Manifesto

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

นับแต่ปี 1936 เป็นต้นมาดูเหมือนว่าคงจะไม่มีการทำความสะอาดใหญ่ครั้งใดที่จะขัดสีชำระล้างคราบด่างดำที่เกาะอยู่บนหินแกรนิตของอาคารรัฐสภาญี่ปุ่นได้หมดจดเอี่ยมอ่องเท่าครั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศของ Dr.Yukio Hatoyama นายกรัฐมนตรีคนที่ 60 แห่งประเทศญี่ปุ่นซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 93 ในวันที่ 16 กันยายน 2009

หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรี Taro Aso ประกาศยุบสภาอย่างกะทันหันเพื่อคืนอำนาจกลับสู่ประชาชนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างโดยเฉพาะจากพรรค ฝ่ายค้านที่แถลงข่าวตอบโต้คำประกาศดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อน เนื่องจากตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเตรียมตัวสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่กำหนดให้มีขึ้นภายใน 40 วัน

เป็นเรื่องธรรมดาที่พรรคการเมืองใหญ่น้อยต้องรีบเร่งประชุมกำหนดวางนโยบายและกลยุทธ์การหาเสียง ที่ดำเนินไปด้วยชั้นเชิงเกมการเมืองเป็นการด่วนเพื่อช่วงชิงเก้าอี้สมาชิกผู้แทนราษฎรในสภา ไดเอทให้ได้มากที่สุด โดยมีประชาชนเป็นผู้ตัดสินตามระบอบประชาธิปไตย

กฎหมายเลือกตั้งของญี่ปุ่นยืดหยุ่นให้ผู้ลงคะแนนเสียงสามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์ล่วงหน้าได้ 1 สัปดาห์ก่อนวันกำหนดเลือกตั้งจริง ซึ่งอำนวยความสะดวกสอดคล้องกับวิถีชีวิตอันเร่งรีบในญี่ปุ่นและมีส่วนสนับสนุนให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ในครั้งนี้มากถึง 69% ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน

ผลการนับคะแนนหลังปิดหีบเลือกตั้งที่เริ่มรายงานตั้งแต่หัวค่ำของวันที่ 30 สิงหาคม 2009 นั้นเป็นไปตามโพลของหลายสำนักที่ชี้ตรงกันว่า พรรค DPJ (Democratic Party of Japan) สามารถกวาดที่นั่งได้ราว 2 ใน 3 ของจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมด 480 ที่นั่ง ส่งผลให้ Dr.Yukio Hatoyama กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของญี่ปุ่น

นอกเหนือไปจากสถิติที่น่าสนใจเมื่อ DPJ ได้มา 308 ที่นั่งซึ่งมากกว่าผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ถึง 195 ที่นั่ง ในขณะที่ LDP ได้มาเพียง 119 ที่นั่งซึ่งลดลงจากเดิม 192 ที่นั่งนั้น ก็คือการเลือกตั้งในครั้งนี้เท่ากับเป็นการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองญี่ปุ่นที่ DPJ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านสามารถพลิกชนะพรรค LDP (Liberal Democratic Party) ที่กุมคะแนนเสียงข้างมากในสภาด้วยแนวทางอนุรักษนิยมต่อเนื่องมานาน 55 ปี

สีสันหนึ่งที่ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับการเมืองญี่ปุ่นในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ มีสมาชิกผู้แทนราษฎรหน้าใหม่อายุน้อยโดยเฉพาะ ส.ส.หญิงที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนั้นมีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์

จะด้วยเหตุบังเอิญหรือไม่ก็ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนทัศนะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นราวกับสอดคล้องไปกับสภาวะ Wind of Change ของโลกในปัจจุบัน

Dr.Yukio Hatoyama หัวหน้าพรรค DPJ เกิดเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 1947 ที่โตเกียว ปัจจุบันอายุ 62 ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นคนที่ 2 ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (คนแรกคือ Shinzo Abe) จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยโตเกียว ปริญญาโทและเอกสาขา Managerial Engineering จาก Stanford University จากนั้นเริ่มงานวิชาการที่ Tokyo Institute of Technology ก่อนที่จะย้ายไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ Senshu University

มีการเปรียบเปรยถึงตระกูล Hatoyama ว่า เป็น Kennedy ของญี่ปุ่น เนื่องเพราะสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องในทางการเมืองที่สืบเนื่องยาวนาน 4 ชั่วอายุตั้งแต่รุ่นปู่ทวด Kazuo Hatoyama ซึ่งเป็นโฆษกรัฐบาลในสมัยปฏิรูปเมจิ เมื่อปี 1896

