แกะรอยความสำเร็จท่ามกลางวิกฤติโรส มีเดีย ดัน 'ช่องแก๊งการ์ตูน' ขึ้นแท่นผู้นำ


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 ตุลาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา คงไม่ใช่เวลาที่ดีของนักการตลาดส่วนใหญ่ การเติบโตของธุรกิจเป็นเป้าหมายที่ถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก แต่ละปีที่ผ่านไปขอเพียงแค่รักษาตลาดเดิมๆ เอาไว้ไม่ให้สูญหายไป ก็ถือเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจ

แต่สำหรับนักการตลาดรุ่นใหม่ จิรัฐ บวรวัฒนะ ที่เข้ามาเขียนเส้นทางธุรกิจใหม่ให้กับค่ายโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ โรส วิดีโอ ที่กำลังเดินเข้าสู่วิกฤติของธุรกิจเมื่อราว 5 ปีก่อน เปลี่ยนมาผลักดันให้คอนเทนต์อะนิเมชั่นการ์ตูนขึ้นมาเป็นธุรกิจหลัก พร้อมหาช่องทางในการสร้างรายได้จากสื่อรอบด้าน ทำให้วันนี้ โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์แทนเม้นท์ ไม่เพียงแต่เป็นผู้นำในด้านอะนิเมชั่นการ์ตูน ที่ถือลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนชั้นนำทั่วโลกมากคาแรกเตอร์ที่สุดแล้ว ยังก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจทีวีดาวเทียม ที่ช่องแก๊งการ์ตูน ซึ่งออกอากาศผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียม และเคเบิลทีวีท้องถิ่น กลายเป็นช่องที่มีผู้ชมสูงสุดในประเทไทย

ผลการสำรวจความนิยมในการชมช่องทีวีดาวเทียมที่ดำเนินการโดย AGB Nielsen ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ช่องแก๊งการ์ตูนใกล้จะมีอายุครบรอบ 1 ปี ปรากฏว่า ผู้ชมโดยรวมที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป ช่องแก๊งการ์ตูน มีผู้ชมสูงสุด เหนือช่องลูกทุ่งยอดนิยมอย่าง แฟนทีวี ของค่ายจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ และ 3 ช่องดังของค่ายไลฟ์ ทีวี ทั้งช่องภาพยนตร์ EDN/Miracle, ช่องลูกทุ่งไทยไชโย และช่องเพลง Pop Live ที่ได้รับความนิยมตามหลังเป็นอันดับ 2-5 ตามลำดับ

และเมื่อเจาะลงไปเฉพาะกลุ่มอายุ ช่วง 4-14 ปี แก๊งการ์ตูน ก็ยังคงครองความเป็นช่องยอดนิยมสูงสุด เหนือ 2 ช่องเพลงวัยรุ่น Pop Live และ Bang Channel ขณะที่กลุ่มอายุสูงขึ้นมา 15-24 ปี ช่องแก๊งการ์ตูนครองความนิยมเป็นอันดับ 2 รองจากช่องบันเทิง EDN/Miracle แต่อยู่เหนือช่อง Pop Live และไทยไชโย รวมไปถึงช่องสารคดีคุณภาพอย่างสำรวจโลก

จิรัฐ บวรวัฒนะ รองประธานกรรมการสายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัท โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า วันนี้แบรนด์แก๊งการ์ตูนถือว่าแข็งแกร่งมาก ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจที่ชี้ว่าความนิยมมีมากน้อยเพียงไหน ทั้งที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่ถึง 1 ปี

โดยปัจจัยที่ผลักดันทำให้ประสบความสำเร็จมาจากการที่โรส มีเดียมีคอนเทนต์อะนิเมชั่นการ์ตูนอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก และล้วนเป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะการ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่น อาทิ นารูโตะ, รีบอร์น, บลีช, เคโรโระ, ยูกิโอะ รวมไปถึงการ์ตูนจากซานริโอ ขบวนแปลงร่า ง 5 สี และอะนิเมชั่นอีกกว่า 200 เรื่องจากผู้ผลิตชั้นนำทั่วโลก โดยถือลิขสิทธิ์แบบครบวงจรที่ทำให้สามารถนำไปเผยแพร่เพื่อสร้างรายได้หลากหลายช่องทาง ทั้งการออกอากาศทางโทรทัศน์ วางขายเป็นวีซีดี ดีวีดี และการผลิตสินค้าที่ระลึก ทำให้การทำตลาดคาแรกเตอร์การ์ตูนแต่ละตัวทำได้อย่างเต็มที่

