แฟร์เทรด คอนเซ็ปต์ดี แต่เข้าถึงยาก?

โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้เขียนได้เขียนบทความเรื่องแฟร์เทรดมาหลายครั้งตามสื่อต่างๆ ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยเริ่มตื่นตัวกับตลาดทางเลือกใหม่ที่เรียกว่า Ethical Consumerism หรือตลาดที่ผู้บริโภคยึดจริยธรรมและความเป็นธรรมทางสังคมเป็นหลักในการเลือกซื้อสินค้า

เหตุผลแรกเริ่มที่ผู้เขียนเริ่มศึกษาเรื่องตลาดแฟร์เทรด ก็เนื่องจากเห็นว่าตลาดแฟร์เทรดในประเทศอังกฤษซึ่งผู้เขียนเคยใช้ชีวิตอยู่มาเป็นเวลา 5 ปีกว่านั้น มีการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ เอ็นจีโอในอังกฤษ รวมทั้งสื่อหัวเอียงซ้ายนิดๆ อย่าง The Guardian ร่วมกันช่วยโปรโมตให้ผู้บริโภคชาวอังกฤษหันมาให้ความสนใจต่อความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายในห่วงโซ่การผลิตสินค้า และเป็นผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งอันน้อยนิดจากราคาสินค้าที่แพงลิบลิ่วที่จำหน่ายอยู่ในประเทศร่ำรวยอย่างเช่นอังกฤษ

แคมเปญส่งเสริมแฟร์เทรดที่กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนอย่าง Oxfam ActionAid Traidcraft ร่วมทำกันมากว่า 10 ปี เริ่มเห็นผล เพราะชาวอังกฤษโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เริ่มยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าแฟร์เทรดมากขึ้น โดยรับรู้ว่าส่วนต่างของราคาสินค้าแฟร์เทรดกับสินค้าทั่วไปที่ตนจ่ายไปนั้นจะลงไปถึงผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งห่างไกลจากประเทศของตนเป็นพันๆ กิโลเมตร

ทำให้ยอดขายสินค้าแฟร์เทรดในอังกฤษสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2008 โดยมีมูลค่าถึง 880.6 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 43% ตามด้วยสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ซึ่งมียอดขายอยู่ที่ 757.7 และ 255.5 ล้านเหรียญยูโรตามลำดับ

ด้วยตรรกดังกล่าว ผู้เขียนมองว่าหากเกษตรกรของไทยซึ่งมักได้รับการกดขี่ด้านราคาจากพ่อค้าคนกลางและระบบตลาดเสรี สามารถเข้าถึงตลาดแฟร์เทรดได้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อตัวเกษตรกร และจะสามารถช่วยขจัดปัญหาความยากจนในชนบทของไทยได้มากขึ้น

นอกจากนี้ โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียน ยังคงเชื่อในระบบการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งระบบแฟร์เทรดเองได้ให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ และความเป็นธรรมแก่เกษตรกรและแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา มากกว่าการสนับสนุนการผลิตขนาดใหญ่ แต่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความถดถอยของสภาพสังคมที่ชุมชนมักมองข้าม

ดังนั้น ระบบแฟร์เทรดจึงเป็นระบบ ที่ตอบโจทย์ในใจของผู้เขียน

แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ผลิต และผู้ส่งออกสินค้าแฟร์เทรดของไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณสิบกว่าราย ผู้เขียนก็เริ่มเข้าใจถึงความซับซ้อนของระบบแฟร์เทรดมากขึ้น

ปัญหาแรกของระบบแฟร์เทรดคือ การได้มาซึ่งตราประทับว่าสินค้าของเกษตรกรนั้นได้รับการผลิตบนรากฐานของความเป็นธรรมต่อตัวเกษตรกร และต่อสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

เหตุผลแรกก็คือ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มเกษตรกรและผู้ตรวจสอบและให้มาตรฐานแฟร์เทรด คือองค์กร FLO-Cert ซึ่งเป็นแขนขาในด้านการตรวจรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดขององค์กร Fairtrade Labelling Organisation (FLO) ในเยอรมนีล้วนแต่เป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น

