|

เน้นขยายแฟรนไชส์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ว่า "เซเว่นอีเลฟเว่น" ตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 5,200 สาขาภายในสิ้นปีนี้ แต่ผู้บริหารก็มีนโยบายชัดเจนว่าสาขาที่จะเพิ่มขึ้นมาเป็นลักษณะของการขายแฟรนไชส์มากกว่าที่จะเปิดเอง
ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทพร้อมผลักดันการขายแฟรนไชส์ให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับบริษัท
ปัจจุบันมีผู้ซื้อแฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่นไปแล้ว 2,300 สาขา ส่งผลให้บริษัทสามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการ จากสาขาละ 3.5 ล้านบาท เหลือ 1.5 ล้านบาท โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนสาขาที่เป็นแฟรนไชส์จะเพิ่มเป็น 60% จากปัจจุบันอยู่ที่ 45%
เซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทยตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องติด 1 ใน 3 ของประเทศที่มีสาขามากที่สุด รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ปิยะวัฒน์ยังกล่าวถึงการปรับสัดส่วนสินค้าภายในร้านว่าจะเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่เป็นอาหารให้สูงขึ้นเป็น 80% โดยลดสัดส่วนสินค้าประเภทโกรเซอรี่ลงเหลือประมาณ 7%
อาหารที่ขายจะเน้นประเภทฟาสต์ฟู้ด อาหารแช่แข็ง หรือแม้แต่เบเกอรี่ที่เน้นความสดผลิตจากร้าน น้ำผลไม้ปั่น กาแฟ โดยส่วนหนึ่งผลิตโดยบริษัทในเครือซีพี
"อาหารทานวันเดียวหมดสามารถส่งเข้ามาขายได้ตลอดเวลา เพราะผู้บริโภคปัจจุบันต้องการความสะดวกสบาย ทั้งนี้สามารถสร้างกำไรสูงกว่า 30%"
สำหรับความพยายามในอีก 3 เดือนข้างหน้าผู้บริหารของบริษัทคาดว่าจะได้ข้อสรุปการเจรจาเพื่อต่อสัญญากับประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีอยู่ในสถานีบริการน้ำมันกว่า 700 สาขา ที่จะหมดสัญญาในอีก 4 ปีข้างหน้า
การประกาศเพิ่มสัดส่วนสาขาที่มาจากการขายแฟรนไชส์ของเซเว่นอีเลฟเว่นในครั้งนี้ ถือเป็นความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าจับตา เพราะเป็นการแสดงท่าทีในจังหวะที่เศรษฐกิจกำลังประสบปัญหา และสถานการณ์บีบบังคับให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เพิ่มเข้ามาในตลาดมากขึ้น
แต่จะประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการจะซื้อแฟรนไชส์ของเซเว่นฯ เอง ที่ว่ากันว่าตั้งเอาไว้สูงลิบลิ่ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|