|

แกรมมี่พาโมเดลแฮปปี้ แวมไพร์บุกไต้หวันจับมือจงหัว เทเลคอม ดูดลูกค้าอาเซียน 4 ประเทศ
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดเพลงในยุคนี้ได้เคลื่อนเข้าสู่โลกของดิจิตอลอย่างเต็มตัว ค่ายเพลงหันไปหารายได้จากการดาวน์โหลดแทนการขายแผ่นซีดี แต่ละค่ายหันไปจับมือกับโอเปอเรเตอร์มือถือ เปิดกลยุทธ์การตลาดบนโลกดิจิตอลกันอย่างดุเดือด แผ่นซีดีที่เคยเสนอขาย 10-12 เพลง ราคา 100-200 บาท วันนี้ ผู้บริโภคจ่ายเพียง 20-30 บาท ต่อเดือน สามารถดาวน์โหลดเพลงยกค่าย ไม่ว่าเก่าหรือใหม่อย่างไม่จำกัด ดูในมุมผู้บริโภคอาจมองว่าคุ้มค่ากว่าก่อนที่การซื้อหาเพลงในยุคนี้ สามารถเลือกเฉพาะเพลงฮิต เพลงดังได้ ไม่ต้องซื้อเหมายกอัลบัมเหมือนก่อน แต่ในมุมของค่ายเพลงเอง ยิ่งคุ้มค่ากว่า เพราะทุกเดือนจะมีลูกค้านับแสนราย จ่ายเงินเดือนจะมีลูกค้านับแสนรายจ่ายเงินรายเดือน 20-30 บาท ให้กับค่าย เปลี่ยนโฉมสินค้าที่เคยขายขาดครั้งเดียว กลายเป็นสินค้าที่ต้องจ่ายรายเดือน สร้างรายได้ให้กับค่ายเพลงอย่างมั่นคง
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คือค่ายเพลงที่ขายสินค้าระบบเหมาจ่ายรายเดือนรายแรก โดยบริการที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือการจับมือกับโอเปอเรเตอร์มือถืออันดับ 2 ของประเทศไทย ดีแทค ให้บริการในชื่อ 'แฮปปี้ แวมไพร์' ดาวน์โหลดเพลงแกรมมี่ยกค่ายในราคาเดือนละ 20 บาท วันนี้มีผู้สมัครใช้บริการร่วม 2 ล้านราย รายได้ที่ไหลเข้าสู่บริษัทอย่างน่าสนใจนี้ ทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่คิดนำโมเดลบริการนี้ไปใช้ในต่างประเทศที่มีคนไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไต้หวัน, ตะวันออกกลาง หรือออสเตรเลีย และวันนี้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็เปิดให้บริการในไต้หวัน เป็นที่เรียบร้อยในชื่อ 'Happy Ideal Mobile'
Happy Idea Mobile เป็นการให้บริการดาวน์โหลดเพลงที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ร่วมมือกับ จงหัว เทเลคอม โอเปอเรเตอร์มือถือรายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ที่กินส่วนแบ่งทั้งตลาดมือถือ โทรศัพท์บ้าน และบริการอินเทอร์เน็ต ราว 80-90% ในไต้หวัน เพื่อให้บริการแก่คนไทยที่เดินทางไปทำงานซึ่งมีอยู่ราว 1 แสนคน สามารถเสพเพลงไทยได้อย่างสะดวก สบาย เพราะปัจจุบันตลาดไต้หวันยังมีสินค้าเพลงไทยตอบสนองความต้องการไม่ครบถ้วน
สุรชัย เสนศรี กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็ม อินเตอร์เนชันแนล ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่กล่าวว่า แกรมมี่ได้ดำเนินการทำตลาดเพื่อจัดเก็บรายได้จากเพลงของแกรมมี่ในต่างประเทศให้เข้าสู่ระบบ ถูกต้องตามกฎหมาย โดยการร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจในแต่ละประเทศ โดยในไต้หวันได้จับมือกับจงหัว เทเลคอม ให้บริการ Happy