จีนและอินเดียเหยื่อตัวจริงของปัญหาโลกร้อน


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้รับเคราะห์จากปัญหาโลกร้อนทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อ

จีนและอินเดียแพร่ก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพียง 10% และ 3% ตามลำดับ เทียบกับชาติพัฒนาแล้วที่แพร่ก๊าซเรือนกระจกมากถึง 75% จึงไม่แปลกที่ทั้ง 2 ประเทศจะตั้งคำถามว่า เหตุใดพวกเขาจึงต้องร่วมลดการแพร่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปกับชาติพัฒนาแล้วด้วย ในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลอินเดียกล่าวต่อ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมาว่า อินเดียจะไม่ยอมรับการลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกให้เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแก้ปัญหาโลกร้อน (อินเดียแพร่ก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 5 ของโลก)

ส่วนจีน ซึ่งขณะนี้กลายเป็นประเทศที่แพร่คาร์บอนซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากที่สุดในโลก ระบุในการแถลงนโยบายครั้งหนึ่งว่า ชาติพัฒนาแล้วจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการแพร่ก๊าซเรือนกระจก เพราะเป็นฝ่ายที่เริ่มแพร่ก๊าซเรือนกระจกมานานแล้วและมีอัตราการแพร่ก๊าซเรือนกระจกของประชากรต่อหัวอยู่ในระดับสูง ดังนั้น ชาติพัฒนาแล้วจึงควรลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า ส่วนประเทศกำลังพัฒนาก็ควรจะสามารถ "พัฒนาเศรษฐกิจ" ต่อไปได้ ซึ่งมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่า จีนจะไม่ยอมลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกเป็นอันขาด

ชาวจีนคงจะปรบมือให้กับถ้อยแถลงอันหนักแน่นดังกล่าวของผู้นำจีน เพราะพวกเขาต่างก็รู้สึกขุ่นเคืองใจที่คนอเมริกันซึ่งชอบขับรถขนาดใหญ่ที่กินน้ำมัน แต่กลับมาสั่งสอนให้คนอื่นลดการแพร่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ตาม ความจริงที่อยุติธรรมก็คือ จีนกับอินเดียกลับต้องได้รับเคราะห์จากปัญหาโลกร้อนมากกว่าชาติตะวันตก ทั้งๆ ที่มิได้เป็นผู้ก่อปัญหา

ปัญหาโลกร้อนหรือภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคต่างๆ ไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น จีนและอินเดีย โดยเฉพาะในภาคเหนือจะมีอากาศร้อนขึ้นมากกว่าในยุโรปตะวันตก โดยอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 8-9 องศาฟาเรนไฮต์ และเนื่องจากรูปแบบของฝนตกที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้ปัญหาน้ำท่วมและความแห้งแล้งรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนโดยตรง ดังนั้น จีนกับอินเดียจะต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงขึ้น

ภาคตะวันตกและภาคใต้ของจีนเคยเผชิญอุทกภัยที่หนักกว่าเดิมถึง 7 เท่ามาแล้ว เมื่อเทียบกับอุทกภัยที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 จีนกับอินเดียยังจำเป็นต้องเพิ่มการชลประทานอีก 15% และ 5% ตามลำดับ ภายในทศวรรษ 2020 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่เพียง 1-3% เท่านั้น นอกจากนี้ คาดว่าพายุไซโคลนในแปซิฟิกจะยิ่งรุนแรงขึ้น จะทำให้เกิดกระแสลมกระโชกแรงและฝนที่อาจตกหนักถึงขนาดทำให้น้ำท่วมโลกเหมือนยุคโนอาห์ได้

แต่สิ่งที่อาจจะเลวร้ายที่สุดคือ น้ำจืดจะหายากขึ้นทั้งในจีนและอินเดีย ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ต้องเพิ่มการชลประทานมากขึ้นไปอีก น้ำจืดส่วนใหญ่ที่ทั้งสองประเทศได้รับ เพื่อนำมาใช้ในการเกษตรและดื่มกินมาจากธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบตและเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งหล่อเลี้ยงแม่น้ำคงคา สินธุ แยงซีและฮวงโหในอินเดียและจีน ขณะนี้เทือกเขาหิมาลัยมีอากาศอุ่นขึ้นเร็วกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกถึง 3 เท่า ผลก็คือธารน้ำแข็งบนหิมาลัยกำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วกว่าที่อื่นๆ ในโลก และอาจหมดสิ้นไปภายในปี 2035 ส่วนแม่น้ำคงคาและสินธุก็อาจเปลี่ยนไปเป็นแม่น้ำที่ไม่มีน้ำตลอดทั้งปี

คาดว่า น้ำจืดสำหรับประชากรหลายพันล้านคนของอินเดียและจีนจะลดลง 20-40% ภายในศตวรรษนี้ เมื่อรวมกับปัญหาหิมะในฤดูใบไม้ผลิละลายเร็วเกินไป ไม่ตรงกับฤดูกาลเพาะปลูกซึ่งเกษตรกรต้องใช้น้ำ จะทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง 10% ภายในปี 2030 และจะยิ่งลดลงมากกว่านั้นเมื่อคิดเฉลี่ยต่อหัวประชากร

จีนได้เผชิญกับความแห้งแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษมาแล้ว เมื่อประชากรจีน 300 ล้านคนขาดแคลนน้ำดื่ม และพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะข้าวสาลีเสียหาย 50 ล้านเอเคอร์ คณะกรรมาธิการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลว่าด้วยปัญหาภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงของสหประชาชาติ (IPCC) คาดการณ์ด้วยว่า ผลผลิตข้าวในเอเชียจะลดลง 10% เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาฟาเรนไฮต์ จากระดับอุณหภูมิที่ต่ำสุดในฤดูกาลเพาะปลูก

ปัญหาโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อลมมรสุม ลมมรสุมในอินเดียเกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างพื้นดินกับพื้นน้ำ ในฤดูร้อนพื้นดินจะร้อนกว่าในมหาสมุทรอินเดีย จึงขับมวลอากาศจากมหาสมุทรเข้าสู่พื้นดิน พร้อมกับนำเอากระแสลมและฝนมาด้วย ซึ่งจำเป็นต่อการทำเกษตร แต่จากโมเดลสภาพอากาศแสดงว่า ปัญหาโลกร้อนทำให้พื้นดินร้อนกว่าทะเลมาก ซึ่งหมายความว่า ลมมรสุมอินเดียจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ลมมรสุมที่มีความรุนแรงมากขึ้นได้สร้างโศกนาฏกรรมและ ความเสียหายอย่างมหาศาลแก่อินเดียมาแล้ว โดยคร่าชีวิตผู้คนไป 2,200 คน เมื่อปี 2004 และทำให้คนอีกนับหมื่นๆ คนไร้ที่อยู่อาศัย ลมมรสุมอินเดียยังมาเร็วกว่าปกติ จากเดิมที่จะพัดมาในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ทำให้ฝนตกคลาดเคลื่อนไปจากฤดูกาลปกติรวมทั้งวงจรการเพาะปลูกพืช ส่วนจีนกลับตรงข้ามกับอินเดีย ลมมรสุม ในช่วงฤดูร้อนจะอ่อนแรงลงกว่าปกติ เนื่องจากปัญหาโลกร้อนได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการไหลเวียนของอากาศในเขตร้อน

อินเดียกับจีนจึงตกเป็นผู้รับเคราะห์ปัญหาโลกร้อนที่แท้จริง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ก่อปัญหาก็ตาม

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 7 กันยายน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.