ซูเปอร์ 14 กับสโมสรรักบี้ในนิวซีแลนด์

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

หากถามแฟนฟุตบอลทั่วโลกว่าการแข่งฟุตบอลระดับสโมสรระหว่างประเทศ รายการไหนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แฟนบอลร้อยละ 99 ต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าแชมเปี้ยนลีกของยุโรปนั้นเป็นหนึ่งไม่มีสอง เพราะเราได้ชมยอดทีมทั้งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บาร์เซโลนา รีอัล มาดริด ลิเวอร์พูล บาร์เยิน มิวนิค เชลซี อาร์เซนอล อินเตอร์มิลาน เอซีมิลาน และสารพัดทีมที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาประชันแข้งกัน ตรงนี้ไม่นับทีมที่นักการเมืองไทยไปเกี่ยวข้องอย่างนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด หรือแมน เชสเตอร์ ซิตี้ เพราะอยู่กันคนละชั้นวรรณะโดยเฉพาะทีมสาลิกาดงที่มีแต่ลุ้นเลื่อนชั้นในฤดูกาลหน้า

ถ้าถามถึงวงการรักบี้คงต้องยอมรับสัจธรรมว่าเป็นกีฬาที่เล็กกว่ามากในยุโรป การแข่งขันลีกในอังกฤษ ชื่อกินเนสพรีเมียร์ลีก ซึ่งวัดไม่ได้เลยกับฟุตบอล เพราะสนามส่วนมากจุผู้ชมที่หนึ่งหมื่นกว่าคน โดยทีมที่มีสนาม ใหญ่ที่สุดคือ ลอนดอน ไอริช มีความจุสองหมื่นกว่าคน

ส่วนทีมที่มีชื่อเสียงคือเลสเตอร์ ไทเกอร์กับบาร์ท ส่วนนิวคาสเซิล ฟอลคอน ของดาราดัง จอนนี่ วิลกินสัน นั้นมีชะตากรรมดีกว่าสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ดสักนิด เพราะเคยฟลุกได้แชมป์หนหนึ่งจากนั้นสภาพมาคอยหนี ตกชั้นและอาจจะต้องตามลงไปเตะในแชมเปี้ยนชิพแบบสาลิกาดงในไม่ช้า

การแข่งรักบี้ในยุโรปนั้นมีโครงสร้างคล้ายๆ กับฟุตบอล มีไฮเนเกนคัพ คล้ายๆ กับแชมเปียนลีก และยูโรเปียนชาเลนคัพ ซึ่งคล้ายๆ กับยูฟ่าคัพ

แต่ถ้าพูดถึงการแข่งรักบี้ระดับสโมสรนานาชาติแล้ว การแข่งขันที่แฟนรักบี้สนใจมากที่สุดคือ รายการ Super 14 ของออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่าไฮเนเกน คัพในยุโรป เพราะลีกยุโรปนั้นชาติที่ลงแข่งเป็นหลักคือ อังกฤษ ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ ฝรั่งเศส เวลส์ โรมาเนีย และอิตาลี ซึ่งในบรรดาทุกชาติที่เข้าแข่งมีอังกฤษประเทศเดียวที่เคยเป็นแชมป์โลกหนึ่งสมัย

ในขณะที่ Super 14 นั้นมีแค่สามประเทศ ซึ่งเคยเป็นแชมป์รักบี้โลกรวมกันหกสมัยจากการแข่งเจ็ดครั้ง ดังนั้นจึงเป็นการแข่งที่เข้มข้นกว่ามากและสนามมีขนาดน้องๆ ทีมฟุตบอลยุโรปคือ สามหมื่นถึงหกหมื่นคนและเข้าสู่ปีที่สิบสี่ของการแข่งขัน

