|
ทัพหน้า (ไทย)
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้ากลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่กำลังพยายามเข้ามาสร้างบทบาทกำหนดกลไกการค้าระหว่างจีนกับไทย คือทัพหน้าของการแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจจากจีนเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ทัพหน้าของไทยก็คือกลุ่มทุนต่างๆ ที่ได้ขนเงินเข้าไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและบริการในจีน แต่ทุนไทยกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยเพียงใด จะเป็นเหมือนที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนภาคเอกชนของเขาหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตั้งข้อสังเกต
นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ได้เขียนถึงกลุ่มทุนชาวไทยที่ได้เข้าไปลงทุนในจีนมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มโรงงานน้ำตาลมิตรผล กลุ่มบ้านปู ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่อาศัยความได้เปรียบทางด้านเงินทุนและสายสัมพันธ์เข้าไปทำการค้ากับจีน
กลุ่มทุนเหล่านี้ ส่วนใหญ่ตัดสินใจเข้าไปลงทุนในจีน เนื่องจากมองเห็นโอกาสและแนวโน้มการเติบโตของจีนในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเข้าไปลงทุนด้วยตนเอง มิได้รับการสนับสนุนจากทางการไทยแม้แต่น้อย
ขณะที่กลุ่มทุนขนาดเล็กลงมายังมีอีกหลายรายที่เสี่ยงตัดสินใจขนเงินเข้าไปประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง บางรายสามารถเข้าไปมีบทบาทในกลไกการค้าระหว่างทั้งสองประเทศได้บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก
อาทิ กลุ่มมณีต้าหมิงของกัลยาณี รุทระกาญจน์ ที่มีบทบาทได้ในระดับท้องถิ่นของเมืองคุนหมิง แต่ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่สำคัญคือเธอเข้าไปลงทุนในจีนโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย แถมยังมีข้าราชการไทยบางคนที่พยายามแย่งบทบาทของเธอไปอีกด้วย
(อ่าน "มณีต้าหมิง ทัพหน้าของทุนไทยในจีนตอนใต้" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจอย่างบริษัท แม่โขง เดลต้า ทราเวล เอเยนซี่ของผกายมาส เวียร์ร่า ที่ได้สัมปทานเดินเรือโดยสารตามลำน้ำโขง ตั้งแต่สิบสองปันนาลงมาจนถึงเชียงแสน เชียงของ จังหวัดเชียงรายไปจนถึงหลวงพระบางของ สปป.ลาว
แต่ก็มีบทบาทในการขนส่งคนผ่านลำน้ำโขงเท่านั้น ยังไม่สามารถขยายบทบาทขึ้นไปถึงการขนส่งสินค้า ที่ยังคงผูกขาดอยู่กับกองเรือพาณิชย์ของจีน
(อ่าน "ผกายมาส เวียร์ร่า ผู้ล้างอาถรรพ์แม่น้ำโขง" นิตยสารผู้จัดการฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากโครงข่ายคมนาคมที่เริ่มตั้งแต่จีนตอนใต้ ผ่านลงมาถึงพม่า ลาว จนถึงภาคเหนือของไทยเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีกลุ่มทุนชาวไทยเข้าไปลงทุนในจีนมากขึ้น เพราะเห็นโอกาสที่กำลังจะตามมาจากการเปิดโครงข่ายคมนาคมเหล่านี้
ชวลิต นิ่มละออ เป็น 1 ในนั้น
"ผมว่าตอนนี้แทนที่จะสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย เราต้องเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนให้คนไทยออกไปลงทุนยังต่างประเทศ เพื่อนำกำไรกลับมาบ้านบ้างและพื้นที่ในจีนตอนใต้ขณะนี้โอกาสก็ยังเปิดกว้าง" ชวลิตบอกกับผู้จัดการ 360 ํ ระหว่างการสนทนาในช่วงรอขึ้นเครื่องบินจาก เชียงใหม่กลับกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
