|
เงินที่ซื้อไม่ได้
โดย
ยงยุทธ สถานพงษ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาพเหล่าสล่าล้านนานุ่งโจงกระเบนสักลายทั่วตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของชายที่เชื่อในความคงกระพันกำลังสาละวนในกองพระคลัง ตีทุบทั่ง ขึ้นรูปเงินเจียง ตลอดจนแบกหีบเงินที่ผลิตได้รอการนำออกใช้จ่ายเป็นภาพสะท้อนถึงวิถีชีวิตและเศรษฐกิจในชุมชนทางภาคเหนือ ซึ่งถูกติดตั้งไว้กลางโถงพิพิธภัณฑ์ของสำนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่
"เงิน" คำคำนี้ที่ทุกคนทุกชนชั้นในสังคมโลก ปัจจุบันต่างขวนขวายถวิลหานานารูปแบบไม่ว่าจะเพื่อการค้า การลงทุน เพื่อให้ได้มาเป็นมูลค่าเพิ่ม และที่ใครๆ ในสังคมปัจจุบันเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า การมีเงินจำนวนมากมาครอบครองสามารถซื้อทุกสิ่งได้
แต่เงินเป็นเพียงสื่อกลางในการซื้อขายเท่านั้น ความเป็นมูลค่าของเงินเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งก็ย่อมสูญค่าไป แต่ความมีคุณค่าและจิตวิญญาณของตัวเงินยังคงอยู่ เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก้อนโลหะเงินที่รังสรรค์ออกมาเป็นตรามูลค่าจะสามารถสะท้อนเรื่องราวความเป็นมาในยุคอดีตได้ดีที่สุดที่ทุกคนควรทำความเข้าใจ อย่าให้มูลค่าของเงินมาเป็นเครื่องมือในการครอบงำวิถีและตัวตนอย่างที่เป็นมาในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง
เช่นเดียวกับ "เงินเจียง" เมื่อ 400 ปีก่อน สมัยพระยาเม็งรายมหาราชที่ชัดเจนที่สุดเคยเป็นเงินที่มีมูลค่าสูงที่สุด และเคยมีชีวิตอยู่ในอุ้งมือท่ามกลางตลาดการค้า โดยการขับเคลื่อนของมนุษย์ ใช้ในการแลกเปลี่ยนการค้าภายในอาณาจักรล้านนาและระหว่างอาณาจักรใกล้เคียงอย่างล้านช้าง (ลาว) ศรีเกษตร (พม่า) สุโขทัย จีน อินเดีย กระทั่งสร้างฐานะเศรษฐกิจให้กับอาณาจักรที่เคยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนืออย่างมากมายมหาศาล
เอาเป็นว่าสังเกตได้ง่ายๆ จากแผนผังเมืองที่มีการจัดการที่ดี วัดวาอารามที่มากนับร้อยวัด ศิลปวัฒนธรรมที่หลงเหลือเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน การได้มาของเงินตราในการค้าขายหรือวิธีการใดก็แล้วแต่ ประโยชน์ที่ได้รับจากส่วนนี้ได้จัดการให้เกิดประโยชน์แก่อาณาจักรซึ่งทำด้วยใจจริงๆ
เวลาล่วงเลยมา ณ วันนี้ "เงินเจียง" หยุดการเคลื่อนไหวในตลาดดังเมื่อครั้งกาลอดีต มูลค่าของตัวเงินหยุดนิ่งไม่มีการนำมาใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อีกต่อไป เงินเจียงบางส่วนถูกถ่ายโอนเข้ามาวางแนบนิ่งในตู้กระจกภายในห้องจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ของสำนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากเวียนวนท่ามกลางตลาดการค้าของอาณาจักรมานาน
