เปิดตลาดเซ็กชั่นใหม่ "ตู้เย็นกับเครื่องสำอางโดยเฉพาะ"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เวลาไปซื้อเครื่องสำอาง คุณคงได้ยินผู้เชี่ยวชาญด้านความงามแนะนำอยู่เสมอว่า ให้เก็บ eye gels ในตู้เย็นช่องที่มีความเย็นระดับที่คุณแช่ผลิตภัณฑ์นมเนย ส่วนครีมทาหน้าเก็บในช่องแช่ผักสลัด และน้ำยาทาเล็บก็จะง่ายต่อการทามากขึ้น ถ้าเก็บไว้ในที่เย็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การต้องเดินออกจากห้องน้ำไปยังห้องครัวเพื่อหยิบเครื่องสำอางในตู้เย็นออกมาใช้นั้น ช่างน่าเบื่อหน่ายเสียนี่กระไร ในเมื่อคุณอาจต้องเปิดประตูถึงสองบานคือประตูห้องครัวและประตูห้องน้ำ ต้องเดินไปตามทางเดินในบ้าน และอาจต้องขึ้นลงบันไดอีกต่างหาก

ถ้ามีอีกทางเลือกหนึ่งคือมีตู้เย็นเล็กๆ อยู่ในห้องน้ำล่ะ?

คำถามง่ายๆ นี้แวบขึ้นมาในหัวสมองของ Jurgen Kraus ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดประจำกรุง Cologne เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะเขาเห็นภรรยาต้องวิ่งไปมาระหว่างห้องครัวและห้องน้ำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นิตยสาร Wallpaper ฉบับเดือนกรกฎาคม/สิงหาคม ยังให้รายละเอียดของการจุดประกายความคิดนี้ต่อไปว่า "ผมเลยเกิดข้อสงสัยต่อไปว่า ทำไมถึงไม่มีใครคิดออกแบบตู้เย็นสวยๆ แลดูดีมีรสนิยมสำหรับไว้ในห้องน้ำกันบ้างนะ? ลองคิดดูสิ เรารู้จักเอาเนยเก็บไว้ในตู้เย็นกัน แต่กับครีมทาหน้าซึ่งบางกระปุกราคาสูงกว่า 100 มาร์ก กลับถูกวางทิ้งไว้ในห้องน้ำที่ทั้งอบอ้าวและร้อน โดยทั่วไปแล้วห้องน้ำมีอุณหภูมิสูงเกินไป (ประมาณ 28 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น) และมีความชื้นมากไปไม่เหมาะกับการเก็บเครื่องสำอาง ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปทำลายส่วนผสมแพงๆ ของเครื่องสำอางเร็วกว่าที่เก็บไว้ในตู้เย็นถึง 30 เปอร์เซ็นต์"

หลังจากนั้น Kraus ไม่รอช้าที่จะแปรความคิดให้เป็นการกระทำ เขาติดต่อกับสถาปนิก Werner Hoffmann และร่วมงานกันจนได้ตู้เย็น Biszet แบบเรียบสวยสง่าที่มีผนังคู่และโครงทำด้วยเหล็กพื้นผิวมันวาว ซึ่งจะไม่ทำให้ห้องน้ำที่คุณลงทุนใช้อุปกรณ์ของ Boffi ต้องแลดูด้อยค่าไร้รสนิยมโดยเด็ดขาด พวกเขาต้องใช้เวลาถึง 2 ปี สำหรับงานออกแบบที่เป็นไปได้ ทั้งในแง่ประโยชน์ใช้สอยและกลไกทางเทคนิค

ประการแรกสุดอยู่ที่การให้ความสำคัญกับขนาดของผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องมีขนาดเล็กกะทัดรัดพอที่จะเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของห้องน้ำโดยทั่วไปได้

ประการที่สองจะต้องเป็นตู้เย็นที่มีช่องอุณหภูมิแตกต่างกัน 3 โซน เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจำนวนมากยืนยันว่า เครื่องสำอางที่มีสูตรการผลิตแตกต่างกันต้องการเงื่อนไขการเก็บที่แตกต่างกันด้วย จึงออกแบบผลิตให้ชั้นบนสุดของตู้เย็น Biszet มีอุณหภูมิ 12-13 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะที่สุดสำหรับเก็บเครื่องสำอางที่มี ส่วนผสมของคอลลาเจน ถัดมาในชั้นกลางอุณหภูมิอยู่ที่ 10 องศาเซลเซียส สำหรับเก็บผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารกันบูด (preservatives) หรือมีเพียงเล็กน้อย และชั้นล่างสุดมีอุณหภูมิ 5-8 องศาเซลเซียส เหมาะกับการเก็บเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของวิตามินมากที่สุด

แนวคิดเรื่องการมีตู้เย็นในห้องน้ำนี้ฟังดูออกจะ "เว่อร์" ไม่น้อย แต่ในความเป็นจริงแล้วบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางในปัจจุบันหันมาเน้นการใช้สารอินทรีย์ (organic) และวัสดุจากธรรมชาติเป็นส่วนผสมมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาต่างให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาส่วนผสมของเครื่องสำอางให้มีความบริสุทธิ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจำกัดปริมาณการใช้สารกันบูดลงให้เหลือน้อยที่สุด แล้วหันมาใช้สารสกัดจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติสามารถต่อต้านแบคทีเรียและเก็บได้นาน เช่น tea tree oil และ wheatgerm oil ซึ่งอุดมด้วยวิตามินอี