เขามาเชียงใหม่ครั้งนั้นเพื่อประสานงานล่วงหน้ากับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ในการเตรียมการต้อนรับเตา หลินอิน ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน ซึ่งมีกำหนดการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 23-30 เดือนเดียวกัน
"เฉพาะหยุนหนันก็มีประชากร 40-50 ล้านคน เกือบเท่ากับไทยทั้งประเทศ หรือเมืองเฉิงตูของเสฉวนอีกร่วมๆ 100 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก" ชวลิตย้ำ
ชวลิตเป็นประธานกรรมการบริหาร และผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทโอเรียนตอล การ์เมนท์ ผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังๆ ส่งออกต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้เขาไม่ค่อยได้ติดต่อทำการค้ากับจีนเท่าไร นอกจากสั่งซื้อวัตถุดิบบางอย่างสำหรับการผลิตของเขาที่ต้องนำเข้าจากจีน
ชวลิตเคยเป็นรองประธานและประธานสายงานเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในช่วงปี 2545-2548 ทำให้เขาได้มีโอกาสต้อนรับผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา และประธานพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลหยุนหนัน ที่มาเยือนประเทศไทยในช่วงนั้น
ด้วยความที่ผู้ว่าฯ สิบสองปันนามองว่าชวลิตเป็นถึงรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย น่าจะมีสายสัมพันธ์กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทยอีกหลายคน จึงชักชวนชวลิตให้เข้าไปลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมที่สิบสองปันนา
ชวลิตตัดสินใจเข้ามาศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้ของโครงการ ในที่สุด ก็ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท Globalization Economic and Promotion Network (GEPN) ขึ้น เพื่อดำเนินการโครงการนิคมอุตสาหกรรมจิ่งหง (เชียงรุ่ง หรือสิบสองปันนาในความหมายเดียวกัน) ขึ้นบนเนื้อที่รวม 30.12 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 2 โซน คือ โซนกะตง ห่างจากตัวเมืองจิ่งหง 3 กิโลเมตร เนื้อที่ 11.8 ตารางกิโลเมตร และโซนจิ่งฮา ห่างจากจิ่งหง 20 กว่ากิโลเมตร เนื้อที่ 18.32 ตารางกิโลเมตร เป็น 1 ใน 30 นิคมอุตสาหกรรมระดับมณฑลของมณฑลหยุนหนัน
เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งสุดท้ายที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลจีน เพราะหลังจากที่ได้ให้ใบอนุญาตกับ GEPN แล้ว รัฐบาลจีนก็ไม่ได้ให้ใบอนุญาตในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแก่ผู้ใดอีก
วันที่ 16 ธันวาคม 2548 ได้มีพิธีเซ็นสัญญาดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมจิ่งหง ระหว่างรัฐบาลจิ่งหงกับ GEPN โดย มี พล.อ.พิจิตร กุลวณิชย์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีฝ่ายไทยและในอีก 1 ปีถัดมา ในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 จึงได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้
จุดเด่นของโครงการนี้คือเป็นเมืองหน้าด่านของจีน เปรียบเสมือนเป็นประตูให้กับจีนในการเข้าสู่อาเซียน มีโครงข่ายการคมนาคมครบถ้วน ทั้งทางบกผ่านถนน R3a และ R3b ที่สร้างเสร็จแล้ว รวมถึงโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างจีนกับอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงทางน้ำผ่านทางแม่น้ำโขง และทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-จิ่งหงถึงสัปดาห์ละ 4 เที่ยว
