|
บทพิสูจน์จากบ้านใหม่ “ดีแทค” “Feel Good” Office Creates More!!
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้บริหารหลายคนตระหนักดีว่าความคิดสร้างสรรค์และความรู้สึกดีจุดประกายให้เกิดประสิทธิภาพการทำงาน แต่มีเพียงน้อยรายที่รู้ว่าบรรยากาศของออฟฟิศแบบไหนที่ฟูมฟักทั้ง 2 สิ่งนี้ให้เกิดกับพนักงานได้ดีที่สุด...โดยหนึ่งในนั้นคือผู้บริหาร "ดีแทค"
ผู้คนในชุดลำลองพร้อมรองเท้าผ้าใบและผ้าขนหนูทยอยเดินเข้ามาใช้เครื่องออกกำลังกายราคาแพงที่มีอยู่หลากหลายประเภทให้เลือกตามอัธยาศัย บางส่วนขยับแข้งขารอเต้นแอโรบิกในห้องที่อยู่ใกล้กัน ขณะที่อีกกลุ่มยืนรับลม และแดดยามเย็นเพื่อรอครูฝึกโยคะและบอดี้คอมแบตอยู่ทางระเบียงด้านนอก
บรรยากาศเช่นนี้ทำให้หลายคนนึกว่ากำลังอยู่ในฟิตเนสเซ็นเตอร์ขนาดย่อมมากกว่าที่จะคิดว่ากำลังอยู่ในออฟฟิศสักแห่ง
บนชั้นเดียวกันนี้ เสียงดนตรีเล่นสดๆ ที่แว่วมาจากมุมซ้อมดนตรี ดังสลับกับเสียงหัวเราะสนุกสนานที่ลอยมาจากหลายมุม ทั้งโต๊ะปิงปอง โต๊ะสนุกเกอร์ สนามฟุตซอล ห้องคาราโอเกะ และโซนตู้เกม
ภาพเหล่านี้พบได้บนชั้น 38 ของอาคารจัตุรัสจามจุรี ซึ่งเป็น creativity floor โดยหวังว่ากิจกรรมเพื่อสุขภาพและความผ่อนคลายเหล่านี้จะเติมพลังความคิดสร้างสรรค์และ "ความรู้สึกดี" (Feel Good) ให้แก่พนักงานที่นี่
"เราไม่มีอะไรเด่นกว่าคู่แข่ง จุดแข็งอย่างเดียวที่ดีที่สุดของเราคือคน พนักงานของเราคือ ผู้ถ่ายทอดความรู้สึกดีต่อแบรนด์ไปยังลูกค้า เพราะฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์และความรู้สึกดีๆ ของพนักงานที่มีต่อแบรนด์ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญมาก"
ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานพาณิชย์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวบนเวทีในวันเปิดบ้านหลังใหม่ของดีแทคที่ตั้งอยู่บนชั้น 22-41 ของอาคาร จัตุรัสจามจุรี รวมพื้นที่เกือบ 6.2 หมื่นตารางเมตร
จากเดิมที่พนักงานดีแทคในกรุงเทพฯ ต้องอยู่กระจัดกระจายใน 6 ตึก โดยอยู่ที่ตึกชัยกว่า 2 พันคน ที่เหลือเกือบพันคนกระจายตามตึกแอลพีเอ็น อีสต์วอเตอร์เฮาส์ ยานนาวา วังเด็ก และบางส่วนของอาคารศรีนครินทร์ ซึ่งยากต่อการตอบโจทย์การแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่อง การประสานงานและประชุมแก้ปัญหา และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมองค์กร เป็นต้น
กระทั่งปลายเดือนมิถุนายนปีนี้ พนักงานดีแทคในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดร่วม 3.2 พันคนจึงมาอยู่ในบ้านใหม่หลังเดียวกัน แค่เพียง 2-3 เดือนก็พบว่าการประสานงานและแก้ปัญหาหลายอย่างรวดเร็วขึ้นและดีขึ้นจนเห็นได้ชัด โดยเฉพาะฝ่ายวิศวกร
ยกตัวอย่าง SOC (Service Operation Center) หรือศูนย์ควบคุมและปฏิบัติการดีแทค ที่เป็นการรวมศูนย์ในการบริหารจัดการ ติดตามควบคุม และแก้ไขปัญหาเครือข่ายดีแทคทั่วประเทศให้มาอยู่ที่เดียวกัน ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็ทำให้เกิดการแชร์การทำงานและความซ้ำซ้อนของตำแหน่งงานได้ จึงสามารถลดคนในแผนกนี้ได้ถึง 30% เพื่อให้ไปทำหน้าที่อื่นแทน
ตัวเลขประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้นของ SOC นับเป็นคำตอบที่ชัดเจนของคำถามที่ว่า ดีแทคย้ายบ้านเพื่ออะไร ขณะที่ประสิทธิภาพแง่ความคิดสร้างสรรค์ แม้จะวัดยากแต่ธนาก็เชื่อว่าบ้านใหม่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
"ผมวัดจากจำนวนคนที่พูดมากขึ้นในห้องประชุม มีส่วนร่วมกับกิจกรรมองค์กรมากขึ้น และผมว่าตั้งแต่มาอยู่ตึกใหม่นี้ พนักงานมีไอเดียเยอะกว่าเดิม"
เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์ออฟฟิศใหม่ติดตั้งสัญญาณ Wi-Fi ทั้งตึก เพื่อให้พนักงานสามารถหอบโน้ตบุ๊กไปนั่งทำงานในมุมสงบหรือมุมสนุกได้ทั่วออฟฟิศ หรือหากนึกครึ้มใจอยากนั่งมองวิวสวนลุมพินีก็เลือกนั่งฝั่ง Park แต่ถ้าฟ้าใส อยากนั่งมองแม่น้ำเจ้าพระยาและเห็นสะพานพระรามแปดอยู่ลิบตา ก็เลือกนั่งสบายๆ ที่ฝั่ง River
ถ้าคิดงานไม่ตกจะไปคลายเครียดอยู่บนสไลเดอร์ที่ชั้น 32 ก็สร้างความสนุกราวกับได้ย้อนวัย ทีเดียว ว่ากันว่า คนที่มาสมัครงานที่ดีแทคต้องลื่นสไลเดอร์ลงมา เพื่อทดสอบว่าเป็นคนที่ชอบความสนุก และยังมีความเป็นเด็กอยู่ในตัวไหม
หากต้องแลกเปลี่ยนระดมสมองทีมออฟฟิศใหม่ก็มีห้องประชุมหลากสไตล์หลายบรรยากาศให้เลือกตามใจชอบ เช่น อยากได้อารมณ์เหมือนถูกโอบด้วยภูเขาก็เลือก "ห้องเขาใหญ่" อยากรู้สึกเหมือนประชุมรอบกองไฟก็จอง "ห้องปาย" เป็นต้น
ทั้งนี้ ชื่อห้องประชุมของที่นี่ตั้งตามชื่ออำเภอที่มีสำนักงานขายดีแทคตั้งอยู่ อันเป็นไอเดียสร้างสรรค์ โดยทีมงานการตลาดของดีแทค
ขณะที่บรรยากาศในห้องทำงานก็เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียได้ดีด้วย ดีไซน์แบบ open office ที่ไม่มีพาร์ทิชั่นกั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยน และเปิดรับความคิดใหม่
แม้ว่าห้องผู้บริหารจะมีกระจกกั้น แต่ก็ไม่มีม่านปิดกั้น ส่วนประตูก็มักเปิดไว้ตลอดเวลา ราวกับเป็นการสื่อนัยว่า "always welcome!"
สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ระหว่างแผนก บ้านใหม่ของดีแทคพยายามสร้างหลายมุมสบายๆ ในส่วนของ common floor ที่เป็นชั้นเปิดกว้างเพื่อเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์และจัดกิจกรรมของพนักงาน
การที่ลิฟต์ต้องหยุดชั้น 32 เป็นกุศโลบายให้พนักงานทุกคนต้องผ่านล็อบบี้ เพื่อเพิ่มโอกาสพบปะพูดคุยกับคนในแผนกอื่น ทั้งยังเป็นการอัพเดทข่าวสารและกิจกรรมของบริษัท ขณะที่บริเวณบันไดที่เจาะทะลุตั้งแต่ชั้น 31-34 ยังถูกประยุกต์ใช้เป็น tower hall สำหรับซักซ้อมกิจกรรมเดินสายของดีแทคได้ด้วย
ไม่เพียงดีไซน์ให้สอดรับกับกิจกรรมของดีแทคเพื่อประสิทธิภาพการทำงานและแบรนดิ้ง ออฟฟิศใหม่นี้ยังจัดสรรพื้นที่เพื่อเติมเต็มความต้องการเล็กๆ น้อยๆ ของพนักงาน เช่น ห้องเด็กเล่น ห้องให้นมลูก ห้องนั่งสมาธิ และห้องละหมาด ซึ่งผลสำรวจบอกว่านี่เป็นสิ่งที่พนักงานดีแทคอยากได้เป็นอันดับต้น
