เมื่อ High Risk ก็ต้อง High Return

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.MFC ในยุคที่มี ดร.พิชิต อัคราทิตย์ เป็นผู้บริหาร กำลังจะสร้างบทบาทที่มีสีสันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเปิดตัว กองทุนใหม่ High-Speed Fund ที่วางแผนไว้ว่าจะมีขึ้นในไตรมาส 4 ของปีนี้

นักลงทุนในตลาดหุ้น มักถูกมองข้ามจากผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ส่วนใหญ่ ว่าไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นลูกค้าของพวกเขา

เพราะคนที่กล้านำเงินออมของตนเองไปซื้อหุ้นโดยตรง ย่อมต้องกล้าเผชิญความเสี่ยงมากกว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ผลตอบแทนซึ่งสูงกว่า

ผิดกับคนที่ซื้อหน่วยลงทุน ที่แม้ว่าในใจอยากจะเข้าไปในตลาดหุ้น แต่ก็ยังไม่กล้า ดังนั้นจึงเลือกลงทุนในจุดที่มีความมั่นคงและผลตอบแทนอาจสูงกว่าการนำเงินฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา กองทุนรวมส่วนใหญ่จึงถูกออกแบบมาอย่างอนุรักษ์นิยม แทบทั้งหมดนำเงินกว่า 80% ไปลงทุนในตราสารหนี้ เหลือไว้ลงทุนในหุ้นเพียงประมาณ 10% เท่านั้น และเงินส่วนนี้ก็ถูกจำกัดไว้เพียงหุ้นไม่กี่ 10 บริษัท

แต่สำหรับที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการแต่สำหรับ บลจ. MFC คอนเซ็ปต์นี้กำลังจะถูกเปลี่ยน

ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการจัดการคนใหม่ของ MFC มองว่าหาก บลจ. สามารถสื่อสารข้อมูลกับลูกค้าผู้ซื้อหน่วยลงทุนให้เข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยงได้อย่างถ่องแท้แล้ว นักลงทุนย่อมกล้ายอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และกองทุนที่มุ่งเน้นลงทุนในหุ้นโดยตรงมากกว่าตราสารหนี้ ย่อมมีโอกาสได้เกิด

High-Speed Fund คือชื่อกองทุนใหม่ของ MFC ที่กำลังอยู่ระหว่างการวางโครงสร้าง เพื่อออกมาตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้

กองทุนดังกล่าวจัดอยู่ในลำดับกองทุน ที่จะให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ตามโครงสร้างผลิตภัณฑ์ที่ MFC ได้มีการจัดวางใหม่

"หลังรับตำแหน่งได้ไม่นาน ผมได้จ้างบริษัทวิจัยเข้ามาวิจัยถึงความต้องการของลูกค้า ซึ่งผลการวิจัยที่ได้มาจะถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบกองทุนใหม่ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ได้อย่างตรงจุด" ดร.พิชิตกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

โครงสร้างดังกล่าวได้แบ่งกลุ่มกองทุนอย่างกว้างๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับความเสี่ยง กลุ่มแรกคือ กองทุนประเภทที่นักลงทุนไม่ต้องการรับความเสี่ยงเลย หรือเสี่ยงน้อยที่สุด กลุ่มที่ 2 คือ กองทุนที่นักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลาง และกลุ่มที่ 3 คือ กองทุนประเภทที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงก็มีสูงมากเช่นกัน

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม MFC เปิดตัวกองทุนรวมสินทรัพย์มั่นคงมูลค่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนที่คุ้มครองเงินต้น จึงเน้นลงทุนในตราสารหนี้

วันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา MFC เปิดตัวกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี-บีทีอินคัมโกรทฟันด์ มูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้น โดยเลือกหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลสูง มีราคาหุ้นต่ำเมื่อเทียบปัจจัยพื้นฐาน (Value Stock) และมีแนวโน้มการเจริญเติบโตของรายได้ (Growth Stock)

ส่วน High-Speed Fund นั้นมีมูลค่า ประมาณ 5,000 ล้านบาท วางแผนไว้ว่าจะเปิดตัวภายในไตรมาส 4 ของปีนี้

"ที่เราเรียกว่า High-Speed คือมุ่งเน้นตามชื่อ คือผลตอบแทนต้องเร็วและแรง กองนี้ผลตอบแทนจะอยู่ในระดับสูงสุด และความเสี่ยงก็สูงสุด"

High-Speed Fund ถือเป็นบทบาทใหม่ที่มีสีสันที่สุดของ บลจ.MFC

ช่วงก่อนที่ ดร.พิชิตจะเข้ามาเป็นผู้บริหาร บลจ.แห่งนี้ อุปมาอุปไมยเหมือนกับเรือที่หางเสือชำรุด เพราะแม้ว่า MFC จะเป็น บลจ.ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แต่ทิศทางการทำธุรกิจดูเหมือนจะขาดความชัดเจน

เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง เนื่องจากเมื่อครั้งในอดีต MFC เคยดำเนินธุรกิจในลักษณะผูกขาด และเคยถูกใช้เป็นกลไกของรัฐ ในการเข้าไปจัดการความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์หลายครั้ง

เมื่อธุรกิจจัดการกองทุนรวมเริ่มเปิดเสรีและมีคู่แข่งมากขึ้น กลไกต่างๆ ที่ถูกวางไว้โดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของราชการ จึงทำให้ MFC ตามคู่แข่งไม่ค่อยทัน

ปัจจุบัน MFC มีกองทุนในความดูแลอยู่ถึง 102 กองทุน เป็นกองทุนรวมที่เปิดขาย หน่วยลงทุนถึง 60 กองทุน ถือเป็นบลจ.ที่มีจำนวนกองทุนรวมสูงที่สุดในระบบ

แต่ทั้ง 60 กองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมเพียง 50,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดในอันดับ 6 จาก บลจ.ที่มีอยู่ทั้งหมด 14 บริษัท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ที่กระจายแยกย่อยออกไปมากจนเกินความจำเป็น

"MFC ยังต้องปรับตัวอีกมาก เป้าหมายที่ผมวางไว้สำหรับที่นี่ จะต้องเป็นคู่แข่ง สำคัญในอุตสาหกรรม อาจจะไม่ใช่รายใหญ่ที่สุด แต่จะต้องเป็น บลจ.ตัวอย่าง เป็นบริษัทที่สร้าง Trend ให้กับอุตสาหกรรม สิ่งที่เราทำคนอื่นต้องอยากทำตาม" เขาบอกความรู้สึก

ดร.พิชิตเข้ามารับตำแหน่งกรรมการจัดการของ MFC เมื่อต้นปี พื้นฐานของเขาเป็นข้าราชการ และนักวิชาการ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนจะมาที่ MFC เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นองค์กรที่คอยกำกับการทำธุรกิจของ บลจ.ทั้งหมด (รายละเอียดอ่าน "จากผู้คุมกฎสู่ผู้เล่น" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับ 234 เดือนมีนาคม 2546)

ภารกิจหลักของ ดร.พิชิตในช่วง 8-9 เดือนแรก หลังจากออกจากราชการจึงเน้นไปที่การวางระบบจัดการภายใน เช่น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงเครื่องมือทางการบริหารสมัยใหม่ อย่าง Balance Score-card และ Keys Performance Index เข้ามาใช้ ตลอดจนการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแล ด้านบริหารความเสี่ยง และงานด้านการตลาด โดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างบริษัทกับลูกค้า

เขาบอกว่าระบบต่างๆ ที่เขาได้วางไว้ น่าจะเริ่มเห็นผลในปีหน้า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.