ดร.ศุภกร สุนทรกิจ Strategic Planner ของ MFC

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ตำแหน่งนักวางแผนกลยุทธ์การลงทุนอาวุโส (Senior Strategist) ของบลจ.MFC ที่ดร.ศุภกร สุนทรกิจ ได้รับ แม้ไม่ใช่ตำแหน่งบริหารระดับสูงที่ต้องมีลูกน้องมากมาย แต่เขาก็มีความภาคภูมิใจในหน้าที่และบทบาทนี้เป็นอย่างยิ่ง

"มันเป็นตำแหน่งที่ทำให้ผมมีความคล่องตัวมากในการทำงาน" เขาบอกกับ "ผู้จัดการ"

ความคล่องตัวนี้ ย่อมหมายถึงบทบาทที่เขาได้โอกาส มีส่วนร่วมวางกลยุทธ์การก้าวย่างต่อไปของ MFC ในทุก step

ดร.ศุภกร เป็น 1 ในมันสมอง 2 คนที่ ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการจัดการ ดึงตัวเข้ามาช่วยงาน โดยอีกคนนั้นคือ ดร.อัญญา ขันธวิทย์ อาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพียงแต่ ดร.ศุภกรทำงานให้กับ MFC เต็มเวลา

ทั้ง 2 คน ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสูง โดยเฉพาะดร.ศุภกรเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์กองทุนใหม่ๆ ที่ MFC ได้ทยอยเปิดตัวออกมาแล้วในช่วงนี้

เขาเพิ่งมีอายุเพียง 36 ปี ถือเป็นดอกเตอร์หนุ่มอีก 1 คน ที่กำลังมีบทบาทในแวดวงการเงิน

ดร.ศุภกรเรียนจบมัธยมจากโรงเรียนเซนต์ดอมินิครุ่นเดียวกับ "นีโน่" เมทนี บุรณศิริ แล้วเอนทรานซ์ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนกโยธาในปี 2528

เขาใช้เวลาเรียนวิศวฯ จุฬาฯ ถึง 5 ปี เพราะในรั้วมหาวิทยาลัย เขาให้ความจริงจังกับการเรียนน้อยกว่าสมัยอยู่มัธยม

"จบ ม.6 ได้เกรด 3 กว่า แต่จบมหาวิทยาลัย ได้เกรดแค่ 2 กว่าเท่านั้น" เขายอมรับ

ดร.ศุภกรไม่เคยมีความคิดว่าจะก้าวเข้ามาในแวดวงการเงินมาก่อน ในช่วงที่เขาเรียนอยู่ที่จุฬาฯ เป็นช่วงที่ภาวะการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของไทยเริ่มบูมขึ้น หลังจบมหาวิทยาลัย ในปี 2533 เขาได้งานเป็นวิศวกรโครงการ บริษัท Adtech International ซึ่งรับเหมาก่อสร้าง แต่ทำอยู่ที่นี่ไม่นาน ก็คิดไปเรียนต่อ

"ตอนนั้น หัวหน้าเอาโครงการมาให้ศึกษาผลตอบแทนจากการลงทุน ก็เลยเริ่มสนใจ แต่ความรู้เรื่องการเงินของเราก็ไม่มีเลยจึงอยากไปเรียนต่อ"

ดร.ศุภกรไปเรียนปริญญาโท MBA สาขาการเงิน ที่มหาวิทยาลัย Central Oklahoma สหรัฐอเมริกา และจบกลับมาเมืองไทยในปี 2538 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังบูมสุดขีด ดัชนีราคาหุ้นขึ้นไปถึง 1,700 จุด ก่อนที่จะหักหัวลง

"กลับมาใหม่ๆ อยากลอง ก็ไปซื้อกองทุนของ บลจ. ที่ทางการเพิ่งให้ใบอนุญาต ปรากฏว่าตอนซื้อ 10 บาท หลังจากนั้นมูลค่าก็ลดลงมาเหลือเพียง 2-3 บาท" เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขารู้จักกับธุรกิจจัดการกองทุนเป็นครั้งแรก

เขากลับมาเมืองไทย เพื่อเรียนต่อระดับปริญญาเอก ด้านบริหารธุรกิจ (ด้านการเงิน) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเรียนเขาเคยร่วมหุ้นจัดตั้งบริษัท Value Vision รับจัดงานสัมมนา ฝึกอบรม โดยรับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ แต่บริษัทนี้ต้องปิดตัวลงหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เขาจึงเบนเข็มไปเป็นผู้ช่วยหัวหน้าส่วนในฝ่ายวิจัยและพัฒนา ศูนย์การซื้อขายตราสารหนี้ไทย ในปี 2540 แต่ทำได้เพียง 2 ปี ก็ต้องลาออก เพื่อเร่งทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ

เขาได้รับปริญญาเอกในปี 2543 และกลับเข้าทำงานในศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยอีกครั้ง ตำแหน่งสุดท้าย ก่อนจะลาออกมาอยู่ บลจ.MFC เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา

ทั้ง ดร.ศุภกร และ ดร.พิชิต มีพื้นฐานคล้ายคลึงกัน คือมีพื้นฐานมาจากงาน R&D ซึ่งจุดนี้ทำให้ทั้งคู่ทำงานเข้าขากันเป็นอย่างดี และทั้งคู่มีบุคลิกที่เหมือนกัน คือเป็นคนที่ไม่อยู่นิ่ง

"งานวิจัยและพัฒนาทำให้เราต้องหาอะไรใหม่ๆ ทำอยู่ตลอดเวลา เมื่อจบเรื่องนี้แล้ว ก็ต้องหาเรื่องใหม่มาให้คิดต่ออีก"

เป็นคุณสมบัติที่ บลจ.MFC กำลังต้องการพอดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.