เปิดประเด็นร้อน ไลเซนส์ 3จี ระวังคุณสมบัติผิดรัฐธรรมนูญ


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 ตุลาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

* ไลเซนส์มือถือ 3จี ระอุตั้งแต่รอบอุ่นเครื่อง
* กลุ่มทรูยิงอาวุธหนัก 'ร่างคุณสมบัติ' เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญความมั่นคง
* เจ้าสัวน้อย 'ศุภชัย เจียรวนนท์' ขอสู้สุดใจเพื่อประเทศชาติ

'อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม 2552 จะเป็นวันดีเดย์ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กทช. จะเปิดประมูลไลเซนส์หรือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่สาม (IMT หรือ 3G and Beyond)' เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ หนึ่งใน กทช. ระบุอย่างชัดเจนในวันรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างสรุปข้อสนเทศ (Draft Information Memorandum) การจัดสรรคลื่นความถี่ IMT หรือ 3G and Beyond

การจัดสรรคลื่นความถี่ในย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ จัดสรรเป็น 4 ช่วงความถี่ หรือ 4 ใบอนุญาตได้แก่ใบอนุญาตสำหรับช่วงความถี่ 15 เมกะเฮิรตซ์ 1 ใบ และอีก 3 ใบสำหรับช่วงความถี่รายละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ในรูปแบบวิธีการประมูล โดยทาง กทช.จะดำเนินการประมูลพร้อมกันแบบหลายรอบ หรือ Simultaneous Multiple Round (SMR) จำนวน 4 ใบอนุญาตพร้อมกัน และเปิดให้มีการประมูลหลายรอบ ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนรอบ

ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลจะมีสิทธิในการเสนอราคาประมูลได้เพียง 1 ใบอนุญาตเท่านั้น โดยก่อนเข้าร่วมการประมูลจะต้องวางเงินมัดจำที่เรียกว่า แบงก์การันตี เท่ากับราคาเริ่มต้นประมูลหรือราคากลางของใบอนุญาต

'ราคากลางใบอนุญาตขณะนี้ที่ปรึกษาได้เสนอมาแล้ว ซึ่ง กทช.จะหาข้อสรุปให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศหลักเกณฑ์การประมูลลงในราชกิจจานุเบกษา'

ถึงแม้การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างสรุปข้อสนเทศในครั้งนี้ ผู้ประกอบการต่างคาดว่า คงจะไม่บังเกิดผลประการใดต่อแนวทางการออกใบอนุญาตเหมือนทุกครั้งที่เคยมีการดำเนินการมา แต่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 บริษัทใหญ่ที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมประมูลต่างได้ส่งตัวแทนเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อร่างดังกล่าวกันอย่างคึกคัก

ตัวแทนกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ที่นำทัพโดย 'ศุภชัย เจียรวนนท์' กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร 'อธึก อัศวานนท์' รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย และผู้บริหารระดับสูงอีกหลายๆ ท่านต่างลุกขึ้นให้ความคิดเห็นอย่างแข็งขัน

โดยเฉพาะ 'อธึก อัศวานนท์' ไม่เห็นด้วยในร่างสรุปข้อสนเทศที่ กทช.เปิดให้รัฐวิสาหกิจต่างชาติเข้าร่วมประมูลได้ รวมทั้งบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้น ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญด้านความมั่นคงได้ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญมาตรา 48 (1) ระบุไว้ไม่ให้รัฐทำการค้าแข่งกับเอกชน ดังนั้น คงต้องมาตีความกันว่า 'รัฐ' ที่ระบุไว้หมายถึง รัฐของไทย หรือของต่างประเทศ

'ปัจจุบันบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 รายหลักในไทย มีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทต่างชาติซึ่งต่างก็มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลประเทศนั้นๆ และผู้บริหารระดับสูงที่เข้ามานั่งบริหารในบริษัทเหล่านี้ก็มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจประเทศนั้น'

