|
แฉขบวนการ “3G” คนไทยเสียประโยชน์มหาศาล
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
- แฉขบวนการ “3G” ไม่มีใครใยดีผู้บริโภคผู้ใช้งานตัวจริง
- เหยื่อบนหมากกระดานผลประโยชน์หลายแสนล้าน
- ความจริงที่ต้องเปิดเผยเมื่อ เอกชน-องค์กรอิสระ-รัฐ ป่วนกันมั่ว
- บาดแผลครั้งใหม่จากไอ้โม่งที่ทุบ “3G” จนอาจกู่ไม่กลับ
- วิบากกรรม “3G” แบบไทยๆ จึงต้องร้องเพลงรอไปชาติหน้าก็เป็นได้
ช่วงเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมากับหนึ่งวาระร้อนที่อาจกลายเป็นประเด็นแห่งปีและเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของประเทศไทย คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการเปิดประมูลใบไลเซ่นส์ 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือกทช. ที่กำหนดจะเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าประมูลในช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่ประเทศไทยต้องรอคอยกับการมาของเทคโนโลยี 3G อย่างยาวนาน จนปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเวียดนามปาดหน้าเปิดให้บริการ 3G ไปแล้ว
จากจุดเริ่มต้นของกทช. ที่กำหนดว่าจะมีการเปิดประมูลใบไลเซ่นส์ 3G วันนั้น ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ และหน่วยงานต่างๆ พากันจุดพลุเปิดประเด็นในแง่มุมต่างๆ ดังกับพายุไซโคลนที่กลายเป็นการสาดโคลนใส่กันมากกว่าที่จะช่วยกันผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้น (อ่านรายละเอียดจากล้อมกรอบ 1 เดือน 3G สุดชุลมุน)
แต่ในความชุลมุนของทุกๆ ส่วน ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กับไม่ค่อยมีใครพูดถึงหรือหยิบยกประเด็นผลประโยชน์ ผลได้ ผลเสีย ที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคผู้ใช้งานตัวจริงว่าบนหมากกระดานที่ทุกคนกำลังเดินเกมทั้งบนดินและใต้ดินอยู่ในขณะนี้ มันกำลังจะกลายเป็นการสร้างหายนะครั้งใหญ่ที่ผลกรรมจะตกกับผู้บริโภคคนไทยทั้งประเทศหรือไม่ เพราะทุกคนพยายามที่จะพูดถึงหรืออ้างถึงสิ่งต่างๆ ที่สุดท้ายก็คำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองทั้งนั้น
“ผมแปลกใจว่าทำไมไม่มีใครพูดถึงผลเสียของผู้บริโภค หากไม่มี 3G”
เป็นคำกล่าวของ ทอเร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค
หรือคำกล่าวของดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360? รายสัปดาห์” ว่า “วันนี้ทุกคนกำลังหลงประเด็นของ 3G ทั้งนั้น”
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่าวันนี้ต้องนำประเด็นเรื่องของผลประโยชน์ของผู้บริโภค ผู้เสียภาษีที่เป็นประชาชนผู้ใช้งานตัวจริงเป็นตัวตั้งมากกว่าที่จะสร้างประเด็นต่างๆ ขึ้นมาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้าตนเอง เพราะสุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่สูญเสียและต้องรับกรรมมากที่สุด
“ประเด็นอย่างการปลุกกระแสชาตินิยม การขายสมบัติชาติให้กับต่างชาติ หรือบริษัทไทยที่มีต่างชาติ หรือรัฐวิสาหกิจต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และการมีนอมินีที่เป็นบริษัทคนไทย ไม่ใช่ประเด็นของการเกิดขึ้นของ 3G แต่เป็นการจุดประเด็นเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นจากผู้ให้บริการรายหนึ่งกับกทช.บางคน เพื่อกีดกั้นคู่แข่งขันเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรที่เป็นผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคเลย”