แม้ความแน่นิ่งหยุดอยู่กับที่ มันยังคงมีเรื่องราวและคุณค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ของการสัมผัสและศึกษาเรียนรู้นอกจากความเป็นเงิน
เงินเจียงเป็นอีกมรดกทางวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนา เงินที่มีมูลค่าสูงสุดในการแลกเปลี่ยนซื้อขายในหัวเมืองแถบนี้ในสมัยนั้น เนื่องจากเงินเจียงมีโลหะเงินเป็นส่วนผสมสูงมากและมีลักษณะคล้ายรูปเกือกม้าสองวงปลายต่อกัน ทำให้สามารถหักแบ่งครึ่งราคาได้ ซึ่งมีชนิดราคาต่างๆ กัน
สังเกตดีๆ เงินเจียงของล้านนานั้นจะมีตราประทับเป็นตัวอักษรล้านนาตรงกับตัว "ล" ในอักษรไทยที่หมายถึงล้านนา และสัญลักษณ์รูปดอกไม้ที่บ่งบอกถึงมูลค่าของเงินเจียง
ความเย็นฉ่ำในบรรยากาศเสียงประสานจากวงสะล้อซอซึง ดนตรีเมืองเหนือดังขึ้นจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงระหว่างเดินเข้าชมห้องจัดแสดง ยิ่งชวนให้ซึมซับบรรยากาศเมืองเหนือเข้าไปทุกขณะ
เงินเจียงมีการผลิตขึ้นใช้เองในอาณาจักรล้านนา แม้ในปัจจุบันเงินเจียงไม่มีความสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางการค้าเหมือนเมื่อครั้ง 400 ปีก่อน แต่ความเป็นเงินตราที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของอาณาจักรแห่งนี้สื่อถึงภูมิปัญญาของคนเมือง
กระทั่งศิลปินในยุคปัจจุบันคิดรังสรรค์งานศิลปะเพื่อนำไปติดตั้งไว้บริเวณด้านหน้าสำนักงานของธนาคาร ทางไปอำเภอแม่ริม จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำธนาคาร โดยใช้เงินเจียงขนาดใหญ่ 5 หน่วยเป็นกลีบดอก และรูปเงินเจียงขนาดเล็กอีก 5 หน่วยเป็นเกสร ซึ่งทำเป็นลักษณะรูปดอกไม้ งานดังกล่าวเป็นการพยายามสะท้อนความเจริญงอกงาม การแพร่ขยายจำนวน การสืบต่อที่ไม่ขาดสายของการเงินและการธนาคาร แสดงความรู้สึกถึงพลังความมั่นคงสง่างามในแบบอย่างดอกไม้ เรียกได้ว่านี่คือดอกไม้เงิน (เจียง) หล่อด้วยสำริด (Bronze) แพตตินา (Patina) ขนาดมหึมาที่โดดเด่น คนผ่านไปมามองเห็นได้ชัด
ความเป็นอนิจจังและมั่งคั่งร่ำรวยด้วยเงินทองกองเพิ่มมหาศาลเพียงใด ก็ใช่ว่าจะมีความสุขและราบรื่นชื่นใจ การมีเงินและไม่ลืมคุณค่าของเงินนั่นจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความเป็นมนุษย์โดยปราศจากการครอบงำจากอำนาจแห่งเงินตรา
ไม่เพียงแต่เงินตราที่เป็นเงินเจียงได้นำมาจัดแสดง ถ่ายทอดเรื่องราวที่ทางพิพิธภัณฑ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ สมบัติทรงคุณค่าไม่แพ้ราคาเงินตราคือผืนผ้าที่ดูวิริศมาหราของกลุ่มชนชั้นในหัวเมืองของอาณาจักรแห่งนี้ ก็เพราะว่าครั้งหนึ่งผู้คนในล้านนา เคยมีผ้าทอที่ไว้ใช้และบ่งบอกฐานะตัวตน ตลอดจนสามารถใช้ผ้าเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแทนเงินตราและเป็นหลักประกันในการค้าขาย
