พานาฯรุกตลาดกล้อง DSLR เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างวัฒนธรรมลูมิกซ์


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 ตุลาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

พานาโซนิค สเตปอัพ ลูกค้ากล้องคอมแพกต์ เปลี่ยนไปใช้กล้อง DSLR (กล้องเปลี่ยนเลนส์ได้) หวังสร้างมูลค่าเพิ่ม หลังตลาดกล้องป่วนโดนทั้งสงครามราคา และพิษเศรษฐกิจ พร้อมสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการใช้กล้องไฮบริดเป็นทั้งกล้องถ่ายภาพนิ่งและบันทึกวิดีโอได้ ตลอดจนการดูภาพผ่าน Viera Image Viewer

ตลาดกล้องถ่ายรูปดิจิตอลเตรียมผลัดใบไปสู่กล้อง DSLR หลังกล้องคอมแพกต์ โดนพิษสงครามราคา ตลอดจนความตกต่ำของราคาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้สินค้าตกรุ่นเร็วกว่าในอดีต โดยปัจจุบันค่ายผู้ผลิตกล้องต่างมีการลอนช์เทคโนโลยีใหม่โดยเฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง จึงส่งผลให้ราคากล้องดิจิตอลตกต่ำลงเรื่อยๆ ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการกล้องที่มีคุณภาพสูงขึ้น ส่งผลให้มีการสวิตชิ่งจากกล้องดิจิตอลแบบคอมแพกต์มาสู่กล้อง DSLR กันมากขึ้น นอกจากนี้กล้อง DSLR ยังสร้างมูลค่ายอดขายได้ดีกว่ากล้องคอมแพกต์ซึ่งราคาตกต่ำเรื่อย ๆ ขณะที่กล้อง DSLR ยังสามารถยืนราคาได้ในระดับหลักหมื่นบาท อีกทั้งมีส่วนต่างของกำไรสูงกว่ากล้องคอมแพกต์จึงส่งผลให้หลายค่ายเริ่มหันมาให้ความสนใจในเซกเมนต์ดังกล่าวมากขึ้น

ทั้งนี้ สัดส่วนตลาดกล้อง DSLR เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย 2 ปีที่แล้วตลาดกล้องดิจิตอลโดยรวมมีปริมาณความต้องการอยู่ที่ 950,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่า 9,000 กว่าล้านบาท โดยสัดส่วนตลาดกล้อง DSLR อยู่ที่ 5% ส่วนปีที่ผ่านมาตลาดรวมมีปริมาณความต้องการสูงขึ้นเป็น 1,000,000 เครื่อง ทว่ามูลค่าตลาดกลับเท่าเดิมเนื่องจากการแข่งขันด้านราคา ทว่าสัดส่วนกล้อง DSLR เพิ่มเป็น 7% สำหรับในปีนี้คาดว่าปริมาณความต้องการของตลาดกล้องโดยรวมจะอยู่ที่ 1,100,000 เครื่อง มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท โดยคาดว่าสัดส่วนความต้องการกล้อง DSLR จะเพิ่มเป็น 10% ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าตลาดรวม เนื่องจากตลาดกล้องคอมแพกต์ยังคงเต็มไปด้วยสงครามราคา เช่น กล้องที่มีความละเอียดระดับ 10 ล้านพิกเซลของแบรนด์เนมบางรุ่น ปัจจุบันมีราคาต่ำกว่า 5,000 บาท

ล่าสุด พานาโซนิค ประกาศรุกตลาดกล้องดิจิตอล DSLR 3 รุ่น เพื่อเพิ่มมูลค่ายอดขาย หลังจากช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดกล้องมียอดตกต่ำไปถึง 20% ซึ่งยอดขายกล้องของพานาโซนิคก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโดยรวม ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามราคาที่ทำให้กล้องมีราคาต่ำลงมาก อีกทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย ตลอดจนการท่องเที่ยวที่ลดลงก็มีผลให้โอกาสในการถ่ายภาพน้อยลง แม้จะมีการจัดกิจกรรมถ่ายภาพในโอกาสพิเศษต่างๆ แต่ก็ช่วยได้ไม่มากนัก

ในขณะที่ผู้นำตลาดอย่างโซนี่มีการรุกตลาดกล้อง DSLR เมื่อ 2 ปีที่แล้วโดยใช้ซับแบรนด์ว่า อัลฟ่า เพื่อต่อยอดประสบการณ์ผู้บริโภคที่ต้องการยกระดับขึ้นมาเล่นกล้องระดับบนที่เปลี่ยนเลนส์ซูมได้ ด้วยการสร้างประสบการณ์ผ่านงานแสดงนิทรรศการภาพถ่ายของ นิติกร กรัยวิเชียร ช่างภาพมืออาชีพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้กล้องที่ดีขึ้น โดยกิจกรรมแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ได้มีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพ เรียนรู้การปรับแสง และตัดต่อภาพ ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคเกิดประสบการณ์ที่ดีกับกล้อง DSLR อัลฟ่าของโซนี่

โซนี่ทำตลาดกล้อง DSLR อัลฟ่า โดยชูฟังก์ชั่นการใช้งานที่ง่ายกว่ากล้อง DSLR ทั่วไป ตลอดจนการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคสนุกกับการเล่นกล้อง พร้อมกับการสร้างสังคมของคนชอบถ่ายรูป ผ่านเว็บไซต์ เนื่องจากพบว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่นักเล่นกล้องใช้หาข้อมูล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ตลอดจนมีการจัดทริปเพื่อให้ลูกค้าของโซนี่ได้ร่วมกันถ่ายภาพนอกสถานที่

