|
“กาสรกสิวิทย์” คืนศักดิ์ศรีควายไทย...คืนวิถีชาวนาไทย
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
นับตั้งแต่การบุกเข้าท้องนาของ "ควายเหล็ก" ทุ่งรวงทองของไทยก็ไร้ซึ่งเงาควายไถนากับเสียงเพลงความสัมพันธ์คนกับควายที่ค่อยๆ แผ่วหายไปจากสังคมไทย เหลือเพียงเสียงคำรามของเครื่องจักรไถนาแทนที่ พร้อมกับอีกสิ่งที่หายไปกับควาย นั่นคือความเกื้อกูลและความพอเพียงตามวิถีชีวิตชาวนาไทยดั้งเดิม
...คนกับคนทำนาประสาคน คนกับควายทำนาประสาควาย คนกับควาย ความหมายมันลึกล้ำ ลึกล้ำทำนามาเนิ่นนาน แข็งขันการงานมาเนิ่นนาน สำราญเรื่อยมาพอสุขใจ...
แม้เนื้อหาของเพลง "คนกับควาย" ของวงคาราวานจะมุ่งเน้นสะท้อนถึงร่องรอย การแบ่งชนชั้นและการกดขี่ชาวนาในสังคมไทยตามสไตล์เพลงเพื่อชีวิต แต่ถ้อยคำเหล่านี้ก็นำเสนอภาพความสัมพันธ์ของคนกับควายได้อย่างชัดเจน
ในอดีต ภาพควายไทยใส่แอกเดินนำหน้าเจ้าของตามแปลงนาในฐานะคู่ทุกข์คู่ยาก เป็นสิ่งที่หาดูได้ง่ายๆ แค่ขับรถไปตามชานเมืองและชนบท แต่ทุกวันนี้ ควายไถนาตามแปลงข้าวเป็นเรื่องหาดูยาก ยกเว้นตามหมู่บ้านควาย ทว่าส่วนใหญ่เป็นควายนักแสดงและในอนาคตภาพควายไทย อาจมีให้เห็นเพียงบนแผ่นฟิล์มและเหลือแค่ตำนานที่มาของ ค.ควาย
...เจ้าทุยเพื่อนจ๋า ออกไปไถนาคง เหนื่อยอ่อน เหนื่อยนักพักผ่อนก่อน หนาวจนอ่อนใจ ข้าจะอาบน้ำ ป้อนฟางทั้งกำคำใหญ่ใหญ่ จะสุมไฟกองใหม่ใหม่ ไว้กันยุงมา...
เพลง "ขวัญใจเจ้าทุย" ของรวงทอง ทองลั่นทม ยังพอคุ้นหูผู้คนวัย 20 ปลายๆ ทว่า ภาพจำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่สวยงามระหว่างคนกับควายของสังคมไทยดูจะเลือนรางไปทุกที
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ได้เปลี่ยนแนวคิดการผลิตข้าวจากเพื่อบริโภค มาเป็นเพื่อขายและส่งออก โดยมีรถไถนาและรถเกี่ยวข้าวเป็นเครื่องมือร่นเวลาผลิต ชาวนาส่วนใหญ่จึงขายควายหันไปใช้ "คูโบต้า" เพื่อจะเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นในเวลาอันสั้นลง โดยลืมไปว่าเจ้าควายเหล็กซดน้ำมันแทนการเล็มหญ้า
ว่ากันว่า ค่าใช้จ่ายสูงที่สุดของเกษตรกรรายย่อยคือ ค่าน้ำมันอาจสูงถึง 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด สำหรับคนที่ไม่มีรถไถเป็นของตัวเองก็ต้องเสียค่าจ้างและค่าเช่า "ควายเหล็ก" เป็นต้นทุนหลัก เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตก็ถีบตัวสูงตามไป จนหลายครั้งกำไรที่ว่าจะได้กลับหดหายไม่เพียงพอจะจ่ายหนี้ที่กู้มาลงทุน
นอกจากเจ้าทุยจะไม่ใช้น้ำมัน ขณะที่กีบเท้าของมันย่ำลงไปบนผืนนายังช่วยให้ดินร่วนซุย ผิดกับล้อของควายเหล็กที่กดทับจนโครงสร้างดินเสีย ยามที่ควายย่ำไปถ่ายไปในท้องนาก็ยังได้ปุ๋ยที่ช่วยให้ต้นกล้างอกงามโดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมีระบบ นิเวศของท้องนาก็ไม่ถูกทำลายศัตรูข้าวถูกกำจัดด้วยระบบห่วงโซ่อาหารโดยไม่ต้องพึ่งยาฆ่าแมลง แถมยังได้กบเขียดปูปลาที่มาอาศัยอินทรีย์ธาตุในแปลงนาติดมือกลับไปเป็นกับข้าวด้วย
