ทีโอทีชิงประมูล 3Gตัดหน้ากทช.


ASTVผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 543)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีโอทีเร่งประมูลโครงข่าย 3G ทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ ชิงจังหวะกทช.ยังไม่เคาะประมูลเมื่อไหร่ ‘วรุธ’ไม่หวั่นแข่ง 3G แต่เกรงเอกชนมั่วนิ่มใช้โครงข่าย 2G ที่เป็นทรัพย์สินรัฐ ยอมรับตรวจสอบไม่ทั่วถึงเกรงประวัติศาสตร์ซ้ำรอยทีทีแอนด์ที ทรูคอร์ปอเรชั่น ด้าน ‘จิรายุทธ’ หลังซื้อฮัทช์รวมเน็ตเวิร์กซีดีเอ็มเอ กสทจะใช้ฐานลูกค้ากว่า 1ล้านรายจูงใจพันธมิตรประมูล 3G

นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวว่าทีโอทีอยู่ระหว่างการจัดทำเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการวางโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G ทั่วประเทศซึ่งประเด็นหลักคือจะใช้การประกวดราคาแบบสากล (International Bid) และให้ผู้ประกวดราคาเสนอแหล่งเงินกู้ในลักษณะ export credit โดยจะพยายามเปิดประมูลให้ทันภายในสิ้นปี 2552

นี้ซึ่งหากทำได้ก็จะสร้างความได้เปรียบเอกชนรายอื่นเพราะคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ยังไม่มีกำหนดแน่ชัดว่าจะเปิดประมูลได้ในวันไหน

‘โครงข่าย 3G ทั่วประเทศของทีโอทีจะเป็นNational Network Provider โดยมีพันธมิตรที่เข้ามาร่วมทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นในลักษณะช่วยทำตลาด (MVNO) หรือการโรมมิ่งโครงข่ายระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนของประเทศ’

ทั้งนี้โครงข่าย 3G ทั่วประเทศของทีโอทีจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาทโดยการลงทุนจะแบ่งเป็น 3 เฟสย่อย ได้แก่ พื้นที่ กรุงเทพ และปริมณฑลจำนวน 1,772 สถานีฐานและพื้นที่จังหวัดใหญ่ 1,635 สถานีฐานและพื้นที่จังหวัดรอง 395 สถานีฐานในขณะที่นายอภิสิทิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเคยหารือร่วมกับรมว.ไอซีทีกับประธานบอร์ดทีโอทีว่าน่าจะมีการปรับลดงบประมาณลงมาเหลือ 1.5หมื่นล้านบาท

นายวรุธกล่าวว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาทีโอทีได้ส่งหนังสือชี้แจงคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจแล้วถึงผลกระทบของการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ของกทช.ที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าจะทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะจะมีผู้ให้บริการ 3G รวม 5 รายประกอบด้วยเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และทีโอทีซึ่งจะเริ่มให้บริการเฟสเริ่มต้น (initial 3G) ในวันที่ 3 ธ.ค.ที่จะถึงนี้รวมทั้งคาดว่าจะมีผู้ให้บริการรายใหม่ (new comer) อีก 1 รายซึ่งน่าจะเป็นผู้ลงทุนจากต่างประเทศที่มีความความพร้อมทั้งด้านการเงินและประสบการณ์

อย่างไรก็ตามทีโอทีเห็นว่าการออกใบอนุญาต3Gใหม่ ไม่กระทบกับการแข่งขันในธุรกิจ 3G เนื่องจากทีโอทีได้วางแผนรองรับการแข่งขันไว้แล้วซึ่งตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจ (Turnaround Plan) ทีโอทีก็พยายามทำให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G เป็นธุรกิจที่สำคัญในการลดการพึ่งพาส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาร่วมการงานตลอดจนทดแทนรายได้ที่ลดลงแต่ผลกระทบสำคัญจะเกิดกับสัญญาสัมปทานเดิมในโครงข่าย2G ที่เอไอเอสเป็นคู่สัญญาร่วมการงานกับทีโอทีอยู่ เพราะจะทำให้เกิดการถ่ายโอนลูกค้าไปยังบริษัทใหม่ที่ได้รับใบอนุญาต 3G และจะส่งผลให้ส่วนแบ่งรายได้ลดลง

