|
Yuan Zone อาวุธหนักที่รอสับไก
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับจากการเยือนจีนอย่างเป็นทางการ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ประเด็นหนึ่งที่หยิบยกขึ้นมาถกกันแม้ยังไม่เป็นในวงกว้างแต่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือการนำเงินหยวนมาเป็นสื่อกลางการค้าระหว่างไทยและจีนได้โดยตรง
เฉลิมพรเป็นลูกหลานชาวจีนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่มาได้ภรรยาเป็นคนเชียงของ จังหวัดเชียงราย เขามาอยู่เชียงรายได้ 10 กว่าปีแล้ว
เฉลิมพรเคยเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานอยู่ในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งก่อนฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 คนอย่างเฉลิมพรเคยถูกสื่อเรียกขานกันว่าเป็น "มนุษย์ ทองคำ" เพราะสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในแต่ละวัน
แต่จากวิกฤติในปี 2540 เฉลิมพรต้องออกจากงาน เพราะบริษัทปิด เขาจึงพาภรรยาเดินทางกลับมาหาช่องทางทำมาหากินที่บ้านในอำเภอเชียงของ
เฉลิมพรลองทำงานมาหลายประเภท ทั้งเป็นเซลส์ขายรถยนต์ เช่าตึกแถวค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว
ที่ร้านขายก๋วยเตี๋ยวนี่เอง ทำให้เขาเริ่มสังเกตเห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นั่นคือลูกค้าที่เป็นชาวจีน ซึ่งเดินทางผ่านลาว และข้ามมายังฝั่งไทยค่อยๆ มีเพิ่มขึ้นๆ
ลูกค้าหลายคนมากินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านของเขาบ่อย จนเริ่มสนิทกัน
จากการพูดคุยกับลูกค้าเหล่านั้น ทำให้เฉลิมพรรู้ว่าในมณฑลหยุนหนัน มีความต้องการเกลือทะเลเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นสินค้าราคาแพง ต้องสั่งซื้อผ่านทางมณฑลที่อยู่ทางภาคตะวันออก ซึ่งมีค่าขนส่งสูง
เมื่อมองเห็นช่องทาง เขาจึงลองสั่งซื้อเกลือจากนาเกลือในจังหวัดสมุทรสาคร ฝากลูกค้าก๋วยเตี๋ยวที่สนิทกัน ให้นำขึ้นไปขายที่หยุนหนัน เวลาคนเหล่านี้เดินทางกลับ
ปรากฏว่าอาชีพใหม่ของเฉลิมพรประสบความสำเร็จ เขากลายเป็นผู้ส่งออกเกลือรายย่อยที่มีตลาดส่วนหนึ่งอยู่ในมือ
เขาเริ่มมองหาสินค้าจากจีนที่ตลาดในไทยกำลังต้องการ แล้วให้อดีตลูกค้าก๋วยเตี๋ยวที่ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นคู่ค้าของเขาเป็นผู้จัดหาให้
อุปสรรคอย่างเดียวที่เฉลิมพรพบในอาชีพใหม่ คือการที่คู่ค้าชาวจีนของเขานิยมใช้เงินหยวนเป็นสื่อกลางในการซื้อขาย ซึ่งหาสถานที่แลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาทไทยในอัตราที่น่าพอใจค่อนข้างยาก
ถ้าจะแลกจากธนาคารพาณิชย์ ส่วนต่างระหว่างอัตราซื้อกับขาย ก็ห่างกันถึงหยวนละ 1 บาท หรือกว่า 20%
หากเก็บเงินหยวนไว้กับตัวมากเกินไป เขาก็ไม่รู้ว่าจะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนทำอะไร เพราะตลาดยังไม่เปิด
เฉลิมพรจึงต้องอาศัยตลาดแลกเปลี่ยนนอกระบบ ที่ให้อัตราดีกว่าธนาคารพาณิชย์และบ่อยครั้งที่ต้องใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสินค้าตามมูลค่าที่เท่ากัน โดยไม่ต้องมีเงินตราเป็นตัวกลางเข้ามาช่วยในการค้าขายแทน
พ่อค้าอย่างเฉลิมพรยังมีอีกเป็นจำนวนมากในแถบชายแดนภาคเหนือ ที่มีช่องทางค้าขายกับจีนได้สะดวก
ปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทและหยวน เป็นปัญหาที่พ่อค้าชายแดนไทยเผชิญอยู่ตลอดตั้งแต่ปริมาณการค้าผ่านแดนระหว่างไทยและจีนมีมากขึ้น
มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกันบ่อยครั้ง ทั้งในระดับหอการค้าและพัฒนาเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.)