เวลาที่พูดถึงนิวซีแลนด์ ชาวไทยหลายคน เข้าใจว่าทีมรักบี้อย่างออลแบล็ค คือทีมที่ทำชื่อเสียง ให้นิวซีแลนด์มากที่สุด ที่จริงแล้ว ทีมออลแบล็คเพิ่งเคยได้แชมป์โลกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่เป็นทีมที่น่าสนใจคือเวลาการแข่งขันเล็กๆ อย่างไทรเนชั่น จะสามารถถล่มทีมแชมป์โลกได้อย่างง่ายดาย แต่พอไปแข่งรักบี้โลกแล้วดวงแตกเป็นประจำ ทีมที่ทำให้ชื่อเสียงรักบี้ของนิวซีแลนด์ยิ่งใหญ่คือบรรดาสโมสรรักบี้ในประเทศ เพราะลีกของนิวซีแลนด์นั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นลีกของรักบี้ที่ดีที่สุดในโลก โดยทีมที่ไปแข่งสโมสรนานาชาติต่างกวาดแชมป์อย่างถล่มทลายและมีศักยภาพสูงกว่าทีมชาติรักบี้ของหลายๆ ประเทศในโลก

การแข่ง Super 14 นั้นเดิมทีเรียกว่า Super 12 โดยเลือกทีมที่ดีที่สุด สิบสองทีมจากสามประเทศ มาร่วมการแข่งขันก่อนจะเพิ่มเป็นสิบสี่ทีม โดยมีการแข่งสองรอบคือ รอบเก็บคะแนนแบบพบกันหมดก่อนทีมที่ได้คะแนนสูงสุดสี่ทีมจะมาเพลย์ออฟกัน โดยที่หนึ่งเจอทีมอันดับที่สี่ และที่สองมาเจอกับที่สาม โดยผู้ชนะจะมาเจอกันในนัดชิงชนะเลิศ ทีมที่เข้าร่วมในปัจจุบันประกอบด้วยทีมจากนิวซีแลนด์ ห้าทีม แอฟริกาใต้ห้าทีม และออสเตรเลียสี่ทีม

โดยมีทีมจากออสซีคือ แอคบรัมบี้จากแคนเบอรามีสัญลักษณ์เป็นม้าป่า นิวเซาท์เวลส์วอราทาร์ จากซิดนีย์ มีสัญลักษณ์เป็นดอกวอราทาร์ ควีนส์ แลนด์เรด หรือหมีโคลาแดง บริสเบน และเวสต์ ออสเตรเลียฟอร์ซ หรือหงส์ดำเพิร์ธ ส่วนห้าทีมจากแอฟริกาใต้คือ พรีโตเรียบูลมีสัญลักษณ์เป็นกระทิงสีฟ้า เซ็นทรัล ชีตาร์ หรือเสือบรูมฟอน เทน โยฮันเนสเบิร์กไลออน มีสัญลักษณ์เป็นสิงห์แดง นาทาลชาร์ค หรือฉลามขาวเดอร์บาน และเคปทาวน์สตอร์มเมอร์ มีสัญลักษณ์เป็นพายุสีฟ้า

ส่วนทางนิวซีแลนด์คือโอ๊กแลนด์บลู มีสัญลักษณ์เป็นเรือใบสีฟ้า ซึ่งเป็นแชมป์ลีกของรักบี้นิวซีแลนด์มากที่สุด ไวคาโตชีพจากแฮมิลตัน มีสัญลักษณ์เป็นขุนศึก เมารี แคนเทอเบอรี่ครูเซเดอร์จากไครส์เชิร์ช ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นทหารเสือพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ ซึ่งเป็นคู่ปรับสำคัญสองทีมคือเรือใบสีฟ้า และโอท้าโกไฮแลนเดอร์จากดันเนดิน ซึ่งใช้สัญลักษณ์เป็นนักรบเบรฟฮาร์ต ของสกอตแลนด์ ส่วนทีมสุดท้ายคือ เวลลิงตันเฮอริเคน มีสัญลักษณ์เป็นพายุสีเหลือง