แม้การทำนาด้วยควายอาจไม่ช่วยเพิ่มผลผลิตปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดต้นทุนการผลิตและดำรงชีพให้เกษตรกรได้ไม่น้อย
การเข้ามาของควายเหล็กสัญชาติญี่ปุ่น ไม่เพียงพรากควายไทยออกจากท้องนา ยังพรากเอาความงดงามอย่าง "ประเพณีลงแขก" ไปจากสังคมชาวนาไทย
เพราะเมื่อทุกบ้านต่างก็หันมาใช้เครื่องจักรเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการทำนา จากเดิมที่เคย "ขอแรง" กันได้ เพราะพอมีเวลาเหลือหลังจากไถดำหรือเก็บเกี่ยวในนาของตนเสร็จ ก็กลายเป็นไม่มีเวลาเพราะต้องเตรียมเพิ่มรอบทำนา จากเดิมที่เกื้อกูลกันด้วยการแลกเปลี่ยนแรงงานคนกับควายหมุนเวียนตามนาของเพื่อนบ้าน แลกกับข้าวปลาอาหารและไมตรีจิตก็เพียงพอ กลับเป็นต้องจ่ายค่าจ้างเพื่อเป็นค่าน้ำมันและค่าเสียเวลาให้กับเจ้าของควายแหล็ก
เมื่อเกษตรกรไทยพากันทิ้งร้างคันไถและแอกมานาน ชาวนารุ่นหลังจึงหลง ลืมกันไปหมดแล้วว่าการไถนาด้วยควายที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายทำกันแบบไหน และเมื่อชาวนายังลืม มีหรือที่ควายจะจำได้ว่าบรรพบุรุษของมันไถนาอย่างไร เพราะหาใช่ว่าเกิดเป็นควายแล้วจะไถนาเป็นตั้งแต่เกิด
ตัวเลขจากกรมปศุสัตว์ระบุว่า วิถีชีวิตชาวนาที่เปลี่ยนไปทำให้ประชากรควายลดลงอย่างมาก จากกว่า 2 ล้านตัวในปี 2540 เหลือไม่ถึง 1.58 ล้านตัวในปี 2551 โดยมีควายที่ไถนาเป็นไม่ถึง 0.05% และครึ่งๆ ของควายที่มีอยู่เตรียมเข้าสู่โรงเชือด
นี่จึงกลายเป็นที่มาของ "กาสรกสิวิทย์" โรงเรียนสอนคนและควายทำนา มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูภูมิปัญญาไทยในวิถีการทำนา และเป็นศูนย์กลางให้คนกับควายได้มาเรียนรู้วิธีการทำนาแบบดั้งเดิม ตลอดจนเรียนรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ในวิถีชีวิตแบบพอเพียง
สืบเนื่องจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงจัดตั้งธนาคารโคกระบือแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2522 เพื่อมอบให้กับเกษตรกรผู้ยากจน โดยมีข้อแม้สำคัญคือห้ามฆ่าและห้ามขายโดยเด็ดขาด แต่ครั้นเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยี่ยมราษฎร พระองค์ทรงพบว่า เกษตรกรที่ได้รับควายไปกลับเลี้ยงทิ้งไว้เฉยๆ หรือเลี้ยงไว้เอาลูก เพราะใช้งานควายไม่เป็น
"กาสรกสิวิทย์" เป็นชื่อพระราชทาน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่ง "กาสร" แปลว่าควาย "กสิวิทย์" คือศาสตร์แห่งการทำกสิกรรม ทว่าคนทั่วไปนิยมเรียกสั้นๆ ว่า "โรงเรียน สอนควาย"
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 โดยตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่าร้อยไร่ ณ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นที่ดินที่มีชาวบ้านน้อมเกล้าถวายฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ภายในบริเวณยังมีส่วนนิทรรศการแสดงภูมิปัญญาชาวบ้านและชาวนาไทย ผ่านเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำนาที่ใช้มากันตั้งแต่ดั้งเดิม และยังมีบ้านดินที่ปลูกด้วยวัสดุท้องถิ่น เอาไว้เป็นต้นแบบการเรียนรู้ในการสร้างบ้านพักปลายนา ซึ่งกำลังจะถูกพัฒนาให้เป็นที่พักแบบ "โฮม สเตย์" สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดูงานที่โรงเรียนแห่งนี้