ล่าสุด ในการประชุม คสศ.และหอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2552 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้ผลักดันให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่น โดยเฉพาะเงินหยวนในการแลกเปลี่ยนกันโดยเสรีกับเงินบาท และกำหนดให้สมาชิก คสศ.-หอการค้า นำเรื่องนี้เข้าหารือในทุกเวทีที่มีโอกาสทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในเวทีสภาหอการค้าไทย, คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร), สมาคมไทย-หยุนหนัน รวมถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ฯลฯ
ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญที่มติของ คสศ.ครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับที่ทางการจีน โดยรัฐบาลปักกิ่งมีนโยบายที่จะยกระดับให้เงินหยวนเป็นเงินตราสากล (International Currency) โดยเริ่มจากการให้เงินหยวนเข้ามามีบทบาทเป็นสื่อกลางในการค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศมากขึ้น
เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งได้ผ่อนปรนมาตรการหลายอย่างที่ส่งผลให้เงินหยวนเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี อาทิ
1 พฤศจิกายน 2551 รัฐบาลจีนอนุญาตให้ชาวจีนที่อยู่บริเวณชายแดนสามารถนำเงินข้ามไปซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเสียภาษี จากเดิมวันละ 3,000 หยวนต่อคน เป็นวันละ 8,000 หยวนต่อคน
24 ธันวาคม 2551 รัฐสภาจีนเปิดทางให้การค้าระหว่างเมืองชายฝั่งตะวันออกบริเวณปากแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) และปากแม่น้ำจูเจียง นำร่องชำระเงินเพื่อการค้าด้วยหยวนกับฮ่องกง-มาเก๊า และระหว่างมณฑลหยุนหนัน และเขตปกครองตนเองของชาวจ้วงในมณฑลกว่างสีกับอาเซียน
8 เมษายน 2552 รัฐสภาจีนให้พื้นที่ชายฝั่งตะวันออก คือ มหานครเซี่ยงไฮ้ และ 4 เมืองในกวางตุ้ง คือ กวางโจว เซินเจิ้น จูไห่ และตงกวน นำร่องชำระเงินด้วยสกุลหยวน เพื่อการค้าระหว่างประเทศ ได้ พร้อมกับส่งเสริมการจัดทำข้อตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนสกุลเงิน (Currency swap arrangement) กับประเทศต่างๆ เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และส่งเสริมการใช้เงินหยวนแทนเงินดอลลาร์
2 กรกฎาคม 2552 ธนาคารกลางจีน (The People's Bank of China) ออกประกาศกฎระเบียบวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการนำร่องชำระเงิน เพื่อการค้าด้วยสกุลหยวนระหว่างเมืองนำร่องของจีนกับฮ่องกง มาเก๊า และอาเซียน ทำให้ทุกประเทศในอาเซียนสามารถชำระเงินหยวนเพื่อการค้ากับเมืองที่ได้รับอนุญาตได้
ซึ่งหมายรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน แต่ขณะนั้นยังไม่มีธนาคารพาณิชย์รายใด ที่เปิดให้บริการอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ขณะที่จีนและบราซิลก็กำลังเริ่มศึกษาการใช้เงินท้องถิ่นในการค้าระหว่างกันและค่อยๆ เลิกใช้ดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งความเคลื่อนไหวเหล่านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด
"การที่จะให้เงินหยวนเป็น international currency ได้นั้นก็ต้องมีขั้นตอน คืออย่างแรก ต้องให้เงินหยวนสามารถเป็นสื่อกลางในการค้าขายได้ก่อน หลังจากนั้นก็สามารถนำเงินหยวนไปใช้เพื่อการลงทุนได้ และขั้นตอนสุดท้ายคือทุกประเทศยอมรับให้เงินหยวนเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ" สุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. อธิบายกับ ผู้จัดการ 360 ํ