ในมุมมองของดร.สมเกียรตินั้น การอ้างความเป็นบริษัทคนไทยเพื่อผลประโยชน์ของคนไทยนั้น ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่าการสร้างการแข่งขันที่แท้จริง เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นบริษัทคนไทย หรือเทศ การทำธุรกิจต้องคำนึงถึงผลกำไรสูงสุดทุกบริษัท จึงเป็นหน้าที่ของผู้กำกับดูแลกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคมว่าจะสามารถดึงรายได้ที่เกิดขึ้นมหาศาลจากการให้บริการ 3G ของเอกชนเข้าสู่ประเทศได้อย่างไร
“ผู้ประกอบการที่ออกมาเรียกร้องให้กีดกันบริษัทต่างชาติ ถามว่าบริษัทในกลุ่มที่เป็นเครือค้าปลีกก็เคยมีรัฐวิสาหกิจต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นและสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทยอยู่ในขณะนี้จะนำจุดนี้มาอ้างถึงทำไม ถ้าหากไม่ต้องการกีดกันคู่แข่งและได้รับใบไลเซ่นส์ในราคาที่ถูกสุดๆ”
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของการได้ค่าคลื่น 3G ราคาถูกนั้นประชาชนผู้บริโภคจะได้อะไร เพราะในทางวิชาการนั้นมีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่าต้นทุนค่าคลื่นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริการ เนื่องจากผู้ที่เข้ามาให้บริการ 3G จะต้องคิดอย่างรอบด้านเรียบร้อยแล้วว่าเมื่อทำธุรกิจจะมีรายได้เท่าไร มีผลกำไรเท่าไร จึงจะยื่นประมูลขอใบไลเซ่นส์
“ไม่ใช่ว่าค่าใบไลเซ่นส์สูงๆ จะสามารถไปฟันราคากับผู้บริโภคได้” ดร.สมเกียรติ กล่าวพร้อมยกตัวอย่างของโทรทัศน์ช่อง 7 ที่เสียเงินค่าสัมปทานให้กับกองทัพบกเพียงปีละ 270 ล้านบาท ส่วนไอทีวีเดิมนั้นต้องจ่ายให้กับกรมประชาสัมพันธ์ถึงปีละ 1,000 ล้านบาท แต่ในการกำหนดอัตราค่าโฆษณาช่อง 7 กับคิดค่าโฆษณาที่แพงกว่าไอทีวีมาก จุดนี้เองเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าต้นทุนค่าคลื่นความถี่ต่ำหรือสูงไม่เกี่ยวกับการคิดค่าบริการ
ในทางกลับกัน กทช. ควรจะเข้ามากำหนดและประกาศล่วงหน้าถึงค่าบริการสูงสุดและต่ำสุดของการให้บริการของผู้ให้บริการ 3G ว่าควรเป็นเท่าไร ซึ่งจุดนี้เองจะทำให้ผู้บริโภคไม่ตกเป็นเหยื่อที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นการสร้างผลกำไรมหาศาลให้กับผู้ประกอบการ
ผู้บริโภคเสียประโยชน์มหาศาล
อีกหนึ่งประเด็นที่ดร.สมเกียรติ หยิบยกมาให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะเสียประโยชน์อย่างมหาศาล คือเงินที่ได้จากการประมูลเพียงเล็กน้อยหากเกิดการประมูลใบไลเซ่นส์ในครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลตอบแทนอย่างสูงสุดไปสู่ภาครัฐที่จะสามารถนำเงินที่ได้ไปพัฒนาประเทศและนำมาคืนให้กับประชาชนผู้เสียภาษี
ตัวอย่างการประมูลใบไลเซ่นส์ 3G ในประเทศอังกฤษมีมูลค่าสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท ส่วนในประเทศเยอรมันมีมูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศได้นำเงินจากการประมูลนี้มาคืนให้กับประชาชนด้วยการไม่เก็บภาษี
