|
Villa Maroc ประติมากรรมริมหาด ของ “ตัน ภาสกรนที”
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
การลงทุนในรีสอร์ตไม่ได้มีนัยเพียงธุรกิจโรงแรม หลายรีสอร์ตถูกมองเป็นเครื่องประดับสถานะทางสังคมของไฮโซ บางรีสอร์ตถูกตีความเป็น "ของเล่น" ของลูกคนรวย แต่สำหรับ "Villa Maroc" ตันเชื่อว่าเขากำลังสร้างรีสอร์ตที่มีนัยที่ยิ่งใหญ่และมีความหมายมากกว่านั้น
กลุ่มอาคารปูนสีเหลืองสดตัดกับท้องฟ้าสีฟ้า เปรียบราวกับประติมากรรมริมหาดทราย ตั้งอยู่ ณ ทำเลที่ได้ชื่อเป็นมุมที่สวยที่สุดของชายหาดปราณบุรี Villa Maroc จึงกลายเป็นฉากหลังในภาพถ่ายของคู่รักหลายคู่และหลายครอบครัว
ขณะที่ความหรูหราและโดดเด่นแปลกตาของเอกลักษณ์ในสไตล์ความเป็น "โมร็อกโก" ซึ่งแฝงอยู่เกือบทุกรายละเอียดของเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง ก็เรียกเสียงรัวชัตเตอร์ได้แทบทุกมุม
แม้จะยังไม่มีพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่รีสอร์ตแห่งนี้ก็ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่และกลายเป็นความใฝ่ฝันของหลายคู่ฮันนีมูน
ความหรูหราของสไตล์โมร็อกโกจ๋าซึ่งหาดูได้ไม่ง่ายในเมืองไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ที่นี่เป็น "ทอล์คออฟเดอะทาวน์" ในเวลาอันสั้น แต่แรงผลักดันสำคัญยังมาจากชื่อเสียง และความเป็น "พีอาร์แมน" ของเจ้าของที่ชื่อ "ตัน ภาสกรนที"
ในบางเสาร์-อาทิตย์ แขกที่มาพักที่นี่อาจพบเห็นชายร่างท้วมในชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นและรองเท้าแตะกำลังสาละวนอยู่กับการดูต้นไม้และเก็บใบไม้แห้ง แขกส่วนใหญ่เดินผ่านไปโดยไม่เอะใจว่าเขาคือเจ้าของรีสอร์ตและยังเป็นผู้บริหารธุรกิจมูลค่ากว่า 7 พัน ล้านบาท
นอกจากจะใช้เป็นสถานที่ให้สัมภาษณ์สื่อ แถลงข่าว และรับรองสื่อมวลชน ตันยัง เปิดรีสอร์ตแห่งนี้ให้เช่าถ่าย pre-wedding สำหรับคู่แต่งงานทั่วไปและบรรจุอยู่ในแพ็กเกจ สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการเว็ดดิ้งสตูดิโอในเครือของเขา
ย้อนกลับไปกว่า 3 ปีครึ่ง ตันมาชายหาดปราณบุรีครั้งแรกด้วยบัตรเชิญพักฟรีของ โรงแรมหรูแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ตั้งของ Villa Maroc
"พอเห็นเป็นตึกสไตล์โมร็อกโกที่เจ้าของเดิมทิ้งร้างไว้ ก็คิดถึงลูกสาวก่อนเลย มันใช่ตัวเขาก็อยากซื้อให้เป็นสมบัติของเขา ไม่ได้ตั้งใจทำเป็นโรงแรม ไม่เคยคิดด้วยซ้ำ เพราะเราไม่เคยทำและไม่มีความเข้าใจตรงนี้ ผมเห็นเพื่อนหลายคนที่มีบ้านพักต่างจังหวัด ปีแรกก็มาหลายครั้ง แต่หลังจากนั้นก็มาปีละครั้ง สุดท้ายผมก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น"
ว่ากันว่า เจ้าของที่คนเดิม เป็นคนเดียวกับเจ้าของ "ดาราเทวี" รีสอร์ตหรูที่เชียงใหม่
