ไม่มีใครคาดคิดว่า ภูมิปัญญาไทยในแนวทางธรรมชาติที่มีมากมายนับแต่ดึกดำบรรพ์ จะกลายเป็นสินค้าส่งออกและเป็นที่ยอมรับของคนในซีกโลกที่เคยเห็นความกาวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพระเจ้า
ในงานสุดยอดหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล (OTOP Product Champion) ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน
กระทรวงมหาดไทยได้จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีความหมายสำคัญมากกว่าทุกครั้งที่หน่วยงานต่างๆ
จัดกันมา เพราะงานนี้เป็นการคัดสรรสินค้าที่ยอดเยี่ยมจริงๆ เพื่อนำไปแสดงและจัดจำหน่ายในงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ทีกรุงเทพฯ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้สินค้าเหล่านี้ออกสู่ตลาดโลกต่อไป
ในหมวดของสินค้าสมุนไพรไทยภูมิปัญญาจากตะวันออกนั้น มีสินค้าของโครงการดอยน้ำซับ
จากจังหวัดเชียงราย ได้รับการคัดเลือกถึง 3 ตัวให้เป็นสินค้าระดับ 5 ดาว
หรือโปรดักส์แชมเปี้ยน คือ ลูกประคบสมุนไพรอบตัว และหมอนสุขภาพ
"ผู้จัดการ" เคยเสนอข่าวเรื่องราวและที่มา ของเรื่องลูกประคบจากโครงการดอยน้ำซับนี้ไปครั้งหนึ่งเมื่อปี
2541 และดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สินค้าตัวนี้ได้รับการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องโดยผสมผสานไปกับวิธีการบรรจุที่ทันสมัย
จนกลายเป็นจุดแข็งสำคัญในการทำตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา
โดยเฉพาะลูกค้าในประเทศญี่ปุ่นนั้นยอมรับกันว่าลูกประคบเป็นสินค้าสำหรับคนชั้นสูง
เพราะมีราคาและการบริการค่อนข้างแพง
ลูกประคบสมุนไพร ผลิตจากสมุนไพรเป็นสูตรเฉพาะ 9-14 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติแก้ฟกช้ำ
เคล็ดขัดยอก เมื่อนำไปผ่านความร้อนจะได้น้ำมันหอมระเหยของสมุนไพร ซึ่งความร้อนที่ได้จากการประคบ
จะทำให้เนื้อเยื่อพังผืดยืดตัวออก ลดการปวด การเกร็งของกล้ามเนื้อ รวมทั้งช่วยในการไหลเวียนของโลหิต
นอกจากลูกประคบสมุนไพร ซึ่งเป็นสินค้าดั้งเดิมของโครงการ ปัจจุบันยังมีการพัฒนาเป็นลูกประคบงา
และลูกประคบตามธาตุเจ้าเรือนออกมาสู่ตลาดอีกด้วย
สำหรับยาอบสมุนไพร มาจากความคิดของผู้บริหารโครงการที่ว่าองค์ความรู้ของคนไทยจะประกอบไปด้วย
การอบ การนวด การประคบ การอบเป็นการรักษาขั้นตอนหนึ่งที่แพทย์ปัจจุบันยอมรับว่าเป็นวิธีการของการขับสารพิษออกจากผิวหนัง
โดยจำหน่ายคู่ไปกับกระโจม ซึ่งเป็นผ้าทอโดยอบกันในอุณหภูมิ 45-50 องศาเซลเซียส
หม้อที่ใช้ในการอบ พัฒนามาจากหม้อดินเป็นหม้อสุกี้ ซึ่งจะมีความร้อนที่สูงและสม่ำเสมอ
1 ห่อของยาอบ จะใช้ได้ประมาณ 3-4 ครั้ง ยาอบจะมีหลายสูตร แล้วแต่ว่าเป็นสูตรของพื้นที่ตำบลไหน