เอกสารที่องค์กร FLO ส่งให้แก่เกษตรกร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของมาตรฐานแฟร์เทรด การแจ้งยอดชำระค่าธรรมเนียมการเข้าเป็นผู้ขอรับการตรวจสอบมาตรฐานแฟร์เทรด การแจ้งผลการตรวจสอบ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นภาษาอังกฤษ โดยทาง FLO กำหนดว่า เกษตรกรจะต้องแปลเอกสารเหล่านี้เป็นภาษาไทย เพื่อสื่อสารให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มได้รับทราบถึงความเป็นไปและประเด็นปัญหาที่ทางตัวแทนกลุ่มได้หารือกับ FLO

เกษตรกรกล่าวว่าการแปลเอกสารแต่ละครั้ง รวมทั้งการจ้างล่ามเข้ามาช่วยสื่อสารเมื่อยามที่เจ้าหน้าที่ FLO เข้ามาตรวจแปลงของตนนั้น มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น คิดเป็นจำนวนเงินมิใช่น้อย

แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานของแฟร์เทรดประจำประเทศไทย ซึ่งดูแลกลุ่มผู้ผลิตทั้งในไทยและ สปป.ลาวก็ตาม แต่ที่ผ่านมา การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่คนก่อนๆ กับกลุ่มผู้ผลิตในไทยคงเป็นไปอย่างตะกุกตะกัก เกษตรกรหลายรายยังคงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของแฟร์เทรดได้ และการเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ประสานงานบ่อยๆ ก็ทำให้การสื่อสารระหว่างเกษตรกรกับองค์กรแฟร์เทรดไม่มีความต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จำนวนเงินที่กลุ่มเกษตรกรจะต้องชำระเป็นรายปี เพื่อขอรับมาตรฐานแฟร์เทรดนั้น ก็เป็นจำนวนที่สูงพอควร โดยเกษตรกรต้องชำระค่าสมัคร เป็นจำนวนเงิน 500 ยูโร (ประมาณ 25,000 บาท1) รวมทั้งค่าตรวจแปลงครั้งแรก ซึ่งมีอัตราผกผันกับจำนวนสมาชิกของกลุ่มและประเภทของกลุ่มเกษตรกร (ว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันในระดับใด ดูตารางที่ 1) ดังนั้นสำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ที่แทบจะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนมาทำกิจกรรม สำหรับกลุ่มการชำระค่าเป็นสมาชิกแฟร์เทรดเป็นรายปี ปีละหลายหมื่นบาท กลับกลายเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายอันหนักหน่วง ให้แก่เกษตรกรไปโดยปริยาย

หากดูจากตารางข้างต้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มเกษตรกรที่มีสมาชิกต่ำกว่า 50 คน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในเบื้องต้นทั้งหมด 500 (ค่าสมัคร) + 1,400 (ค่าตรวจสอบเบื้องต้น) = 1,900 ยูโร หรือประมาณ 95,000 บาท

และหากเกษตรกรรวมกลุ่มกันในหลายระดับจากกลุ่มย่อยในระดับ 1 รวมตัวกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น (เป็นระดับ 2 และ 3-2nd and 3rd Grade ตามลำดับ) ก็จะต้องชำระค่าตรวจสอบองค์กรเพิ่มขึ้นอีกตามลำดับ โดยเสียทั้งค่าใช้จ่ายของกลุ่มในระดับที่ 1, 2 และ 3 ด้วยเช่นกัน

นับเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมที่ซ้ำซ้อนและยากที่จะกล่าวได้ว่าอยู่บนรากฐานของความ "ยุติธรรม" ต่อเกษตรกรรายย่อยที่ FLO และองค์กรแฟร์เทรดอื่นๆ ตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือ

แต่ถึงแม้จะต้องจ่ายค่าสมาชิกเป็นจำนวนเงินสูง เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยินดีที่จะจ่าย ขอเพียงแต่มีตลาดรองรับที่แน่นอน ให้กับพวกเขา

