|
ธปท.ป้องแบงก์รับไหว NPL มาบตาพุด 9 หมื่น ล.
ASTVผู้จัดการรายวัน(19 ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.วิเคราะห์กรณีมาบตาพุดปล่อยกู้ 9 หมื่นล้าน หากเกิดหนี้เสียทั้งก้อน แบงก์ยังมีเงินสำรองส่วนเกินรองรับได้ เหตุกระทบต่อเงินกองทุนแบงก์ในระบบแค่ 0.3% หรือจาก 15.6 เหลือ 15.3% สอท.ระบุมาบตาพุดเป็นจุดเสี่ยงการลงทุนไทยปีหน้า ผู้ผลิตไฟฟ้าหวั่นกระทบความมั่นคง นายกฯ ท่องบทตามตามกฎหมาย
นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับชั่วคราวโครงการลงทุนในพื้นที่ มาบตาพุด 76 โครงการว่า ปกติแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์หรือประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจ ไทย ธปท.จะทำแบบการประเมินผลกระทบเบื้องต้น และจากข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์รายงานมายัง ธปท. พบว่าธนาคารพาณิชย์ในระบบมีการปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการดังกล่าวไปแล้วบาง ส่วนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ หากเม็ดเงินเหล่านี้เกิดหนี้เสียทั้งก้อนมีผลจะมีผลกระทบธนาคารพาณิชย์ใน ระบบให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส เรโช)ลดลง 0.3% ถือว่าน้อยมาก ทำให้บีไอเอส เรโชธนาคารพาณิชย์เฉลี่ยทั้งระบบลดลงเหลือ 15.3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 15.6% ประกอบกับธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีเงินสำรองส่วนเกินจำนวนมาก จึงไม่ได้เป็นกังวลประเด็นนี้มากนัก
“ธปท.จะประเมินเบื้องต้นว่าหากเกิดหนี้เสียใหม่ขึ้นไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือ ทั้งก้อนที่ปล่อยไปแล้ว 9 หมื่นล้านบาทนั้นจะมีผลกระทบต่อฐานะของธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยสินเชื่อเหล่า นั้นอย่างไรบ้าง แต่ขณะนี้เท่าที่สำรวจมานักลงทุนที่ขอสินเชื่อไปลงทุนโครงการเหล่านี้ยังมี การจ่ายอัตราดอกเบี้ยตามปกติให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเรื่องนี้ธปท.จะติดตามดูต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ธปท.เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาและเดินหน้าโครงการลงทุนมาบตาพุตต่อไป ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีต่างๆ โดยเฉพาะการจ้างงานและการลงทุน รวมถึงผลประโยชน์ให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทย
ก่อนหน้านี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่าหากในที่สุดศาลฯสั่งระงับ การดำเนินงาน 76 โครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจริง ยอมรับว่าสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องก็คงต้องระงับการสนับสนุนสินเชื่อทันที เพราะถือว่าไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้ได้อีกต่อไป
**สอท.ยันจุดเสี่ยงลงทุนไทยปี’53
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ย้ำว่าว่า ปัจจุบันนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติกำลังติดตามปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจ การลงทุนในปี 2553 อยู่ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ความชัดเจนของกฎหมายการลงทุนของไทยโดยเฉพาะมาตรา 67 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำลังผลักดันเพื่อเสนอให้ทันการพิจารณาในรัฐสภาต้นปีหน้า 2. การเมือง และ3. ภาวะเศรษฐกิจโลก
“เฉพาะปัญหามาบตาพุด หากบานปลายและการเมืองสะดุดจะมีผลต่อการตัดสินใจไปลงทุนยังประเทศอื่นทันที ยิ่งหากมีการฟ้องร้องเพิ่มเติมอีก 100 โครงการตามที่มีกระแสข่าวจริงเศรษฐกิจไทยจบแน่ แม้ว่าจะไม่เห็นผลทันที เพราะการลงทุนที่มีอยู่เดิมคงหนีไปไหนไม่ได้ แต่ลงทุนใหม่จะไม่เกิดท้ายสุดที่มีเดิมก็จะหมดไป"
นายธนิตกล่าวว่า หากปัจจัยดังกล่าวไม่นิ่ง จะมีผลให้ภาวะการลงทุนของไทยปี 2553 อาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ เพราะการแก้ไขระเบียบต่างๆ กรณีการเมืองไม่สะดุดคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ค.2553 ซึ่งขณะนี้การลงทุนของไทยเฉลี่ยติดลบ 13% การลงทุนตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่มีการยื่นขอผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 9 เดือนแรกมูลค่าลดลงประมาณแสนล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่การลงทุนใหม่ยังชะลอดูการออกระเบียบมาแก้ไขปัญหามาบตาพุดทั้งระยะสั้น และยาว โครงการใหม่หลายโครงการยังติดปัญหาคำสั่งศาลปกครองกลางกรณีการให้ระงับ กิจการ ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด โดยหลายโครงการเป็นโครงสร้างพื้นฐานหากมีผลกระทบต้องล่าช้าก็จะมีผลกระทบต่อ ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้วย
**เกาะติดโรงไฟฟ้าหวั่นฉุดความมั่นคง
นายสุวิทย์ ลิ้มวัฒนะกูล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้กำลังติดตามผลกระทบกับกิจการไฟฟ้าของภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการที่จะมีการฟ้องร้องเพิ่มเติมกิจการต่างๆ เพิ่มอีก ซึ่งยอมรับว่ากังวลมากหากโครงการเหล่านี้ต้องล่าช้าออกไป เพราะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพราะระบบไฟฟ้าจะต้องป้อนภาคประชาชนและ ภาคการผลิตด้วย
“ผมไม่อยากเห็นการหว่านแหในการฟ้องร้องเพราะหากการลงทุนทั้งหมดของประเทศ ต้องหยุดชะงักไปมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดีแต่น่าจะหาทางออกร่วมกันและพิจารณา โครงการที่กระทบจริงๆ “นายสุวิทย์กล่าว
แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)กล่าวว่า โรงไฟฟ้าของกฟผ.ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบจากกรณีการระงับ 76 โครงการแต่มี 2 แห่งที่อยู่ระหว่างการยื่นขอทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ คือ จะนะ 2 กับวังน้อย ซึ่งจุดนี้จะฟ้องหรือไม่ไม่เกี่ยวเพราะท้ายสุดก็อยู่ที่อีไอเอ แต่สิ่งที่จะต้องติดตามคือการฟ้องร้องเพิ่มเติมว่าจะตีรวนฟ้องไปยังโครงการ เก่าหรือไม่ซึ่งเห็นว่าไม่น่าจะดำเนินการเพราะหากต้องระงับแล้วให้ดับโรง ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหญ่มาก