สำหรับหลักสูตรการอบรมคนและควาย รุ่นหนึ่งใช้เวลา 10 วัน เปิดสอนเดือนละ 1 รุ่น ในระหว่างวันที่ 1-10 ของทุกเดือน แต่ละรุ่นรับนักเรียนควาย 6 ตัว และนักเรียนเกษตรกรอีก 6 คน โดยเป็นเกษตรกรที่ได้รับมอบควายจากธนาคารโคฯ 5 คนและอีก 1 คนอาจเป็นนักเรียนและครูจากวิทยาลัยเกษตร หรือเกษตรกรที่ไม่อยู่ในโครงการของธนาคารโคฯ และบุคคลทั่วไปที่อยากเรียนรู้
ลักษณะของนักเรียนควายที่ดีควรมีอายุราว 1-2 ปีครึ่ง เป็นเพศเมีย เพราะฝึกง่ายและไม่ชอบหาเรื่องกันเอง ส่วนคุณสมบัติของนักเรียนเกษตรกรคือ นอกจากอยู่ในโครงการกับธนาคารโคฯ ยังต้องเป็นเกษตรกรยากจน ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด มีความขยันและมีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ เพื่อไม่ให้เกินความสามารถของควาย โดยปศุสัตว์จังหวัดเป็นผู้คัดเลือก
การอบรมภาคทฤษฎีเริ่มต้นจากการทำความรู้จักกับควายไทยและการใช้ประโยชน์ วิธีดูลักษณะควายตามภูมิปัญญาไทยและคัดเลือกควายไว้ใช้งาน การป้องกันโรคและสมุนไพรสำหรับควาย ตลอดจนแนวทางทำการเกษตรแบบผสมผสานตามทฤษฎีใหม่ ส่วนภาคปฏิบัติก็เริ่มกันตั้งแต่วิธีจูงควาย วิธีเทียมแอกและเทียมไถ วิธีใช้ภาษาเชือก การฝึกไถดะ ไถแปร ฝึกคราดและการตีลูกทุบ ไปกระทั่งหัดทำแร่ธาตุก้อนสำหรับควายและการทำโอ่งแก๊สชีวภาพจากมูลควาย เป็นต้น
วันสุดท้ายของการเรียนเป็นวันทดสอบประเมินผล หากสอบผ่านจะได้รับมอบใบประกาศและกลับบ้านได้ทั้งคนและควาย แต่หากสอบตกไม่ว่าจะเจ้าของหรือเจ้าทุย ทั้งคู่ก็ต้องอยู่สอบซ่อม ด้วยกันจนกว่าจะผ่าน
"บางรุ่นที่มา ไม่เป็นทั้งคนและควาย ควายก็ไถไม่เป็น คนก็บังคับเชือกสั่ง ควายไม่เป็น สอนควายก็ยากอยู่แล้วแต่ บางทีสอนคนอาจจะยากกว่าอีก" นิพนธ์ โหมดศิริ อาจารย์จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและเกษตรกรรมเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เล่าให้ฟังในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานของโรงเรียนแห่งนี้
หลังจากจบหลักสูตรทุกรุ่น ทางโรงเรียนจะส่งเจ้าหน้าที่ไปคอยติดตามดูว่า เกษตรกรได้ใช้ควายทำนาต่อไปตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียนหรือไม่ โดยนิพนธ์หวังว่าหากเกษตรกรที่ผ่านการอบรมทุกคนกลับไปทำนาด้วยควายและช่วยกันถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ได้เรียนมาไปสู่เพื่อนบ้าน ความสุนทรีย์ของวิถีชีวิตชาวนาไทยแบบดั้งเดิมก็น่าจะฟื้นกลับคืนมาได้