และหากคำนวณถึงผลเสียที่ผู้ประกอบการจะทำการถ่ายโอนลูกค้าในระบบเดิมไปสู่ระบบใหม่ 3G ก็จะทำให้รัฐต้องสูญเสียได้รายได้นับแสนล้านบาท จากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องเสียส่วนแบ่งรายได้เป็นค่าสัมปทาน ไม่ว่าจะเป็น เอไอเอส ดีแทค หรือว่าทรูมูฟ ระหว่าง 20-30% โดยแต่ละค่ายผู้ให้บริการเหลืออายุสัมปทานไม่เท่ากัน และเปลี่ยนไปเสียให้กับกทช.แทนในอัตราเพียง 6.5% ประโยชน์ก็จะตกกับผู้ให้บริการปัจจุบัน และทำให้รัฐสูญเงินมหาศาล อาทิ เอไอเอสคิดเป็นมูลค่ากว่า 72,000 ล้านบาท ดีแทค 61,000 ล้านบาท และทรูมูฟอีกกว่า 19,000 บาท เมื่อรวมกับการประเมินว่าผู้ให้บริการสามารถนำเทคโนโลยี 3G ไปเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จุดนี้น่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อหนึ่งใบไลเซ่นส์ เมื่อรวมกับเงินที่รัฐต้องสูญไปกับเงินสัมปทานเดิมยิ่งทำให้เห็นถึงผลเสียหายจำนวนมากที่ผู้บริโภคอาจต้องเป็นผู้แบกรับต่อไป
เปิดประเด็นโอนถ่ายลูกค้าในพริบตา
หลายคนอาจจะมองว่าเรื่องการถ่ายโอนลูกค้าผู้ใช้โทรศัพท์จากระบบ 2G ไปสู่ 3G อาจจะต้องใช้ระยะเวลานับสิบปี หรืออาจจะหมดสัญญา 3G แล้วยังโอนถ่ายลูกค้าไม่หมดจากระบบเดิม ซึ่งไม่น่าที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) (อ่านรายละเอียดล้อมกรอบ ทีโอที-กสท เสือลำบากยุค 3G)
ดร.สมเกียรติ ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ามีความเป็นได้ว่าหากมีการเปิดให้บริการ 3G จริงๆ ผู้ให้บริการใหม่นั้นๆ สามารถที่จะมีการโอนถ่ายลูกค้าจากระบบเดิมได้อย่างรวดเร็วเพียงพริบตา โดยยังไม่ต้องลงทุนสร้างโครงข่าย 3G เพียงแต่ดึงให้คนเข้ามาเป็นลูกค้าในบริษัทใหม่ด้วยการแจกซิม 3G ให้กับผู้ที่ใช้ซิม 2G เดิม จุดนี้เองจะส่งผลให้บริษัทผู้ให้บริการในระบบเดิมไม่ต้องส่งเงินรายได้จำนวนมหาศาลเมื่อเช่นในอดีตที่ผ่านมา
ในเรื่องนี้ วิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360? รายสัปดาห์” ว่า หากผู้ให้บริการมีการโอนถ่ายด้วยการแจกซิม 3G จริง ถามว่าผู้ใช้บริการจะใช้บริการบนโครงข่ายไหน เพราะหากโครงข่าย 3G ยังไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่การให้บริการ เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ให้บริการ 3G ก็ยังต้องใช้โครงข่ายเดิมอยู่ ซึ่งรายได้ที่ได้รับก็จะต้องเข้าสู่ทีโอทีและกสท อยู่ดี
“หากเรามีกลเกมต่างๆ เตรียมไว้จริง คงมีช่องทางอื่นๆ ที่ให้ใช้ได้ดีกว่านี้มาก วันนี้จึงอยากให้ทุกคนเปิดใจและทำใจให้เป็นกลาง เราก็ได้ที่จะเดินหน้าเรื่องของ 3G ได้ต่อไป”
ต้องคิดให้ดีโมเดลไลเซ่นส์ 3G
ในความเห็นของ ดร.สมเกียรติ ถึงโมเดลหรือสูตรการประมูลใบไลเซ่นส์ 3G นั้น โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับทาง กทช. ที่จะมีการแจกใบไลเซ่นส์พร้อมกัน 4 ใบ เพราะจะทำให้การประมูลที่เกิดขึ้นผู้ประกอบการจะได้รับใบไลเซ่นส์ในราคาที่ถูกแสนถูก เนื่องจากไม่ได้มีการแข่งขันระหว่างเอกชนที่เข้าร่วมประมูล เห็นได้จากปัจจุบันมีผู้ให้บริการในระบบเดิมอยู่ 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เมื่อมีการเปิดประมูลพร้อมกัน 4 ใบ ผลการประมูลก็รู้อยู่แล้วว่าผู้ประกอบการรายใดได้ทำบ้าง
วิธีที่น่าจะนำมาใช้ในการประมูลใบไลเซ่นส์ 3G น่าที่เปิดประมูลปีละ 1 ใบไลเซ่นส์ ผู้ประกอบการที่สนใจและมีความพร้อมก็จะลงมาแข่งขันกันประมูลเพื่อให้ได้สิทธิ์การเปิดก่อน ซึ่งตรงนี้เองจะทำให้รัฐได้เงินจากการประมูลที่เกิดจากการแข่งขันจริง และไม่น้อยอย่างที่เป็นกระแสข่าวอยู่ในปัจจุบันนี้
