หน้ากากอนามัยกับ “ไข้หวัด H1N1” (ตอนที่ 2)

โดย มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) แห่งสหรัฐอเมริกาได้แนะนำวิธีการใช้หน้ากาก (Face-mask) และหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ (Respirator) ใน สถานที่ต่างๆ ได้แก่ บ้าน แหล่งชุมชน และที่ทำงาน เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อไข้หวัด H1N1 ตาม ความเหมาะสม (ดูตาราง)

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป กลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่รับการรักษาโรคอื่นที่เป็นอยู่ด้วยยาแอสไพรินเป็นระยะเวลานาน ซึ่งมีความเสี่ยงในการเป็นโรค Reye syndrome หรือภาวะสมองอักเสบและภาวะผิดปกติในตับ กลุ่มสตรีมีครรภ์ กลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด รวมไปถึงโรคหืดหอบ โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับตับ โรคเกี่ยวกับโลหิต โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โรคเบาหวาน กลุ่มผู้ใหญ่และเด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ รวมทั้งที่เกิดจากการให้ยาหรือจากโรคเอดส์ กลุ่มผู้ทำงานหรือพักอาศัยอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง

ส่วนบุคคลที่ไม่มีความเสี่ยงสูง CDC ไม่แนะนำให้ใช้ Facemask หรือ Respiration ยกเว้น ในกรณีที่บุคคลนั้นๆ มีสายงานอาชีพเกี่ยวข้องกับการบริการด้านสุขภาพที่มีผู้ป่วย H1N1 หรือเข้าข่าย จึงแนะนำให้สวมหน้ากาก

สำหรับบุคคลที่ป่วยมีเชื้อไวรัส H1N1 หรือต้องสงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดชนิดดังกล่าวจะมีอาการ ไข้สูง ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ หนาวสั่น อ่อนเพลีย หลายคนจะมีอาการท้องเสียและอาเจียนร่วมด้วย เพื่อเป็น การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น ทาง CDC แนะนำให้สวมหน้ากาก Facemask (ถ้ามีหน้ากาก และสามารถทนต่อการสวมใส่ได้) หรือให้ใช้กระดาษชำระปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจาม และควรทำความสะอาดมือทันทีหลังจากทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงถังขยะให้เป็นที่เป็นทาง ผู้ที่มีอาการไข้สูง สงสัยว่าจะติดเชื้อไข้หวัดชนิดนี้ CDC แนะนำให้อยู่ภายในบ้านอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังจากไข้ลด และต้องเป็นการลดที่ไม่ได้ใช้ยาลดไข้ ยกเว้นว่ามีความจำเป็นต้องออกไปพบแพทย์ ควรปฏิบัติตัวตาม CDC แนะนำ กรณีที่มีผู้ป่วยอยู่ในบ้าน ให้สมาชิกในบ้านที่ไม่ป่วยปฏิบัติตัวได้ตามปกติ เพียงแต่คอยสังเกตความผิดปกติต่างๆ ของตนเอง หากมีอาการส่อว่าจะติดเชื้อให้อยู่กับบ้าน จนกว่าอาการจะเป็นปกติ ยกเว้นต้องไปพบแพทย์

นอกจากนั้น เด็กที่มีอาการต่อไปนี้ ได้แก่ หายใจเร็ว หายใจลำบาก ผิวหนังมีสีผิดปกติ อาเจียน รุนแรง ขาดน้ำ ร้องไห้หนัก ไม่ยอมให้อุ้ม อาการอื่นดีขึ้น แต่กลับมีไข้สูงและไออย่างแรง ต้องรีบพบแพทย์ทันที ส่วนผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เมื่อมีอาการหายใจลำบาก เจ็บบริเวณทรวงอก เวียนศีรษะฉับพลัน สับสน อาเจียนรุนแรง อาการอื่นดีขึ้น แต่กลับมีไข้สูงและไออย่างแรง ต้องรีบพบแพทย์ทันที เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นั่นหมายถึงอาจจะต้องได้รับยาต้านไวรัส