อดีตนายกรัฐมนตรี Ichiro Hatoyama มีศักดิ์เป็นปู่ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสัมพันธ์การทูตกับสหภาพโซเวียต และมีส่วนทำให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การสหประชาชาติในเวลาต่อมา

Yukio Hatoyama เป็นบุตรชายของ Iichiro Hatoyama นักการทูตและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ และมารดาคือ Yasuko Hatoyama ซึ่งเป็นบุตรสาวของ Shojiro Ishibashi ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตยางรถยนต์ Bridgestone นอกจากนี้ Kunio Hatoyama น้องชายของเขายังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารในรัฐบาลของ Taro Aso อีกด้วย

ในปี 1986 เขาลงรับสมัครเลือกตั้งในเขต 4 (เดิม) ของจังหวัด Hokkaido ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรครั้งแรกสังกัดพรรค LDP และชนะการเลือกตั้งต่อมาอีก 6 ครั้งจนกระทั่งลาออกจาก LDP ในปี 1993 เพื่อเข้าร่วมกับ Naoto Kan ก่อตั้งพรรค Sakigake ก่อนที่จะเป็นหนึ่งในแกนนำการก่อตั้งพรรค DPJ ในปี 1996

ภายใต้ key word ของคำว่า "Manifesto" ที่ DPJ ใช้นำทางการหาเสียงซึ่งเป็นพันธสัญญาประชาคม ชูประเด็นนโยบายหลัก 5 ประการ ได้แก่ 1) การใช้ภาษีงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ 2) สนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาและวิจัยของประเทศ 3) แก้ปัญหาเงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุและเสริมสร้างระบบประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 4) กระจายอำนาจการปกครองและความเจริญสู่ชนบทเช่นการยกเลิกค่าบริการทางด่วนจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลของ Taro Aso เพิ่งประกาศลดราคาค่าทางด่วนไปหมาดๆ*, ช่วยเหลือเกษตรกรและให้เงินสนับสนุนค่าเลี้ยงดูบุตร และ 5) ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงแสดงบทบาทของประเทศผู้นำด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเวทีโลกโดยการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 25%

ในขณะที่ LDP ชูประเด็นเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และโน้มน้าวให้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายที่ต่อเนื่อง ตลอดจนคำมั่นสัญญาในการแก้ไขปัญหาการว่างงานที่พุ่งขึ้นสูงในขณะนี้

แม้ว่าแทบจะไม่มีความแปลกใหม่ที่เป็นตัวเลือกให้ประชาชนได้พิจารณามากนัก แต่ดูเหมือนว่าความไม่พอใจในประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐบาลซึ่งนำโดย LDP หลายชุดที่ผ่านมา ซึ่งเปรียบเสมือนตะกอนที่พัดพาจากทั่วประเทศมาทับถมกันเป็นเวลาแรมปีจนกลายเป็นสันดอนขวางรัฐนาวาในที่สุด

การกลับขั้วการเมืองครั้งประวัติศาสตร์นี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ เริ่มแต่การครองเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร โดย DPJ ซึ่งกำลังนำไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ของการปฏิรูปแบบแผนการเมืองแบบพรรคใหญ่ 2 พรรคอย่างแท้จริง การลดทอนอำนาจของข้าราชการประจำที่มีส่วนสัมพันธ์กับนักการเมือง, การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ประกาศเจตนารมณ์มุ่งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ตัดลดการพึ่งพิงสหรัฐอเมริกา

การดำเนินการของ DPJ เพื่อรักษาคำมั่นสัญญาที่ลั่นไว้ในช่วงหาเสียงนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่ง Manifesto แรกกำลังเริ่มต้นจากการทบทวนงบภาษีในปีงบประมาณหน้า

พร้อมๆ กับการเร่งสร้างผลงานในเบื้องต้นอย่างเช่น การยกเลิกค่าบริการทางด่วน การวางแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 25% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยรวม การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนไปก็ดีนั้น ล้วนเป็นงานที่ท้าทายรัฐบาลมือใหม่เป็นอย่างยิ่ง

เพราะชัยชนะของ DPJ ในครั้งนี้เพิ่งดำเนินมาถึงเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :
* นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ คอลัมน์ Japan Walker ฉบับเมษายน 2552


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.