"นอกจากฟังก์ชันใช้งานทุกส่วนยังแฝงกลิ่นหรือฟีลลิ่งของแบรนด์ดีแทค เพราะเราใช้ทีมแบรนดิ้งร่วมกันคิดกับทีมดีไซน์และก่อสร้างตั้งแต่ตอนทำตึกที่นี่จึงตอบโจทย์ของแบรนด์ดีแทคได้ดี" ธนาเผยเคล็ดลับ
ไม่ใช่เพียงคนในดีแทค คนภายนอกทั้งที่เป็นพาร์ตเนอร์และไม่ใช่ ก็ยังรับรู้และสัมผัสถึง "วิถีดีแทค" ที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมผ่านรายละเอียดการออกแบบของบ้านใหม่ของดีแทคหลังนี้
นี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเพียงไม่กี่เดือนที่ดีแทคย้ายไปบ้านหลังใหม่ จึงมีคณะนิสิตนักศึกษา และบริษัท ลูกค้าหรือว่าที่ลูกค้าพาเหรดเข้ามาเยี่ยมชมและเปิดโอกาสให้ดีแทคได้ "ขายแบรนด์"
ยังไม่นับรวมจดหมายสมัครงานที่ส่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ดีแทคย้ายออฟฟิศ ธนาฝากเตือนไปยังผู้สมัครฯ ว่า ออฟฟิศดีแทคอาจดูสนุกสนาน แต่อย่าคิดว่างานเบา เพราะที่นี่ work hard ก็เลย play hard เพียงแต่ผู้บริหารดีแทคยินดีลงทุนและสนับสนุนเพื่อสร้างบรรยากาศให้พนักงานทำงานให้สนุกและเล่นก็ให้สนุก
สำหรับธีมการออกแบบของออฟฟิศนี้ ธนาเรียกง่ายๆ ว่าธีม "we care" และเมื่อ พิจารณาจากดีไซน์และดีเทลก็จะเห็นชัดว่า กลุ่มคนที่ผู้บริหารดีแทคแคร์มากที่สุดก็คือพนักงาน
"พนักงานคือแบรนด์ มันมากกว่าหน้าที่การงาน สมมุติหน้าที่คือเจอลูกค้า พนักงานดีแทคจะเจอลูกค้าปกติก็ไม่ได้ ต้องยิ้ม ต้องมีความสุข เขาถึงจะถ่ายทอด "ความรู้สึกดี" และดูแลลูกค้าได้ดี เมื่อลูกค้ารู้สึกดี ผู้ถือหุ้นก็รู้สึกดีไปด้วย" ธนาอธิบาย
อันที่จริง ดีแทคเริ่มให้ความสำคัญกับคนนับตั้งแต่ปี 2002 อันเป็นปีที่การแข่งขันด้านโทรคมนาคมรุนแรงทั้งเจ้าเก่าและหน้าใหม่ ซึ่งธนาบอกว่าเป็นปีที่ดีแทคเกือบล่มสลาย แต่ก็เป็นปีที่ดีเพราะเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ดีแทคกลับมามีกำไรดีในปีที่แล้วและปีนี้
"ถามว่า 6 ปีที่ผ่านมาอะไรเปลี่ยน พนักงานก็กลุ่มเดิม ผู้ถือหุ้นก็กลุ่มเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือทัศนคติ พอเรามองตัวเองเป็นมวยรอง ก็เริ่มยอมรับว่าถ้าสู้ด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายเราก็แพ้ AIS เพราะเขาใหญ่กว่า เรามีอาวุธที่สำคัญที่สุดคือคน ก็ต้องสู้ด้วยพลังคนและไอเดียประหลาดๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรดีแทคถึงวันนี้"
ตัวเลข 450 ล้านบาท เฉพาะค่าตกแต่งอาจจะฟังดูเยอะ แต่เมื่อเทียบเป็นค่าใช้จ่ายต่อตารางเมตรซึ่งตกที่ไม่ถึงหมื่นบาท ก็นับเป็นค่าใช้จ่ายที่ต่ำและมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับออฟฟิศเทเลนอร์ในประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน
แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพการทำงานที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่าต่อให้ต้นทุนสูงกว่านี้อีกเท่าตัว ผู้บริหารดีแทคก็คงยอมลงทุน
...ในเมื่อพลังจาก "ความรู้สึกดีๆ" ที่พนักงานมีต่อองค์กรและแบรนด์ สามารถถ่ายทอดและนำไปสู่...ความรู้สึกดี...ของผู้คนภายนอกได้อีกมากมาย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|