บ้านเอกะนาค มรดกล้ำค่าในฝั่งธนบุรี

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 20 ปีก่อน เรือนปั้นหยาหลังใหญ่ริมคลองบางไส้ไก่หลังนี้ รกเรื้อไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย เมื่อมองลอดเข้าไปจะเห็นตัวบ้าน ที่ยังคงร่องรอยความสวยงาม แต่เก่าโทรมจนน่าใจหาย แลเห็นเพียงคำว่า "บ้านเอกะนาค" บนรั้วบ้านแต่เพียงรางเลือน

เมื่อทายาทคนสุดท้ายของตระกูลเอกะนาค คือ คุณยายประยูร สิ้นชีวิตลง บ้านหลังนี้ถูกปิดตายลงทันที ชาวบ้านย่านนี้รู้เพียงแต่ว่าท่านได้ทำพินัยกรรมยกบ้านให้กับสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แต่ทางสถาบันฯ ก็ไม่ได้จัดการดูแลแต่อย่างใด คงปล่อยทิ้งร้างไว้อย่างนั้น จนนักศึกษาและชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาว่า บ้านร้างหลังนี้มีผีสิงอยู่ภายใน

จนกระทั่งปี พ.ศ.2538 ดร.สุดารัตน์ ชาญเลขา ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมของสถาบันฯ คนปัจจุบัน ได้เข้าไปสำรวจในระยะใกล้และพบว่าบ้านเก่าโทรมมากขึ้น และดูเหมือนว่าตัวบ้านจะค่อยทรุดจมดินลงไปทุกวันๆ จึงได้ไปพูดคุยปรึกษากับผู้บริหารระดับสูง เพื่อขอปรับปรุงบ้านทรงปั้นหยาหลังนี้เพื่อใช้ประโยชน์ให้กับภาควิชาดนตรี แต่ในเวลานั้นทางสถาบันฯ ไม่มีงบประมาณในการปรับปรุง จนกระทั่งล่วงเลยมาถึงปี 2541 จึงได้เงินงบประมาณมา 4 ล้านบาท การดำเนินงานปรับปรุงจึงได้เริ่มต้นโดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี ทุกอย่างก็ได้กลับคืนมาสู่สภาพที่ใกล้เคียงกับบ้านหลังเดิมอีกครั้งหนึ่ง

สิ่งสำคัญที่สุดของการบูรณะบ้านหลังนี้ก็คือ การใช้เทคนิคยกตัวบ้านขึ้นจากพื้นดินที่จมลงไปประมาณ 1.70 เมตร ให้กลับมาอยู่ในระดับเดิมการซ่อมแซมลวดลายแกะสลักต่างๆ รอบตัวบ้าน รวมทั้งซ่อมแซมพื้นกระเบื้องบางชิ้นที่หลุดสูญหายไปตามกาลเวลา โดยกระเบื้องบางส่วนถูกส่งไปให้ช่างผู้เชี่ยวชาญทำเลียนแบบ เช่นเดียวกับลวดลายปูนปั้นตามราวบันไดที่มีบางส่วนได้หักพังไป สำหรับทรัพย์สินภายในบ้านส่วนใหญ่ถูกส่งไปบริจาคไว้ที่วัดอนงคาราม

พร้อมๆ กับการซ่อมแซมบ้าน ภาระอย่างหนึ่งของ ดร.สุดารัตน์ ก็คือ การสืบค้นประวัติของบ้าน และเจ้าของบ้าน เพื่อจัดส่วนหนึ่งของบ้านเป็นห้องประวัติ ซึ่งที่ผ่านมาทางสถาบันฯ ก็ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับบ้านหลังนี้เลยและแม้จะพยายามสอบถามจากบุคคลเก่าแก่ในชุมชน ก็ไม่มีใครทราบเรื่องมากพอ รู้เพียงว่าบิดาของคุณยายประยูร ชื่อพระยาประสงค์ได้ยกบ้านหลังนี้ให้กับคุณยาย ซึ่งเป็นลูกสาวคนเดียว คุณยายผู้ซึ่งไม่มีครอบครัวและลูกหลานก็ได้เสียชีวิตลงในบ้านหลังนี้เช่นกัน