การแข่งขันครั้งแรกในปี ค.ศ.1996 นั้นทีมที่เข้ารอบสี่ทีมคือ โอ๊กแลนด์บลู ควีนส์แลนด์เรด นาทาลชาร์ค และพรีโตเรียบูล ผลปรากฏว่า เรือใบสีฟ้าแสดงศักดิ์ศรีแชมป์นิวซีแลนด์ด้วยการถล่มกระทิงฟ้าจากแอฟริกากระเจิง ขณะที่โคล่าแดงดวงแตกแพ้ฉลามขาวเดอร์บานอย่างเละเทะ ก่อนจะคว้าแชมป์จากฉลามขาวอย่างสวยงาม แถมในฤดูกาลต่อมาเรือใบสีฟ้าสามารถป้องกันตำแหน่งด้วยสถิติทีมไร้พ่ายโดยเสมอหนึ่งครั้งจากนั้นชนะรวดก่อนถล่มคู่ปรับเก่าอย่างฉลามขาว และชนะม้าป่าแคนเบอร่าในรอบชิงชนะเลิศได้อย่างถล่มทลาย

เมื่อสโมสรจากแอฟริกาใต้และออสเตรเลียต่างพ่ายแพ้ไปอย่างหมดสภาพ ในการแข่งปีที่สามทีมที่อาสามาล้มแชมป์คือคู่ปรับตลอดกาลของเรือใบสีฟ้าในนิวซีแลนด์ โดยสโมสรแคนเทอเบอรี่ครูเซเดอร์ได้บุกไปถล่มเรือใบสีฟ้าในปี 1998 ก่อนที่จะสร้างตำนานยอดทีมรักบี้อันดับที่หนึ่งของโลกด้วยการรักษาแชมป์สามปีติด โดยปีที่สองนั้นเป็นการพบกันในรอบชิงของยอดทีมเกาะใต้คือ แคนเทอเบอรี่ครูเซเดอร์กับโอทาโกไฮแลนเดอร์ ซึ่งทีมทหารเสือชนะนักรบเบรฟฮาร์ทอย่างสนุก จากนั้นในปีต่อมาทหารเสือจากไครส์เชิร์ชสู้กับม้าป่าแคนเบอราอย่างสนุกเพราะชนะที่ 20 ต่อ 19 จุด

หลังจากสโมสรจากนิวซีแลนด์เอาแชมป์สโมสรไปแบ่งกันถึงห้าปีติด ในปีที่หก สโมสรจากออสซีกับแอฟริกาใต้ได้ร่วมกันเบียดนิวซีแลนด์ โดยนัดชิงม้าป่าแคนเบอราถล่มฉลามขาวนาทาลจากแอฟริกาใต้เอาถ้วยแชมป์ไปครองได้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเป็นจุดจบของสโมสรจากนิวซีแลนด์ ทีมแคน เทอเบอรี่ ครูเซเดอร์ได้กลับมาสร้างประวัติศาสตร์ทีมไร้พ่ายโดยชนะรวดทุกนัดที่ลงแข่งก่อนอัดแชมป์เก่าอย่างบรัมบี้แบบถล่มทลายในปี 2002 ซึ่งคู่ปรับอย่างโอ๊กแลนด์บลูไม่อยากให้คู่ปรับกวาดแชมป์ไปแบบทิ้งห่างทำให้ทีมเรือใบสีฟ้ากลับมาเจอกับครูเซเดอร์ในปี 2003 ซึ่งเรือใบสีฟ้าเบียดชนะทีมทหารเสือไปได้อย่างฉิวเฉียด ในปีต่อมาทีมครูเซเดอร์ได้เข้าชิงอีกแต่กลับเสียท่าทีมม้าป่าเป็นครั้งที่สอง

