|
Fail Whale
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
Yiying Lu ศิลปินและนักออกแบบเชื้อสายจีนซึ่งมีถิ่นพำนักในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โด่งดังเป็นพลุแตกในชั่วข้ามคืนในวันที่เว็บไซต์ twitter ล่มและปรากฏภาพปลาวาฬยักษ์ถูกยกขึ้นจากผืนทะเลกว้างใหญ่โดยเหล่านกน้อยฝูงหนึ่ง
ภาพนี้มีชื่อว่า Fail Whale ซึ่งภาพแสดงถึงความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นของ ฝูงนก ซึ่งเปรียบเสมือนกลุ่มคนในบริการแบบ social net-working อย่าง twitter ที่ต้องช่วยเหลือกันและร่วมมือกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการกู้เว็บ twitter ที่ล่มให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม
Fail Whale ไม่เพียงแต่ทำให้ Yiying Lu โด่งดังในชั่วข้ามคืนเท่านั้น แต่ Fail Whale ยังสร้างกระแสของกลุ่มคนผู้คลั่งไคล้ twitter และ Fail Whale คือตัวแทนของความสมัครสมานสามัคคีของชาว twitter ไปในตัว
ในตอนที่ Yiying Lu สร้างภาพ Fail Whale ขึ้นมานั้น เธอแทบไม่เคยรู้จัก twitter มาก่อนเลย เธอตั้งชื่อภาพนี้ในตอนแรกว่า Lifting Up a Dreamer โดยวาดภาพขึ้นมาเพื่อใช้ทำเป็นการ์ดวันเกิดอิเล็กทรอนิกส์ให้เพื่อนของเธอในตอนที่เธอเพิ่งจบปริญญาด้าน visual communications จาก University of Technology, Sydney
เดือนกรกฎาคม 2007 เธอโหลดภาพของเธอจำนวนมากรวมถึงภาพ Lifting Up a Dreamer ขึ้นบนเว็บ iStockphoto ซึ่งเกือบหนึ่งปีต่อมา ภาพนี้ตกอยู่ในความสนใจของ Biz Stone ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง twitter
เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อ twitter ได้รับความนิยมสูงมากนั้น เว็บ twitter ก็เริ่มดาวน์บ้างเป็นครั้งคราวทุกครั้ง ที่เว็บดาวน์ผู้ใช้งาน twitter จะได้เห็นภาพแมวซึ่ง Stones เห็นว่ามันไม่เวิร์กเท่าไร เขาเลยเลือกภาพ Fail Whale ในเว็บ iStock-photo แทน ซึ่งภาพของ Yiying Lu ก็สื่อนัยความหมายว่าขณะนี้ทางทีมงาน twitter กำลังพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะช่วยกันทำงานเพื่อบรรลุถึงภารกิจที่แสนยากเย็น นั่นคือการทำให้ twitter กลับมาใช้ได้เหมือนเดิมนั่นเอง
หลังจากนั้นกระแสของ Fail Whale ก็กลายเป็นทอล์ก ออฟเดอะทาวน์ในชั่วระยะเพียง ข้ามคืนเช่นเดียวกัน โดยผู้ใช้งาน twitter คนหนึ่งตั้งชื่อภาพ นี้ว่า Fail Whale อีกคนหนึ่งก็ช่วยสร้างเว็บไซต์ให้สำหรับสัญลักษณ์นี้ อีกคนหนึ่งค้นพบ ว่า ภาพ Fail Whale นี้มาจากเว็บ iSotckphoto นั่นเอง ทำให้ชื่อของ Yiying Lu เป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง
Tom Limongello หนึ่งในแฟนพันธุ์แท้ twitter ได้เสนอว่า จะต้องช่วยกันสนับสนุน Yiying Lu และทำให้เธอเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป เนื่องจาก twitter ซึ่งซื้อภาพของเธอมาใช้นั้นไม่ได้บอกที่มาและให้เครดิตกับ Yiying Lu เท่าที่ควร
ชุมชน Fail Whale ถูกก่อตั้งขึ้นมาพร้อมๆ กับการจัดทำเสื้อยืดที่มีสัญลักษณ์ Fail Whale โดยเริ่มต้นได้จัดส่งเสื้อยืด Fail Whale ไปยังสำนักงานใหญ่ของ twitter ซึ่งทางผู้บริหาร ของ twitter ประหลาดใจเกี่ยวกับกระแสของ Fail Whale ที่ถูกจุดขึ้นมา แต่ก็ไม่ปฏิเสธความปรารถนาของกลุ่มที่ต้องการจะทำให้ Yiying Lu เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปจากผลงาน Fail Whale ของเธอ
แต่ประเด็นหลักของ Fail Whale มิได้อยู่ที่ภาพที่น่ารักของปลาวาฬในอ้อมโอบของฝูงนกน้อย มิได้อยู่ที่จินตนาการของ Yiying Lu มิได้อยู่ที่การปลุกกระแสคนรัก Fail Whale และมิได้อยู่ที่เสื้อยืดลาย Fail Whale แต่ประเด็นหลักอยู่ที่เมื่อ twitter ดาวน์แล้วทำให้โลกใบนี้เงียบลงไปทันที หลายคนไม่รู้จะทำอะไรดีเมื่อพวกเขาไม่รู้จะส่งข้อความเรื่องราวของพวกเขาไปที่ไหน เช่นเดียวกับที่ไม่รู้ว่าเพื่อนๆ ในโลกของ twitter กำลังทำอะไรอยู่ในเวลานั้น ที่สำคัญพวกเขาอยากจะส่งสารบอกในสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า twitter กำลังดาวน์อยู่ เรากำลังทำอะไรในวันที่ twitter ดาวน์