ตันควักเงินสดร่วม 190 ล้านบาทเป็นค่าที่ดินขนาด 3 ไร่ครึ่งที่มาพร้อมกับบ้านพักสไตล์โมร็อกโกเล็กๆ 3 หลัง และชายหาดหน้ากว้างเกือบ 200 เมตร ว่ากันว่าราคานี้ยังคงเป็นสถิติสูงที่สุดในปราณบุรีมาจนวันนี้
สไตล์กล้าได้กล้าเสียและวิธีบริหารแบบ "เงินต่อเงิน" ของตัน เขามักทุ่มสุดตัวในการ ประมูลซื้อที่ดินทำเลดีราคาแพงมากกว่ากว้านซื้อที่ดินราคาถูก เพราะเชื่อว่าที่ดินราคาแพงที่สุด ณ เวลานั้น แค่ถือรอเวลาผ่านไปก็ขายได้ราคาแพงที่สุดของเวลาถัดมาได้เช่นกัน
ด้วยศักยภาพของทำเลที่ได้ชื่อว่าแพงที่สุดและสวยที่สุดบนชายหาดปราณบุรี ตันคิดว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่าการสร้างบ้านพักส่วนตัวหรือโรงแรมที่พักทั่วไป
"แทนที่จะสร้างโรงแรมห้องพักเยอะเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ผมสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับโรงแรมแถบนี้ สิ่งที่ผมสร้างตรงนี้ก็คือประติมากรรมชายหาดที่มาพักได้" ไอเดียนอกกรอบนี้ถือเป็นคอนเซ็ปต์ของบูติครีสอร์ตแห่งนี้
สอดคล้องกับความคิดที่อยากเห็นที่นี่เป็นงานศิลปะชิ้นเอกอีกชิ้นของเมืองไทย ของ "วริษา ภาสกรนที" ลูกสาวคนโตวัยเพียง 24 ปีของตัน
เธอคือว่าที่เจ้าของรีสอร์ตตัวจริง และเป็นบัณฑิตหมาดๆ จาก Central Saint Martins College of Artand Design สถาบันการศึกษาที่มีชื่อด้านศิลปะและการออกแบบของอังกฤษ
ตันลงทุนให้วริษาและทีมดีไซเนอร์บินไปประเทศโมร็อกโก 2-3 รอบ เพื่อซื้อหากระเบื้องชิ้นเล็กชิ้นน้อยและของตกแต่งแฮนด์เมดมาสร้างกลิ่นอายโมร็อกโกให้อบอวลไปทั้ง รีสอร์ต...นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนค่าตกแต่งถีบตัวสูงถึง 260 ล้านบาท
"อยากทำให้คนประทับใจก็เลยค่อนข้างลงรายละเอียดมาก ภูมิใจกับสิ่งที่ออกมาและก็เชื่อว่าที่นี่ไม่น้อยหน้าใคร" วริษากล่าวในฐานะผู้มีส่วนร่วมดูแลด้านดีไซน์ภายในรีสอร์ตตั้งแต่ต้นจนทุกวันนี้ ที่ดูเหมือนว่างานตกแต่งจะยังไม่จบง่ายๆ
ขณะที่ "อาร์ต" และสไตล์ของรีสอร์ตสะท้อนตัวตนและความชอบของลูกสาว ความเอาใจใส่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และมุมแปลกในรีสอร์ตก็สะท้อนนิสัยและเป็นไอเดียของผู้เป็นพ่อ
ตันยอมรับว่าฝักบัวและอ่างอาบน้ำบนดาดฟ้าเป็นจินตนาการของเขา ส่วนห้องน้ำและห้องอาบน้ำที่มีมุมโป๊ จนทำให้ผู้อาบรู้สึกราวกับอาจถูกคนข้างนอกมองเห็นได้ ก็เป็นอารมณ์ขันของเขาที่อยากใส่ความตื่นเต้นท้าทายเข้ามาทดแทนความน่าเบื่อของห้องน้ำที่มิดชิดที่ทุกบ้านมี
Villa Maroc ไม่ได้เป็นเพียงมรดกที่ตันตั้งใจจะยกให้แก่วริษา แต่ยังเป็นสนามทดสอบและห้องเรียนชีวิตการทำงานแห่งแรกของวริษา โดยตันเริ่มจากส่งลูกไปเรียนการโรงแรมคอร์สสั้นๆ ที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะผลักลูกสาวลงสนามชีวิตจริงที่มีทีมงานมืออาชีพและมีตันเป็นเทรนเนอร์ประกบอย่างใกล้ชิด