ปัจจุบันจึงมีห้างขายเครื่องสำอางหลายแห่ง อาทิ The Organic Pharmacy ซึ่งตั้งอยู่บนถนน King's Road ในกรุงลอนดอนและห้าง Lush เก็บผลิตภัณฑ์ที่ตนวางขายเอาไว้ในตู้เย็น และเพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับความสดใหม่ของสูตรเครื่องสำอาง จึงขายสินค้าตามกำหนดวันหมดอายุ ส่วน Doux Me ซึ่งเป็นเครื่องสำอางสูตรออร์แกนิคยี่ห้อล่าสุดจากฝรั่งเศสก็ออกแบบตู้เย็นของตนขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อโชว์ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในห้าง "การมีตู้เย็นถือเป็นเรื่องวิเศษสุดเลยทีเดียว เพราะความเย็นช่วยเสริมประสิทธิภาพของหัวน้ำมัน (essential oil) เมื่อนำมาทาลงบนผิวหนังก็ให้ความรู้สึกเย็นและสดชื่น" บรรดาเจ้าหน้าที่ของบริษัทผลิตเครื่องสำอางเหล่านี้ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียว

นอกจากนี้ เครื่องสำอางที่เก็บในตู้เย็นก็มีประสิทธิภาพดีขึ้นเช่นกัน เห็นได้จากลิปสติกและดินสอเขียนคิ้ว ซึ่งมีส่วนผสมของขี้ผึ้งเป็นหลัก จะละลายเมื่อเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง ส่วนน้ำยาทาเล็บที่มีลักษณะเหลวเกินไปเพราะเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิสูงก็ทำให้ยากต่อการทา แม้ว่าเครื่องสำอางส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของสารกันบูด แต่การเก็บไว้ในที่เย็นสามารถช่วยลดการแพร่พันธุ์ของแบคทีเรีย และการทำปฏิกิริยาทางเคมีกับออกซิเจนกลายเป็นออกไซด์หรือ oxidation ได้ สำหรับมาสคาร่านั้นนับว่ามีความไวเป็นพิเศษ เพราะเมื่อคุณเปิดหลอดแล้วดึงแท่งมาสคาร่าออกมาทาขนตาและปิดกลับเข้าไปในหลอดดังเดิม จะเป็นการอัดอากาศเข้าไปด้วยทุกครั้ง ทำให้มีอายุการใช้งานสั้นที่สุดราว 3 หรือ 6 เดือนเท่านั้น

ในส่วนของผู้ที่รักน้ำหอมก็คงดีใจไม่น้อยกับแนวคิดเรื่องการติดตั้งตู้เย็นในห้องน้ำ "อุณหภูมิเหมาะสมที่สุดสำหรับการเก็บน้ำหอมอยู่ที่ 6-10 องศาเซลเซียส" Roja Dove ผู้เชี่ยวชาญการพิสูจน์กลิ่นน้ำหอม (nose) ในอังกฤษแสดงความคิดเห็น "ศัตรูตัวร้ายที่สุดของกลิ่นหอมคือ การต้องสัมผัสกับแสงแดด แก๊สออกซิเจน และความร้อนโดยตรง ถ้าเป็นไปได้ให้เก็บขวดน้ำหอมไว้ในกล่องเพื่อไม่ให้โดนแสง และต้องระวังคอยปิดจุกขวดให้แน่นเสมอ น้ำหอมจากธรรมชาติ (natural perfume) มีคุณสมบัติเหมือนไวน์คือ เมื่ออยู่ในขวดที่ปิดสนิทไม่มีอากาศเข้าได้มันจะเก่า (ageing) ต่อไปเรื่อยๆ เพราะอณูของน้ำมันธรรมชาติ (natural oil) จะแตกตัวได้ดีเมื่ออยู่ในแอลกอฮอล์ ทำให้กลิ่นหอมจากน้ำมันระเหยออกมาทีละน้อยๆ เหมือนความหวานหอมของเค้กคริสต์มาสยังไงยังงั้น"

อย่างไรก็ตาม บริษัทเครื่องสำอางระดับยักษ์ใหญ่ที่มีปริมาณการผลิตครั้งละมากๆ ซึ่งทำให้จำเป็นต้องมีส่วนผสมของสารกันบูดในสัดส่วนสูงขึ้นนั้น ยังระมัดระวังที่จะออกความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดนี้ เห็นได้จากที่ Dr. Sven Gohla แห่งบริษัท Clinique La Prairie อธิบายว่า "กฎหมายบังคับว่าผลิตภัณฑ์ที่วางตลาดต้องเก็บได้อย่างปลอดภัย ณ อุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน 30 เดือน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องระบุวันหมดอายุไว้ อีกอย่างหนึ่งเมื่ออยู่ในห้องทดลองเราจะนำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบความกดดันทุกรูปแบบ รวมทั้งการใส่แบคทีเรียทุกชนิดลงไป และสร้างสถานการณ์จำลองทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ขึ้นมา เพื่อให้แน่ใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์นั้นๆ นั่นเอง"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.