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เกษตรกรหลายกลุ่มในไทยที่สามารถฝ่าด่านมาตรฐานแฟร์เทรด จนสินค้าของตนได้รับการรับรองจากองค์กร FLO-Cert ว่าเป็นสินค้าคุณภาพดี ผลิตบนมาตรฐานระดับนานาประเทศ อันว่าด้วยเรื่องการค้าที่เป็นธรรม กลับไม่มีตลาดรองรับ

สินค้าเกษตรของไทยที่เป็นแฟร์เทรด ส่วนใหญ่คือข้าว ซึ่งเป็นสินค้าที่ชาวยุโรปไม่ได้บริโภคเป็นหลัก ดังนั้น ตลาดของสินค้าแฟร์เทรดของไทยจึงอยู่ในวงจำกัด และขายได้ในปริมาณที่ไม่มากเท่าที่ควร

สำหรับกลุ่มผู้ผลิตแฟร์เทรดของไทยที่เข้ามาจับตลาดนี้เป็นระยะเวลานานกว่าสิบปีแล้ว และมีฐานลูกค้าในต่างประเทศที่แน่นอน ปัญหาเรื่องการตลาดอาจจะไม่ใช่ปัญหาที่น่าวิตกกังวลมากนัก

แต่สำหรับเกษตรกรที่เพิ่งเข้ามาจับตลาดทางเลือกนี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ จะต้องเผชิญกับปัญหาการต้องออกไปหาตลาดต่างประเทศ เพื่อรองรับสินค้าแฟร์เทรดของตน

ในช่วงแรกๆ ที่กระแสแฟร์เทรดในยุโรปยังไม่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากผู้บริโภคเท่าปัจจุบัน องค์กรพันธมิตรแฟร์เทรดต่างๆ ต่างเดินเข้าไปเจรจากับห้างร้าน ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เพื่อโน้มน้าว ให้ธุรกิจค้าปลีกเหล่านั้นยอมสต็อกสินค้าแฟร์เทรดในห้างร้านของตน

สินค้าที่องค์กรของแฟร์เทรดผลักดันมากที่สุดในช่วงแรกๆ คือกาแฟ เนื่องจากวิกฤติกาแฟทั่วโลกเมื่อประมาณปี 2001-2002 ทำให้ราคากาแฟโลกดิ่งเหว ตกต่ำที่สุดในรอบเกือบร้อยปี ดังนั้นการโปรโมตระบบแฟร์เทรดโดยใช้กาแฟเป็นสินค้านำร่อง จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ

แคมเปญการโปรโมตกาแฟที่เป็นแฟร์เทรด โดยเครือข่ายพันธมิตรองค์กรแฟร์เทรดต่างๆ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ถึงขนาดว่าร้านกาแฟ Starbucks ประกาศเมื่อเดือนกันยายนปีนี้ว่าจะมีนโยบายจำหน่ายแต่กาแฟที่เป็นแฟร์เทรดเท่านั้น ภายในร้านของตนทั่วยุโรป โดยกาแฟดังกล่าวจะอยู่ภายใต้ชื่อ Shared Planet Fairtrade-Certified และ Starbucks ตั้งเป้าไว้ว่าแผนดังกล่าวจะต้อง บรรลุผลสำเร็จภายในปี 2010 นี้

นอกจากกาแฟแล้ว ยังมีชา และกล้วยหอม ซึ่งเป็นสินค้าในยุคบุกเบิกของระบบตลาดแฟร์เทรด สำหรับกล้วยหอมนั้น เป็นเพราะชาวยุโรปบริโภคกล้วยเป็นจำนวนมากต่อวัน จนกลายเป็นอาหารประจำทวีปของชาวยุโรปเลยก็ว่าได้

