|
เรียนจีนบนดอย แต่คุณภาพระดับพื้นราบ
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
"เหล่าซือห่าว..."
เสียงเจื้อยแจ้วลอยคละเคล้ากับสายหมอกยามเช้าบนยอดดอยวาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นเหมือนเสียงนาฬิกาปลุก ที่คนพื้นถิ่นคุ้นเคยมานานกว่า 50 ปี
โดยเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ที่ลูกหลานสมาชิกกองพล 93 แห่งก๊กมินตั๋งในอดีต จะตื่นกันตั้งแต่เช้าตรู่ก่อน 05.30 น. เพื่อเข้าเรียนภาษาจีนที่โรงเรียนกวงฟูวิทยาคม โรงเรียนสอนภาษาจีนที่ก่อตั้งมานานเกือบ 60 ปี บนพื้นที่เชิงเขาสูงของดอยวาวีแห่งนี้
พวกเขาและเธอเหล่านี้สมัครใจที่จะเข้ามาเรียนภาษาจีนที่นี่จนถึง 6.50 น. ก่อนจะกลับไปเปลี่ยนชุดนักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนสามัญตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการในเวลา 08.00-16.00 น. และกลับมาที่โรงเรียนกวงฟูอีกรอบในเวลา 17.30-20.30 น.
ส่วนวันเสาร์ เด็กๆ เหล่านี้จะงดกิจกรรมเที่ยวเล่นเพื่อเข้าห้องเรียนภาษาจีน ตั้งแต่ 08.00-15.00 น.
ทำให้รอบสัปดาห์ เด็กนักเรียนบนดอยวาวีจะมีเวลาเที่ยวเล่น-ทำกิจกรรมเหมือนเด็กทั่วไป เฉพาะวันอาทิตย์วันเดียวเท่านั้น
อำนวย ภักดีไพศาล หรือเหยิน เซียะ ชิง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนกวงฟูวิทยาคม ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย บอกกับผู้จัดการ 360 ํ ว่าลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนบนดอยวาวี จะถูกส่งมาเรียนภาษาจีนที่นี่ บางส่วนก็จะมีชาวเขาเผ่าอื่นๆ ที่เริ่มเห็นความสำคัญของภาษาจีนมาร่วมเรียนด้วย
โรงเรียนกวงฟูวิทยาคมเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ อยู่ในกำกับของ สพท.เขต 2 เชียงราย เปิดสอนภาษาจีนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้หลักสูตรการเรียนการสอนของไต้หวันทั้งหมด
เป็น 1 ใน 100 กว่าโรงเรียนสอนภาษาจีนในภาคเหนือตอนบน ที่เครือข่ายกองพล 93 ในอดีตก่อตั้งขึ้นตามถิ่นฐานที่อยู่ และได้รับอนุญาตจากทางการไทย โดยในเขตเชียงรายมีอยู่ 62 โรง, เชียงใหม่ 36 โรง และแม่ฮ่องสอน อีก 5-6 โรงเรียน
แต่ละปีกระทรวงศึกษาธิการของไต้หวันจะให้การสนับสนุนเรื่องหนังสือ-ตำราเรียนภาษาจีนให้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีเงินทุนจากองค์กรการกุศลต่างๆ อีกไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท เข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง เนื่องจากโรงเรียนสอนภาษาจีนเหล่านี้ไม่ได้รับงบประมาณรายหัวจากกระทรวงศึกษาธิการของไทย ทำให้โรงเรียนเหล่านี้ต้องอาศัยเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าเล่าเรียนได้ในราคาต่ำ เฉลี่ยปีละประมาณ 1-3 พันบาทต่อคน
โดยโรงเรียนสอนภาษาจีนในเครือข่ายกองพล 93 ที่รับการสนับสนุนจากไต้หวันเหล่านี้ ก็จะใช้หลักสูตรการเรียนการสอนของไต้หวัน ที่เรียนภาษาจีนกลางตามแบบอักษรเต็ม
