|
อิทธิพลการค้า “จีน” กรณีศึกษา “ประเทศไทย”
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
กระแส "คลั่งจีน" เริ่มก่อตัวขึ้นทั่วโลกเมื่อ 10 ปีก่อน หลังองค์การการค้าโลก (WTO) มีมติรับสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเป็นสมาชิก หลังจากสมาชิกภาพของจีนมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ภาพการตื่นตัวของประเทศต่างๆ เพื่อเกาะเกี่ยวไปกับการเติบโตของจีน ยิ่งมองเห็นได้อย่างชัดเจนขึ้น
เงินทุนจำนวนมหาศาลจากแทบทุกประเทศต่างหลั่งไหลเข้าสู่จีน ส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนที่โตระดับ 2 หลักต่อเนื่องมาตลอดอยู่แล้วในช่วงก่อนหน้า ยิ่งขยายตัวขึ้นจนเพิ่งจะมาชะลอตัว หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว
การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของจีน ทำให้จีนถูกหมายตาว่าจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่ของโลกที่สามารถคานอำนาจกับมหาอำนาจดั้งเดิมอย่างสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในยุโรป หลายคนเชื่อว่าแกนเศรษฐกิจของโลกกำลังจะเปลี่ยนมาอยู่ทางเอเชียในอีกไม่ช้า ทำให้ทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในเอเชียด้วยกัน ต่างพยายามหาทางสร้างความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับจีน
รวมทั้งประเทศไทย
เงินลงทุนที่มุ่งหน้าสู่จีน ส่งผลให้จีนกลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าแทบทุกประเภท ส่งออกขายไปทั่วโลก จนมีคำเปรียบเปรยกันว่า ทุกวันนี้จีนเป็นเสมือน "โรงงานของโลก"
เงินทุนที่หลั่งไหลเข้าไปเหล่านั้น ทำให้ทุนสำรองของจีนเติบโตขึ้นถึงระดับมากกว่า 2 ล้านล้านยูเอสดอลลาร์ จีนจึงกลายเป็นนักล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจรายใหม่ โดยรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนของจีนหลายรายต่างหิ้วกระเป๋าออกไปซื้อกิจการใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก
ขณะเดียวกันการเป็นฐานการผลิตสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้จีนจำเป็นต้องหาทางแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างการผลิตและการขนส่งกับประเทศต่างๆ ที่อยู่รายรอบ เพื่อใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบเป็นฐานการผลิต เป็นเส้นทางขนส่งสินค้า และเป็นช่องทางนำพลังงานเข้าไปใช้ในประเทศ ฯลฯ
1 ในกลุ่มประเทศที่เป็นเป้าหมายในการเชื่อมโยงโครงสร้าง การผลิตและการขนส่งภายนอกประเทศของจีน คือกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (โดยสภาพภูมิศาสตร์เท่านั้น)
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยต่างมอง เห็นความสำคัญในประเด็นนี้ พยายามหาวิธีการตั้งรับและรุกกลับ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศจากการขยายอิทธิพลของจีน ลงมาในพื้นที่แถบนี้
แต่การวางยุทธศาสตร์ในการตั้งรับและรุกกลับของไทย ได้ ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบ หรือเสียเปรียบกันแน่? ยังเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถหาคำตอบออกมาได้อย่างชนิดฟันธง
ดร.พิสิฏฐ ภัคเกษม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยเขียนบทความเรื่อง "7 ผลกระทบหลังจีนเข้าดับบลิวทีโอ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทัศนะ วิจารณ์" ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2545 หลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ได้เพียงปีเศษๆ ส่วนหนึ่งของบทความชิ้นนี้ ดร.พิสิฎฐระบุว่า
จีน คือหนึ่งในมหาอำนาจของภูมิภาคเอเชียในยุคปัจจุบันซึ่งอาจส่งผลกระทบมากมายดังนี้:
1. ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจในเอเชียที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของจีน อาจหมายถึงการเคลื่อนย้ายทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ซึ่งจำเป็นต้องเร่งปรับและปฏิรูปโครงสร้างเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน
การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เป็นได้ทั้งภัยคุกคามและโอกาส ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ "5 เสืออาเซียน" (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์) จำเป็นต้องเร่งยกเครื่องอุตสาหกรรมและรูปแบบการค้า เพื่อดึงดูดและรักษากระแสการลงทุนระหว่างประเทศใหม่ ที่คาดว่าจะไหลเข้าสู่จีนประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2548 "มากกว่าครึ่งของการลงทุนจากต่างประเทศในจีน เป็นการลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก"
สำหรับผลต่อประเทศไทยนั้น พิสิฏฐระบุไว้ดังนี้
6. อนาคตประเทศไทย "ตัวเชื่อมทางเศรษฐกิจของจีน"
โครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนและไทยเป็นโครงสร้างที่ควรจะประกอบกันมากกว่าจะแข่งขัน อีกทั้งความสามารถในการแข่งขันของไทยก็อยู่ในด้านการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมขนส่ง ซึ่งน่าจะสอดรับกับนโยบายใหม่ด้านการเกษตร ที่เริ่มจะเปลี่ยนจากเกษตรพอเพียงมาเป็นเปิดรับสินค้าจากภายนอกมากขึ้น
บทความของ ดร.พิสิฎฐเมื่อ 7 ปีที่แล้วกำลังปรากฏเป็นจริงอยู่ในปัจจุบัน
เรื่องราวที่จะนำเสนอต่อจากนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ได้บังเกิด ขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ละปรากฏการณ์สามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับไทยในมิติต่างๆ
และน่าจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นมาบ้างว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเล่นได้สมบทบาทของตนเองเพียงใด ในยุทธภูมิการค้าระดับภูมิภาคที่ดีกรีความรุนแรงกำลังทวีขึ้นเรื่อยๆ...โดยมีจีนเป็นผู้เล่นหลัก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|