อีกแผนงานที่สำคัญที่จิรัฐวางไว้เพื่อตอกย้ำการรับรู้ของแบรนด์แก๊งการ์ตูน และสร้างความผูกพันกับคาร์แรกเตอร์การ์ตูนแต่ละตัวต่อกลุ่มเป้าหมาย คือการโหมจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างหนักและต่อเนื่อง ผ่านรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อกระตุ้นการขาย รวมไปถึงกิจกรรมที่ได้จัดขึ้นเป็นประจำอย่าง การเข้าหาโรงเรียนระดับประถมปีละ 120 แห่ง, โรงเรียนมัธยมปีละ 50 แห่ง, การจัดกิจกรรม Gang Cartoon Festival ปีละ 6 ครั้งในห้างสรรพสินค้า, การจัดกิจกรรมกิจกรรมพิเศษ อาทิ Anime Cover Band Contest การประกวดวงดนตรีสไตล์ J-Rock และการประกวดโชว์การแสดงจากลุ่มเด็กประถม รวมแล้วแต่ละปีมีกิจกรรมที่นำแบรนด์ไปหากลุ่มเป้าหมายมากเกือบ 200 งาน ทำให้เวลาเพียง 1 ปี แบรนด์แก๊งการ์ตูนก็สามารถเข้าหากลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน

จากความแข็งแกร่งด้านคอนเทนต์และการจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายของกล่องรับสัญญาณดาวเทียมของโรส มีเดียฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ทีวีดาวเทียมรายแรก ที่หันไปทำตลาดจานดาวเทียมด้วย เปิดตัวไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมาเติบโตตามไปด้วย วางตลาดเพียง 3-4 เดือน สามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 70,000 เครื่อง แสดงให้เห็นถึงความนิยมของช่องแก๊งการ์ตูนเป็นอย่างดี เพราะราคาของจานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณอยู่ที่ 4,500 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับท้องตลาดแล้วมีราคาที่สูงกว่า แต่ผู้ชมก็ยังซื้อและถือได้ว่ามียอดเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้จิรัฐเตรียมแผนรุกตลาดให้กับช่องแก๊งการ์ตูนอย่างต่อเนื่งอ โดยการเริ่มมองหากลุ่มผู้ชมหน้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่น อายุระหว่าง 14-25ปี ที่เมื่อมองจากผลการสำรวจแล้วพบว่ายังเป็นรองช่องอื่น โดยการมองหาช่องทางใหม่ๆ ในการเจาะตลาดเพิ่มจำนวนผู้ชม ซึ่งโรส มีเดียได้วางแนวทางหลักไว้คือการปรับภาพลักษณ์จาก Japanese Culture มาเป็น POP Culture ปรับภาพลักษณ์จากช่องการ์ตูนญี่ปุ่น หรือการเป็น Japanese Culture มาเป็น POP Culture คือความสนุกสนาน ความมันส์ ที่ไม่จำกัดว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ แต่เป็นวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ที่รักการ์ตูน

'เมื่อก่อนการ์ตูนจะเป็นเรื่องของเด็ก แต่ตอนนี้เราต้องการที่จะปรับให้เป็น POP Culture เพื่อให้มีความหลากหลาย กลุ่มคนทุกรุ่นทุกวัยสามารถสนุกสนานกับการ์ตูนได้ โดยโรส มีเดียจะนำวัฒนธรรมตรงนี้มาปรับใช้กับกิจกรรมทางการตลาดที่จะเจาะลูกค้ากลุ่มต่างๆ' จิรัฐกล่าว