แต่แบ่งหลักๆ เป็น 2 ประเภทคือ ยาอบสมุนไพรธรรมดา และยาอบสมุนไพรหลังคลอด
มีตัวยาหลักๆ คือ ไพล ขมิ้นอ้อย ตะไคร้ ใบและผิวมะกรูด ใบหญ้าคา ใบพลับพลึง
ว่านน้ำ ว่านชักมดลูก ว่านมหาเมฆ ว่านนางจัน ใบเปล้าหลวง ขิง ใบชะพลู ฝักส้มป่อย
ส่วนตัวที่ 3 ที่ได้รับรางวัลก็คือ หมอนสมุนไพร ซึ่งเนื้อในหมอนผลิตจากแกลบ
(Husk) และสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เช่น กลีบกุหลาบ ใบเตย ใบยูคาลิปตัส
ในอดีตคนโบราณบ้านเรา เคยใช้แกลบยัดไส้หมอนนอน เช่นเดียวกับประเทศในยุโรป
เพียงแต่ว่าขั้นตอนการทำหมอนแกลบของโครงการดอยพัฒนา ได้มีการพัฒนามากขึ้น
เพราะนอกจากเอาแกลบมาล้างทำความสะอาดและใช้กระด้งฝัดสิ่งที่ปนออกแล้ว ยังได้นำไปอบฆ่าเชื้อ
ก่อนที่จะนำมาบรรจุในปลอกหุ้มซึ่งเป็นผ้ากันไรฝุ่น
หมอนยัดไส้ด้วยแกลบยังช่วยพยุงศีรษะ บริเวณสะบักและต้นคอทำให้ไม่เมื่อย
และไม่ปวดต้นคอ เมื่อใช้แล้วไม่ยุบลงไป กลิ่นหอมสมุนไพรช่วยให้โล่งจมูกและผ่อนคลาย
ดุษฎี วิสุทธิศักดิ์ชัย ผู้บริหารโครงการได้อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่าประเด็นสำคัญ
ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของโครงการนี้ได้รับการยอมรับก็คือ เมื่อดูเบื้องลึกลงไปถึงแหล่งที่มาของการผลิต
จะพบว่าแหล่งปลูกสำคัญของสมุนไพรแต่ละชนิด ปลูกในพื้นที่โครงการดอยตุงในจังหวัดเชียงราย
ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดจากการใช้สารเคมี หลังจากนั้นเมื่อมาถึงขั้นตอนการแปรรูป
นำมาล้างทำความสะอาดแล้วต้องมีการอบฆ่าเชื้อในอุณหภูมิที่พอเหมาะ ผ่านการตรวจวิเคราะห์จากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีไข่แมลง ไม่มีสารปนเปื้อน ทุกอย่างต้องปลอดเชื้อหมด
สุดท้ายการให้ความสำคัญในเรื่องของแพ็กเกจจิ้ง พลาสติกที่เอามาซีนทางโครงการได้เลือกเอาพลาสติกที่หากนำไปเผาทำลายแล้วจะไม่เกิดสารก่อมะเร็ง
ในขณะเดียวกันจะต้องมีวิธีการที่ทำให้คุณสมบัติของลูกประคบและตัวยาอบสมุนไพร
คงคุณภาพเหมือนการผลิตใหม่ภายในระยะเวลา 1 ปีด้วย
จากความคิดพื้นฐานของผู้บริหารของโครงการที่มีว่าจะทำอะไรดีที่ชาวบ้านขายได้
เพื่อช่วยให้ฐานะความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้นแล้ว สินค้านั้นยังเป็นที่ต้องการของตลาด
และช่วยในเรื่องสุขภาพได้ด้วย สินค้าในไลน์ของสมุนไพรของโครงการก็เกิดขึ้นมาอีกมากมาย
ลูกอาบน้ำเป็นลูกเล็กๆ สำหรับแช่ตัว ลูกประคบสำหรับสูดดม แก้อาการคัดจมูก
ในบวบขัดตัว กลุ่มชาสมุนไพร โดยจะวางขายที่เลมอนฟาร์มกับสุวรรณชาด 2 ที่เท่านั้น
และที่สำคัญยังมีโครงการอยู่ไฟ Delivery หรือกระบวนการดูแลคุณแม่หลังคลอด
โดยวิธีโบราณอีกด้วย