แม้ล่าสุด twitter จะดาวน์ไปแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่เป็นเรื่องที่ไม่ปกตินักที่ระบบการสื่อสารที่มีคนใช้งานทั่วโลกอย่างกว้างขวางจะออฟไลน์ไปแม้จะไม่กี่นาทีก็ตาม
เราต้องไม่ลืมว่า twitter ไม่ใช่เว็บไซต์ดาดๆ ที่เราเข้ามาดูบ้างไม่ดูบ้าง แต่หลายๆ คนดำรงชีวิตอยู่ด้วย twitter และอาศัย twitter ในการติดต่อสื่อสารรวมถึงการทำกิจกรรมอีกมากมาย การดาวน์ของ twitter จึงส่งผลกระทบอย่างสูงและส่งผลในวงกว้างด้วย
twitter ไม่ใช่ hotmail.com หรือ gmail.com ที่เมื่อดาวน์ไปแล้ว ยังมีเว็บฟรีอีเมลอื่นๆ ให้ใช้งานแทนได้ แต่ twitter ดาวน์ส่งผลต่อทุกคนทุกที่ทุกทาง โลกของผู้ใช้ twitter เหมือนหยุดไปชั่วขณะ
สาเหตุสำคัญคือ twitter ใช้งานได้ โดยอาศัยบริษัทเพียงบริษัทเดียวซึ่งตั้งอยู่ในตึกตึกเดียว เมื่อคุณส่งข้อความผ่าน twitter ข้อความนั้นจะถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ twitter จากนั้นจะไปปรากฏให้เห็นบนโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องมือสื่อสารใดๆ ที่ใช้งาน twitter ได้ของเพื่อนๆ ในโลก twitter ของคุณ ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบการทำงานของ twitter นั้นง่ายและทำงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นคำอธิบายส่วนหนึ่งว่า ทำไมอัตราการเติบโตการใช้งานของ twitter ถึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม การทำงานง่ายๆ แบบรวมศูนย์ (Centralization) ของ twitter กลายเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับ twitter เอง ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่ twitter ยังไม่เป็นที่รู้จักและใช้งานอย่างกว้างขวางนั้น ปัญหาการดาวน์ก็มีเป็นระยะอยู่แล้ว แต่ในยุคที่ twitter กลายเป็นสื่อกลางในการ สื่อสารอย่างหนึ่งนั้น การดาวน์ของ twitter บ่อยครั้งจะไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้ามได้แล้ว ซึ่งปัญหาการดาวน์อย่างต่อเนื่องนั้นก่อให้เกิดแนวคิดที่ว่า ชะตากรรมของ twitter ซึ่งเป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสารหลักอันหนึ่งของโลกใบนี้ไม่ควรอยู่ในมือของบริษัทเพียงบริษัทเดียว
เมื่อมองถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมานั้น ในตอนแรกๆ เมื่อเว็บไซต์ใดๆ เริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมนั้น ขนาดของเว็บไซต์จะเพิ่มขึ้นหลายเท่าในทุกๆ สองถึงสามเดือน แต่เว็บไซต์เหล่านั้นก็ไม่ได้พบปัญหาการใช้งานเกินขนาด ซึ่งสาเหตุหลักก็เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านั้นใช้หลักการ distributed โดยจะมีการเชื่อมโยงเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ ของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก
การดาวน์ของ twitter ทำให้เกิดคำถามว่า twitter ซึ่งควบคุมความเป็นไปของ microblogging ของโลกควรทำงาน ตามคอนเซ็ปต์ของ distributed ด้วยหรือไม่ บริษัทเพียงบริษัทเดียวจะสามารถจัด การอัพเดตของทุกๆ คนทั่วโลกได้หมดหรือ
ปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุดของ twitter เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า distributed denial-of-service attack หรือ DDoS attack ซึ่งเป็นการพยายามที่จะทำให้ทรัพยากรของระบบไม่สามารถใช้งานได้ตามความต้องการของผู้ใช้ โดยกรณีที่เกิดขึ้นกับ twitter นั้น มีความพยายามที่จะทำให้ผู้ใช้งานคนหนึ่งของ twitter ไม่สามารถใช้งานได้โดยอาศัยคอมพิวเตอร์ทั่วโลกหลายล้านเครื่องให้พยายามเข้าหน้า twitter ของผู้ใช้คนนั้น (อันเป็นผลมาจากสงครามแฮกเกอร์ระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย) ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้ twitter ธรรมดาๆ อย่างเราๆ ท่านๆ โดนผลกระทบไปด้วย ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใดๆ นั้นเลย