แนวทางการปรับภาพลักษณ์ของช่องแก๊งการ์ตูนมาสู่การเป็น POP Culture จะทำให้ช่องแก๊งการ์ตูน มีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่จะเน้นหนักไปที่กลุ่มเด็กหรือเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่น ก็จะขยายไปสู่กลุ่มผู้ใหญ่ วัยรุ่นขึ้น มีเรื่องของอารมณ์ความสนุกสนานมากขึ้น โดยปัจจุบันช่องแก๊งการ์ตูนมีฐานผู้ชมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย กลุ่มอายุ 1-4ปี มีสัดส่วน 15%, กลุ่มอายุ 4-14 ปี สัดส่วน 50% และกลุ่มอายุ 15-25ปี มีสัดส่วน 35% ซึ่งในกลุ่มอายุ 4-14ถือเป็นกลุ่มหลักที่มีการโฟกัสการทำตลาด ขณะเดียวกันการวางแนวทาง POP Culture ก็จะเป็นการช่วยผลักดันให้ผู้ชมในกลุ่มอายุ 15-25ปีเติบโตขึ้น โดยคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนของผู้ชมกลุ่มนี้ให้ได้ถึง 50%

นอกจากกิจกรรมทางการตลาดที่จะขยายไปสู่ฐานผู้ชมหน้าใหม่มากขึ้นแล้ว ในแง่ของรูปแบบรายการได้เตรียมที่จะเพิ่มผู้ดำเนินรายการเพิ่มขึ้นเป็น 5คน และในปีหน้าอีก 2 รวมเป็น 7 คนทั้งนี้เพื่อสร้างสีสันให้กับรายการ ขณะเดียวกันได้เตรียมที่จะปรับเนื้อหาในรายการโดยจะสอดแทรกเรื่องราวความรู้เรื่องต่างๆอาทิ วิทยาศาสตร์ สอดแทรกเข้าไป

'เราเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าหากลุ่มผู้ชมด้วยการแนวทาง POP Culture ที่จะหลากหลายในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่จะนำเข้ามาปีละกว่า 60 เรื่อง หรือการจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางนี้นอกจากจะได้กลุ่มผู้ชมหน้าใหม่แล้ว ยังสามารถที่จะตอบโจทย์ลูกค้าที่จะซื้อโฆษณากับเราว่าจะโฟกัสไปที่กลุ่มไหน ที่จะชัดเจนและตรงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด'

ขณะเดียวกันโรส มีเดียฯ ก็เตรียมแผนการสร้างการเติบโตของช่องแก๊งการ์ตูนขึ้นอีก ด้วยการเพิ่มช่องทางการขายกล่องรับสัญญาณ โดยจับมือกับเทสโก้ โลตัส เปิดเคาท์เตอร์ขายปลีกจำหน่ายเฉพาะกล่องรับสัญญาณ เบื้องต้นวางจำหน่ายใน 40 สาขา ภายในปีนี้ และเพิ่มเติมในปีหน้าอีก 20 สาขา รวมเป็น 60 สาขาทั่วประเทศ

ด้านของการทำตลาดในสื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ แก๊งการ์ตูนก็จะมีการขยายช่องทางการรับชมผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยในช่วงที่ผ่านมามีการร่วมมือกับเอไอเอส และผลการตอบรับดี มีผู้รับชม 180,000 ครั้งต่อเดือน สร้างรายได้ต่อเดือนสูงถึง 3-4 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเติบโตกว่าที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 30,000 ครั้งต่อเดือน และคาดว่าในปีหน้าหากเทคโนโลยี 3G เริ่มเข้ามาใช้แบบจริงจัง จะทำให้แก๊งการ์ตูน แชนแนล มีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งโรส มีเดีย ก็ได้เตรียมที่จะเจรจากับผู้ให้บริการโทรศัพท์รายอื่นแล้ว

จิรัฐ กล่าวว่า จากการรุกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่าช่องแก๊งการ์ตูน แชนแนล น่าจะมีรายได้มากกว่า 100ล้านบาท เมื่อถึงสิ้นปี โดยปัจจุบันสามารถทำรายได้ไปแล้วกว่า 75 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.