เสียงโหวกเหวกวุ่นวายดังมาจากแปลงนาของโรงเรียน เรียกความสนใจของผู้คนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงให้หันไปมองภาพชายร่างกำยำ 3-4 คน สาละวนกับการเทียมแอกควายสาวร่างอวบที่ดิ้นขัดขืน เพราะมันเรียนรู้มา 3 วัน แล้วว่า ทันทีที่ขอนไม้หนักๆ นี้ถูกแบกอยู่บนบ่า นั่นหมายถึงงานหนักที่กำลังจะตามมา
จากนั้นทั้ง "ควายจำปา" และเจ้าของก็เริ่มลงสัมผัสท้องนาและกลิ่นโคลน ในแปลงฝึกหัด ร่วมกับนักเรียนควายและเกษตรกรอื่น
"เลี้ยวให้ทันควาย ตอนนี้ควายตรงแล้ว เจ้าก็แค่กระตุก ตอนนี้ควายกำลังสอนเจ้าแล้ว ไม่ใช่เจ้าสอนควาย" ครูฝึกสอนกำลังพูดกับเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของควายจำปา
เจ้าของควายจำปาเป็นชายร่างเล็กผิวคล้ำ ยึดอาชีพชาวนามาหลายปีมีผืนนาเพียง 8 ไร่ นอกจากทำนาของตัวเอง เขายังรับจ้างเป็นชาวนา ทำนาหว่านดำในแปลงของนายทุนคู่กับอาชีพรับจ้างทั่วไป เขาเป็นเกษตรกรอีกคน ที่พอสิ้นฤดูกาลทำนาครั้งใด จะพบว่ารายได้จากการขายข้าวแทบจะเท่าหรือต่ำกว่าทุนที่ลงไป โดยต้นทุนส่วนใหญ่มาจากการเช่ารถไถที่สูงถึงวันละ 800 บาท
ต้นเดือนมีนาคมปีนี้ หลังจากได้รับมอบควายจากธนาคารโคฯ เขาก็คาดหวังว่าควายจำปาจะช่วยเปลี่ยนเขาเป็นชาวนาเต็มขั้น ทว่าการใช้ควายทำนาไม่ใช่เรื่องง่าย กระทั่งเข้ามาที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เขาก็พบว่าการฝึกควายทำนาไม่ง่ายแต่ก็ไม่ไกลเกินหวัง
สำหรับนิด สมบูรณ์ เป็นหัวหน้าปราชญ์ชาวบ้าน เป็น 1 ใน 6 ครูฝึกสอนคนและควายที่ผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามาเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ปัจจุบันนิดยังมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.ศาลาลำดวน จ.สระแก้ว การได้คลุกคลีอยู่กับควายและทุ่งนามาตั้งแต่เกิดและได้สืบทอดภูมิปัญญาการทำนาด้วยควายมาจากรุ่นพ่อ เขาจึงมีความชำนาญในการฝึกควายและเข้าใจควายมากเป็นพิเศษ
"ควายจำปาถ้าฝึกดีๆ จะใช้งานได้ดีมากเพราะเป็นควายฉลาด ใช้ดีกว่าทุกตัวที่ฝึก วันหนึ่งทำนาได้ไม่ต่ำกว่า 2 ไร่ กลัวแต่เจ้าของควายจะเหนื่อยก่อน แต่รับรองว่าพอฝึกเป็นแล้วควายตัวนี้จะใช้ไม่เบื่อ เหมือนขับรถเป็นใครๆ ก็อยากขับเร็วแต่จะฝึกยาก พอเป็นแล้วมันจะเริ่มเกเร เพราะมันเรียนรู้ว่าเกเรแล้วได้พัก" คำพูดของ ผญ.นิดยืนยันว่าควายไม่ได้โง่
ผญ.นิดยกตัวอย่างเคล็ดการเลี้ยงควายที่สืบทอดกันมาแต่โบราณว่า ถ้าอยากให้ควายจำเจ้าของได้ให้กลั้นลมหายใจบ้วนน้ำลายทาที่หน้าผากควายหรือถุยน้ำลายใส่ควาย หรือถ้าอยากให้ควายพร้อมทำงาน หนักก็ให้กลั้นลมหายใจ แล้วใช้ฝ่าเท้าถูไปที่บ่าหรือก้านคอควาย เพื่อสื่อกับควายว่าอยากให้บ่าของมันหนาเหมือนเท้าเจ้าของ
สิ่งที่จุดประกายให้ ผญ.นิดยอมตากแดดอาบเหงื่อและปากเปียกปากแฉะเพื่อสอนควายและคนทำนา มาจากความกลัวว่าวิชาความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำนาด้วยควายที่อุตส่าห์รับช่วงมาจากพ่อจะสูญหายไปพร้อมกับตัวเขาเอง