เขาย้ำว่าสิ่งที่ทีโอทีกังวลและมีความเป็นห่วงมากที่สุดคือโครงข่าย 2G ของเอไอเอสที่ตามสัญญาร่วมการงาน (BTO) ถือว่าเป็นทรัพย์สินของทีโอที แต่มีความเป็นไปได้สูงมากที่เอกชนจะนำอุปกรณ์ระบบ 3G มาติดตั้งเพิ่มเติมบนทรัพย์สินของโครงข่าย 2G เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือมาตรการกำกับดูแลการควบคุมและการตรวจสอบจะซับซ้อนยิ่งขึ้น อาจมีข้อพิพาท และในที่สุดก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ทีโอที

‘ทีโอทีเสนอไปว่าบริษัทที่ได้ใบอนุญาต 3G ควรทำบนโครงข่ายใหม่ทั้งหมดของตัวเองได้หรือไม่ เพราะควบคุมยากและทำให้เราไม่ได้มูลค่าเพิ่มเต็มที่จากโครงข่ายเดิม แต่กทช.ก็ปฏิเสธ เพราะไปติดเงื่อนไขกฎเกณฑ์การใช้ทรัพยากรร่วมกัน’นายวรุธกล่าวและชี้ว่าโดยเฉพาะเรื่องระบบสื่อสัญญาณต่างๆที่บริษัทคู่สัญญา 2G ดำเนินการไปมากแล้วและมีกระจายทั่วประเทศ ซึ่งทีโอทีไม่สามารถควบคุมดูแลได้ทั่วถึง และเอกชนมีสิทธิในการใช้งานอยู่ ก็สามารถทำอะไรกับโครงข่ายพวกนี้ได้ทั้งการพาดสายให้กับลูกค้าหรือกับบริษัทย่อยของตัวเอง รวมทั้งพื้นที่ติดตั้งสถานีฐานโทรศัพท์มือถือ 2G ถึงแม้จะมีการโอนเป็นทรัพย์สินของรัฐ แต่บางพื้นที่ก็เป็นเรื่องยากที่ทีโอทีจะเข้าไปตรวจสอบ ทั้งนี้ทีโอทีเกิดข้อพิพาทในลักษณะนี้กับบริษัทคู่สัญญาร่วมการงานโทรศัพท์พื้นฐานอย่างทีทีแอนด์ที และทรูคอร์ปอเรชั่น

‘เชื่อว่ายิ่งเอกชนต้องการติดตั้งโครงข่าย 3G ให้รวดเร็ว ก็จะยิ่งมีการใช้งานบนโครงข่าย 2G แบบออฟไซต์ ซึ่งทีโอทีไม่มีปัญญารักษาหรือป้องกันได้ทั้งหมด เพราะทุกวันนี้สถานที่ติดตั้งโครงข่ายถูกจับจองไว้เกือบหมดแล้ว วิธีวางโครงข่ายที่เร็วที่สุดคือแปะติดไปบนโครงข่าย 2G เดิมนั่นเอง’

กสทใช้ซีดีเอ็มเอชิงความได้เปรียบ

ด้านนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่าวันที่ 6 พ.ย.นี้จะเสนอแผนธุรกิจซึ่งรองรับความเสี่ยงเรื่องรายได้จากสัมปทานและผลกระทบหลังจากกทช.เปิดประมูลใบอนุญาต 3G รวมทั้งแนวทางการเข้าร่วมประมูล 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซื ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะจับมือกับเอกชนเพื่อร่วมประมูลใบอนุญาต 3Gหรือเป็นพันธมิตรกับผู้ที่ประมูลใบอนุญาต 3G โดยให้ผู้ที่ชนะการประมูลมาร่วมเช่าใช้โครงข่ายของกสท