ส่วนประเด็นเรื่องของความล่าช้าที่อาจจะต้องเริ่มขบวนการต่างๆ กันใหม่นั้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินว่ากทช.มีอำนาจในการออกใบไลเซ่นส์หรือไม่ เพราะหากตัดสินว่าไม่มีอำนาจทุกอย่างก็จบและต้องรอ แต่ในเมื่อประเทศไทยรอคอยการมาของ 3G ได้ถึงทุกวันนี้ หากจะรอไปอีกคงจะไม่เป็นไรหากไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง
ที่สำคัญในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีการเปิดให้บริการ 3G กันมาหลายปี ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่กว่า 80% ก็ยังคงใช้งานในระบบเดิมที่เป็น 2G อยู่ มีเพียง 20% เท่านั้นที่เปลี่ยนมาใช้บริการ 3G เว้นประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่มีปริมาณการใช้งาน 3G เกือบทั้งประเทศ
“วันนี้เราอาจจะดูว่าเสียโอกาสว่าเพื่อนบ้านที่ทยอยเปิดให้บริการ 3G แต่เราต้องคำนึงถึงผลเสียหายร้ายแรงมันมหาศาลกว่าถ้ารีบเร่งเปิดให้บริการ 3G” ดร.สมเกียรติกล่าว
กทช.ยังเดินหน้าประมูล 3G กลางธ.ค.นี้
แม้ว่าจะมีกระแสทัดทานจากหลายกระแส แต่ กทช. ในฐานะผู้ที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย ก็ยังคงเดินหน้าเรื่องการประมูลไลเซ่นส์ 3G และยืนยันว่าจะเริ่มประมูลได้ในกลางเดือนธันวาคมนี้ โดยจะมีการทำประชาพิจารณ์อีกรอบหนึ่ง ในส่วนการทำประชาพิจารณ์นี้อาจมีการเลื่อน เนื่องจากกทช. อาจจะรอข้อมูลจากบริษัทเนร่า ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการประมูล 3G ของกทช.
ทั้งนี้ กทช. จะได้มีการประชุมคระกรรมการบอร์ด และจะมีการสรุปราคาเริ่มต้นการประมูลใบอนุญาตให้บริการหรือไลเซ่นส์ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ โดยราคาอย่างไม่เป็นทางการตามความเห็นเบื้องต้นของบอร์ดกทช. นั้นมี 2 ราคา สำหรับคลื่น 10 เมกะเฮร์ตซ จะอยู่ที่ 8,000-8,500 ล้านบาท ขณะที่ไลเซ่นส์ความถี่ 15 เมกะเฮิร์ตซจะมีราคามากกว่า 10,000 ล้านบาท
ในการกำหนดราคาดังกล่าว กทช.เชื่อว่าเป็นราคาที่ไม่ได้สูงมากจนเกินไปที่เอกชนผู้ให้บริการจะรับไม่ได้ เพราะคิดจากการนำคลื่นความถี่ไปใช้ประโยชน์ ไม่ได้คิดบนพื้นฐานจากการสูญเสียโอกาสของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหากกทช.คิดค่าไลเซ่นส์ที่แพงเกินไป จะเป็นเหตุทำให้ผู้ให้บริการผลักภาระไปยังผู้ใช้บริการในภายหลัง
ตามขบวนการต่างๆ ของกทช.นั้นจะดำเนินการทุกอย่างควบคู่ไปกับการรอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องบทบาทและหน้าที่กทช.ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 หลังได้รับการทักท้วงจากหลายฝ่าย รวมทั้งแผนการรองรับหากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยราย และมาตรการที่จะไม่ให้ผู้ให้บริการโอนลูกค้าไปยังบริษัทใหม่
ใครไม่พร้อมถอยไป
วิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า “วันนี้ความล่าช้าเกิดขึ้นเพราะมีผู้ให้บริการบางรายไม่พร้อม โดยพยายามดึงเวลาให้ตนเองสมประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องถอยหลังเรื่องของโทรคมนาคม หากกระบวนการทุกอย่างเดินหน้าไปใครไม่พร้อมก็ให้ผู้ประกอบการที่พร้อมดำเนินการไป”
เอไอเอสได้ประกาศความพร้อมว่าจะเข้าประมูลในทุกราคา เพราะหากเป็นราคากลางตามที่กทช. ได้มีความเห็นเบื้องต้น ทางเอไอเอสก็จะเข้าประมูลทั้งคลื่นความถี่ 10 และ 15 เมกะเฮิร์ตซ เนื่องจากถือเป็นโอกาสของผู้ให้บริการทุกราย