จากนั้นตันก็ปล่อยลูกสาวฉายเดี่ยวร่วมกับเพื่อนๆ ในโปรเจ็กต์ ร้านอาหารกึ่งผับที่ชื่อ "EZILY" บนที่ดินในซอยทองหล่อ 10 ของเขา โดยตันคอยให้คำแนะนำผ่านการตรวจงานและติชม
เงินลงทุนกว่า 450 ล้านบาทกับเวลากว่า 3 ปีครึ่ง อาจสร้างโรงแรมขนาด 150 ห้องได้สบายๆ แต่รีสอร์ตแห่งนี้มีบ้านพักเพียง 15 หลัง จับตลาดลูกค้ากลุ่มไฮเอ็นด์
"จริงๆ จะทำให้เสร็จก็ไม่ยาก แต่ทำให้ดีและถูกใจมันไม่ง่าย ทุบกันไม่รู้กี่ครั้ง ลงทุนขนาดนี้ถ้าสร้างเป็นโรงงานชาเขียว ป่านนี้เสร็จแล้ว 3 โรงงาน บางที 2-3 ปีก็คืนทุนหมดแล้ว แต่เรากำลังสร้างแหล่งท่องเที่ยว มันต้องมีมุมสวยงามและประสบการณ์แปลกใหม่เพื่อให้เขาถ่ายรูป"
ต้นทุนค่าตกแต่งรีสอร์ต ดูหมือนยังไม่มีทีท่าจะยุติในเร็ววัน เพราะตอนนี้ตันกำลังสนุกกับการปลูกต้นไม้น้อยใหญ่หลายร้อยต้น และเพลินกับการเพาะสวนตะบองเพชรที่หลายต้นราคาสูงถึง 8 พัน-1 หมื่นบาทขึ้นไป
ทุกครั้งที่พาครอบครัวมาพักผ่อน หรือสัมภาษณ์สื่อที่รีสอร์ต ตันมักจะแวบหายไปขลุกอยู่ในสวนตะบองเพชรครั้งละหลายชั่วโมง ซึ่งเขาว่าเป็นการออกกำลังกายที่ไม่น่าเบื่อเหมือนกอล์ฟหรือสนุกเกอร์ ทั้งยังส่งผลพลอยได้ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม
ไม่ใช่แค่ที่ปราณบุรี ตันยังมีต้นไม้อีกนับหมื่นต้นที่เตรียมนำไปปลูกในที่ดินที่ตำบลบ่อทอง จ.ชลบุรี และที่ดินติดตลาดนัด จ.ลพบุรี ด้วยความเชื่อว่า การปลูกต้นไม้จะทำให้ที่ดินมีชีวิตและที่ดินที่มีชีวิต จะดูไม่โทรมและไม่เสื่อมค่า
ทั้งนี้ ตันหวังจะสร้างสวนตะบองเพชรและสวนป่าต้นไม้บนที่ดินติดกับรีสอร์ตให้กลายเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่ผู้คนอยากเข้ามาเที่ยวชมและถ่ายรูป เหมือนกับ "เพลินวาน" แหล่งท่องเที่ยวฮอตฮิตแห่งล่าสุดที่เกือบทุกคนที่ไปหัวหินมักจะแวะไปถ่ายรูป
ระยะเวลาเพียงครึ่งปี ตันสามารถขับเคลื่อนอัตราเข้าพักเฉลี่ยของ Villa Maroc สูงถึง 70% และเกือบเต็มในช่วงสุดสัปดาห์ แต่สำหรับเขา ความสำเร็จของรีสอร์ตนี้ไม่อาจวัดได้ที่ตัวเลขเข้าพัก แต่เมื่อไรก็ตามที่คนมาเที่ยวปราณบุรีเพราะรีสอร์ตของเขา หรือทุกคนที่มาปราณบุรีต้องมาที่นี่ นั่นคือบรรลุเป้าหมายแล้ว
"การที่ผมทำรีสอร์ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสถาปัตยกรรมและเนรมิตสวนกระบองเพชรขึ้นที่นี่เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้มากกว่าเงิน คือใช้เวลาและใช้ใจ เหมือนที่คน พูดว่าต้องมีเงินและโง่ด้วย เพราะถ้าฉลาดก็อาจไม่กล้าทำ (หัวเราะ) ถ้าคิดเรื่องธุรกิจตั้งแต่วันแรก โปรเจ็กต์นี้อาจพับไปแล้ว แต่ที่นี่ผมคิดว่าเราทำในสิ่งที่ชอบและตอบโจทย์ตัวเอง อนาคตผลตอบแทนจะน้อยหรือมากก็ตอบไม่ได้ แต่อย่างน้อยวันนี้ก็ได้ความสุขและความท้าทาย แต่ก็ไม่แนะนำให้ใครทำตาม ยกเว้นมีเงินเหลือ ซึ่งผมก็เอาเงินที่ได้จากโออิชิมาทำ"