ทั้งนี้ทั้งนั้น การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งในที่นี้หมายถึงโรคไข้หวัด H1N1 ไม่สามารถทำได้ ด้วยวิธีใดเพียงวิธีหนึ่ง แต่จะต้องทำควบคู่กันไปหลายๆ วิธี ตามปกติแล้วเชื้อไวรัสจะมีชีวิตอยู่ใน อากาศหรือตามสิ่งของต่างๆ นานตั้งแต่ 2-8 ชั่วโมง ทำให้การติดต่อเป็นไปได้สูง การจะทำลายเชื้อไวรัส ได้ต้องใช้ความร้อนสูงถึง 75-100 องศาเซลเซียส ส่วนสารเคมีอื่น เช่น คลอรีน ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ น้ำสบู่ น้ำยาล้างแผล และแอลกอฮอล์ ในปริมาณเข้มข้นและระยะเวลาที่เหมาะสมสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ เช่น การใช้ผ้าเช็ดมือหรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ต้องเช็ดถูที่มือให้ทั่วจนแห้งสนิท

ข้อแนะนำของ CDC ที่เรียบเรียงและเพิ่มเติมมา ได้แก่

- การล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดให้บ่อยครั้งเป็นนิสัย ถ้าไม่มีน้ำหรือสบู่อยู่ในที่ให้ใช้ผ้าเช็ดมือหรือเจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่

- ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจาม ตามบ้านเราสอนให้เอามือปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจาม ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะเชื้อโรคจะยังคงอยู่ที่มือ หากผู้นั้นไม่ล้างมือให้สะอาดหลังไอจามก็จะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่าย ดังนั้น หากไม่สามารถหากระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ด หน้าได้ทันก็ให้ใช้แขนเสื้อหรือแขนพับตรงข้อศอกปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจามแทน

- หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณตา จมูก ปาก

- ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายน่าสงสัยในการเป็นหวัด H1N1 มีอาการดังต่อไปนี้ มีไข้ มีอาการไอ หรือเจ็บคอร่วม ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ หนาวสั่น อ่อนแรง อาเจียน และท้องเสีย ควรเก็บตัวอยู่กับ บ้าน ห่างจากผู้อื่นเท่าที่จะทำได้ หลีกเลี่ยงการเดินทางอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังหายจากอาการไข้ ยกเว้นว่าต้องเดินทางไปพบแพทย์และการหายจากอาการไข้นี้ต้องเป็นไปเอง มิใช่จากการใช้ยาลดไข้

- สำหรับผู้ไม่ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยเข้าข่าย เช่น ควรอยู่ห่างประมาณ 6 ฟุต

หากทุกคนหมั่นดูแลรักษาสุขภาพ สุขอนามัยของตนเอง ทำความสะอาดมือสม่ำเสมอ รับประทานอาหารสุกสะอาดให้ครบทุกหมู่ เมื่อต้องอยู่ในหมู่คนมากๆ ให้เพิ่มปริมาณวิตามินซี ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงในแต่ละวัน ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้พอ ทำจิตใจให้ผ่องใส ใครที่ไม่ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลสวม Facemask ตลอดเวลา อย่าให้ การสวมหน้ากากกลายเป็นเรื่องของแฟชั่น เพราะหากสวมและถอดไม่ถูกวิธี แทนที่จะช่วย ป้องกัน กลับกลายเป็นแหล่งหมักหมมและแพร่เชื้อโรคได้

ส่วนคนที่ป่วยด้วยโรคนี้หากจำเป็นต้องออกมานอกบ้าน ควรทำหน้าที่สมาชิกที่ดีของสังคมด้วยการสวมหน้ากาก Facemask เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคเวลาไอหรือจาม...ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า การใช้ชีวิตในปัจจุบันไม่ง่ายอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ไม่ถึงขั้นต้องเครียดจนไม่กล้าที่จะทำอะไร ถ้าทุกคนรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญเรื่องยากก็จะกลายเป็นเรื่องแสนธรรมดาในชีวิตประจำวัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.