ซีอีโอเอไอเอส ยังมองว่าทุกวันนี้ต้นทุนของการทำระบบเดิม 2G สูงกว่าการลงทุนโครงข่าย 3G และหากประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่การให้บริการเทคโนโลยี 3G จะถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะขณะนี้เทคโนโลยีถือได้ว่าสมบูรณ์แล้ว ที่สำคัญจะมีการช่วยเรื่องของการกระจายการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงผู้ใช้งานทั่วประเทศได้มากขึ้น
1 เดือน 3G สุดชุลมุน
การเกิดขึ้นของ 3G ไม่ได้ถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบตั้งแต่แรกที่โครงการนี้มีความคิดจะให้บริการในประเทศไทย และเมื่อกำลังจะตั้งต้นได้ครั้งใหม่ ปรากฏการณ์ความอลหม่านในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา น่าจะทำให้โครงการนี้ต้องสะดุดอีกครั้งหนึ่งก็ได้
“ผู้จัดการ 360? รายสัปดาห์” ไล่เรียงจุดเริ่มต้นของที่สุดความชุลมุนในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มจากวันเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างสรุปข้อสนเทศการจัดสรรคลื่นความถี่ ไอเอ็มที (IMT) หรือ 3G and beyond โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้ความชัดเจนเรื่องการออกใบอนุญาต (ไลเซนส์) 3 จี ในประเทศไทยใกล้ความจริงเข้ามาทุกที
วันนั้นเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาถึงคำถาม ข้อโต้แย้ง และความเหมาะสม ในการทำหน้าที่ของกทช. จนใครต่อใครก็กระโดดเข้ามาตรวจสอบสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีมูลค่ามหาศาลของประเทศ
ความดุเดือดของเหตุการณ์ ถูกจุดประเด็นจากทรรศนะของ ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่แสดงจุดยืนและเรียกร้องต่อ กทช. ใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1.ราคาประมูลไม่ควรสูงเกินไป เพราะอาจทำให้การประมูลด้วยวิธีนี้ผิดพลาด เนื่องจากผู้ประกอบการยังต้องมีภาระการลงทุนด้านโครงข่าย ดังนั้น ต้นทุนที่สูงขึ้น ภาระจะตกอยู่กับผู้ใช้บริการ ส่วนประเด็นที่ 2 ทำอย่างไรไม่ให้อุตสาหกรรมนี้ถูกควบคุมและครอบงำโดยต่างประเทศ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศ
"ต่างชาติเมื่อได้สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วกลับไปสู่ประเทศเขา เขาเป็นฮีโร่ แต่ถ้าคนไทยกระทำการในการเอาข้อมูล เอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยไปให้กับต่างประเทศ คนคนนั้นเขาเรียกว่าทรยศชาติ” ศุภชัย กลายเป็นผู้จุดพลุกระแสชาตินิยมและต้องการรักษาสมบัติของชาติให้เป็นของคนไทย
ตามด้วยการปาฐกถาพิเศษของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวันครบรอบ 5 ปี กทช. ได้แสดงความห่วงใยพร้อมให้ข้อคิดกับ กทช.ในการดำเนินงานเกี่ยวกับ 3G เช่น บทบาทของรัฐวิสาหกิจ เอกชนผู้เคยรับสัมปทานเดิม การแข่งขันของตลาด รวมถึงประเด็นการกำหนดวิธีการประมูลที่มุ่งเน้นค่าตอบแทนสูง แต่ล้มเหลวมาแล้วในหลายประเทศ จะกลายเป็นข้อจำกัดและข้อเสียเปรียบของผู้ประกอบการในประเทศ
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ร.ต.(หญิง)ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะกำกับดูแล 2 รัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้แสดงความห่วงใยว่าการประมูลไลเซนส์ 3 จีครั้งนี้ จะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทต่างชาติ และจะกระทบกับรัฐวิสาหกิจไทยที่ต้องสูญเสียรายได้ในอนาคต