ต่อมา องค์กรแฟร์เทรดได้หันมาให้ความสนใจในตัวฝ้าย เนื่องจากฝ้ายเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมเสื้อผ้า แต่เกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย กลับไม่มีจะกิน และชาวไร่ฝ้ายในอินเดียกว่าแสนราย กระทำการอัตวินิบาตกรรม เพื่อหลีกหนีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งนี้เพราะราคาฝ้ายในตลาดโลกตกต่ำ เนื่องจากสหรัฐอเมริกายังคงไม่หยุดการให้เงินสนับสนุนชาวไร่ฝ้ายของตน ทำให้เกิดการผลิตฝ้ายล้นตลาด อันมีส่วนทำให้ราคาฝ้ายในตลาดโลกตกต่ำ เกษตรกรอินเดียขายฝ้ายไม่ได้ราคา ไม่สามารถจ่ายคืนหนี้สินของตนได้ จึงหาทางปลิดชีพตนเอง ดังนั้นหากบริษัทเอกชนหันมาสั่งซื้อฝ้ายแฟร์เทรด ทางพันธมิตรขององค์กรแฟร์เทรดก็เชื่อว่า เกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายในประเทศยากจนอีกหลายหมื่นหลายแสนราย จะได้อานิสงส์จากตลาดแฟร์เทรดไปด้วย

แต่สำหรับข้าวแล้วยังไม่ปรากฏว่าองค์กร FLO ทำตลาดและสร้างแคมเปญส่งเสริมการขยายตลาดข้าวแฟร์เทรดในยุโรปแต่อย่างใด

หากจะถกกันอย่างเป็นธรรมแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า FLO ไม่สามารถที่จะทำแคมเปญให้กับสินค้าแฟร์เทรดทุกตัวได้ เพราะปัจจุบันจำนวนสินค้าแฟร์เทรดมีมากกว่า 6,000 รายการ ดังนั้น การทำแคมเปญแต่ละครั้ง ซึ่งต้องอาศัยเงินจำนวนมหาศาล จึงต้องอยู่บนรากฐานของความคุ้มค่าและผลกระทบในวงกว้างต่อตลาดในยุโรป

หากข้าวมีกลุ่มผู้บริโภคในยุโรปอยู่ในวงแคบก็คงจะเป็นเหตุผลที่องค์กรแฟร์เทรดจะไม่ชูให้ข้าวเป็นสินค้าแฟร์เทรดอันดับต้นๆ เหมือนอย่างกาแฟ ชา และกล้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่จ่ายค่าสมาชิกแฟร์เทรดไป เพื่อหวังที่จะพึ่งพาตลาดทางเลือกของผู้บริโภคที่ยินดีที่จะจ่ายค่าสินค้าในราคาที่เป็นธรรมต่อพวกเขาแล้ว ก็คงอดที่จะสะท้อนใจไม่ได้ หากเงินที่จ่ายค่าสมาชิกแฟร์เทรดไป รวมทั้งเวลาและแรงกายแรงใจที่ทุ่มเทปรับปรุงระบบการผลิต ระบบบัญชี และการจัดการกลุ่มของตน เพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานของแฟร์เทรด กลับไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นให้แก่พวกเขา

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เกษตรกรไทยคงจะต้องเผชิญกับวังวนของความยากจนต่อไป แม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ตลาดสีเขียว และตลาดการค้าที่เป็นธรรมขึ้นมาแล้วก็ตาม

สำหรับเรื่องราคารับซื้อขั้นต่ำของสินค้าแฟร์เทรดที่กำหนดโดยองค์กร FLO นั้น เกษตรกรหลายรายกลับมองว่า ขาดซึ่งความยืดหยุ่น เนื่องจากราคาขั้นต่ำที่ทางองค์กรแฟร์เทรดกำหนดไว้ ไม่มีการปรับเปลี่ยนทุกปีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นการกำหนดราคารับซื้อข้าวหอมมะลิที่ 12,000 บาทต่อตัน ในขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิในท้องตลาดของไทยเมื่อช่วงปีถึงสองปีก่อน (2550-2551) ได้ทะยานขึ้นไปสูงถึง 18,000 บาทต่อตัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤติอาหารและพลังงานในปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สินค้าอาหารเกือบทุกรายการมีราคาเพิ่มสูงกว่าราคาปกติมาก 2-3 เท่าตัว

