|
ปฏิวัติอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นสีเขียว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ถูกมองว่าเป็น "ผู้ร้าย" ที่สร้างหายนะแก่สิ่งแวดล้อม แต่ธุรกิจนี้กำลังจะเปลี่ยนไป
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคนดังที่เป็นมังสวิรัติหลายคนอย่าง Paul McCartney ต่อต้านการกินเนื้อสัตว์อย่างแข็งขัน พวกเขาไม่เพียงบอกว่า การกินเนื้อเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ อย่างความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจเท่านั้น แต่ยังประณามอุตสาหกรรมเนื้อว่า ย่ำยีทำลายทั้งป่า ดินและอากาศ โดยเฉพาะอากาศ เนื่องจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นแหล่งใหญ่ที่แพร่ก๊าซเรือนกระจก
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ทุกๆ ปี วัวผลิตก๊าซมีเทนเฉลี่ยตัวละ 180 กิโลกรัม ทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออก ไซด์ถึง 25 เท่า ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า กระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ทั้งหมด ตั้งแต่การทำปศุสัตว์ในทุ่งหญ้าไปจนถึงมือผู้บริโภค เป็นตัวการแพร่ก๊าซเรือนกระจกถึง 18% ของการแพร่ก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ปีที่แล้ว Rajendra Pachauri ประธานคณะกรรมาธิการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกของสหประชาชาติ ถึงกับเรียกร้องให้ทุกคนงดรับประทานเนื้อสัตว์อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดให้ทุกวันจันทร์เป็นวันงดรับประทานเนื้อสัตว์โลก "เพียงแค่งดรับประทานเนื้อสัตว์ คุณก็ช่วยโลกได้แล้ว" คือวาทะอันโด่งดังของ Paul McCartney
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 1960 การผลิตเนื้อสัตว์ทั่วโลกกลับเพิ่มขึ้น 4 เท่า เป็นมากกว่า 280 ล้านตันต่อปี และต่อให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศร่ำรวยเลิกรับประทานเนื้อสัตว์กันทั้งหมด แต่การบริโภคเนื้อสัตว์ก็จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป เนื่องจากความต้องการที่มากขึ้นในประเทศที่ชนชั้นกลางกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างจีน บราซิล และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ บรรดานักวางแผนด้านสิ่งแวดล้อมจึงล้มเลิกความพยายามที่จะกำจัดอุตสาหกรรมเนื้อ แต่เปลี่ยนมาเป็นการพยายามจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นสีเขียว
การผลิตเนื้อโค เนื้อสุกร หรือเนื้อไก่เป็นกระบวนการที่อาจทำลายสิ่งแวดล้อมได้มาก เริ่มตั้งแต่การถางป่าเพื่อทำเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์จนถึงการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตปุ๋ย เพื่อเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารสัตว์ ถ้าเทียบกับการผลิตเต้าหู้ การผลิตเนื้อสัตว์ ใช้ที่ดินมากกว่าการผลิตเต้าหู้ถึง 17 เท่า ใช้น้ำมากกว่า 26 เท่า ใช้เชื้อเพลิงมากกว่า 20 เท่า และใช้สารเคมีมากกว่า 6 เท่า และในบรรดาเนื้อสัตว์ทั้งหมด การผลิตเนื้อโคทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
เพื่อให้ได้เนื้อโค 1 กิโลกรัม ต้องใช้ที่ดินมากกว่าการผลิต เนื้อไก่ 1 กิโลกรัมถึง 7 เท่า และมากกว่าการผลิตเนื้อสุกรถึง 15 เท่า อย่างไรก็ตาม ทั้งนักวิทยาศาสตร์ เกษตรกรผู้เลี้ยงโค และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างเชื่อว่า สามารถจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมนี้จากที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างในกระบวนการผลิตเนื้อโคตั้งแต่ต้นจนจบ เปลี่ยนวิธีการเลี้ยง การให้อาหาร และสร้างวัว "สะอาด" ผ่านเทคโนโลยีด้านพันธุกรรมสมัยใหม่ บัดนี้ การค้นหา "green meat" ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
การค้นหาวัวสะอาดเริ่มต้นที่ตัววัว เมื่อวัวกินอาหาร กระเพาะของมันจะผลิตก๊าซมีเทน วัวสามารถย่อยหญ้าได้ดี แต่ถั่วเหลืองกับข้าวโพดซึ่งเป็นอาหารที่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ส่วนใหญ่ นิยมนำมาใช้เลี้ยงวัว จะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะของวัวมากเกินไป เพื่อแก้ปัญหานี้ ฟาร์มบางแห่งใน Vermont และฝรั่งเศส เริ่มหวนกลับไปใช้วิธีการเลี้ยงวัวแบบดั้งเดิม ซึ่งช่วยให้สุขภาพของวัวดีขึ้น และยังทำให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้นด้วย ที่สำคัญคือลดการแพร่ก๊าซมีเทนจากวัวได้ ขณะนี้อเมริกาก็เริ่มเดินรอยตามเช่นกัน
