|
ฟื้นตัว?
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เดือนนี้ (ตุลาคม) เป็นเดือนแรกของไตรมาสที่ 4 เดือนที่หลายคนเชื่อว่า ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่ไทยเผชิญมาเกือบ 1 ปีเต็มกำลังจะเริ่มฟื้นตัว
บางคนยังเชื่ออีกว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยรอบนี้จะเป็นการฟื้นตัวแบบตัว "วี" ซึ่งในความหมายของนักเศรษฐศาสตร์หรือนักการเงินแล้ว หมายความว่าในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำนั้น "ยิ่งตกลงมาแรงเท่าใด ก็ฟื้นตัวกลับขึ้นไปได้แรงเท่านั้น"
นักการเงินมักจะยกตัวอย่างลูกบาส หรือลูกปิงปอง ที่เมื่อเหวี่ยงหรือเขวี้ยงลงไปกระทบพื้น แรงเด้งกลับจะเท่ากับแรงที่เหวี่ยงลงไป
ความเชื่อเช่นนี้อาจทำให้บางคนกำลังนั่งฝันหวาน
ต้องยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเผชิญในรอบนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เหมือนเมื่อ 11 ปีก่อน
ภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือภาคการส่งออก และท่องเที่ยว
ในภาคการส่งออก ผลกระทบเกิดขึ้นเพราะกำลังซื้อจากตลาดในต่างประเทศที่เคยมีอยู่ ถดถอยลงไป จนมีผลต่อยอดขาย และจำเป็นต้องลดกำลังการผลิต
บางบริษัทปิด เพราะไม่มีออร์เดอร์ บางบริษัทต้องลดกำลังการผลิต ทำให้ต้องมีการปลดคนงานเป็นระลอกๆ
ส่วนภาคการท่องเที่ยว เกิดจากปัจจัยหลายประการ ทั้งปัจจัยภายในและต่างประเทศ
มีการประมาณการกันว่า GDP ของประเทศอาจติดลบลงมาสูงถึง 3% จากปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้
แต่พอย่างเข้าปลายไตรมาส 2 โรงงานหลายแห่ง เริ่มเปิดรับคนงานให้กลับเข้ามาทำงานใหม่ เพราะได้ออร์เดอร์ใหม่ๆ เข้ามา
รวมทั้งไตรมาสที่ 4 ของแต่ละปีเป็นช่วงก้าวเข้าสู่ไฮซีซันส์ของการท่องเที่ยว
ความเชื่อที่ว่าปัญหาเศรษฐกิจกำลังจะเริ่มคลี่คลาย และกำลังเข้าสู่ช่วงแห่งการฟื้นตัวจึงเกิดขึ้น และหลายคนก็มีความเชื่อมั่นเช่นนั้น
ในทางทฤษฎีก็มีปัจจัยรองรับ
แต่ในความเป็นจริง แม้สัญญาณแห่งการฟื้นตัว เริ่มปรากฏให้เห็นจริง แต่ก็ไม่ควรจะประมาท
ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งใช้เวลาบ่มเพาะมานาน จนเพิ่งระเบิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ได้ทำให้การวิเคราะห์ตัวแปรทางเศรษฐกิจ โดยใช้ทฤษฎีแบบเดิมๆ อาจไม่ได้ผล
เพราะมีตัวแปรที่มีผลต่อเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมา อีกหลายตัว
ตัวแปรดังกล่าว อาทิ เรื่องของการก่อการร้าย โรคระบาด ปัญหาดินฟ้าอากาศ และเรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ดังนั้น ทุกคนไม่ควรจะมั่นใจกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้จนเกินไป จนกล้าคิดการใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก
มีปรากฏการณ์ที่ต้องพึงตระหนัก ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายน ที่เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสิ้นไตรมาส 3 กำลังจะเข้าไตรมาส 4 อยู่ 2-3 ปรากฏการณ์ด้วยกัน
ปรากฏการณ์แรก การประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องโลกร้อนที่จัดกันในประเทศไทย เพื่อหาข้อสรุปไปเสนอในที่ประชุมใหญ่ที่ประเทศเดนมาร์ก มีข้อสรุปประการหนึ่งว่า ปัญหาโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ไม่สามารถรอได้อีกแล้ว ดังนั้นทุกคนควรต้องติดตามแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวว่าจะมีมาตรการอะไรที่จะออกมา แล้วมีผลกระทบต่อการลงทุน
ปรากฏการณ์ที่ 2 ความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่นกฤษณา ที่ซัดถล่มประเทศฟิลิปปินส์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ก็เป็นผลสะท้อนอย่างเป็นรูปธรรมอันหนึ่งของปรากฏการณ์แรก
ปรากฏการณ์ที่ 3 ความวิตกกังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคม เดือนแรกของไตรมาส 4 นี้เช่นกัน
ว่ากันว่าการระบาดรอบนี้อาจรุนแรงกว่าการระบาดในรอบแรก
ปรากฏการณ์เหล่านี้ ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไรนักในการประเมินแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เพราะโลกเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้นในปัจจุบัน ตัวแปรบางตัวแปรที่ตอนแรกคนอาจเห็นว่าไม่สำคัญ แต่กลับมามีผลโดยตรงในภายหลัง
ดังนั้น หากใครที่กำลังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้นตัว ทางที่ดี ยิ่งมีความมั่นใจมากเท่าไร ก็ต้องยิ่งเพิ่มความระมัดระวังเข้าไปมากเท่านั้น
น่าจะเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|