พัฒนา “กล้วย” ให้เป็นอุตสาหกรรม


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่างานมหกรรม "กล้วย" แห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนสิงหาคมจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ประเด็นว่าด้วยความสำคัญของ "กล้วย" ในเชิงเศรษฐกิจยังเป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงไม่สิ้นสุด

เนื่องเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าการบริโภคภายในประเทศและส่งออก "กล้วย" สร้างรายได้ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทเลยทีเดียว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ไทยยังมีโอกาสขยายมูลค่าการส่งออกกล้วยได้อีกมาก รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์กล้วยรูปแบบอื่นๆเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าจากเส้นใยกล้วย หรือกระเป๋าสาน แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับการส่งเสริมและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการค้าก็จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากกล้วยของไทย สามารถแข่งขันได้

ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยเชิงการค้ามากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของประเทศนำเข้าที่สำคัญอย่างญี่ปุ่น ซึ่งมีปริมาณความต้องการนำเข้าจากไทยในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยกล้วยที่นิยมปลูกทั้งกล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า มีผลผลิตรวมกันมากถึงกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ การบริโภคในประเทศมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการบริโภคสดเท่านั้น หากยังมีการใช้ประโยชน์จากกล้วยอย่างหลากหลาย ซึ่งรวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกล้วยในลักษณะของสินค้า OTOP ประจำท้องถิ่นนั้นๆ ผลิตขายในรูปของ ของฝาก หรือซื้อไปทานเล่น

อย่างไรก็ดี หากประเมินจากปริมาณการค้ากล้วยในตลาดโลกมีประมาณ 8.8 ล้านตัน มูลค่าเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกกล้วยเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท

โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นหลังจากที่มีข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ส่งผลให้ญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้ากล้วยหอมทองจากไทยเหลือร้อยละ 0 ทันที ซึ่งตามข้อตกลงฯ ญี่ปุ่นจะจัดสรรโควตาการส่งออกไว้ปีละ 6,000 ตัน และเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ต่อปี โดยทำการตกลงผ่านกลไกสหกรณ์ระหว่างสองประเทศ แต่ไทยมีการส่งออกจริงเพียงปีละ 3,000 ตันเท่านั้น

ส่วนตลาดจีนคาดว่ายังคงขยายตัวได้อีกมาก โดยเงื่อนไขในการส่งออกกล้วยหอมไปยังจีนถือว่าเป็นเงื่อนไขที่แตกต่างจากญี่ปุ่น เพราะจีนอนุญาตให้ส่งออกกล้วยหอมโดยไม่จำกัดขนาด ขณะที่ญี่ปุ่นค่อนข้างที่จะเข้มงวดในการส่งออก โดยมีการกำหนดขนาดมาตรฐานที่เท่ากัน คือ 8-9 นิ้วต่อลูกเท่านั้น ทำให้คาดว่า ไทยน่าจะส่งออกกล้วยหอมไปจีนได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยรองรับกล้วยหอมที่ไม่สามารถส่งออกไปญี่ปุ่นได้

อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องพึงระวังกับปัจจัยเสี่ยงในการส่งออกกล้วยสดและผลิตภัณฑ์กล้วย โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพ เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งที่สำคัญของไทย ทั้งเอกวาดอร์ เบลเยียม คอสตาริกา และฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศต่างๆ เหล่านี้เป็นประเทศ ส่งออกรายใหญ่ของโลก

โดยการพัฒนาคุณภาพหมายรวมถึงสร้างความแตกต่างให้กับกล้วยและผลิตภัณฑ์กล้วย ซึ่งต้องมีการจัดการที่ได้มาตรฐานการส่งออก คาดว่าจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

นอกจากนี้ ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยเพื่อการส่งออกอย่างจริงจัง พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและเร่งพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกันยังมีผลิตภัณฑ์จากกล้วยที่ถือเป็นโอกาสของไทยที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับกล้วย และเหมาะที่จะส่งเสริมให้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ทั้งในมิติของขนมขบเคี้ยว อาหารหวาน ผลิตภัณฑ์บำรุง/ถนอมผิว ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกล้วยนำมาทอเป็นเสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งเชือกกล้วย ซึ่งทั้งหมดสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศในอนาคต

มูลค่าทางเศรษฐกิจของกล้วย กำลังทำให้ "กล้วย" ไม่ใช่ เรื่องกล้วยๆ ที่พร้อมจะดำเนินการกันอย่างง่ายๆ และกล้วยๆ ดังที่เข้าใจกันมาอีกต่อไปแล้ว

บางทีคำตอบจาก "กล้วย" อาจเป็นทางออกของสังคมไทยในอนาคตก็ได้ใครจะรู้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.