ในปีที่สิบของการแข่งขัน ทีมแคนเทอเบอรี่ครูเซเดอร์เข้าชิงเป็นครั้งที่เจ็ดและคว้าแชมป์หนที่ห้ามาครองได้สำเร็จ โดยไล่ถล่มทีมวอราทาร์จากซิดนีย์อย่างยับเยิน ผลปรากฏว่าปิดบัญชีแรกในรอบสิบปีสโมสรนิวซีแลนด์คว้าแชมป์ไปแปดหนเข้าชิงเก้าปีและชิงกันเองสามหน โดยเป็นโอ๊กแลนด์บลูกับแคนเทอเบอรี่ครูเซเดอร์เสียสองหน ทำให้สโมสรกีวีผงาดเป็นยอดสโมสรโลกโดยเฉพาะยอดทีมจากไครส์เชิร์ชอย่างครูเซเดอร์กวาดแชมป์ไปครึ่งหนึ่งทีเดียว

ในปี 2006 ทีมแคนเทอเบอรี่ครูเซเดอร์ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของยอดสโมสรรักบี้โลกได้ถล่ม ทีมต่างๆ จนในรอบชิงกลับมาพบกับทีมเวลลิงตันเฮอริเคนและเป็นการพบกันของสโมสรจากนิวซีแลนด์เป็นหนที่สี่ โดยทีมทหารเสือฝ่าพายุสีเหลืองเอาแชมป์สมัยที่หกไปครอง แต่ในปี 2007 ที่แอฟริกาใต้คว้าแชมป์รักบี้โลกนั้นสโมสรแอฟริกาใต้ก็ประกาศศักดาด้วยการชนะทั้งทหารเสือและเรือใบสีฟ้า โดยกระทิงสีฟ้าจากพรีโทเรียมาพบกับฉลามขาวเดอร์บานกันเอง และกระทิงฟ้ายัดเยียดแห้วให้ฉลามขาวไปทานเป็นหนที่สาม หลังจากยอดทีมจากเดอร์บานชิงสามหนทานและได้รองแชมป์ทุกหน โดยชนะกัน แค่ 20 ต่อ 19 จุดเท่านั้น แต่นั่นไม่ได้ทำให้ยอดสโมสรของนิวซีแลนด์ย่อท้อแต่อย่างใด ปี 2008 แคนเทอเบอรี่ครูเซเดอร์ได้กลับมาทำตนเองเป็นเรียลมาดริดแห่งวงการรักบี้ด้วยการคว้าแชมป์สมัยที่ 7 จากการแข่งขันสิบสามหน โดยถล่มลูกไล่อย่างกล้วยไม้ซิดนีย์ในรอบชิงชนะเลิศเป็นหนที่สอง ซึ่งสรุป ว่าการแข่งสิบสามหนทีมจากนิวซีแลนด์คว้าแชมป์ไปสิบ ออสซี สองหน แอฟริกาใต้หนเดียว โดยแคนเทอเบอรี่ครูเซเดอร์นั้น อาจจะมีชื่อเสียงมากเสียยิ่งกว่าออลแบลคเพราะเป็นสโมสรที่ทุกทีมต้องการชนะ