นายจิรายุทธ กล่าวว่า ช่วง 2-3 ปีนี้คาดว่าการให้บริการระบบ 3Gจะเปิดให้บริการในกทม.และปริมณฑลก่อน ซึ่งปัจจุบันพื้นที่การติดตั้งเสาส่งสัญญาณถูกจับจองโดยผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือซึ่งให้บริการระบบ 2G หมดแล้วดังนั้นการเข้าร่วมกับกสทจะทำให้เอกชนรายใหม่ที่ชนะการประมูลใบอนุญาต 3G จะสามารถวางโครงข่าย 3G

เสร็จทันกับผู้ให้บริการรายอื่น

นอกจากนี้กสทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับฮัทช์ในการซื้อโครงข่ายและสิทธิ์การทำตลาดโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอใน 25 จังหวัดภาคกลางรวมกทม.และปริมณฑลแล้วส่วนราคาที่ซื้อจะได้ข้อสรุปในเดือนธ.ค.นี้ ก่อนที่กทช.จะเปิดการประมูล 3G

สำหรับโครงข่ายโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอของฮัทช์ใน 25 จังหวัดมีอยู่ 1,100 สถานีฐาน ซึ่งตามข้อตกลงการซื้อขายฮัทช์ต้องอัพเกรดระบบให้เป็นซีดีเอ็มเอ อีวีดีโอ ซึ่งรองรับการใช้งาน 3G ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ส่วนโครงข่ายของกสทซึ่งให้บริการภายใต้ชื่อแคท ซีดีเอ็มเอ ใน 51 จังหวัด มีทั้งหมด 1,600 สถานีฐาน รองรับการใช้งาน 3G หมดแล้ว

‘คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ มีความสำคัญกับกสทมาก เรียกได้ว่าเป็นทางรอดของการให้บริการธุรกิจมือถือของกสทก็ได้ เพราะกสทไม่มีคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซเพื่อให้บริการ 3Gขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นมีทั้งคลื่นความถี่เดิม และคลื่นความถี่ใหม่ที่จะได้จากการประมูลครั้งนี้และอนาคตก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเทคโนโลยีไหนจะทำรายได้ดีกว่ากันเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอด ขณะที่การให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอ กสทก็ยังทำต่อ แต่อนาคตต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีแอลทีอีหรือไม่’

นายจิรายุทธกล่าวว่าก่อนหน้านี้ กสทพยายามแนะนำให้ดีแทค และทรูมูฟ ยื่นขอ กทช.เพื่อทดสอบการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน โดยหวังจะให้เกิดการชะลอในการย้ายฐานลูกค้าโทรศัพท์มือถือซึ่งใช้งานบนโครงข่าย 2G ไปอยู่บน3G เมื่อได้รับใบอนุญาต แต่ก็ติดปัญหาการร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.ร่วมการงานรัฐกับเอกชนพ.ศ.2535 มาตรา 22ทำให้ไม่เกิดการลงทุนซึ่งรายได้ของ กสท 60% เป็นรายได้จากสัมปทาน ขณะที่กำไรเกือบทั้งหมดก็มาจากสัมปทาน

‘กสทต้องมีใบอนุญาตหนึ่งใบให้ได้ จึงต้องร่วมมือกับพันธมิตรที่มีโอกาสมากที่สุดเพื่อเอาความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์มา ซึ่งมี regional operator อย่างน้อย 5 รายสนใจ ซึ่งไม่ได้เสียเปรียบเทมาเส็กหรือเทเลนอร์ในการแข่งขันประมูลหรือให้บริการ เพราะมีประสบการณ์ในตลาดต่างประเทศมาเหมือนกัน’

ทั้งนี้เขาเชื่อว่าคู่แข่งรายอื่นหากประมูลความถี่ 3Gจากกทช.ก็จะต้องใช้เวลากว่าปีในการติดตั้งและลงทุนแต่กสทจะอาศัยช่วงรอยต่อที่คนต้องการใช้บริการ 3G นี้เร่งหาลูกค้าเข้ามาในบริการซีดีเอ็มเอที่ให้ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลไม่ต่างกัน โดยหลังจากกสทรวมโครงข่ายซีดีเอ็มเอเป็นเน็ตเวิร์กเดียวจะมีฐานลูกค้ามากกว่า 1 ล้านรายซึ่งเป็นแต้มต่อสำคัญของกสท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.