กอปรกับเห็นว่า แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงห่วงใยและให้ความสำคัญกับชาวนาและควายไทย แล้วไยลูกชาวนาตั้งแต่เกิดเช่นเขาจึงไม่ห่วงใยเพื่อนร่วมอาชีพกันเอง
"ผมอยากให้วิถีเก่าๆ มันกลับมา และอยากให้ควายกลับมามีชีวิตชีวาในท้องนา ไม่อยากให้เราทำลายวิถีเก่าๆ ที่ดีงาม" ผญ.นิดทิ้งท้าย
แม้ว่าการฝึกอบรมที่ "โรงเรียนสอน ควาย" ทั้งควายและคนจะไม่ต้องเสียสตางค์สักบาท มิหนำซ้ำผู้เข้าอบรมยังกินฟรีอยู่ฟรี ได้รับเงินวันละ 200 บาทตลอดการอบรม เพื่อชดเชยรายได้ที่เกษตรกรเสียโอกาสทำได้ระหว่างอยู่ที่โรงเรียน แต่ถึงอย่างนั้น อ.นิพนธ์แอบกระซิบบอกว่า ผ่านมา 6 รุ่น มีนักเรียนไม่ถึงครึ่งที่เต็มใจสมัครมาเรียนเองโดยไม่ต้องบังคับเกลี้ยกล่อมให้มากความ
เนื่องจากเกษตรกรหลายคนยังคงติดกับดักของควายเหล็กที่ล่อลวงด้วยระยะเวลาการผลิตที่สั้นหรือเร็วกว่าควายหลายเท่า และความสามารถในการผลิตของเครื่องจักรที่ไถนาได้วันละหลายสิบไร่ ขณะที่ควายไถได้เฉลี่ยไม่เกิน 1 ไร่ด้วยข้อจำกัดที่ต้องทำงานเฉพาะช่วงเช้าและเย็น เฉลี่ย 5-6 ชั่วโมงต่อวัน เพราะควายทนร้อนไม่ดีนัก ดังนั้นควายตัวหนึ่งจึงทำนาได้ไม่เกิน 10 ไร่ต่อฤดูทำนา
นี่จึงเป็นเหตุผลให้ "กาสรกสิวิทย์" เริ่มต้นรณรงค์ไปที่เกษตรกรรายย่อยที่มีแปลงนาขนาดเล็กไม่เกิน 10-20 ไร่
อย่างไรก็ดี การทำนาด้วยควายก็มีแง่งามหลายประการที่ไม่ควรถูกมองข้าม เช่น ควายตัวหนึ่งถ่ายมูลราว 1.5-2 ตันต่อปี หากเกษตรกรรายย่อยใช้ควายไถนากันมากขึ้นก็เท่ากับปรับปรุงและพลิกฟื้นคืนชีวิตให้แผ่นดินได้หลายล้านไร่ ทั้งยังลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ไร่ละราว 30-50 กก. ลดการใช้น้ำมันได้อย่างน้อย 3.3 ลิตรต่อไร่ การใช้ควายแทนเครื่องจักรจึงช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย
บางคนอาจคิดว่า แนวคิดการหันกลับมาใช้ควายทำนาขัดกับความเป็นจริง ณ วันนี้ ซึ่งวิถีการปลูกข้าวของไทยมุ่งหน้าเข้าสู่รูปแบบอุตสาหกรรมระบบนายทุนอย่างเต็มตัว และมาไกลเกินกว่าจะถอยหลัง (เข้าคลอง)
อย่างน้อยทั้ง ผญ.นิดและ อ.นิพนธ์ แม้กระทั่ง "ผู้ใหญ่" ที่เกี่ยวข้องก็ยังคาดหวังว่า โรงเรียนแห่งนี้จะจุดประกายให้เกษตรกรรายย่อยผู้ที่ไม่เคยมองเห็นความสุขในระบบอุตสาหกรรมการเกษตร หรือกำลังมองหาความพอเพียงเป็นที่พึ่ง ได้เห็นว่าวิถีการทำนาด้วยควายเป็นทางออกที่น่าสนใจ
ทั้งยังเป็นทางรอดและการกู้คืนศักดิ์ศรีของควายไทยให้กลับมาเคียงข้างวิถีชาวนาไทย เพราะในวิถีแบบเดิม ควายไม่ได้เป็นเพียงสัตว์แรงงาน แต่ยังเป็นสัตว์สังคมที่ผูกพันกันมานับแต่บรรพบุรุษและมีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวนาไทย
หาใช่เพียงสัตว์เศรษฐกิจหรือเครื่องจักรผลิตที่มีประสิทธิภาพต่ำจนไร้ค่า กระทั่งต้องเอาออกจากสังคมเกษตรระบบอุตสาหกรรมทุนนิยมเฉกเช่นวันนี้
และเมื่อถึงวันนั้น บทเพลง "เขมรไล่ควาย" ที่ร้องว่า ...เราชาวนาอยู่กับควาย พอเสร็จงานไถ เราจูงฝูงควายคืนบ้าน... ก็คงถูกขับขานอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|