100 ปีโรงเรียนจีนบนแผ่นดินไทย

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

โรงเรียนจีนในเมืองไทยเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการก่อเกิดชุมชนชาวจีนบนผืนแผ่นดินไทยที่กระจายตัวทำมาค้าขายตามท่าน้ำ ท่าเรือ สถานีรถไฟและชุมชนในหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ

เมื่อการก่อตั้งชุมชนมั่นคงเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่น ก็จะมีการก่อตั้งศาลเจ้า สุสาน และโรงเรียนจีนตามมาสนองตอบต่อจารีต วิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรม และดำรงอัตลักษณ์ของชนชาติจีนสืบต่อกันมา

การจัดตั้งโรงเรียนจีนของชาวจีนในช่วงเริ่มต้น มีเป้าหมายเพื่อให้ลูกหลานมีโอกาสเรียนรู้หนังสือจีนสนองต่อการทำมาค้าขาย ซึ่งมีข่ายการค้าอยู่ทั่วประเทศไทย และนานาประเทศเพื่อนบ้าน โดยช่วง ค.ศ.1900 เป็นช่วงที่เมืองจีนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ชนชาวจีนในมณฑลทางใต้ เช่น กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ ฯลฯ ได้อพยพมายังประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้มากมาย

จนสามารถสร้างฐานทางเศรษฐกิจให้กับตนเองและก่อความรุ่งเรืองให้กับภาคเศรษฐกิจของท้องถิ่น

กระทั่ง ค.ศ.1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นช่วงที่มีกระแสจีนอพยพครั้งใหญ่ และโรงเรียนสอนภาษาจีนมีความรุ่งเรืองสูงสุด

ต่อมาในปี ค.ศ.1955 ทางการไทยได้เข้มงวดและสั่งปิดโรงเรียนสอนภาษาจีนในประเทศไทยหลายแห่ง โดยจำกัดการสอนภาษาจีนให้เหลือเฉพาะระดับประถมต้น พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ศึกษาธิการ ตรวจสอบโรงเรียนสอนภาษาจีนอย่างเข้มงวด มีการจับกุมนักเรียน ครู ผู้สอนที่ฝ่าฝืนแอบเรียนภาษาจีนตามสถานที่ต่างๆ จนเกิดวลีที่ว่า "เรียบร้อยโรงเรียนจีน"

ถือเป็นจุดที่ทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยถดถอย

ซึ่งนโยบายดังกล่าวดำเนินการอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นผลให้ปัจจุบันคนไทยเชื้อสายจีนวัยหนุ่มสาวหลายคนพูดและอ่านหนังสือจีนไม่ได้เลย

ปณิธิ ตั้งผาติ ที่เพื่อนพ้องชาวจีนเรียกเขาว่า "เฉินฮั่นจั่น" ผลักดันให้มีการก่อตั้งเครือข่ายโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งประเทศไทย ในรูปแบบคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชนขึ้น

เขาบอกว่า การรู้ภาษาจีนของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศในเอเชียแล้ว ไทยอยู่ในอันดับเกือบสุดท้าย เหนือกว่าอินโดนีเซียประเทศเดียว

แพ้ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์

ทั้งที่ตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 ซึ่งเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งสำคัญของประเทศจีน พร้อมกับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนได้เริ่มขึ้น พัฒนาการทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีของจีนได้มีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและรวดเร็ว มีตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเลข 2 หลักติดต่อกันกว่า 30 ปี สถานะทางการเมืองของจีนกับนานาชาติก็เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก

จีนแสดงออกถึงศักยภาพให้ชาวโลกได้เห็นอย่างประจักษ์ชัดแจ้งในกิจกรรมต่างๆ เช่น การดูแลเกาะฮ่องกง-มาเก๊า ที่กลับคืนสู่อ้อมอกของจีน การส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ การส่งดาวเทียมโคจรไปยังดวงจันทร์ การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รวมถึงการบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มณฑลเสฉวน เมื่อปี 2551

ในปีนี้ อันเป็นปีแห่งการถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกตะวันตก ขณะที่จีนเองแม้จะต้องพึ่งความเติบโตจากการส่งออกสินค้าไปยังตะวันตก ก็สามารถปรับพื้นฐาน หันมาพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศจีน ด้วยความรวดเร็วและสามารถรักษาการเติบโตของจีนในระดับร้อยละ 7

นอกจากสถานะทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี มีความแข็งแรงแล้ว ความมีวัฒนธรรมโบราณที่ต่อเนื่องมานานกว่าห้าพันปี มีหลักเกณฑ์ทางปรัชญาตะวันออก ลัทธิขงจื๊อ เต๋า ผสมประสานกับศาสนาพุทธที่กลมกลืนด้วยกัน มีอักษรฮั่น มีอักขระอันเป็นอักษรที่ชนชาติจีนได้ใช้ร่วมกันมากกว่าสองพันปี เป็นอักษรและภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดในโลกใบนี้ มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อภาษาจีน สามารถใช้ควบคู่กับการเติบโตเทคโนโลยีที่อุบัติขึ้นใหม่ๆ อย่างได้ผลและชัดเจน

มาถึงวันนี้การศึกษาภาษาจีนของประเทศไทยต้องรีบเร่งพัฒนาให้แข็งแรง

สมัยรัฐบาลที่แล้ว จาตุรนต์ ฉายแสง ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เคยนำคณะไปเยือนปักกิ่งเพื่อขอความร่วมมือต่อกระทรวงศึกษาธิการประเทศจีน ก็ได้รับการตอบสนองอย่างมากมาย อาทิ โครงการส่งครูมาสอนภาษาจีนในสถานศึกษาทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี การพัฒนาคนไทยเพื่อเป็นครูสอนภาษาจีน การจัดตั้งสถาบันขงจื๊อ โครงการช่วยเหลือทางวิชาการ และหนังสือเรียนจากประเทศจีน ซึ่งเป็นงบประมาณปีละมากกว่า 500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้การตื่นตัวและรับการช่วยเหลือจากจีนได้มีขึ้นหลายปีแล้ว แต่ผลการเรียนภาษาจีนของเด็กไทยยังคงอ่อนแอได้ผลน้อย เนื่องจากไม่มีแผนการจัดการอย่างหวังผล

ปณิธิบอกว่าที่ผ่านมามีการกระจายครูจีนไปยังสถานศึกษาต่างๆ แต่ขาดการเตรียมพร้อมของสถานศึกษาและผู้บริหารการสอนจึงเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ มีชั่วโมงเรียนสัปดาห์ละ 1-2 คาบ จึงไม่อาจทำให้การเรียนภาษาจีนบังเกิดผลได้

ถ้าดูผลการสอบแข่งขันและวัดผลมาตรฐานภาษาจีน HSK แต่ละปีของเด็กจากโรงเรียนสอนภาษาจีน 122 แห่งในสังกัดการศึกษานโยบายพิเศษเอกชนแล้ว จะพบว่ามีเพียงกลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนภาษาจีน 20 กว่าแห่งเท่านั้นที่วนเวียนได้อันดับต้นๆ

ซึ่งโรงเรียนสอนภาษาจีน 20 กว่าแห่งจาก 122 แห่งนี้ ล้วนได้รับการสนับสนุนจากชุมชน เช่น มูลนิธิ สมาคม ศาลเจ้า และเสี้ยวต่ง ซึ่งให้การทุ่มเทสติปัญญา ทุนทรัพย์และความต่อเนื่อง โดยใช้จุดแข็งคือความเป็นเอกชนที่สามารถประสานกับภายนอกและภายในได้ มีข่ายการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ

คำถามคือ ทำอย่างไรจึงจะใช้บทเรียนความแข็งแรงของประสบการณ์และทุนทางสังคมของโรงเรียนเหล่านี้ ไปแบ่งปันและขยายความร่วมมือให้กับโรงเรียนอื่นๆ ได้

เขามองว่า ในอนาคตโรงเรียนจีนในแต่ละภูมิภาคต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสาน โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมพลังชุมชนท้องถิ่น องค์กร สมาคม มูลนิธิ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาภายใต้ภูมิภาคของตนเองอย่างมีระบบแบบแผน ทั้งด้านแนวคิด บุคลากร สื่อการสอน การจัดการ รวมถึงการมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกระดับกระบวนการและวิธีทำงานภายในกลุ่มเชื่อมเป็นเครือข่ายให้เรียนรู้ทันกันทั้งประเทศ ทั้งด้านข้อมูล ทักษะการบริหารจัดการที่ทันสมัย

ซึ่งเป็นทางรอด ทางเลือก และความเป็นไปได้ที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในการเรียนรู้ภาษาจีนของคนไทยที่ใกล้ที่สุดทางหนึ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.