ในฟากสภาทนายความ ได้ออกแถลงการณ์ถึงบทบาท อำนาจหน้าที่ และความไม่ชอบธรรมของ กทช.ชุดปัจจุบัน เนื่องจากตามมาตรา 47 วรรค 2 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กำหนดให้องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ทำหน้าที่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น กทช.มีหน้าที่ปฏิบัติตามบทเฉพาะกาล จึงไม่มีอำนาจหน้าที่จัดทำและประกาศแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมและแผนความถี่วิทยุ ฉบับที่ 2 ซึ่งหมายถึงการเปิดประมูลใบอนุญาต 3 จีด้วย
หนึ่งในประเด็นที่ได้กลายเป็นปมที่ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้เรื่องของการทำหน้าที่ของ กทช.ต่อไปจากนี้ เรื่องการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล เพราะประเทศไทยเคยปล่อยให้รัฐบาลต่างชาติเข้ามามีบทบาทต่อกิจการโทรคมนาคม ประเด็นนี้หนีไม่พ้นจะโฟกัสไปที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค สองรายที่จะเข้าร่วมประมูล
นี่ยังไม่นับรวมความเคลื่อนของบรรดาสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่มาร่วมฝากประเด็นเรื่องต่างๆ ให้ กทช.กลับมาหยุดคิดให้แง่มุมต่างๆ ที่ต้องตอบทุกๆ คำถามให้ได้ ไม่เช่นนั้น กทช.จะกลายเป็นจำเลยรายแรกที่จะถูกพิพากษา เมื่อเกิดการประมูลไลเซ่นส์ 3G จริง
ทีโอที-กสท เสือลำบากยุค 3G
เสือนอนกินบนเงินรายได้จากสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) กำลังจะกลับกลายเป็นเสือลำบากเมื่อยุค 3G มาถึงจนต้องรีบปรับยุทธศาสตร์และไม่เป็นภาระของภาครัฐในอนาคตที่ต้องอุ้มชูทั้งสององค์กรแห่งนี้
อย่างที่คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือครม.เศรษฐกิจ ได้มีการพิจารณาการพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 3G และได้มีการมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไปปรับยุทธศาสตร์และกำหนดทิศทางการทำงานของทีโอทีและกสท เพื่อรองรับการเปิดเสรีโทรคมนาคมและการเปิดประมูลไลเซ่นส์ 3G
หากจะวิเคราะห์ว่าทั้งทีโอทีและกสท รับผลกระทบมากน้อยเพียงไรจากการมาของยุค 3G นั้น จากปากคำของธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดกับรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมภายหลังจากการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จะทำให้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจโทรคมนาคมอย่างทีโอที และกสท เสียหายอย่างมากเนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานทั้ง 2 แห่งยังทำงานแบบกึ่งข้าราชการ การขับเคลื่อนองค์กรเพื่อแข่งขันกับเอกชนเป็นไปอย่างยากลำบาก ประกอบกับผู้รับสัมปทานประกาศว่าจะทำการโอนย้ายลูกค้าจากสัมปทานเดิมไปบนโครงข่ายใหม่ทันที ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ารายได้ที่ทีโอทีได้รับจากสัมปทานปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาทจะหายไปทันที
นอกจากนี้การเปิดให้ต่างชาติหรือนอมินีต่างชาติประมูลใบอนุญาต 3Gได้อย่างเสรี จะทำให้ต่างชาติเหล่านั้นนำเงินที่ได้จากทรัพยากรประเทศไทยกลับไปพัฒนาประเทศตัวเองได้มากขึ้นซึ่งจากเดิมรัฐบาลยังมีรายได้จากการทีโอทีและกสท นำรายได้ส่งเข้ารัฐปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท
สำหรับผลกระทบจากการประมูล 3G ในด้านความมั่นคง กรณีหากอนาคตมีการใช้ระบบสื่อสาร 3G โจมตีรัฐบาล การที่รัฐจะร้องขอให้เอกชนปิดกั้นสัญญาณนั้นจะดำเนินการได้ยากแต่หากระบบสื่อสารโทรคมนาคมยังเป็นของรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่การสั่งปิดกั้นก็สามารถดำเนินการได้ทันที
ทีโอทีได้มีการจัดทำแผนเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ทีโอทีจะเปิดให้บริการ 3G โดยมุ่งการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงควบคู่กับการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบมีสาย หรือกรณีที่คุณภาพโครงข่ายต่ำไม่ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายลูกค้าเลือกบริการของคู่แข่ง ทีโอทีจะเร่งรัดกระบวนการให้รวดเร็วมากขึ้น หากบุคลากรไม่เพียงพอจะจ้างบริษัทภายนอกมาบำรุงรักษา
รวมทั้งกรณีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้รับสัมปทานเดิมยื่นประมูลไลเซ่นส์ 3G ได้ ทีโอทีจะหาผู้สนใจรายอื่นเข้ามาแทน อย่างผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ผู้ผลิตคอนเทนต์ ร่วมเป็น MVNO โดยขายบริการของทีโอทีและหารือร่วมลงทุนขยายโครงข่ายและให้บริการ รวมทั้งขอเช่าทรัพย์สินของผู้สนใจเป็น MVNO และหน่วยงานอื่นในการติดตั้งสถานีฐานและจ้างพันธมิตรหรือผู้ประกอบการรายอื่นติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศให้เร็วที่สุด และในกรณีที่ผู้ประกอบการโมบายบอร์ดแบนด์มากขึ้น ทีโอทีจะเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการรายใหม่ในการให้บริการร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อกระตุ้นตลาดให้เติบโต
ด้านกฤษดา กวีญาณ กรรมการบอร์ดบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าผลกระทบที่กสทจะได้รับคือรายได้จากสัญญาสัมปทานที่จะหายไปทันทีที่กทช.ให้ใบอนุญาตแก่เอกชน เพราะบริษัท โทลเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ จะโอนย้ายลูกค้าจากสัมปทานเดิมไปบนโครงข่าย ใหม่จนหมด
“ผลกระทบจากส่วนแบ่งรายได้ที่หายไปของสัมปทานมือถือกสท ส่งผลให้รายได้ที่ส่งให้รัฐหายไปด้วย ในขณะที่รายได้ที่ได้รับจากใบอนุญาต 3G ของ กทช.ก็เพียงเล็กน้อย ส่วนต่างที่หายไป ความเสียหายที่เกิดกับรัฐ ใครก็รับผิดชอบ”
หากกทช.จะประมูลใบอนุญาต 3G ก็อยากให้ดำเนินการอย่างโปร่งใสชัดเจน ไม่ใช่เร่งรีบทำแต่ไม่มีความรอบคอบทำให้หน่วยงานรัฐประสบปัญหา และควรจะเปิดโอกาสให้กสท และทีโอทีมีโอกาสเข้าร่วมประมูลเช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมรัฐวิสาหกิจไทย
3G คืออะไร ทำไมใครๆ ก็สนใจ
ประเด็นสุดร้อนแรงในขณะนี้อย่าง 3G อาจจะไปกระตุกความสนใจให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งประเทศให้หันมาสนใจว่าเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยนี้ มันคืออะไรกันแน่ และทำไมใครๆ ถึงได้เข้ามาให้ความสนใจกันมากมายขนาดนี้
3G หรือ Third Generation เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 ซึ่งมีผลทำให้อุปกรณ์การสื่อสารยุคที่ 3 นั้นจะเป็นอุปกรณ์ที่ผสมผสาน การนำเสนอข้อมูล และ เทคโนโลยีในปัจจุบันเข้าด้วยกัน เช่น PDA โทรศัพท์มือถือ Walkman, กล้องถ่ายรูป และ อินเทอร์เน็ต
3G ถือเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อเนื่องจากยุคที่ 2 และ 2.5 ซึ่งเป็นยุคที่มีการให้บริการระบบเสียง และ การส่งข้อมูลในขั้นต้น ทั้งยังมีข้อจำกัดอยู่มาก การพัฒนาของ 3G ทำให้เกิดการใช้บริการมัลติมีเดีย และ ส่งผ่านข้อมูลในระบบไร้สายด้วยอัตราความเร็วที่สูงขึ้นเช่นเดียวกับที่เรากำลังใช้งานไฮสปีดอินเทอร์เน็ตแบบมีสายกันอยู่ในปัจจุบันนี้