ขณะที่ทีมชาติอย่างออลแบลคนั้นตกต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สโมสรรักบี้จากแดนกีวีกลับแสดงศักยภาพของการเป็นยอดทีมรักบี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโมสรรักบี้เมืองกีวีประสบความสำเร็จมากกว่าทีมชาตินั้น เป็นประเด็นเดียวกันกับความล้มเหลวของทีมฟุตบอลในโลกอย่างอังกฤษ เยอรมนี หรือฝรั่งเศส คือการที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทีมออลแบล็คนั้นได้ตั้งโค้ชทีมชาติที่ไม่ค่อยได้เรื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 โดยเริ่มจากการตั้งจอห์น มิชเชล อดีตล็อคของทีมไวคาโต ถึงแม้ขณะที่เป็นนักกีฬามิชเชลจะเป็นศูนย์หน้าตัวเก่งที่ทำรายได้กว่าหกสิบครั้ง แต่มิชเชลเป็นโค้ชที่ไม่ได้เรื่อง ก่อนที่จะเป็นโค้ชทีมชาตินั้น มิชเชลทำทีมเดิมของตนคือทีมขุนศึกเมารี ซึ่งอยู่กลางตารางเท่านั้น เมื่อมาเป็นโค้ชทีมชาติก็เล่นแบบไร้จินตนาการ จนออลแบล็คแพ้ทีมวอลลาบี้ อย่างไม่น่าจะเป็นในรอบรองชนะเลิศของการแข่งรักบี้โลก ปี 2003 ทำให้มิชเชลโดนปลดและหันไปทำทีมหงส์ดำที่เพิร์ธ แต่จนถึงวันนี้หงส์ดำยังมองไม่เห็นแม้แต่ท็อปสี่ของตารางโดยได้บ๊วยในการแข่งขัน Super 14 โดยชนะนัดเดียว เสมอสอง ที่เหลือแพ้รวดมาแล้ว ปีต่อๆ มาทำได้แค่กลางตาราง

แต่บรรดามาเฟียลูกหนำเลี้ยบได้ตั้งเกรแฮม เฮนรี่มาเป็นโค้ชแทน ที่จริงถ้าดูประวัติแล้วเฮนรี่น่าจะเป็นโค้ชที่ดีคนหนึ่ง เพราะเป็นคนที่ทำทีมเรือใบสีฟ้าได้แชมป์ Super 12 สองสมัยแรก นอกจากนั้น ยังได้แชมป์ในประเทศถึงสามสมัยรวมถึงดับเบิลแชมป์หนึ่งสมัย แม้สถิติของเฮนรี่จะสวยหรูแต่คอรักบี้ รู้ดีว่า ความสำเร็จของทีมเรือใบสีฟ้าในยุคนั้นเกิดจาก การที่สโมสรนำทีมโดยตำนานออลแบล็คชุดแชมป์ โลก และกัปตันทีมออลแบล็คในตอนนั้นอย่างชอน ฟิช แพทริก ซึ่งยังครองสถิติลงเล่นให้ทีมชาติถึง 92 นัด และติดทีมชาติจนถึงอายุ 44 ปี ก่อนที่จะแขวนสตั๊ดในปี 1997 ซึ่งปีต่อมาทีมเรือใบสีฟ้าก็เสีย แชมป์ทั้งในและนอกประเทศให้กับทีมทหารเสือแคนเทอเบอรี่ทันที เฮนรี้รู้ดีว่าถ้าอยู่เรือใบสีฟ้าต่อไป ย่อมมีแต่ลงจึงหันไปทำทีมชาติเวลส์แทน การทำทีม เวลส์นั้นมีแรงกดดันน้อยกว่าการทำทีมเรือใบสีฟ้ามาก เฮนรี่นำทีมเวลส์ชนะสิบหนรวดและในการแข่ง รักบี้โลกที่เวลส์เป็นเจ้าภาพร่วมนั้นก็ทำให้เข้ารอบแปดทีมสุดท้ายก่อนจะโดนเขี่ยตกรอบ แต่นั่นก็เป็นผลงานชิ้นโบแดงของเฮนรี่ที่ทำให้เขามารับตำแหน่ง โค้ชทีมออลแบล็คแทนมิชเชล ซึ่งทำให้ทีมชาติกีวีตกต่ำมาอย่างต่อเนือง เพราะแผนการเล่นของเฮนรี่ ที่ได้ผลในปลายศตวรรษที่ 20 นั้นไม่สามารถนำมาใช้ในศตวรรษที่ 21 แต่อย่างใด คงคล้ายๆ กับการที่เคนนี่ ดัลกลิช ซึ่งเป็นโค้ชผู้ยิ่งใหญ่ของหงส์แดง กับกุหลาบไฟในยุค 80 กับ 90 มาประสบความล้มเหลวกับทีมสาลิกาดงและแค่ประคองตัวกับเซลติก หรือการที่ทีมอิตาลีเอาตราปัตโตนีมาทำให้ทีมชาติจนล้มเหลวมาแล้ว เพราะว่าโค้ชที่ดีในยุคหนึ่งอาจจะไม่เหมาะสมในยุคต่อมาเพราะการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา

แน่นอนครับ ทีมออลแบล็คของเฮนรี่ลงเหวอย่างฉุดไม่อยู่โดยการแข่งขันรักบี้โลก เมื่อปี 2007 ทีมออลแบล็คแพ้ทีมฝรั่งเศสในรอบแปดทีมสุดท้ายอย่างช็อกวงการกีฬาโลก ในฐานะที่ผมเองก็เป็นแฟน รักบี้คนหนึ่ง ผมมองว่าการทำทีมของเฮนรี่นั้นค่อนข้างประมาท ทั้งในการวางตัวผู้เล่นแบบเอาตัวสำรองลงแข่งในรอบแปดทีมสุดท้าย การไม่ยอมเตะเปลี่ยน หรือดร็อบคิ๊กเพื่อเก็บสามคะแนน ทั้งที่ตามฝรั่งเศสแค่สองจุด แต่เน้นเอาทรายทำให้ติดแผงหลัง นอกจากนี้ในการเล่นกระชับมิตรหลังรักบี้โลกทีมออลแบลคยังกลับมาแพ้ทีมฝรั่งเศสอีกถึงในบ้าน แม้จะมีปัญหาจากโค้ชแต่สมาคมยังคงดันทุรังต่อสัญญาให้กับเฮนรี่ ทั้งๆ ที่ในชั่วโมงนั้นทางสมาคมก็มีใบสมัครของร็อบบี้ ดีน โค้ชของสโมสรแคนเทอเบอรี่ ซึ่งกวาดแชมป์ให้ทีมทหารเสือมาแล้วสิบใบทั้งแชมป์ Super 14 ห้าสมัย รวมถึงสถิติไร้พ่ายและชนะรวดตลอดฤดูกาล ตรงนี้ไม่รวมดับเบิลแชมป์ ซึ่งมีทั้งลีกและซูเปอร์ 14 ลีกและถ้วยแรนเฟอรี่ ซึ่งเหมือนเอฟเอคัพของฟุตบอล แชมป์ในประเทศและถ้วยแรนเฟอรี่ รวมทั้งปีทองที่ได้ทริปเปิล แชมป์ เรียกว่าสถิติของดีนนั้นเหมือนกับเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันของวงการรักบี้ทีเดียว แต่เมื่อมีการเลือกโค้ชทีมชาติ ปรากฏว่าสมาคมรักบี้ต่างเทคะแนนให้เกรแฮม เฮนรี่อีกตามเคย

งานนี้เป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับนิวซีแลนด์ เพราะคู่ปรับทีมสำคัญคือออสเตรเลีย ตกลงใจจ้างดีนเข้ามาเป็นโค้ชทีมชาติหรือวอลลาบี้ทันที เนื่องจากว่ารักบี้โลกคราวก่อนทีมจิงโจ้แพ้อังกฤษ ซึ่งเป็นทีมแชมป์โลกในการแข่งขันปี 2003 ในรอบแปดทีมสุดท้าย ซึ่งทำให้อังกฤษได้เข้าไปป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกแต่เสียท่าให้แอฟริกาใต้ แม้ว่าจะไม่อัปยศเท่านิวซีแลนด์ แต่ทีมวอลลาบี้รับไม่ได้กับการตกรอบแปดทีมสุดท้ายทำให้โค้ชทีมชาติในตอนนั้นคือ จอห์น คอนเนลลีเด้งตกเก้าอี้ทันที