ด้วยบทบาทนักธุรกิจที่ต่อสู้อย่างหนักมากว่าครึ่งชีวิต ในวัย 50 ต้นๆ ตันเริ่มเพียงพอกับความคาดหวังจะทำกำไรจากธุรกิจรีสอร์ตนี้ เขาย้ำว่าตรงนี้ไม่ได้เน้นเป็นธุรกิจ แต่เป็นงานศิลปะเพื่อตอบสนองความชอบและสิ่งที่ลูกสาวเรียนมา
"ถ้าเกิดเขาชอบและจะบริหารเอง อนาคตก็คงพออยู่ได้ แต่จะร่ำรวยจากตรงนี้ไหมก็คงไม่ใช่ เพราะที่นี่มีแค่ 15 ห้อง กลับกันถ้าบริหารไม่ดีก็อาจต้องเอาเงินมาเติมทุกเดือน" ตันพูดไปมองหน้าลูกสาวไปด้วยแววตาเป็นห่วง
การเป็นลูกสาวของ "พ่อตัน" วริษายอมรับว่าหนักใจบ้าง เพราะหลายธุรกิจที่พ่อเธอทำมักประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วราวกับ "ขึ้นทางด่วน" ด้วยวิสัยทัศน์และสไตล์บริหารแบบกล้าได้กล้าเสีย แต่ก็นับเป็นโชคดีที่เธอได้เรียนรู้ ผ่านคำสอนและการกระทำของพ่ออยู่เสมอและอย่างใกล้ชิดกว่าใคร โดยเฉพาะเรื่อง "ความอดทน" และ "ล้มแล้วต้องลุก"
ด้วยคำสอนข้างต้นเป็นสิ่งที่ตันมักพร่ำสอนกับลูกอยู่เสมอ นี่อาจเป็นที่มาที่ทำให้ "ต้นนักสู้" ต้นไม้ที่แม้ลำต้นจะล้มลงแล้วแต่ก็ยังดิ้นรนที่จะมีชีวิตอยู่และสามารถผลิใบออกดอกมาจนวันนี้ ถูกตั้งอยู่ไม่ไกลกับล็อบบี้ของรีสอร์ตนัก ซึ่งวริษาบอกว่านี่คือต้นไม้ที่สะท้อนความเป็นคุณพ่อตันของเธอจริงๆ
ขณะที่วริษามักจะพูดกับพ่อว่า หากเธอเกิดล้มลงคงจะรู้สึกกลัวไปเลย แต่วันนี้แม้ตันจะมองเห็นปัญหาในร้านอาหารของลูกสาวที่เขาปล่อยเธอฉายเดี่ยว ซึ่งเป็นปัญหาที่ลูกยังแก้ไม่ตก แต่ตันก็ยอมปล่อยให้ลูกแก้ไขเอง เพราะมองว่าถ้าแก้ได้ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี แต่ถ้าแก้ไม่ได้ ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญของลูก
ตันมักบอกกับลูกเสมอว่ากว่าที่ธุรกิจชาเขียวและร้านอาหารแบรนด์โออิชิ จะมีความสำเร็จเหมือนในวันนี้ ต้องผ่านการล้มแล้วลุกมาหลายครั้ง
"พระอาทิตย์มีขึ้นก็มีลง ตอนลงเราก็ลง ตอนขึ้นเราก็ต้องขึ้นด้วย ไม่ใช่ลงมาแล้ว อยู่ข้างล่างตลอดกาล ความล้มเหลวจะสอนเราว่าตอนขึ้นจะเตรียมตัวลงอย่างไรให้ไม่เจ็บ และตอนลงจะต้องเตรียมเกาะขึ้นไปอย่างไร" ตันสอนลูกอีกครั้ง
ดูเหมือนความสุขที่แท้จริงในวัยใกล้เกษียณของนักสู้ชีวิตคนนี้ คงไม่ได้อยู่ที่การนั่งดู "แบรนด์โออิชิ" ที่ตัวเองสร้างขึ้นคว้าชัยในสนามธุรกิจที่รุนแรงขึ้นทุกวัน หรือนั่งดูกำไรก้อนโตจากหลายธุรกิจของเขาอีกต่อไป
แต่น่าจะมาจากความอบอุ่น ขณะนั่งดูต้นไม้ที่เขากับลูกชายปลูกแข่งกันโต และมาจากความรักที่แฝงในบทสนทนาสอนลูกขณะนั่งชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าเหนือเส้นขอบทะเลกับลูกสาว ณ รีสอร์ตที่เขาสร้างขึ้นด้วยความรักในลูกสาว และด้วยความหวังว่าจะทิ้งไว้ให้เป็นประติมากรรมประดับผืนโลกอีกแห่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|