ราคาตลาดที่ทิ้งห่างราคาประกันของแฟร์เทรดมากนี้ ทำให้เกษตรกรหลายรายทำใจได้ยากที่จะยอมทิ้งโอกาสในการขายข้าวกับพ่อค้าทั่วไป ซึ่งให้ราคาดีมากจนแทบจะเรียกได้ว่าคงเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งของชีวิตชาวนาที่จะเห็นราคาข้าวดีขนาดนี้ แล้วหันไปยอมรับราคาแฟร์เทรดที่ต่ำกว่าราคาที่พวกเขาควรจะได้หลายพันบาทต่อตัน

อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนระบบแฟร์เทรดแย้งว่า ผู้คนควรจะมองการณ์ไกลถึงยามที่ราคาสินค้าเกษตรตามท้องตลาดทั่วไปผันผวนและตกต่ำ ดังที่เคยเกิดขึ้นในกรณีของกาแฟมาแล้ว ในวิกฤติ การณ์เช่นนั้น ราคารับซื้อของแฟร์เทรดจะสูงกว่าราคาตลาดมาก เกษตรกรก็จะได้รับประโยชน์จากแฟร์เทรดแน่นอน ดังนั้นจึงไม่ควรมองแต่ในกรณีที่ราคาตลาดสูงกว่าราคารับซื้อขั้นต่ำของแฟร์เทรด แต่ควรพิจารณาว่าในระยะยาวระบบแฟร์เทรดจะสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้แก่เกษตรกรได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟร์เทรดหลายราย มักไม่ต้องการให้คนมองแต่ประโยชน์ด้านราคาของระบบแฟร์เทรด แต่ต้องการให้ทุกคนเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของแฟร์เทรดจริงๆ ในการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ช่วยให้เกษตรกรลด ละ เลิกการใช้สารเคมี อันเป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพของเกษตรกรเองและต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง โดยจัดการตนเองในการบริหารกลุ่มของตนภายใต้แนวทฤษฎี ประชาธิปไตย อีกทั้งสนับสนุนให้เกษตรกร และผู้ประกอบการยกเลิกการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งการจ้างแรงงานเด็ก และกระตุ้นให้สมาชิกแฟร์เทรดทุกคนปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานที่ดี ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของความเป็นธรรมทางสังคม

แม้จะเกิดประเด็นคำถามมากมายกับระบบการให้การรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคควรจะงดให้การสนับสนุนระบบแฟร์เทรดโดยสิ้นเชิง

เพราะหากเป็นเช่นนั้น เกษตรกรทั่วโลกคงไม่มีทางเลือกอื่น แต่คงต้องกลับไปผูกติดกับระบบตลาดที่ปลาใหญ่กินปลาเล็กดังเดิม

สำหรับผู้เขียน ทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนของระบบแฟร์เทรดที่เกษตรกรไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือการเรียกร้องให้องค์กร FLO เข้ามารับรู้และแก้ปัญหาของเกษตรกรไทยมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ของ FLO ปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการเข้าเป็นสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบไร่นาและการทำงานของกลุ่มเกษตรกร

รวมทั้งเรียกร้องให้ FLO ทบทวนมาตรฐานบางรายการของตน ว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศกำลังพัฒนามากน้อยเพียงใด เช่นมาตรฐานว่าด้วยการห้ามใช้แรงงานเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานแรงงานหลักขององค์การแรงงาน ระหว่างประเทศ (ILO Core Labour Standards) แต่ในวิถีและวัฒนธรรมของเกษตรกรไทยที่ลูกหลานต้องช่วยทำไร่ทำนาเพื่อผ่อนแรงพ่อแม่ปู่ย่าตายาย และสืบทอดความรู้ในด้านอาชีพการทำนา และเพื่อพัฒนาทักษะของเด็กนอกเหนือจากการร่ำเรียนตามตำราในโรงเรียนเท่านั้นนั้น การห้ามใช้แรงงานเด็กโดยสิ้นเชิงอาจไม่สอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรมของไทยได้ จึงควรอนุโลมให้เด็กๆ สามารถช่วยพ่อแม่ทำงานได้ แต่ต้องเป็นการใช้เวลายามเย็นหลังเลิกเรียน วันเสาร์และอาทิตย์และช่วงปิดเทอมที่เด็กๆ หยุดเรียน แล้วเท่านั้น