วิธีเลี้ยงวัวแบบดั้งเดิมคือ ไม่ให้อาหารที่เป็นถั่วเหลืองและที่มีข้าวโพดเป็นส่วนผสมให้แก่วัว แต่ให้วัวกินต้น flax และ alfalfa หรือพืชตระกูลถั่วที่มีฝัก อันเป็นวิธีที่เคยใช้มานานนมแทน เพราะเป็นพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารและกรดไขมันชนิดดี
ในแคนาดา ซึ่งการเลี้ยงปศุสัตว์เป็นตัวการแพร่ก๊าซเรือนกระจกถึง 72% ของการแพร่ก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด นักวิทยาศาสตร์ขะมักเขม้นอยู่กับการปรับสมดุลเคมีในอาหารสัตว์ กล่าวคือปรับสัดส่วนของสารอาหารหลักในอาหารสัตว์ให้สมดุล เช่น เซลลูโลส ไขมัน น้ำตาลและแป้ง เพื่อลดคาร์บอนในวัว
แต่โครงการที่เป็นที่น่าตื่นใจยิ่งกว่า คือการพยายามจะปรับ รหัสพันธุกรรมของวัว นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย University of Alberta กำลังตรวจสอบ DNA ในกระเพาะทั้งสี่ของวัว เพื่อค้นหายีนตัวที่ทำให้กระเพาะของวัวผลิตแก๊สและควบคุมปริมาณแก๊ส พวกเขาหวังว่าจะสามารถเพาะพันธุ์วัวสะอาดได้ ซึ่งจะสามารถลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกจากวัวลงได้ 25% ส่วนนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Colorado State University ได้ค้นพบ "เครื่องหมายพันธุกรรม" หรือ DNA marker ในวัว ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า จะช่วยให้สามารถเพาะพันธุ์วัวที่มีความสามารถในการย่อยอาหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลิตก๊าซมีเทนน้อยลง
การถางป่าเพื่อทำฟาร์มปศุสัตว์เป็นสาเหตุใหญ่อีกประการ ที่ทำให้การผลิตเนื้อสัตว์เป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม หลังจากบราซิลผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางการเกษตรเมื่อไม่กี่ปีก่อน บราซิลกลายเป็นประเทศที่แพร่ก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 4 ของโลก สาเหตุหลักเนื่องมาจากป่าฝน Amazon ถูกทำลาย แม้ว่าขณะนี้การโค่นป่าจะลดลงในบราซิล แต่พื้นที่ป่าฝนถึง 12,900 ตารางกิโลเมตร ได้ถูกทำลายลงไปในปีที่แล้ว ทำให้คาร์บอนมากถึง 160 ล้านตันถูกแพร่ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ บรรดากลุ่มสิ่งแวด ล้อมระหว่างประเทศยังรุมตำหนิบราซิล ที่มีแผนจะสร้างถนนตัดผ่านป่า Amazon และยอมก้มหัวให้กับกลุ่มธุรกิจการเกษตร ซึ่งกำลังขยายอาณาเขตจนอาจรุกล้ำพื้นที่ป่า
ผู้นำธุรกิจและผู้นำในรัฐบาลต่างเห็นด้วยกับการปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้บรรจุหีบห่อเนื้อสัตว์ในบราซิลอย่างเช่น บริษัท Marfrig ห้างใหญ่ระดับโลกอย่าง Wall-Mart ซึ่งขายอาหารสดด้วย บริษัทผลิตรองเท้าอย่าง Timberland และเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์หลายพันราย ได้ลงนามร่วมกันเพื่องดใช้ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผลิตมาจากพื้นที่ป่าที่ถูกตัดโค่นเพื่อใช้เป็นทุ่งเลี้ยงปศุสัตว์
อย่างไรก็ตาม เส้นทางของการปฏิรูปอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นและยังอีกยาวไกล การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างยังอยู่ในขั้นทดลองในฟาร์มเพียงบางแห่ง แต่ไม่ว่าธุรกิจนี้จะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นสีเขียวได้มากน้อยเพียงใด เนื้อสัตว์ก็จะยังความสำคัญบนโลกใบนี้ต่อไป
ต่อให้คนในประเทศร่ำรวยทั้งหมดเลิกกินเนื้อสัตว์ในวันนี้ แต่การบริโภคเนื้อสัตว์ก็จะยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของชนชั้นกลางในจีน บราซิลและประเทศอื่นๆ ชาวบราซิลบริโภคเนื้อแดงและสัตว์ปีก 89 กิโลกรัมต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าต่อคน เมื่อเทียบกับ 15 ปีก่อน ส่วนชาวจีนบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 1990 การบริโภคเนื้อโคในอินเดียพุ่งขึ้นถึง 36% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้แต่ในชาติยากจน การบริโภคเนื้อก็ยังเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นสินค้าเกษตรที่เป็นยอดปรารถนามากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่
แม้ว่าการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ได้ชะลอการบริโภคเนื้อสัตว์ลง แต่ก็จะเป็นเพียงชั่วคราว การบริโภคเนื้อสัตว์มากเกินไปอาจสร้างปัญหาสุขภาพในชาติตะวันตก แต่สำหรับชาติยากจนซึ่งประชาชนบริโภคธัญพืช ผัก ผลไม้เป็นส่วนใหญ่ เนื้อสัตว์และนมเพียงเล็กน้อยในแต่ละมื้อ ถือเป็นแหล่งอาหารโปรตีนชั้นยอด และที่สำคัญคือ ไม่มีใครสามารถจะห้ามไม่ให้ชนชั้นกลางในชาติกำลังพัฒนารับประทานเนื้อสัตว์ได้ โดยเฉพาะถ้าหากความพยายามในการปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประสบความสำเร็จ
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 7 กันยายน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|