CPFภัยธรรมชาติไม่กระทบโรงงานตุรกี


ASTV ผู้จัดการรายวัน(5 ตุลาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

“ซีพีเอฟ” มั่นใจธุรกิจตุรกีเติบโตต่อเนื่อง ยืนยันไม่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น กลับกันได้รับอานิสงส์จากวิกฤตดันผลดำเนินงานดียิ่งขึ้นแทน เชื่อทำให้ผลดำเนินงานรวมของบริษัทขยายตัว ด้านโบรกฯรุดปรับประมาณการกำไรสุทธิ ขึ้นจาก 7,383 ล้านบาท เป็น 9,307 ล้านบาท

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกีในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมต่างๆและต่อธุรกิจไก่เนื้อในอิสตันบูล ขณะเดียวกัน ตุรกียังส่งออกไก่เนื้อไปยังอิรัก ทำให้เกิดความขาดแคลนและราคาเนื้อไก่ถีบตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ธุรกิจอาหารแปรรูปและไก่เนื้อครบวงจร ที่ซีพีเอฟเข้าไปลงทุนในประเทศตุรกีนั้น ทางบริษัทขอยืนยันว่า ไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น เนื่องจากธุรกิจซีพีเอฟตั้งอยู่ชานเมือง และจึงได้รับอานิสงส์ดังกล่าว ทำให้ในปีนี้ คาดผลการดำเนินงานในตุรกีจะดียิ่งขึ้น โดยเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ธุรกิจในตุรกีเป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะช่วยผลักดันให้ผลการดำเนินงานของซีพีเอฟโดยรวมในครึ่งหลังปี 2552 สามารถเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่อง เนื่องจากซีพีเอฟถือหุ้นในตุรกี 100%

ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆนี้ ดร.สมหมาย เตชะศิรินุกูล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่าโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำแกลง อ.แกลง จ.ระยอง ได้รับเลือกจากกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ได้รับเกียรติบัตร CSR-DIW (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works: CSR-DIW) หรือ มาตรฐานกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม เมื่อเร็วๆนี้

สำหรับโรงงานแกลงแห่งนี้เป็นโรงงานแปรรูปอาหาร ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,200 ตันต่อเดือน ทำการผลิตผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็งและกุ้งแปรรูปเพื่อการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย

ด้านบทวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า คาดว่ากำไรไตรมาส 3/52 ของ CPF จะอยู่ที่ 3,485 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาส 2/52 ที่มีกำไรสุทธิมากถึง 3,194 ล้านบาท โดยคาดการณ์ปริมาณขาย (Volume) ดีกว่างวดไตรมาส 2/52 ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับ 16% ในขณะที่ไตรมาส 4/52 คาดว่ากำไรสุทธิจะอ่อนตัวลงมาอยู่ราว 1,857 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณขายอ่อนตัวลงตามฤดูกาลที่เป็น Low Season

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 3/52 เป็นฤดูกาลที่ CP F ต้องเริ่ม Restock วัตถุดิบในการผลิต ปรากฎว่าตรงกับจังหวะที่ราคาข้าวโพดในตลาดโลกอ่อนตัวอย่างหนักอยู่ระหว่าง 5.5-6.7 บาทต่อ กก. เทียบกับค่าเฉลี่ย 6 เดือนแรกปี 52 อยู่ที่ 7.7 บาทต่อ กก. CPF ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบประมาณ 30% ของวัตถุดิบทั้งหมด ในขณะที่วัตถุดิบส่วนที่เหลือคือกากถั่วเหลืองและปลาป่นราคาทรงตัวในระดับราว 17 บาท และ 32 บาท ตามลำดับและคาดว่า ราคาคอมมอดิตี้ที่ไม่ปรับตัวสูงมากจะช่วยให้ CPF คงระดับมาร์จิ้นสูงน่าพอใจ วัตถุดิบที่ทำการสต็อกไปครั้งนี้จะพอใช้ไปได้ถึงไตรมาส 1/53 ซึ่งจากนี้ไปคาดว่า CPF จะทยอยซื้อล่วงหน้าวัตถุดิบเพื่อล็อคราคาให้ได้ต่ำนานไปจนถึงปีหน้า (CPF เคยทำผิดทางไปในช่วงไตรมาส 3/51 ซื้อข้าวโพดได้ 11 บาท กดกำไรในไตรมาส 4/51 ทรุดหนัก กลับมาดีขึ้นหลังไตรมาส 1/52 ซื้อข้าวโพดได้ต่ำลงและเห็นกำไรชัดแจ้งในไตรมาส 2/52)

ทำให้ ฝ่ายวิเคราะห์ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิของ CPF ขึ้นจาก 7,383 ล้านบาท เป็น 9,307 ล้านบาท และปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2553 จาก 7,767 ล้านบาท เป็น 8,780 ล้านบาท โดยหัวใจสำคัญของกิจการ คือรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้ได้ 16-18% พยายามจัด Business Model ของการลงทุนในหลายๆ ประเทศให้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนที่ดี ราคาหุ้น CPF ยัง undervalued ทั้งในแง่ P ER และ P/ B V จึงปรับราคาเป้าหมายขึ้นจาก 7.11 บาท เป็น 11.7 อิง PER 10 เท่า ในปี 2553


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.