**นักลงทุนเดิม เดินหน้าลงทุน สวล.
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แม้ว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุด จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนรายใหม่ ที่อาจชะลอแผนการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยออกไปจนกว่าจะได้ข้อสรุป แต่กลุ่มนักลงทุนรายเดิมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหลายราย ยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนเพื่อยกระดับการควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามเงื่อนไขที่บีโอไอ ออกมาตรการส่งเสริมมาตั้งแต่ปี 2550
ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว 3 โครงการ เพื่อยกระดับการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมวงเงินลงทุนประมาณ 3,600 ล้านบาท และคาดว่าจะมีบริษัทขนาดใหญ่อีก 10 ราย จะยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อให้ทันกับเงื่อนไขของมาตรการดังกล่าวที่กำหนดระยะเวลายื่นแผนขอรับส่ง เสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธ.ค.2552 ซึ่งคาดว่า มูลค่าเงินลงทุนของการยกระดับการควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สูงกว่ากฎหมาย กำหนด จะมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท
แม้ว่าจำนวนโครงการที่คาดว่าจะเพิ่มการลงทุนเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวด ล้อมจะมีประมาณ 10 กว่าบริษัท แต่เนื่องจากการลงทุนเพิ่มของแต่ละบริษัท จะสามารถครอบคลุมการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของทุกโครงการที่บริษัท นั้นๆ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เช่น บริษัทแห่งหนึ่งลงทุนเพิ่ม 1 โครงการ แต่การลงทุนเพิ่ม 1 โครงการนี้ จะสามารถช่วยป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการของบริษัทแห่งนั้นได้ทั้ง หมด
ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนปรับปรุงยกระดับมาตรฐานสิ่ง แวดล้อมให้สูงขึ้น เป็นไปตามมติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอ ตั้งแต่ปี 2550 เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่มาบตาพุด ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าชธรรมชาติ โรงไฟฟ้า เคมีและปิโตรเคมี แร่และโลหะพื้นฐาน เป็นต้น ลงทุนเพิ่มเติมและเร่งติดตั้งระบบหรืออุปกรณ์เพิ่มเติมในการควบคุมและลดผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนด
**นายกฯ ยันทำตามกฎหมาย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ถึงปัญหามาบตาพุดว่า ขอยืนยันว่ารัฐบาลก็มีจุดยืนที่ชัดเจนว่า นักลงทุนหรือภาคธุรกิจนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมของพี่น้องประชาชนในชุมชนต่างๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรณีของการปฏิบัติตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งอาจจะมีความเข้าใจหรือการตีความซึ่งไม่ตรงกันในขณะนี้ ระหว่างหลายๆ ฝ่าย สิ่งที่ตนอยากจะย้ำก็คือว่า ตนได้ทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีกลุ่มนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา กลุ่มนักลงทุนจากมาเลเซีย และกับการที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจและผู้แทนการค้าได้ไปชี้แจงในโอกาสต่าง ๆ
"เดิมได้ใช้การวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเกณฑ์ว่า โครงการไหนเข้า หรือไม่เข้าข่ายมาตรา 67 วรรคสอง ถ้าเข้าก็มีการกำลังเร่งดำเนินการจัดทำกระบวนการให้เป็นไปตามนั้น โดยทำเป็น 2 ระยะ หรือ 2 รูปแบบ ในระยะแรก ขณะที่ยังไม่ได้ตราเป็นกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมาย ก็จะให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมออกเป็นระเบียบ จริงๆ แล้วหัวใจสำคัญก็จะปรับในเรื่องของการมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น"
นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนของการ ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และจะไปเชื่อมโยงกับการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่สำคัญก็คือการเปิดโอกาสให้องค์การอิสระ ซึ่งมีผู้แทนขององค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อมกับนักวิชาการเข้ามาให้ความเห็นต่อ โครงการต่างๆ ส่วนในระยะต่อไป ก็จะใช้วิธีการในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะได้มีการนำเสนอต่อสภาฯ อยากจะย้ำว่ารัฐบาลเองก็ห่วงใยเช่นเดียวกัน จึงได้ประกาศเขตพื้นที่ในมาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|