ทั้งนี้ โซนี่ยังคงเน้นการใช้งานเชื่อมต่อกัน โดยกล้องอัลฟ่าสามารถลิงก์ข้อมูลไปสู่ โฟโต้ ทีวี เอชดี และ เอส-เฟรม (กรอบรูปดิจิตอล) และยังมีเครื่องพรินต์ที่รองรับภาพที่มีความละเอียดสูงซึ่งจะเปิดตัวในปีนี้ ขณะที่พานาโซนิคชู Viera Image Viewer วัฒนธรรมใหม่ในการรับชมภาพผ่านผลิตภัณฑ์หมวดภาพของพานาโซนิคเพื่อสร้างอรรถรสในการดูภาพถ่ายที่แตกต่างจากการดูอัลบัมภาพแบบในอดีต

"ในปีนี้พานาโซนิคมีการทำแคมเปญ New Photo Culture by Panasonic Lumix เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการถ่ายรูป ที่กล้องตัวหนึ่งสามารถทำได้ทั้งถ่ายภาพนิ่งและบันทึกภาพเคลื่อนไหว" ฮิโรทากะ มุราคามิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย กล่าว

ปัจจุบันแม้ว่าโซนี่จะเป็นผู้นำในตลาดกล้องดิจิตอลโดยรวม ทว่าในเซกเมนต์ที่เป็นกล้อง DSLR กลับเป็นแคนนอนที่สามารถครองความเป็นผู้นำในเซกเมนต์นี้ได้ โดยแคนนอนมีการจัดกิจกรรมประกวดภาพถ่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสในการใช้กล้อง และกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการกล้องที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะเจาะกลุ่มตลาดผู้ใช้กล้องอย่างช่างภาพแล้ว ยังขยายฐานไปสู่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา เช่น โครงการประกวดภาพถ่ายโฆษณาในมหาวิทยาลัย "EOS Young Professional Challenge" โครงการประกวดภาพถ่าย "วัดปทุม...มุมสะท้อน...สู่ยุคร่วมสมัย"

อย่างไรก็ดี แม้จะให้ความสำคัญกับตลาดกล้อง DSLR แต่ก็ยังไม่อาจทิ้งตลาดกล้องคอมแพกต์ได้ เนื่องจากเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาโซนี่ก็พยายามสร้างตลาดด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้บริโภคใช้กล้องเป็นส่วนตัว จากเดิมที่ใช้ครัวเรือนละเครื่อง ขณะที่พานาโซนิคแม้จะโฟกัสกล้อง DSLR แต่ก็มีการลอนช์กล้องคอมแพกต์ออกมาด้วย เช่น รุ่น ZR1 ที่จับไลฟ์สไตล์นักเดินทาง เน้นเลนส์กว้าง ขนาดกะทัดรัด รุ่น FP8 มีปุ่มเรืองแสง เลนส์มุมกว้าง และรุ่น FZ35 บันทึกภาพเคลื่อนไหวที่ความละเอียดระดับ High Definition พร้อมระบบป้องกันการสั่นไหว Power O.I.S. โดยมีราคาอยู่ที่ 12,900 บาท 11,900 บาท และ 19,900 บาท ตามลำดับ

ในขณะที่กล้อง DSLR ของพานาโซนิครุ่นใหม่ 3 รุ่น มีระดับราคาอยู่ที่ 29,900 บาท 37,000 บาท และ 59,000 บาท โดยชูจุดขายในเรื่องความกะทัดรัด ทำให้สามารถพกพาได้สะดวกกว่ากล้อง DSLR แบบเก่าๆ ระบบ Micro Four Third ที่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ พร้อมด้วยฟังก์ชั่นไฮบริดที่สามารถถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวได้ ทำให้สะดวกในการใช้งาน

"ระดับราคาของเราเท่ากับราคาในท้องตลาด แต่เรามีดีไซน์ที่กะทัดรัดกว่า โดยเราจะมีการจัดกิจกรรมโรดโชว์ มีการทำคาราวาน จัดกิจกรรมหน้าร้านเพื่อกระตุ้นยอดขายให้กับคู่ค้า และเป็นการสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคเห็นถึงประสิทธิภาพที่เหนือกว่ากล้องคอมแพก อีกทั้งยังใช้งานได้ง่ายขึ้น" ภิญโญ ภิรมย์ฐาน ผู้จัดการผลิตภัณฑ์กล้องภาพนิ่งดิจิตอล และกล้องวิดีโอดิจิตอล พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าว

นอกจากพานาโซนิคจะโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนจากการใช้กล้องคอมแพกต์ธรรมดาขึ้นมาใช้กล้อง DSLR แล้ว ยังมีฐานลูกค้าที่ใช้กล้องระดับโปรเฟสชันนอลหันมามองกล้อง DSLR เพื่อใช้เป็นกล้องเสริมเนื่องจากใช้งานสะดวกและคล่องตัวกว่า เช่นเดียวกับกล้องอัลฟ่าของโซนี่ที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายนอกจากเป็นกลุ่มที่สเตปอัพจากไซเบอร์ช็อตแล้ว ยังมีกลุ่มผู้เริ่มเล่นกล้อง DSLR และกลุ่มที่ใช้กล้อง DSLR อยู่แล้วเปลี่ยนมาใช้กล้องอัลฟ่า

พานาโซนิคใช้งบในการทำการตลาดกล้อง 50-100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดขาย ที่คาดว่าจะปิดที่ 700-800 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.