สมาคมรักบี้ออสเตรเลียเอาความคิดชาตินิยมทิ้งลงถัง โดยตัดสินใจจ้างร็อบบี้ ดีนเข้ามาทำทีมชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการช็อกวงการรักบี้โลกเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหนแรกที่ทีมชาติออสเตรเลียจ้างโค้ชต่างชาติแถมเป็นโค้ชชาวกีวีคนสำคัญที่ทำให้สโมสรเมืองจิงโจ้น้ำตาตกมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา งานนี้คนรับเต็มๆ คือ ดีน เพราะแปรสภาพจากขวัญใจชาวกีวีเจ้าของสถิติไร้พ่ายไปเป็นคนขายชาติ แต่ที่โดนถล่มไม่แพ้กันคือสมาคมรักบี้นิวซีแลนด์ที่ทู่ซี้จ้างโค้ชเก่าสนิมเกรอะกรังต่อไป โดยปล่อยโค้ชมือดีให้ออสเตรเลียคาบไปกิน

เมื่อไปถึงออสเตรเลีย ดีนเริ่มต้นไม่สวยนักเพราะว่าไม่คุ้นเคยกับนักรักบี้ออสเตรเลีย โดยการแข่งสามชาติในปีที่ผ่านมา ออสซี แพ้ทั้งแอฟริกาใต้กับนิวซีแลนด์กระจายจนสื่อออสซีสงสัยว่าดีนล้มบอลเพื่อชาติ แต่พอมาปลายฤดูกาลทีมวอลลาบี้เครื่องร้อนไล่ถล่มทั้งแอฟริกาใต้และนิวซีแลนด์อย่างสนุกมือ แม้จะไม่เพียงพอที่จะได้แชมป์ก็ตาม ในปีนี้ขณะที่นิวซีแลนด์เริ่มด้วยการแพ้ทีมชาติฝรั่งเศสถึงในบ้านก่อนที่จะกลับมาชนะแบบหืดขึ้นคอ ตามด้วยแพ้แอฟริกาใต้ ทีมวอลลาบี้กลับไล่ต้อนทีมอิตาลีก่อนเคี้ยวหมูฝรั่งเศสอย่างไม่เห็นฝุ่น

อีกสองปีที่จะถึงนี้ทีมออลแบล็คกับโค้ชเก่าเก็บอย่างเฮนรี่จะสามารถพาทีมเมืองกีวีไปถึงแชมป์โลกในประเทศตนเอง หรือว่าจะเป็นโอกาสของดีนที่จะได้ชำระแค้นโดยการเดินทางมาคว้าแชมป์โลกให้ออสซีจากนิวซีแลนด์ ยังเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ แต่สิ่งที่ดีนทำไม่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 90 นั้นนิวซีแลนด์เคยเป็นเจ้าแห่งการแข่งเรือใบทะเลของโลกหรืออเมริกันคัพ แต่การที่รัฐบาลไม่หนุนประกอบกับปัญหาหยุมหยิมทำให้ทีมเรือใบตั้งแต่กัปตันถึงลูกเรือย้ายไปแข่งให้สวิตเซอร์แลนด์ ทั้งๆ ที่เมืองนาฬิกาไม่มีทะเลปรากฏว่านิวซีแลนด์ต้องเสียแชมป์ให้กับทีมสวิสแปลงสัญชาติมาแล้ว ตรงนี้ไม่ได้เป็นแค่อุทาหรณ์ในวงการกีฬาเมืองกีวี แม้แต่วงการกีฬาของไทยเองก็ควรที่จะระวังในการเสียบุคลากรที่มีคุณภาพให้ต่างชาติเพราะโลกในยุคโลกาภิวัตน์นี้ไม่เข้าใครออกใคร เพราะมนตราแห่งเงินนั้นสามารถตบตีกระแสชาตินิยมให้กระเด็นได้โดยง่าย เช่นเดียวกับโค้ชที่ยิ่งใหญ่ของสโมสรรักบี้ในนิวซีแลนด์ย้ายค่ายไปเป็นโค้ชทีมชาติออสเตรเลียได้อย่างน่าพิศวง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.