ในระดับประเทศ การผลักดันเงินหยวนให้เป็น international currency นั้นอาจยังต้องใช้เวลา เพราะจีนเองก็ต้องผ่อนปรนมาตรการอีกหลายอย่างให้สถาบันการเงิน สามารถนำเงินหยวนกลับไปลงทุนในจีนหรือที่อื่นๆ ได้ เพราะไม่เช่นนั้นสถาบันการเงินก็ไม่อยากรับแลกเปลี่ยนเงินหยวนจากลูกค้า หรือหากจะรับก็ถ่างช่องว่างระหว่างอัตราซื้อและขายให้กว้างเอาไว้ เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน
ที่สำคัญ ประสบการณ์จากที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของไทยอย่างรุนแรงนั้น จีนใช้ปรากฏการณ์นี้มาเป็นบทเรียน ก่อนที่จะปล่อยให้เงินหยวนสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี เพราะรัฐบาลจีนไม่ต้องการให้นโยบายนี้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ จึงต้องศึกษาเพื่อวางมาตรการป้องกันเอาไว้โดยละเอียด
"จะสังเกตได้ว่าเขาใช้วิธีการค่อยๆ ผ่อนคลายทีละระดับ เพราะเขาเองก็ต้องระวังว่าถ้าเปิดไปแล้ว จะมีผลกระทบกลับไปถึงเขาอย่างไรบ้าง"
แต่ในระดับท้องถิ่น จากปริมาณเงินหยวนที่หมุนเวียนอยู่ในการค้านอกระบบ ทำให้นักธุรกิจท้องถิ่น ต้องการให้เงินเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ เพราะจะช่วยให้ปริมาณการค้าระหว่างไทยและจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
คณิต ขันมอญ เจ้าของเลาลีฮิลล์รีสอร์ท บนดอยวาวีที่ค้าขายกับจีนมานาน มองว่าหากไทยและจีนซื้อขายสินค้ากันโดยใช้เงินหยวนได้ จะทำให้การค้าย่านนี้เติบโตแบบเห็นหน้าเห็นหลังแน่นอน
รายงานการศึกษาของ ธปท. สำนักงานภาคเหนือ ระบุว่าการค้าชายแดนไทย-จีนผ่านเส้นทางแม่น้ำโขงและถนน R3 มีรูปแบบการชำระเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ ด้วยสกุลดอลลาร์สหรัฐเพียง 0.6% เท่านั้น ที่เหลือเป็นการชำระเงินโดยไม่ผ่านระบบธนาคารทั้งสิ้น
และเป็นการชำระเงินด้วยเงินสกุลท้องถิ่นถึงร้อยละ 99.0 ทั้งด้วยสกุลบาทและหยวน
โดยใช้วิธีการที่หลากหลายคือ 1. หักบัญชีคู่ค้า 32.0% 2. หักบัญชีระหว่างกลุ่มพ่อค้าหรือจับคู่ชำระเงิน 27.4% 3. ชำระผ่านตลาดแลกเปลี่ยนเงินนอกระบบ มีสัดส่วน 29.8% 4. ชำระเงินสด 9.9%
ส่วนที่ชำระเงินผ่านสถาบันการเงิน 1.0% คือ 1. ระบบ L/C 0.6% และ 2. วิธีอื่นๆ 0.3% (ชำระเงินโดยการฝากเงินสดเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์พ่อค้าไทย-หรือจีน)
ดังนั้น หากจีนเปิดให้ใช้หยวนมาเป็นสื่อกลางการค้าได้ก็จะทำให้การค้าเข้าสู่ระบบทันที พ่อค้าก็ไม่ต้องเสียค่าแลกเปลี่ยนเงิน 3 ทอด จากบาทเป็นดอลลาร์ จากดอลลาร์เป็นหยวน รวมทั้งไม่เสียส่วนต่างจากการซื้อขายเงินหยวนที่แต่ละธนาคารจะคิดแตกต่างกันไปด้วย
ธปท.สำนักงานภาคเหนือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด หลายปีที่ผ่านมาได้มีการประสานงานกับธนาคารชาติของจีน ประจำมณฑลหยุนหนัน เพื่อเตรียมมาตรการรองรับให้การซื้อขายระหว่างจีนและไทยสามารถใช้เงินหยวนเป็นสื่อกลางได้
"ธปท.ภาคเหนือเขาก็คงเห็นเป็นประโยชน์ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าทุกวันนี้ จีนเขาก็ไล่ลงมาเรื่อยๆ แล้วประเทศอื่นเขาก็เริ่มรับเงินหยวนแล้ว ถ้าเราไม่รับ เราก็อาจเสียโอกาส" สุชาดาบอก
จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สำนักงานภาคเหนือ พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการให้รายละเอียดกับผู้จัดการ 360 ํ ว่า ผู้แทนจาก ธปท.ภาคเหนือได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับมณฑลและท้องถิ่นของหยุนหนัน และเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา เกี่ยวกับการใช้เงินหยวนในการค้าในเขตสิบสองปันนามาตั้งแต่ปี 2547 รวมทั้งได้เชิญผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของจีนมาประชุม focus group ที่ ธปท.สำนักงานภาคเหนือ เพื่อกำหนดขอบเขตการชำระเงินด้วยเงินสกุลท้องถิ่นระหว่างกันด้วย
ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของพ่อค้าและธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน โดยจนถึงขณะนี้ธนาคารที่มีศักยภาพในการเปิดให้บริการชำระเงินด้วยเงินหยวนในประเทศไทยก่อน คือ Bank of China ซึ่งมีแหล่งเงินทุนเป็นเงินหยวนจำนวนมาก
ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาเซี่ยงไฮ้ และสาขาอื่นในประเทศจีนกำลังดำเนินการขออนุญาตจากทางการจีนเพื่อยกระดับเป็นธนาคารท้องถิ่นของจีน เพื่อให้สามารถทำธุรกรรมเงินหยวนได้เต็มรูปแบบ รวมถึงธนาคารกรุงไทยที่อยู่ระหว่างดำเนินการขออนุญาตทำธุรกรรมเงินหยวนจากทางการจีน
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ชาตรี โสภณพณิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับกัว เกิงเม่า ผู้ว่าการมณฑลเหอหนาน ในการขยายความร่วมมือทางการเงินระหว่างธนาคารกรุงเทพกับมณฑลเหอหนาน โดยธนาคารกรุงเทพได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลจีนให้จัดตั้งธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน โดยใช้ชื่อว่า ธนาคารกรุงเทพประเทศจีน (Bangkok Bank China: BBC) ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านหยวน มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเซี่ยงไฮ้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กันยายน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประกาศว่าเครือข่าย ธนาคารที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะเริ่มให้บริการใช้สกุลเงินหยวนเพื่อชำระเงินสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ บริการเคลียริ่ง บริการอัตราแลกเปลี่ยนและบริการธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศแก่บรรษัท และสถาบันการเงินในภูมิภาคอาเซียน
ยุทธเดช ปัทมานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายธุรกรรมการเงิน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ระบุในเอกสารแถลงข่าวว่า "โอกาสเติบโตของการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีอยู่สูง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงบทบาทและความสำคัญของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศจีนกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน จากการที่ทางการจีนมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในเวทีการค้าโลก ทำให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดสามารถให้บริการหลากหลายครอบคลุมมากยิ่งขึ้นแก่ลูกค้าบรรษัทและสถาบันการเงินในภูมิภาคอาเซียนจากโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นดังกล่าว โดยปัจจุบันธนาคารสามารถให้บริการลูกค้าที่อยู่ในไทย ฮ่องกง มาเก๊า และประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีความสนใจต้องการใช้เงินหยวนในการชำระค่าสินค้าและบริการแก่บริษัทต่างๆ ในประเทศจีน"