ประเด็นเกี่ยวกับ 'สัญชาติ' ของบริษัทที่จะมีคุณสมบัติร่วมประมูลคลื่น 3 จีของ กทช. นอกเหนือจากยึดตาม พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวที่ดูในแง่สัดส่วนการถือหุ้นแล้ว ยังอาจนำ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาใช้พิจารณาได้ โดยเฉพาะประเด็นกิจการโทรคมนาคมที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง เนื่องจาก พ.ร.บ. ดังกล่าวจะดูไปถึงบริษัทแม่ด้วย โดยไม่มองเฉพาะสัดส่วนหุ้นว่าถืออยู่เท่าไร แต่จะมองว่าผู้ถือหุ้นฝ่ายใดมีอำนาจมากกว่าในการแต่งตั้งผู้บริหาร ก็จะถือว่าเป็นบริษัทแม่

ขณะที่ 'ศุภชัย เจียรวนนท์' ท้วงติงการเปิดประมูลด้วยการใช้การแข่งขันด้าน 'ราคา' จะไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ที่มีศักยภาพในการลงทุนสูงได้เปรียบมากยิ่งขึ้น แทนที่จะสร้างการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม จึงไม่ต่างจากรูปแบบสัมปทานแต่ประการใด

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่มีอำนาจในการลงทุนจำนวนมาก โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เสียส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานเดิมอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท พร้อมที่จะลงทุนและประมูลไลเซนส์ 3จี ที่ราคา 3-4 หมื่นล้านบาท

'ขณะที่ทรูจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานเดิมที่ 5-6 พันล้านบาทต่อปี ก็พร้อมที่จะลงทุนราว 5-6 พันล้านบาท หรือไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แล้วอย่างนี้จะเรียกว่า เปิดเสรีและเป็นธรรมได้อย่างไร'

ศุภชัย กล่าวอีกว่า ที่มีคนสบประมาทว่า ทรู มีหนี้เป็นจำนวนมากไม่สามารถประมูลได้ ขอยืนยันว่า ทรูพร้อมที่จะประมูล และพร้อมสู้ขาดใจ ทรู เป็นบริษัทคนไทยที่เหลืออยู่เพียงรายเดียวในอุตสาหกรรมนี้ที่จะยืนหยัดสู้กับบริษัทข้ามชาติและรัฐวิสาหกิจที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในโทรคมนาคมไทย

ในฐานะที่ทรูมูฟเป็นบริษัทของคนไทย จริงๆ แล้ว บริษัทก็สามารถมีนอมินีต่างชาติเข้ามาถือหุ้น เพื่อสร้างอำนาจแข่งขันและต่อสู้กับบริษัทอื่นๆ แต่ทรูต้องการดำรงสถานะความเป็นบริษัทของคนไทย คลื่นความถี่ก็เป็นสมบัติของแผ่นดิน จึงไม่ต้องการให้ผู้ถือหุ้นต่างประเทศเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

'ผมในฐานะที่เป็นผู้บริหารทรู ผมต้องการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ และการทำสิ่งเหล่านี้เพื่อว่าอนาคตคนไทยจะคำนึงถึง เพราะผมไม่ได้ทรยศต่อชาติและต้องการรักษาไว้ซึ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพราะตั้งแต่ผมเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้บริษัทคนไทยก็ถูกต่างชาติเข้าครอบงำมาโดยตลอด พอมาถึงปัจจุบัน เมื่อจะมีจุดเปลี่ยนสำคัญเรื่องไลเซนส์ 3จี ผมต้องการให้มีความเสรีและเป็นธรรม มากกว่าคำนึงถึงว่าใครมีเงินมากกว่าก็สามารถได้คลื่นความถี่ไป'

ขณะที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมโทรศํพท์เคลื่อนที่ ให้ความสำคัญกับเรื่องอายุของใบอนุญาตแทน 'พรรัตน์ เจนจรัสสกุล' ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและวิเคราะห์การตลาด เอไอเอส แสดงความคิดเห็นว่า ใบอนุญาตให้บริการ 3จี ควรจะมีอายุ 25 ปีจึงจะเหมาะสมกับการลงทุนที่มีวงเงินมหาศาล เพราะการกำหนด 15 ปีสั้นเกินไป

'รูปแบบการประมูลตามกฎเกณฑ์ที่ออกมายังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร จึงจะส่งเอกสารให้ กทช.เพื่อพิจารณารายละเอียด และต้องการให้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์การกำหนดการพัฒนาโครงข่ายที่จะต้องได้ครอบคลุมพื้นที่ 50% ของประเทศภายใน 2 ปี และ 80% ภายใน 4 ปี ควรจะกำหนดตามกลุ่มประชากรมากกว่า เพราะคลื่น 2.1 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นที่เหมาะสมกับการพัฒนาในพื้นที่เขตเมืองมากกว่าพื้นที่ชนบท'