สำหรับข้อเสนอที่ว่า ไทยควรจัดตั้งตรามาตรฐานแฟร์เทรดของประเทศขึ้นมาเอง ดังเช่นการจัดตั้งมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทย ซึ่งมีทั้งมาตรฐานในระดับจังหวัด เช่นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จังหวัด สุรินทร์ ระดับภูมิภาค เช่นมาตรฐานเกษตร อินทรีย์ภาคเหนือ และในระดับประเทศนั้น ไม่น่าจะเป็นทางออกของปัญหาที่นำมาปฏิบัติใช้อย่างได้ผล เนื่องจากในการส่งสินค้าไปต่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปนั้น สินค้าแต่ละชิ้นจำเป็นจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานของประเทศผู้ซื้อ จึงจะได้รับการอนุญาตให้ผ่านเข้าไปในประเทศนั้นๆ ได้มาตรฐานของไทย แม้จะเทียบเท่ามาตรฐานสากล แต่หากไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ก็ไม่มีประโยชน์ต่อการส่งออก

นอกจากนี้ สัญลักษณ์ของตรามาตรฐานแฟร์เทรด โดยองค์กร FLO ได้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการยอมรับในหมู่ผู้บริโภคในยุโรปอย่างกว้างขวางแล้ว ดังนั้น การจะสร้างมาตรฐานของไทยขึ้นมา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความยุ่งยากที่เกิดจากระบบของ FLO ดูไม่น่าจะได้ผลนัก เพราะหากทำเช่นนั้น ไทยจะต้องลงทุนอีกมากในการสร้างแบรนด์ "แฟร์เทรดไทย" ให้เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภคในต่างประเทศให้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินอีกจำนวนมหาศาล

ดังนั้น ทางออกที่ผู้เขียนมองเห็นก็คือ การที่ภาคเอกชนของไทยรุกเชิงนโยบายกับองค์กร FLO ในเยอรมนี โดยพยายามอธิบายให้องค์กร FLO มองเห็นถึงปัญหาที่เกษตรกรไทยเผชิญอยู่ ซึ่งอาจเป็นปัญหาเดียวกันกับที่เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็ได้ และพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ส่วนภาครัฐของไทยก็ไม่ควรมองข้ามตลาดทางเลือกนี้ โดยถือเพียงว่าไม่ใช่ตลาดที่สำคัญนัก เพราะหากภาครัฐต้องการช่วยเกษตรกรให้หลุดพ้นจากวงเวียนของความยากจนอย่างจริงจัง ก็สมควรที่จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดแฟร์เทรดนี้ และให้การสนับสนุนแก่กลุ่มเกษตรกรที่ต้องการศึกษาเรื่องตลาดแฟร์เทรด หรือให้บริการด้านการติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับองค์กรแฟร์เทรดในต่างประเทศ

และอีกความช่วยเหลือหนึ่งที่ทางภาครัฐสามารถช่วยได้ คือศึกษาด้านตลาดแฟร์เทรดอย่างถ่องแท้และช่วยเสาะหากลุ่มลูกค้าในยุโรปหรือประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนามาเป็นลูกค้าแฟร์เทรดของเกษตรกรไทยได้

เรื่องการตลาดนี้น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของปัญหาระบบแฟร์เทรดในปัจจุบัน

เพราะหากไม่มีตลาดรองรับแล้ว ไม่ว่าหลักการของแฟร์เทรดจะดีเพียงใด แต่ผลประโยชน์ที่ได้จากระบบนี้ ก็คงยังไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่วันยังค่ำ

หากเป็นเช่นนั้น เกษตรกรคงจะถูกปล่อยให้เผชิญกับปัญหาด้วยตัวเองเหมือนกับที่ผ่านมา ไม่ว่าจะกี่ทศวรรษแล้วก็ตาม

1 คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ยูโร เท่ากับประมาณ 50 บาท

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย "การเข้าถึงตลาดสินค้า "Fair Trade" ในสหภาพยุโรป: โอกาสด้านการส่งออกสำหรับประเทศไทย" ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.