นั่นคือถ้าระบบของ twitter ทำงานเหมือนระบบเว็บหรืออีเมลอื่นๆ ซึ่งระบบจะจัดการโดยหน่วยของเซิร์ฟเวอร์หลายๆ หน่วยที่เชื่อมต่อกันโดยโปรโตคอลของเว็บ ปัญหาของ twitter ล่มย่อมไม่เกิดขึ้น นั่นหมายถึงปัญหาของ DDoS ก็จะส่งผลต่อการอัพเดตของผู้ใช้คนนั้นๆ คนเดียว แต่ twitter ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ
ปัญหานี้จึงมิใช่แค่ปัญหาทางด้านเทคนิคเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงปรัชญาอีกด้วย twitter วางแผนที่จะเป็นบริการออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะเชื่อมโยงผู้ใช้งานหลายพันล้านคนทั่วโลก ซึ่งถ้าเป็น จริงแล้ว หลายๆ คนตั้งคำถามว่า สมควรไหมที่บริษัทเพียงบริษัทเดียวจะมาดูแลรับผิดชอบการติดต่อสื่อสารของคนถึงหนึ่งในหกของโลก แน่นอนว่า twitter ก็จะกลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการก่อการร้ายของรัฐบาลในการควบคุม ตรวจสอบ และของคนกลุ่มอื่นใดทั่วโลก
เราจะทำยังไงถ้าจะมีการขายตัวผ่าน twitter การก่อร้ายอาจจะถูกกำหนดจัดตั้งผ่าน twitter การควบคุมการใช้งานของรัฐบาลผ่าน twitter ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใดเลย แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายการติดต่อสื่อสารใดๆ ยังไม่โดนกับปัญหาเหล่านี้อย่างเต็มตัว เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะไล่ปิดบริการบนเว็บหรืออีเมลได้ทั้งหมด แน่นอนว่า twitter อยู่บนความเสี่ยงเหล่านั้น
อย่างไรก็ดี มีความพยายามจะสร้าง เทคโนโลยีที่ทำงานในลักษณะเดียวกับ twitter แต่ไม่เป็นระบบรวมศูนย์ (decentralization) โดยที่การอัพเดตของผู้ใช้งานแต่ละคนจะไม่ถูกเก็บโดยบริษัทเดียวกันหรือบนเซิร์ฟเวอร์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น RSS Cloud กลุ่ม OpenMicroBlogging (OMB) pubsubhubhub ของกูเกิ้ล และ Push-button Web ซึ่งล้วนต้องการให้เรื่องของ Microblogger เป็นเทคโนโลยีแบบเปิดและไม่รวมศูนย์ทั้งสิ้น
ปัญหาหลักจึงอยู่ที่ twitter ที่พร้อม จะเปิดตัวเองหรือยัง โดยเฉพาะการที่พวกเขายังไม่ตกผลึกในเรื่องโมเดลทางธุรกิจว่าจะสร้างรายได้อย่างไรจากความนิยมในตัว twitter ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่จากการตื่นตัวของคนหลายกลุ่มและสร้างสรรค์เทคโนโลยีในลักษณ์เดียวกันขึ้นมามากขึ้นๆ ก็กำลังจะทำให้ความโดดเด่นของ twitter กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว
twitter คงไม่สามารถหลงระเริงกับการเป็นปลาวาฬยักษ์ที่รอการโอบอุ้มจากฝูงนกน้อยไปได้ตลอดกาล เพราะวันหนึ่งฝูงนกน้อยคงหมดแรงและหมดความอดทนถ้าปลาวาฬยังว่ายด้วยตัวเองไม่ไหวไปเรื่อยๆ
อ่านเพิ่มเติม:
1. Manjoo, F. (2009), -To Live, Twitter Must Die,' Slate,, 13 August 2009, http://www.slate.com/id/2225283/pagenum/all/.
2. Van Buskirk, E. (2009), Open Source -Twitter' could Fend Off the Next Twitpocalypse,' 10 August, 2009, http://www.wired.com/epicenter/2009/08/twitpocalypse/
3. Walker, R. (2009), -A Successful Failure,' The New York Times Magazine, 12 February 2009, http://www.nytimes.com/2009/02/15/magazine/15wwln_consumed-t.html
4. Perez, S. (2009), -The Story of the Fail Whale,' Read Write Web, 17 July 2008, http://www.readwriteweb.com/archives/the_story_of_the_fail_whale.php
5. http://www.zazzle.com/failwhale
6. http://failwhale.com/
7. http://www.yiyinglu.com/sc/illustration
8. RSS Cloud, http://rsscloud.org/
9. OpenMicroBlogging, http://openmicroblogging.org/
10. Pushbutton Web, http://dashes.com/anil/2009/07/the-pushbutton-web-realtime-becomes-real.html
11. pubsubhubbub, http://code.google.com/p/pubsubhubbub/
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|