ผ้าทอซิ่นตีนจกอำเภอแม่แจ่มของกลุ่มคนเมืองไทยยวน ผ้าทอชาวเขา ซิ่นลัวะกลุ่มคนลัวะ ซิ่นยางกลุ่มคนกะเหรี่ยง ผ้าทอลายน้ำไหลของกลุ่มคนไตในจังหวัดน่าน ที่มีลักษณะสีสันและเทคนิคการทอที่แตกต่างกันไป เมื่อสังเกตลงลึกไปในรายละเอียดของลวดลายบนผืนผ้าของกลุ่มผู้คนเหล่านี้ล้วนสะท้อนเรื่องราวบางอย่างที่มากกว่าความสวยงาม หรืออย่างที่ปัจจุบันแวดวงไฮโซต่างค้นคว้าขวนขวายกว้านซื้อมาเป็นสมบัติประดับราศีอวดกัน น้อยนักที่จะเข้าใจคุณค่าและจิตวิญญาณของศิลปินผู้ถักทอ
ผ้าทอลวดลายบางผืนใช่ว่าจะใช้นุ่งได้ในโอกาสทั่วไป หรือผืนผ้าบางผืนใช้ในพิธีกรรมเช่น การเกิด งานศพ หรือแม้แต่งานแต่งงานที่ต้องใช้ผ้าทอในการไหว้บุพการี และเป็นของกำนัลหรือมูลค่าแทนเงิน เป็นสินสอดจำนวนหลายผืน โดยเฉพาะผ้าทอผืนที่มีลวดลายประณีตสวยงาม อาจจะเป็นมรดกตกทอดยาวนานแก่ลูกหลานประจำวงศ์ตระกูลเลยทีเดียว
รูปทรงใบหน้าเหล่าชาตรีอันเหลี่ยมคมและความอ่อนหวานของสตรีชาวล้านนา บ้างก็เปลือยเปล่ากายาท่อนบนในกิริยาเยื้องย่างเกี้ยวพาราสี และทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน หาบข้าวของ ดูมีชีวิตชีวาสะท้อนภาพครั้งหนึ่งของผู้คนในหัวเมืองถิ่นนี้ ที่มีการดำรงชีวิตโดยใช้ผ้านุ่งที่ดูสวยงามและเรียบง่าย แถมแฝงด้วยเอกลักษณ์และจิตวิญญาณของผู้สวมใส่ รังสรรค์บรรจงวาดเอาอย่างภาพจิตรกรรมฝาผนังบางส่วนที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน มาจัดแสดงเบื้องหน้าทางเข้าโซนจัดแสดงผ้าโบราณแห่งล้านนา
แว่วเสียงวงสะล้อซอซึง ประโคมดังเอื่อยๆ จากเครื่องเสียงอย่างไม่ขาดสาย ขณะที่ชมผืนผ้าที่สำคัญและล้ำค่าหลายชิ้นในห้องจัดแสดง นับตั้งแต่ผืนเรียบๆ ไปจนถึงผืนที่หรูหรา ใช้เทคนิคการทอที่อลังการโดยใช้ดิ้นไหมเงินไหมทอง ที่ตีขึ้นจากเส้นทองจริงขนาดเล็กเท่าเส้นไหม มาใช้เป็นส่วนประกอบในการทอผืนผ้าลวดลายที่สวยงามแฝงด้วยคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นผ้านุ่งทอดิ้นทองลวดลายแบบล้านนาปักเลื่อมทอง ผ้านุ่งทอดิ้นเงินและตีนจกดิ้นเงินลวดลาย ล้านนาแบบแม่แจ่ม และผ้าทอดิ้นทองลวดลายพม่าแบบล้านนาของเจ้าทิพวรรณ
ผ้าทอดิ้นเงินดิ้นทองจะมีใช้ในวงศ์เจ้านายชั้นสูงระดับพระมหากษัตริย์และพระราชินี หรือตกทอดสู่วงศ์ตระกูลสูงศักดิ์
ต้องใช้ช่างที่ชำนาญมากกว่าสองคนขึ้นไปคือ ช่างเงิน ช่างทอง และช่างทอ ประกอบ การทอผ้าของชาวล้านนา การใช้ดิ้นเงินดิ้นทองนี้ช่างเงินช่างทองต้องเป็นช่างที่มีความชำนาญ ในการตีเส้นเงินหรือเส้นทองให้ได้ขนาดเล็กเท่ากับเส้นด้ายจำนวนหลายร้อยเมตร ใช้เป็นเส้นพุ่งทอควบกับเส้นไหมธรรมดา ผืนผ้าที่ได้จะสวยงามระยิบระยับ ผืนผ้าทอล้านนาที่ใช้เทคนิคดังกล่าวนี้คนทั่วไปใช่ว่าจะได้ใช้กัน
เหตุผลก็เพราะว่าล้านนาเป็นเมืองศิลปะและศิลปิน การรังสรรค์ผลงานต่างๆ อย่างผ้าทอ ช่างพยายามใช้ความสามารถ เทคนิคและความชำนาญ และใส่จิตวิญญาณลงไปในการทอผ้าแต่ละผืน จึงจะได้ผลงานที่ทรงคุณค่าเหมาะสมฐานะของผู้สวมใส่
ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่เพียงแต่นำผ้าของชาวล้านนามาจัดแสดง ยังมีผืนผ้าที่สำคัญในหัวเมืองแว่นแคว้นอาณาจักรใกล้เคียงที่มีการปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนการค้า ไม่ว่าจะเป็นผ้าชาวลาวในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศลาว ผ้าสมป๊วต (สมพต) ของคนเขมร จากประเทศกัมพูชา ผ้าโลงจีของพม่า
นึกๆ ไปแล้ว ไม่ต่างอะไรกับเส้นทางสายไหมขนาดย่อมๆ บนภาคพื้นอินโดจีน ซึ่งผ้าไหมถือเป็นสมบัติอันล้ำค่า ที่ใช้ค้าแลกเปลี่ยนและเป็นหลักประกันทางฐานะเศรษฐกิจสังคมเมืองในยุคสมัยต่างๆ อย่างสำคัญยิ่ง
ขณะที่ทีมงานจดจ่อกับผืนผ้านับร้อยผืนในห้องจัดแสดงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สืบเสาะ สะสม นำมาจัดแสดงให้ได้ตะลึงจนถ้วนทั่วอยู่พักใหญ่ๆ ภัณฑารักษ์สะกิดเรียกทีมงานให้มาที่มุมจัดแสดงงานศิลป์ผืนผ้าประยุกต์ที่ทรงคุณค่า ซึ่งทอเป็นรูปตราสัญลักษณ์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โดยผืนผ้าใช้เทคนิคการทอผสมผสาน อันได้แก่ การมัดหมี่ การขิด การจก การล้วง อยู่ในผ้าผืนเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ช่างลูกหลานชาวเมืองล้านนาในยุคปัจจุบัน พยายามนำภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสั่งสมถ่ายทอดคุณค่าแฝงลงในผลงานทางศิลปะ สะท้อนความเป็นอดีตและปัจจุบันให้เห็นถึงวัฒนธรรมล้านนาได้อย่างสวยงามและมีเอกภาพ ซึ่งผลงานหลายชิ้นนำมาวางแสดงภายในอาคารสำนักงาน เช่น งานจิตรกรรมจักรวาล ซึ่งใช้แนวคิดหลักพุทธศาสนามาเป็นองค์ประกอบ โดยใช้สถานที่สำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบทิศทั้ง 4 ทิศ คือ เจดีย์วัดเจ็ดยอด เจดีย์หลวง วัดพระสิงห์ และซุ้มประตูหอไตรวัดพระสิงห์จัดแสดงอย่างอลังการภายในโถงอาคารสำนักงาน
แม้แต่ตัวอาคารยังถูกออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์ที่สื่อให้นึกย้อนไปในครั้งอดีตกระทั่งปัจจุบัน ถึงความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง สะท้อนออกมาเป็นการสร้างอาคารสำนักงาน นำเอารูปทรงการสร้างยุ้งข้าวของล้านนามาประยุกต์ในการสร้างบนพื้นที่ประมาณ 31 ไร่ ที่แผนผังการจัดวางอาคารภายใต้แนวคิดของการวางผังเวียงกุมกาม และเมืองเชียงใหม่ดังเมื่อครั้งอดีต
ความเพลิดเพลินด้วยรจนามูลค่าที่เป็นเงินตรา เมื่อถึงที่สุดย่อมหยุดนิ่ง คงเหลือไว้แค่คุณค่าและจิตวิญญาณ การศึกษาเรื่องราวผ่านมรดกชิ้นงานโบราณ ตระหนักเข้าใจ และเรียนรู้อดีตในสภาวะปัจจุบัน จะเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้เราทุกคนในสังคมอยู่รอดและสงบสุข สันติ โดยเข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงมากกว่าคุณค่าที่เกิดจากอำนาจความต้องการ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|