การขึ้นเป็นที่ 1 ในธุรกิจบัตรเครดิตของ KTC
อาจเป็นเรื่องที่ยากน้อยกว่า หากเทียบกับการที่จะต้องรักษาอันดับที่ครองอยู่เอาไว้
รูปแบบการตลาดที่ KTC
จะนำมาใช้หลังจากนี้ จึงต้องเจาะลึกลงไปถึง
ความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคยิ่งขึ้น
คงเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง หากมีใครสักคนเข้าใจถึง Lifestyle และรสนิยมของคุณ
และสามารถนำเสนอบริการที่โดนใจคุณมากที่สุด
บริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) กำลังพยายามทำตัวให้เป็นบุคคลผู้นั้นของลูกค้า
ของ KTC ด้วยการนำเสนอบริการบัตรเครดิตที่ยึดตาม Lifestyle และรสนิยมของลูกค้า
ซึ่งเป็นแนวทางการทำตลาดเชิงลึกที่เข้าถึงความต้องการ หรือวิถีชีวิตที่แท้จริงของผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น
นับเป็นแนวทางใหม่ที่แตกต่างจากการแข่งขันในธุรกิจบัตรเครดิตของไทยในอดีต
ที่มักนิยมการออกบัตรร่วมกับองค์กรที่เป็นพันธมิตร เพื่อให้องค์กรเหล่านั้นเป็นสื่อนำพาบริการให้เข้าไปถึงตัวผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง
"จากนี้ไป KTC จะค่อยๆ ลดบทบาทของ Generic Card ลง แผนการตลาดต่างๆ จะออกมาในลักษณะเฉพาะเจาะจงเพื่อให้ตรงกับ
Lifestyle ของลูกค้า แต่ละกลุ่มมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงตัวผู้บริโภคมากขึ้น"
ธวัชชัย ธิติศักดิ์สกุล รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บอกกับ "ผู้จัดการ"
การปรับแนวทางการทำตลาด โดยออกบัตรที่ยึดตาม Lifestyle ของลูกค้า เป็นผลต่อเนื่องมาจากการศึกษาพฤติกรรมการใช้บัตรของลูกค้า ที่ KTC ได้เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลมาตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้งเป็นรูปบริษัทเมื่อปลายปี 2539
ข้อมูลซึ่งถูกจัดเก็บมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 6 ปี ได้ถูกนำมาแยกจัดเป็นหมวดหมู่ตาม
Category ต่างๆ และข้อมูลในแต่ Category ได้ถูกแยกออกมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ออกมาเป็นรูปแบบ
และพฤติกรรมในการใช้บัตรประเภทต่างๆ ของลูกค้า
"เดิมตอนแรก ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อหาว่าลูกค้าในกลุ่มไหนที่จะมีโอกาสกลายเป็นหนี้เสียมากกว่ากัน
แต่ภายหลังเมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จึงถูกนำมาใช้ในเชิงการตลาด
เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์" ธวัชชัยอธิบาย
เมื่อได้คำตอบออกมาแล้ว KTC จึง เริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตรงกับ Lifestyle
ของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากที่สุด
จากข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้ KTC ได้จัดแบ่ง Category ของลูกค้าออกเป็น 3
ประเภท ได้แก่ การจัดแบ่งตามพฤติกรรม การใช้จ่าย การจัดแบ่งตามรสนิยมเฉพาะด้าน
และการจัดแบ่งตามช่วงของอายุ
ทั้ง 3 Catrgory KTC ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เจาะลึกลงไปในรายละเอียดตาม
Lifestyle ของคนแต่ละกลุ่ม (รายละเอียดดูได้ใน "Lifestyle Card ประเภทต่างๆ
ของ KTC")
KTC วางแผนไว้ว่าจะทยอยเปิดตัว Lifestyle Card ต่างๆ เหล่านี้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้เป็นต้นไป โดยจะเริ่มต้นจากการขยายบทบาทของ Auto Card
ซึ่งถือเป็น Lifestyle Card ใบแรกที่ KTC เริ่มนำมาทดสอบตลาดเมื่อเมษายน
ที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จ (รายละเอียดอ่าน Auto Card : Lifestyle Card
ใบแรกของ KTC)
หลังจากนั้นจะเป็นการเปิดตัว Lifestyle Card ที่จะนำออกมาทำตลาดอีก 4 ประเภท
คือ Family Card, Shopping Card, Entertainment Card และ Travel Card
และในปีหน้า KTC จะเน้นทำการตลาดเชิงรุกในเรื่องของ Lifestyle Card ที่เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก
"เราวางตัวของเราเองเป็น Market Leader ดังนั้นเราจะต้องวางกลยุทธ์ให้เราสามารถเป็น
Market Leader ได้ตลอด ไป" ธวัชชัยกล่าว
KTC นับเป็นบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตที่มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่บริษัทสามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปีที่แล้ว
ส่งผลให้มีจำนวนผู้ถือบัตรเครดิต KTC แซงหน้าซิตี้แบงก์ซึ่งเคยเป็นผู้นำเก่าในตลาดนี้ขึ้นไปได้ทันที
(รายละเอียดโปรดอ่าน "KTC ต้นแบบการแปรรูปบริษัทในเครือ" นิตยสาร "ผู้จัดการ"
ฉบับที่ 238 เดือนกรกฎาคม 2546)
ในสิ้นปี 2545 จำนวนผู้ถือบัตร KTC ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 598,173 บัตร จาก
ที่ในปลายปี 2544 จำนวนผู้ถือบัตร KTC มีอยู่เพียง 171,266 บัตร
ส่วนสิ้นปีนี้ KTC ตั้งเป้าว่าจะมีจำนวนผู้ถือบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 9 แสนบัตร
และจะขยายขึ้นเป็น 1.2 ล้านบัตรในสิ้นปี 2547
"เราวางเป้าหมายไว้คร่าวๆ ว่าหลังจากนี้ผู้ถือบัตรของเราจะเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า
3 แสนใบ"
ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด โดยการ ออกบัตรที่เป็น Lifestyle Card ของ KTC ยุทธภูมิการแข่งขันของธุรกิจบัตรเครดิตในปีหน้า
น่าจะยิ่งมีสีสันเข้มข้นมากขึ้นไปอีกไม่น้อยเลยทีเดียว