ขณะที่เมื่อถามความคิดเห็นของหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารของเอไอเอสอย่าง 'วิเชียร เมฆตระการ' ว่า เอไอเอสมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ได้คำตอบว่า ทางเอไอเอสพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลไลเซนส์ 3จี โดยสนใจที่จะเข้าประมูลใบอนุญาตช่วงความถี่ 15 เมกะเฮิรตซ์เพียงย่านเดียว

ส่วนกรณีคุณสมบัติของบริษัทเข้าร่วมประมูลที่ทางกลุ่มทรูท้วงติงนั้น 'วิเชียร' กล่าวหนักแน่นว่า เอไอเอสมั่นใจว่าบริษัทเป็นของคนไทย มีสัดส่วนการถือครองหุ้นตามประกาศในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ด้าน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้เผยแพร่เอกสารแสดงความคิดเห็นออกมา ภายในเอกสารให้ความเห็นไว้ว่า ในเรื่องคลื่นความถี่ที่จะจัดสรรนั้น ทางดีแทคเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขที่ให้ผู้ประมูลแต่ละรายสามารถได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G เพียงรายละ 1 ใบนั้นเป็นวิธีการที่เหมาะสมแล้ว เพราะเป็นการป้องกันการผูกขาดการแข่งขันและป้องกันการกักตุนคลื่นความถี่ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการโดยผู้ประกอบการในจำนวนที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ

ส่วนเรื่องคุณสมบัติของบริษัทที่เข้าร่วมประมูลนั้น ดีแทคเห็นด้วยกับหลักการที่ กทช.กำหนด เพราะเป็นการป้องกันการสมยอมในการเสนอราคาซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างเสรีและเป็นธรรม อย่างไรก็ดี เนื่องจากเวลานี้ กทช.ยังไม่ได้กำหนดแนวทางการพิจารณาความสัมพันธ์ในเชิงของการเป็นเจ้าของในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ ทางดีแทคมองว่า กทช.ไม่ควรนำเรื่องการถือหุ้นในสัดส่วนที่ไม่เป็นสาระสำคัญมาพิจารณา เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะไม่สอดคล้องกับหลักสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นบริษัทซึ่งมีหุ้นอันเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งหุ้นของผู้ขอรับใบอนุญาตดังกล่าวสามารถซื้อขายได้โดยเสรี

โดยทางดีแทคได้ท้วงติงในเรื่องระยะเวลาของใบอนุญาตนั้น ควรจะอยู่ที่ 20 ปีถึงจะเหมาะสม เนื่องจากการลงทุนเครือข่าย 3จีนั้นมีจำนวนมหาศาล ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่เพียงพอและคุ้มค่ากับการลงทุน ระยะเวลา 20 ปีดังกล่าวสอดคล้องกับเงื่อนไขในการอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ที่มีระยะเวลาใบอนุญาต 20 ปี ซึ่ง กทช.ได้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามรายใหม่มาแล้วจำนวนหลายราย จึงควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินลงทุนแล้ว การลงทุนของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามที่ให้บริการประเภทอื่นๆ ก็ไม่ได้มีการลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลมากเท่ากับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3จี ซึ่งต้องสำรองและใช้เงินจำนวนมากที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตายตัว

หลังสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็น 'เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์' กรรมการ กทช. กล่าวว่า หลังจากนี้ ทางคณะกรรมการคงจะนำความคิดเห็นที่เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาพิจารณากันอีกครั้ง ส่วนเรื่องระยะเวลาใบอนุญาต รวมถึงการเลือกวิธีประมูลโดยใช้ 'ราคา' เป็นตัวตัดสินนั้น ทาง กทช.ไม่ได้มีเจตนาต้องการได้เงินมากๆ ให้รัฐบาล แต่เราเลือกวิธีการประมูลพร้อมกันแบบหลายรอบ เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นวิธีการที่โปร่งใส และเกิดความเป็นธรรม เพราะเห็นว่าคนที่ได้คลื่นความถี่ไปก็ควรจะเป็นคนที่ตีราคาคลื่นเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.