ที่มีมากกว่า 30,000 ตัว แตกต่างจากการเรียนภาษาจีนตามแบบแผ่นดินใหญ่ หรือปักกิ่ง ที่ปัจจุบันจะใช้ตัวย่อประมาณ 2,300 กว่าตัวเข้ามาใช้
เหยิน เซียะซิง ย้ำว่าการเรียนภาษาจีนตามแบบอักษรดั้งเดิม หรือเต็มรูปแบบจะทำให้สามารถอ่านตัวย่อของจีนแผ่นดินใหญ่ได้ด้วย นอกจากนี้อักษรตัวเต็มยังมีพลัง และถ่ายทอดศิลปะที่สืบทอดกันมานานหลายพันปีได้ดีกว่าด้วย
เฉพาะสำหรับโรงเรียนกวงฟูฯ ดูเหมือนจะพัฒนาไปได้เร็วกว่าโรงเรียนสอนภาษาจีนในเครือข่ายกองพล 93 อื่นๆ เมื่อได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณเพิ่มเติมจากมูลนิธิมหาโพธิ์ ที่มีพระอาจารย์ปัญญาแห่งสภาสงฆ์จีนโลก ซึ่งได้รับสัญชาติไทยแล้ว
ทำให้กวงฟูฯ สามารถขยับขยายจากอาคารที่เป็นกระต๊อบ มุงจาก จนซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเองได้ สร้างอาคารถาวรเต็มพื้นที่เชิงเขาติดชุมชนวาวี และเข้าเงื่อนไขขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเอกชนของกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนที่จะยื่นขอ Work Permit ให้กับครูอาสาจากไต้หวัน มาสอนที่โรงเรียนได้โดยตรง เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนภาษาจีนให้กับนักเรียนในสังกัดได้
จนถึงปัจจุบันโรงเรียนกวงฟูวิทยาคมมีนักเรียนมากกว่า 2 พันคน มีครูทั้งที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน-ครูอาสาจากไต้หวัน รวม 40 กว่าคน
ไม่เพียงเท่านั้นกวงฟูวิทยาคม ยังเปิดหลักสูตรเรียนภาษาจีนภาคฤดูร้อน รองรับกระแสความต้องการเรียนภาษาจีนในไทยที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายนของทุกปี โดยเปิดสอนภาษาให้กับคนทั่วไป ในราคาคนละ 8,000 บาท (รวมค่าที่พัก-อาหาร)
อำนวยรับรองว่า 1 เดือนเต็มนี้ โรงเรียนสามารถสอนให้ผู้เรียนพูด อ่าน เขียนภาษาจีนได้อย่างแน่นอน โดยตลอดทั้งวันทั้งคืนของวันจันทร์-เสาร์ จะพูดกันแต่ภาษาจีน ส่วนวันอาทิตย์ โรงเรียนจะจัดโปรแกรมทัศนศึกษานอกสถานที่ให้
"6 ปีที่เปิดคอร์สภาคฤดูร้อน มีผู้สนใจมาเรียนจากทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากภูเก็ต กรุงเทพฯ ขอนแก่น ฯลฯ บางคนมีอายุ 70 กว่าปีก็เข้ามาเรียน เพื่อนำกลับไปใช้ติดต่อค้าขายกับชาวจีนที่มีอยู่ทั่วโลก"
แตกต่างจากโรงเรียนสอนภาษาจีนเครือข่ายกองพล 93 อื่นๆ เช่น โรงเรียนซิงหัว ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง ที่มีหยาง เผิงเสี้ยว หรือสมพงษ์ ชีวินวนตระกูล เป็นอาจารย์ใหญ่
หยาง เผิงเสี้ยว บอกกับผู้จัดการ 360 ํ ผ่านชิง เหวินฉุ่ย (วรรณา แซ่จัง) ที่มาทำหน้าที่ล่าม ว่าซิงหัวก่อตั้งมาแล้ว 45 ปี โดยนายพลต้วน ซีเหวิน บนที่ดินส่วนหนึ่งของสุสานชาวจีนบนดอยแม่สลอง เพื่อให้ลูกหลานชาวจีนเรียนรู้ภาษาบรรพบุรุษ จะได้ติดต่อสื่อสารกันได้
ซึ่งยุคแรกก็เป็นเหมือนโรงเรียนสอนภาษาจีนทุกแห่งในไทยที่ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ จนหลายครั้งต้องหลบไปสอนกันในศาลเจ้า วัด หรือมัสยิด ฯลฯ