นอกจากนี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยังมีแผนเพิ่มบริการเงินฝากและบัญชีออมทรัพย์เป็นสกุลเงินหยวนแก่ลูกค้าบรรษัท และธุรกิจ SMEs ในไทย โดยจะเริ่มให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม
"ในฐานะธนาคารตัวแทนที่ได้รับอนุญาตจากทางการจีน และเป็นธนาคารที่สามารถให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการการค้าระหว่างประเทศเป็นเงินหยวนได้ ธนาคารคาดว่าจะสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยสามารถช่วยให้ลูกค้าทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์จากโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นนี้ อีกทั้งช่วยให้บริษัทคู่ค้าในประเทศจีน ได้เข้าร่วมอยู่ในบัญชีรายชื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากทาง การจีน (Mainland Designated Entity List) ในการทำธุรกรรมเงินหยวนดังกล่าว" ยุทธเดชกล่าว
สำหรับภาพรวมการค้าไทย-จีนในปี 2551 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.2% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยจีนถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับสองของไทย รองจากญี่ปุ่นที่มีสัดส่วน 15.0% (ปี 2541 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของไทย)
ปี 2552 (มกราคม-พฤษภาคม) การค้าไทย-จีนเพิ่มมูลค่าขึ้นมาก คิดเป็น 11.1% ของการค้ารวม เมื่อรวมกับตลาดฮ่องกงแล้ว ถือเป็นตลาดสำคัญที่สุดของไทย เพราะมีมูลค่าการค้าเกิดขึ้นเป็นสัดส่วนถึง 15.2% มากกว่าญี่ปุ่นที่อยู่ในสัดส่วน 13.8%
ขณะที่การค้าชายแดนไทย-จีนในเขตภาคเหนือมีมูลค่ารวม 5,008.2 ล้านบาท คิดเป็น 0.41% ของการค้าไทย-จีนทั้งประเทศ แต่หากพิจารณาอัตราการขยายตัวของการค้าชายแดนในเขตภาคเหนือในช่วง 10 ปี (2541-2551) จะพบว่าขยายตัวสูงถึง 49.8% สูงกว่าการค้าไทย-จีนทั้งประเทศที่มีอัตราขยายตัว 23.8% (รายละเอียดดูจากตาราง)
การนำเงินหยวนเข้ามาใช้ในการค้าขายระหว่างไทยกับจีน คงเป็นสิ่งที่คงต้องเกิดขึ้นแน่ในอนาคต
แต่เหรียญก็มี 2 ด้าน และดาบก็มี 2 คม
ด้านหนึ่ง เมื่อไทยและจีนสามารถค้าขายกันโดยใช้เงินหยวนได้ แม้ว่าจะทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยก็ตาม
สกุลเงินถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด องค์ประกอบหนึ่งในกลไกการค้าขาย
สรภพ เชื้อดำรง รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กรรมการผู้จัดการบริษัทซีดีอาร์เพิ่มพูนกิจ จำกัด ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างไทย-จีน, ปณิธิ ตั้งผาติ ที่ปรึกษาหอการค้า จังหวัดตาก ที่คร่ำหวอดการค้าชายแดนไทยในภาคเหนือมานานหลายสิบปี รวมถึงพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธาน คสศ. ล้วนมองถึงความเคลื่อนไหว เรื่องหยวนของจีน ในทำนองเดียวกันว่าหากจีนเปิดให้ซื้อขายสินค้าด้วยเงินหยวนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือในตลาดโลกมากขึ้น จะทำให้จีนสามารถคุมกลไกการค้าในอาเซียนได้มากขึ้น อิทธิพลทางการค้าของจีนจะสูงขึ้นอีกมหาศาล
นั่นหมายถึง จีนจะสามารถควบคุมกลไกการค้าย่านนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
สกุลเงินจึงเป็นเสมือนอาวุธหนักที่กำลังรอการสับไก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|