นอกจากนี้ที่ตั้งโครงการอยู่ห่างจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าของจีนเพียง 5 กิโลเมตร ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนพลังงาน
โครงการนี้ประกอบด้วยโซนอุตสาหกรรมกับโซนพาณิชย์ ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลจีน 50 ปี สามารถต่ออายุได้อีก 20 ปี และโซนที่อยู่อาศัยที่ได้สัมปทาน 50 ปี สามารถต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 20 ปี
โครงการนี้ใช้เงินลงทุนรวม 2.6 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันลงทุนไปแล้วประมาณ 800 ล้านบาท ในการพัฒนาพื้นที่เฟสแรกประมาณ 800 ไร่ โดยมีนักลงทุนทั้งจากไทยและจีนประมาณ 5 รายที่เริ่มเข้าไปก่อสร้างโรงงานแล้ว
นักลงทุนดังกล่าวประกอบด้วยโรงงานสกัดน้ำมันจากเมล็ดยางพารา โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งนำเข้าไม้จากพม่า โรงงานผลิตกาแฟ และโรงงงานผลิตเบียร์ ทั้ง 4 ราย เป็นนักลงทุนชาวจีน ส่วนนักลงทุนไทย ได้แก่ โรงงานผลิตยา (ตราตกเบ็ด) มีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 10 ล้านหยวน
นอกจากนี้ บริษัทระยอง เพียวริฟายเออร์ ก็แสดงความสนใจจะเข้าไปก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำมันหล่อลื่น มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 60 ล้านหยวนอีกด้วย
ชวลิตมองว่าโครงข่ายคมนาคมเชื่อมจีน-ไทย ทั้ง R3a, R3b เส้นทางคุน-มั่น กงลู่ แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางอาเซียนที่ใช้งานร่วมกัน ไม่ใช่ของจีนฝ่ายเดียว ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถนำสินค้าเข้าไปขายในจีน ซึ่งมีตลาดมากมายมหาศาลรองรับผ่านช่องทางเหล่านี้
"ตอนนี้ผมก็พยายามประสานงานกับหน่วยราชการของประเทศต่างๆ อยู่ว่า ทำอย่างไรจะให้รถหัวลากของไทยสามารถวิ่งเข้าถึงยังนิคมฯ ได้เลย ไม่ต้องไปขนถ่ายสินค้ากันที่เมืองบ่อหาน (ชายแดนจีน-ลาว ตรงข้ามเมืองบ่อเต็น)" เขาบอก
วัชระ ตันตรานนท์ นักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ของเชียงใหม่ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่กำลังกระโจนเข้าสู่สนามธุรกิจระดับภูมิภาคแห่งนี้
ในวันที่เตา หลินอิน ผู้ว่าฯ สิบสองปันนามาจัดสัมมนาเพื่อชักชวนนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา วัชระได้จัดพิธีลงนามใน MOU ระหว่าง Thai Lanna Food & Cultural Center Company Limited ในเครือ วี.กรุ๊ปของเขากับ King Land Tourism Investment Group สิบสองปันนา ภายในงานสัมมนา โดยมีอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และเตา หลินอิน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง เชียงใหม่
เป็น King Land Tourism Investment Group ที่ร่วมมือกับ Haicheng Group ทำโครงการ "เก้าจวงสิบสองจิ่ง" หรือโครงการเก้าท่า สิบสองเมืองบนพื้นที่งอกริมฝั่งแม่น้ำโขง วางเป้าเป็นเขตศูนย์กลางใหม่ช้างเจียงในสิบสองปันนา หวังพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในย่านลุ่มน้ำโขงตอนบน, ศูนย์กลางการท่องเที่ยวในเขตร้อนชื้น, ศูนย์กลางของแม่น้ำโขง ที่จะสัมผัสถึงวัฒนธรรมชนเผ่าไทลื้อ, แหล่งชอปปิ้งริมน้ำโขง, ศูนย์รวมโรงละครใหญ่แม่น้ำโขง สิบสองปันนา ฯลฯ