ลักษณะการทำงานของ 3G เมื่อเปรียบเทียบเทคโนโลยี 2G กับ 3G แล้ว 3G มีช่องสัญญาณความถี่ และ ความจุในการรับส่งข้อมูลที่มากกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลแอพพลิเคชั่น รวมทั้งบริการระบบเสียงดีขึ้น พร้อมทั้งสามารถใช้ บริการมัลติมีเดียได้เต็มที่ และ สมบูรณ์แบบขึ้น เช่น บริการส่งแฟกซ์โทรศัพท์ต่างประเทศ รับ-ส่งข้อความที่มีขนาดใหญ่ ประชุมทางไกลผ่านหน้าจออุปกรณ์สื่อสาร ดาวน์โหลดเพลง ชมภาพยนตร์แบบสั้นๆ เทคโนโลยีใหม่ได้ในทุกที่
3G น่าสนใจอย่างไร
จากการที่ 3G สามารถรับส่งข้อมูลในความเร็วสูง ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และมีรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น ประกอบกับอุปกรณ์สื่อสารไร้สายในระบบ 3G สามารถให้บริการระบบเสียง และ แอพพลิเคชั่นรูปแบบใหม่ เช่น จอแสดงภาพสี เครื่องเล่น mp3 เครื่องเล่นวีดีโอ การดาวน์โหลดเกม แสดงกราฟฟิก และ การแสดงแผนที่ตั้งต่างๆ ทำให้การสื่อสารเป็นแบบอินเตอร์แอคทีฟ ที่สร้างความสนุกสนาน และ สมจริงมากขึ้น
3G ช่วยให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายและคล่องตัวขึ้น โดย โทรศัพท์เคลื่อนที่เปรียบเสมือน คอมพิวเตอร์แบบพกพา วิทยุส่วนตัว หรือแม้แต่กล้องถ่ายรูป ผู้ใช้สามารถเช็คข้อมูลใน account ส่วนตัว เพื่อใช้บริการต่างๆ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น self-care (ตรวจสอบค่าใช้บริการ) แก้ไขข้อมูลส่วนตัว และใช้บริการข้อมูลต่างๆ เช่น ข่าวเกาะติดสถานการณ์ ข่าวบันเทิง ข้อมูลด้านการเงิน ข้อมูลการท่องเที่ยว และ ตารางนัดหมายส่วนตัว “Always On”
คุณสมบัติหลักของ 3G
คุณสมบัติหลักของ 3G เมื่อมีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายของ 3G ตลอดเวลาที่ผู้ใช้งานเปิดเครื่องโทรศัพท์ (always on) นั่นคือไม่จำเป็นต้องต่อโทรศัพท์เข้าเครือข่าย และ log-in ทุกครั้งเพื่อใช้บริการรับส่งข้อมูล ซึ่งการเสียค่าบริการแบบนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเรียกใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายเท่านั้น โดยจะต่างจากระบบทั่วไป ที่จะเสียค่าบริการตั้งแต่เราล็อกอินเข้าในระบบเครือข่าย อุปกรณ์สื่อสารไร้สายระบบ 3G สำหรับ 3G อุปกรณ์สื่อสารไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โทรศัพท์เท่านั้น แต่ยังปรากฏในรูปแบบของอุปกรณ์ สื่อสารอื่น เช่น Palmtop, Personal Digital Assistant (PDA), Laptop และ PC
ทอเร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าถ้ามี 3G การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่จะโตเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับการขยายเครือข่ายการให้บริการ ซึ่งถ้าดูตามข้อกำหนดในเงื่อนไขของ กทช.ภายใน 4 ปี โครงข่าย 3G จะต้องครอบคลุม 80% ของพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่
จุดสำคัญอีกประการหนึ่งการเติบโตของบรอดแบนด์ดอินเทอร์เน็ตยังมีผลต่อการเติบโตของจีดีพีของประเทศอย่างชัดเจน จะเกิดบริการใหม่ๆ อย่างมากมาย ที่เป็นประโยชน์หลายด้าน ทั้งด้านสุขภาพและการศึกษา ซึ่งเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถให้บริการในลักษณะเช่นนี้ได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|