย ตอนหลังพยายามสื่อว่าดื่มแบรนด์แล้วทำให้ฉลาด ทำแบรนด์ ซัมเมอร์แคมป์ มาตั้งหลายเพลาแล้วเพื่อให้นักศึกษาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เมื่อนักศึกษาเหล่านี้ติวไป เกิดอ่อนเพลียขึ้นมา พวกเขาจะดื่มอะไรนอกจากแบรนด์
และเมื่อนักศึกษาเหล่านี้เข้าซัมเมอร์แคมป์ และอัตราการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสูงกว่านักศึกษาที่ไม่ได้เข้าแคมป์ และเป็นไปได้ว่านักศึกษาเหล่านี้ต้องดื่มแบรนด์ด้วย Perception ที่ว่าดื่มแบรนด์แล้วฉลาด ก็อาจอยู่ในใจของกลุ่มนักศึกษา
ขณะที่เปปทีนเองก็วางตำแหน่งสินค้าไว้ว่ากินแล้วบำรุงสมอง ทำให้ฉลาดเหมือนกัน แต่พูดไม่ได้ ก็ใช้กลยุทธ์การกวดวิชาเช่นกัน เพียงแต่เปปทีนเน้นไปที่คณะที่เข้ายากๆ และเป็นที่ใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ ซึ่งคนที่ฉลาดล้ำเท่านั้นจึงจะเข้าคณะเหล่านี้ได้
แน่นอนหากอัตราการเข้ามหาวิทยาลัยในคณะดีๆ ของผู้ที่ติวกวดวิชากับเปปทีนสูงมาก มีความเป็นไปได้ว่าดื่มเปปทีนแล้วฉลาด เพราะผู้เข้าร่วมการกวดวิชาต้องดื่มเปปทีนแน่นอน
สำหรับ ดร.ทักษิณ ย่อมรู้ว่าการกวดวิชานั้นเป็น A must การเปิดช่องกวดวิชาย่อมเป็นจุดขายที่ทำให้พ่อแม่ต้องติดจานแน่ๆ
ช่องกวดวิชาของรัฐบาลที่ขนบิ๊กเนมมาติวและดูได้ทั่วถึงทุกช่องทาง นอกจากจะสร้างผลงานแล้วก็ยังบล็อกพรรคเพื่อไทยได้อีกต่างหาก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|