ภายใต้ MOU ฉบับนี้ วัชระบอกว่า เขาจะนำรูปแบบการให้บริการของ "คุ้มขันโตก" และรีสอร์ตของบริษัทที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นล้านนาเข้าไปเปิดบริการบนพื้นที่ประมาณ 30-40 ไร่ ติดแม่น้ำโขงที่กลุ่ม King Land ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่นจิ่งหง ถมพื้นที่งอกริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากตัวเมืองจิ่งหงประมาณ 4-5 กิโลเมตร (ติดกับที่ตั้งกระเช้าข้ามแม่น้ำโขง สิบสองปันนา) เนื้อที่ทั้งหมด 480 ไร่
เขาคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 400-500 ล้านบาทในการลงทุนครั้งนี้ โดยจะนำเอาการแสดงเชฟ ตลอดจนพนักงานจากไทยเข้าไปให้บริการ ส่วนรีสอร์ตจะเป็นรีสอร์ตหรูระดับ 5 ดาว โดยใช้เชน "เชบู" จากญี่ปุ่นมาบริหาร
ปัจจุบันเชบูบริหารโรงแรมประมาณ 56 แห่งในญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน มีจำนวนห้องพักไม่น้อยกว่า 33,000 ห้อง
ในมุมของนักพัฒนาที่ดิน วัชระยังมองว่านอกจากเปิดสาขาคุ้มขันโตก-รีสอร์ตแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่วี.กรุ๊ปจะขยายการลงทุนในธุรกิจพัฒนาที่ดิน โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่สร้างเท่าไหร่ก็ไม่พอขายสำหรับตลาดจีน
"หลายโครงการที่เคยเห็น แค่ 7 วันก็ขายหมดทั้งโครงการแล้ว จึงอาจเป็นไปได้ว่า อนาคตอาจจะเข้าไปลงทุนหากเงื่อนไขต่างๆ เอื้ออำนวย"
สำหรับพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน (ไทย พม่า ลาว จีน) นี้ เขามองว่าเป็นพื้นที่การลงทุนที่จะขยายตัวอีกมากในอนาคต ถ้าหากรัฐบาลผ่อนกฎระเบียบให้การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกรณีการเปิดให้คนจีนเดินทางเข้ามาในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือของไทย โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต-วีซ่า ใช้เพียงบอร์เดอร์พาสเท่านั้นก็จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาไทยมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบน หรือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ยังสามารถขายโปรแกรมท่องเที่ยว "1 วันเที่ยว 4 ประเทศ" คือ ไทย พม่า ลาว จีน ได้อีกด้วย
นอกจากชวลิตและวัชระแล้ว คณิต ขันมอญ เจ้าของเลาลีฮิลล์รีสอร์ทบนดอยวาวี รองนายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย ก็เป็นนักลงทุนสัญชาติไทยเชื้อสายจีนอีกผู้หนึ่งที่น่าจับตา
คณิตเป็นลูกของนายทหารยศพันเอกของกองพล 93 ที่เข้ามาอาศัยร่มพระบรมโพธิสมภารเมื่อกว่า 50 ปีก่อน
คณิตมีเครือข่ายธุรกิจอยู่ในไต้หวัน และเมืองคุนหมิงของจีน โดยเป็นผู้ส่งออกชารายใหญ่เข้าไปในไต้หวัน
เขาเคยนำชาป่า หรือชาอัสสัม ซึ่งเป็นชาอินทรีย์บนดอยวาวี มาทำเป็นชา "ผูเอ่อ" ส่งเข้าไปขายในจีนแผ่นดินใหญ่ช่วงปลายปี 2549 ถึงเดือนพฤษภาคม 2550 ทำราคาจากกิโลกรัมละ 50-80 บาท เป็น 100-150 บาท แต่ได้หยุดการส่งชาเข้าไปขายในจีน หลังจากราคาชาตกต่ำอย่างหนักเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน
ล่าสุดเขากับคู่ค้าชาวไต้หวัน กำลังวางแผนจะเข้าไปสร้างแบรนด์ชาอู่หลงในจีนขึ้นมาอีกครั้ง ในชื่อ "หยง คังต้า" โดยปัจจุบันได้เปิดร้านไปแล้ว 5 สาขา ในเมืองกวางโจว คุนหมิงและภายในสิ้นปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 5 สาขา รวมเป็น 10 สาขา เพื่อใช้เป็นช่องทางจำหน่ายชา รวมทั้งจะนำผลิตภัณฑ์ชารูปแบบต่างๆ ที่มีขายอยู่ในประเทศไทย เข้าไปวางจำหน่ายในจีนอีกด้วย
กลุ่มทุนใหญ่-เล็กทั้งหลายที่กล่าวถึงข้างต้น กำลังเล่นบททัพหน้าของไทยที่รัฐบาลน่าให้ความสำคัญ หากต้องการให้ยุทธศาสตร์การค้าระหว่างจีนและไทยประสบความสำเร็จด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|