แต่หลังจากลูกหลานกองพล 93 ได้รับการช่วยเหลือจากเครือข่ายก๊กมินตั๋งในต้หวัน ทั้งด้านการศึกษาต่อในไต้หวัน และงบประมาณสนับสนุนอื่นๆ รวมถึงความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนได้รับการพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2521 (ค.ศ.1978) ทำให้โรงเรียนสอนภาษาจีนพลิกฟื้นสถานะขึ้นมาได้มากขึ้น
นอกจากนี้บรรดาศิษย์เก่าที่เข้าไปมีบทบาททางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ต่างก็กลับมาให้การสนับสนุน ทั้งนายกสมาคมหยุนหนัน-ไทย และอดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนซิงหัวกับเขา เป็นต้น ทำให้แต่ละโรงเรียนเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนภาษาจีนให้ดียิ่งขึ้น โดยในปี 2525 เคยมีนักเรียนมากที่สุดถึง 1,500 คน
ส่วนวรรณาที่เป็นล่าม เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนซิงหัวคนหนึ่ง ที่ได้แสดงความสามารถด้านภาษาจีนจนเรียนจบมหาวิทยาลัยรามคำแหง เอกภาษาจีนได้ภายใน 2 ปีครึ่ง
ปัจจุบันโรงเรียนซิงหัว มีนักเรียน 550 คน เรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีครูเพียง 12 คน ทั้งที่จริงต้องมีไม่น้อยกว่า 18 คน แถมปีที่แล้วโรงเรียนซิงหัวยังต้องเสียครูสอนภาษาจีนจากพม่าและอื่นๆ ถึง 4 คน ด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งเรื่องที่พัก-ใบอนุญาตทำงาน รวมถึงแหล่งจ้างงานที่อื่นที่ดีกว่า
อำนวย ภักดีไพศาล อาจารย์ใหญ่โรงเรียนกวงฟูวิทยาคม และสมพงษ์ ชีวินวนตระกูล อาจารย์ใหญ่โรงเรียนซิงหัว บอกในทำนองเดียวกันว่า จีนแผ่นดินใหญ่เคยส่งเจ้าหน้าที่มาหารือหลายครั้ง พร้อมกับยื่นข้อเสนอที่จะให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องทุน-อุปกรณ์การเรียนการสอน-หนังสือ แก่โรงเรียนในเครือข่าย 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน จำนวน 100 กว่าโรง ภายใต้เงื่อนไขให้ใช้หลักสูตรของจีนแผ่นดินใหญ่
"เราปฏิเสธไป เพราะใช้หลักสูตรไต้หวันสอนมานานแล้ว"
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสอนภาษาจีนทั้ง 2 แห่งสะท้อนความเป็นไปของการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ขณะนี้ ถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีโรงเรียนสอนภาษาจีนมากกว่า 2,000 โรง รวมถึงบราซิล กลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ และเกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่นิยมเรียนภาษาจีนกันมากขึ้น ขณะที่ไทยทั้งประเทศขณะนี้มีอยู่ 500 กว่าโรงเท่านั้น
"ตอนประชุมตัวแทนโรงเรียนจีนทั่วโลกที่ไทเปไม่กี่ปีก่อน ผมต้องยกมือหลายครั้งกว่าจะได้สิทธิ์แสดงความเห็น เพราะไม่ทันตัวแทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เดินทางมาร่วมประชุมกันหลายพันคน" เหยิน เซียะซิง หรืออำนวย แห่งโรงเรียนกวงฟูฯ กล่าว
เหยิน เซียะ ซิง ย้ำว่า ตอนนี้รัฐบาลไทยต้องการสนับสนุนให้มีการเรียนภาษาจีนมากขึ้น แต่ดูเหมือนจะช้าไป เมื่อเทียบกับกระแสความตื่นตัวเรื่องนี้ในหลายประเทศทั่วโลก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|