Idea Mobile ดาวน์โหลดเพลงแกรมมี่ทั้งเสียงเพลงรอสาย และเพลงเต็ม ไม่อั้น เพียงเดือนละ 50 ดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งทางจงหัว เทเลคอม มองว่าบริการนี้ถือเป็นบริการ CSR ที่จะตอบแทนให้กับลูกค้าของจงหัว เทเลคอม โดยค่าบริการ Happy Idea Mobile ที่ผู้ใช้บริการจ่ายเดือนละ 50 ดอลลาร์ไต้หวัน สามารถใช้โทรฟรีตามมูลค่าที่จ่าย และหากใช้บริการครบ 1 ปี 600 ดอลลาร์ ก็จะเพิ่มค่าโทรฟรีให้เป็น 1,200 ดอลลาร์ไต้หวัน
โดยจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดความสนใจ สร้างความรู้จักในบริการนี้ทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ร่วมมือกับจงหัว เทเลคอมในการเปิดบูธที่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แจกซิมฟรีสำหรับคนไทยที่จะเดินทางไปทำงานในไต้หวัน ขณะที่ในไต้หวันจะมีการจัด Exclusive Concert นำศิลปินไทยไปแสดงคอนเสิร์ตถึงไต้หวัน ปีละ 6 ครั้ง ครั้งละ 2 โชว์ 2 เมือง โดยมองสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าที่ใช้ซิมมือถือของจงหัว เทเลคอม และใช้บริการ Happy Idea Mobile รับบัตรเข้าชมฟรี 1,000 ที่นั่ง เพื่อสร้างความจงรักภักดีในบริการ นอกจากนี้ยังจะมีการโฆษณาบริการผ่านแผ่นพับ แผ่นป้ายโฆษณา และพิมพ์ลงในปกซีดี คาราโอเกะเพลงไทยของแกรมมี่ที่วางขายในไต้หวัน และโฆษณาผ่านแฟนทีวี ซึ่งสามารถรับชมผ่านจานดาวเทียมได้ในไต้หวัน ตั้งเป้าปีแรกจะมีคนไทยสมัครเป็นสมาชิกบริการนี้ราว 10%
สุรชัยกล่าวว่า นอกเหนือ Happy Idea Mobile จะทำตลาดเพลงไทยให้กับคนไทยและคนลาวในไต้หวันแล้ว จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ยังได้ประสานกับค่ายเพลงมิวสิกก้า ในอินโดนีเชีย, ยูนิเวอร์แซล ในฟิลิปปินส์ และค่ายเพลงพันธมิตรในเวียดนาม นำเพลงของทั้ง 3 ค่ายมาร่วมอยู่ในบริการนี้ เพื่อขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น โดยนอกเหนือจากคนไทย 1 แสนคนแล้ว ในไต้หวันยังมีคนงานจากอินโดนีเชีย อยู่ราว 2.5 แสนคน คนฟิลิปปินส์ 1 แสนคน และคนเวียดนามอีก 1 แสนคน เมื่อรวมแล้วจะมีกลุ่มเป้าหมายของบริการนี้อยู่ราว 5-6 แสนคน โดยคาดว่า หากสามารถทำตลาดหาสมาชิกบริการได้ครึ่งหนึ่ง หรือ 2.5 แสนคน จะทำให้จีเอ็มเอ็มแกรมมี่มีรายได้ราว 100 ล้านบาท
สุรชัยเชื่อมั่นว่ารูปแบบการทำตลาดที่แพดร่วมกัน 4 ประเทศเช่นนี้ จะทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่สามารถขยายตลาดในต่างประเทศได้ไม่ยาก โดยเป้าหมายต่อไปคือการขยายไปสู่ตลาดตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งที่ผ่านมา จีเอ็มเอ็มแกรมมี่เคยพยายามเจรจาทำธุรกิจกับโอเปอเรเตอร์มือถือเพียงลำพัง แต่ไม่สามารถทำได้เพราะตลาดคนไทยยังเล็กเกินไป แต่หากได้พันธมิตรจากอาเซียนร่วมทีมไป ก็น่าจะทำให้การเจรจาเพื่อทำธุรกิจเป็นไปได้มากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|