|

เมื่อการลดคาร์บอนแก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ถึงเวลาที่เราควรพิจารณาวิธีอื่นๆ ในการแก้ปัญหาโลกร้อน
เมื่อผู้นำโลกไปประชุมสุดยอดเพื่อแก้ปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ Copenhagen ในเดือนธันวาคมนี้ สิ่งที่พวกเขาจะต้องตัดสินใจในการประชุมดังกล่าวจะส่งผลต่อโลกไปอีกหลายชั่วอายุคน เหลือเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้นก่อนที่จะถึงวันประชุม แต่กลับยังไม่มีการหารืออย่างจริงจังเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะต้องตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน และจนถึงทุกวันนี้ยังคงมีคนที่ไม่เชื่อว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องจริง ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งก็กลับเชื่อไปในทางตรงข้ามว่า ปัญหาโลกร้อนอาจหนักหนาถึงขั้นทำให้ทุกชีวิตบนโลกต้องดับสูญ
ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศสรุปชัดแล้วว่า ปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ แต่ทางแก้ปัญหาใน ขณะนี้ดูเหมือนจะทำกันอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้น คือการเรียกร้อง ให้ชาติร่ำรวยลดการแพร่คาร์บอนมากเท่าใดยิ่งดี แต่วิธีการนี้กำลังล้มเหลว ในขณะที่แนวคิดอื่นๆ ในการแก้ปัญหาโลกร้อนกลับไม่ได้รับการสนใจเหลียวแล
ที่นครเกียวโตเมื่อปี 1997 ผู้นำโลกต่างให้สัญญาว่าจะลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกลง 5% จากระดับของก๊าซเรือนกระจกในปี 1990 โดยจะลดลงให้ได้ภายในปี 2010 แต่พวกเขากำลังจะพลาดเป้าหมายดังกล่าวถึง 25% ขณะนี้ผู้กำหนดนโยบายบางคน เริ่มเรียกร้องให้ลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกให้มากยิ่งขึ้นอีก คือลดลง 80% จากระดับของก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน โดยให้ลดลงให้ได้ภายในปี 2050 ทั้งๆ ที่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เพียงแค่ 5% ก็ยังแทบจะทำไม่ได้ สหรัฐฯ กำลังจะออกกฎหมายจำกัดการแพร่ก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ช่วยอะไรได้มากนักในการแก้ปัญหาโลกร้อน และต่อให้โลกอุตสาหกรรมพร้อมใจกันออกกฎหมายแบบเดียวกับสหรัฐฯ ทั้งหมด ก็อาจจะทำให้อุณหภูมิของโลกลดลงเพียงเล็กน้อยประมาณ 0.22 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 เท่านั้น
ต่อให้ชาติอุตสาหกรรมทั้งหมดประสบความสำเร็จในการลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกลงได้มากที่สุด ก็ต้องแลกมาด้วย การสูญเสียความมั่งคั่งอย่างมหาศาล เพราะการลดการแพร่คาร์บอน เพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส อย่างที่สหภาพยุโรป (EU) และกลุ่ม G8 หวังไว้นั้น Richard Tol นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์และสังคมในไอร์แลนด์ชี้ว่า จะทำให้ GDP ลดลง 12.9% ภายในสิ้นศตวรรษนี้ หรือคิดเป็นเงินที่จะต้องสูญเสียไปถึง 40 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี หรือกว่า 4,000 ดอลลาร์ต่อคน แต่ประโยชน์ที่จะได้กลับมาแทบไม่คุ้ม เพราะจะสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากโลกร้อนได้เพียง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น
งานวิจัยของ Tol ข้างต้น เป็นหนึ่งในรายงานที่จัดทำโดยศูนย์ Copenhagen Consensus Center เพื่อเปรียบเทียบประโยชน์และค่าใช้จ่ายของวิธีการต่างๆ ในการแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งดูเหมือนจะขัดกับรายงานเมื่อปี 2006 ของนักเศรษฐศาสตร์ Nicholas Stern ซึ่งได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกไว้ค่อนข้างต่ำ แต่ประเมินความเสียหายที่เกิดจากปัญหาโลกร้อนไว้สูง อย่างไรก็ตาม Stern ยอมรับว่า ขณะนี้ค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของการลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจก น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากที่เขาเคยระบุไว้ในรายงานเมื่อ 3 ปีก่อน
ยังมีทางเลือกอีก 2 ทางสำหรับการแก้ปัญหาโลกร้อน ทางแรกคือการลงทุนในด้าน climate engineering ซึ่งเป็นการลดอุณหภูมิของโลกด้วยฝีมือมนุษย์ เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ช้าลง ยกตัวอย่าง การใช้เรืออัตโนมัติคอยพ่นน้ำทะเลขึ้นไปในอากาศ เพื่อทำให้เมฆมีสีขาวขึ้น สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น เป็นการช่วยเสริมกระบวนการของธรรมชาติ การสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์กลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศเพียงแค่ 1-2% เท่านั้น ก็สามารถจะช่วยลดอุณหภูมิของโลกได้มากพอๆ กับที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากระดับก่อนที่โลกจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมได้ทำให้โลกร้อนขึ้น
การลงทุนประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์กับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี climate engineering ข้างต้น สามารถจะลดความเสียหายที่จะเกิดจากปัญหาโลกร้อนลงได้ถึง 20 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ มีงบประมาณวิจัยด้านปัญหาโลกร้อน 6 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หากนำงบประมาณส่วนนี้เป็นระยะ 18 เดือน ซึ่งจะเท่ากับ 9 พันล้านดอลลาร์มาใช้ลงทุนในด้าน climate engineering อาจช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นได้ไปตลอดศตวรรษนี้เลยทีเดียว แม้ว่าวิธีนี้อาจจะก่อให้เกิดคำถามในเชิงตรรกและจริยธรรม แต่ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาโลกร้อนวิธีหนึ่งที่เป็นไปได้ ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า และอาจได้ผลมากกว่าวิธีลดการแพร่คาร์บอน
อีกวิธีหนึ่งคือ การที่โลกร่วมกันลงทุนในการวิจัยและพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาด เพื่อลดการพึ่งพิงเชื้อเพลิงที่มาจากซากพืชซากสัตว์อย่างเช่นน้ำมัน เราจำเป็นต้องมีพลังงานที่ปราศจากคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น หมายถึงการเพิ่มพลังงานลม แสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอื่นๆ ให้มากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันอีกหลายร้อยเท่า การลงทุนประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ในการวิจัยพลังงานสีเขียวอาจทำให้เราสามารถแก้ปัญหาภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงได้ ภายในเวลาเพียง 1 ศตวรรษ หรือกว่านั้น โดยเงินที่ลงทุนไปทุกๆ 1 ดอลลาร์จะสามารถลดความเสียหายที่เกิดจากโลกร้อนได้ประมาณ 11 ดอลลาร์
Llomborg ผู้อำนวยการ Copenhagen Consensus Center ในเดนมาร์ก เตือนว่า หากเรายังคงดึงดันที่จะใช้แต่วิธีลดการแพร่คาร์บอนต่อไป อาจจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้อย่างใหญ่หลวง แต่กลับไม่สามารถยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นได้ เราจึงควรมองหาวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาโลกร้อน ที่นอกเหนือไปจากเพียงการลดการแพร่คาร์บอน ซึ่งกำลังเป็นวิธีการที่ใช้ไม่ได้ผล
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 7 กันยายน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|