แต่แล้ววันหนึ่งหลังจากได้พยายามกันอีกครั้ง ดร.สุดารัตน์ และอาจารย์ พิษณุ บางเขียว ก็ได้ไปเดินถามชาวบ้านรอบๆ สถาบันฯ แห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง คนหนึ่งถือเทป อีกคนหนึ่งถือกล้อง โดยมีความมุ่งมั่นว่าจะต้องหาประวัติเจ้าของบ้านให้ได้ แต่ก็เช่นเคยไม่ได้ความเพิ่มเติมมากจากที่ได้มาแล้วจนสุดท้ายไปนั่งพักเหนื่อยนั่งดื่มน้ำที่ร้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง โดย ดร.สุดารัตน์ ได้บ่นขึ้นมาว่าจะมีทางรู้ประวัติพระยาประสงค์หรือเปล่า ทั้งๆ ที่ก่อนออกมาก็ได้ตั้งจิตระลึกถึงท่านและขอให้ได้พบคนที่รู้ประวัติท่านจริงๆ เสียที

เป็นเรื่องบังเอิญที่สุดในระหว่างที่พูดคุยกันนั้น มีคนคนหนึ่งนั่งอยู่ได้ยินเข้า และได้ชี้ทางให้ไปบ้านเก่าแก่หลังหนึ่งริมคลองบางหลวง เมื่ออาจารย์ทั้งสองท่านไปก็พบกับเจ้าของบ้านคือ คุณยายจรวยพร ผิวเหลือง ซึ่งเป็นน้องสาวต่างมารดาของพระยาประสงค์

จากจุดนี้เองทำให้พบแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ของบ้านเอกะนาคมาเผยได้เป็นครั้งแรก คุณยายจรวยพรเล่าให้ฟังว่า

พันตำรวจเอกพระยาประสงค์ สรรพาการ เดิมชื่อ ยวง เอกะนาค เป็นบุตรชายคนโตของหมื่นชำนาญจักร์ (นาก เอกะนาค) และคุณแพร หมื่นชำนาญจักร์ มีภรรยา 3 คนคือ คุณเอม คุณแพร และคุณช้อย ส่วนคุณยายจรวยพรเป็นบุตรสาวของคุณช้อย พระยาประสงค์มีภรรยาชื่อคุณหญิงเย็น มีตำแหน่งสูงสุดคือรองอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น เมื่อท่านอายุได้ 72 ปีได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินมรดกให้กับลูกสาวคนเดียวเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2495 ดังความตอนหนึ่งในพินัยกรรมว่า หากนางสาวประยูร วายชนม์ลง หากไม่มีใครรับมรดกต่อได้ ขอให้ถวายวัดอนงคาราม หรือยกให้แก่โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นสถานที่ศึกษาวิชาสำหรับกุลบตรและกุลธิดา ตามแต่กรณีเหมาะสม

ปัจจุบันบ้านเอกะนาคอยู่ในความดูแลของสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยทางสำนักศิลปวัฒนธรรมต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของโครงการ "ธนบุรีศึกษา" เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมสรรพความรู้ด้านวัฒนธรรมของกรุงธนบุรี ด้วยการเก็บรวบรวมศึกษาวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาฝั่งธนบุรี รวมทั้งเป็นที่จัดกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกัน โดยประสานงานร่วมกันกับชุมชน

ณ วันนี้ บ้านเอกะนาคกำลังจะกลายเป็นสถานที่ ที่มีประโยชน์ต่อกุลบุตรกุลธิดา ที่จะได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษถูกประยุกต์ร่วมกับภูมิปัญญาสากล ให้เหมาะสมกับบริบทและกาลสมัยสมกับเจตนารมณ์ดั้งเดิมของท่านเจ้าของบ้านสืบต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.