|
ไทยเข้มแข็งออกฤทธิ์ดันจีดีพีปี53บวก3.3%
ASTVผู้จัดการรายวัน(29 กันยายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังคงจีดีพีปี 52 ติดลบ 3% ก่อนปรับตัวเป็นบวก 3.3% ในปีหน้า หลังแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งสำแดงผลในทางบวก ประกอบกับข่าวดีเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในกลุ่มเอเชียปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน แนะจับตาปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบ 2 จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ยังคงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยทั้งปี 52 ที่ติดลบ 3% เช่นเดิม โดยเป็นการประมาณการแบบอนุรักษ์นิยมเนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีกว่าครึ่งปีแรกที่หดตัว 6% มาอยู่ที่ระดับ 0% โดยแบ่งเป็นไตรมาส 3 จะยังคงหดตัว 3-4% แต่ในไตรมาส 4 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ถึง 3-4% เช่นกัน เป็นผลโดยตรงจากผลสัมฤทธิ์ของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ทั้งจากวงเงินที่ลงทุนและโครงการที่จะเริ่มปฏิบัติจริงในไตรมาส 4 และการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจคู่ค้าในกลุ่มประเทศเอเชีย ส่วนในปี 53 คาดจีดีพีจะเติบโต 3.3% ซึ่งได้รับผลต่อเนื่องจากไทยเข้มแข็ง
อย่างไรก็ตามหากจะมีความเปลี่ยนแปลงไม่ให้เป็นไปตามประมาณการนี้ จะเกิดจากปัจจัยหลัก 5 ประการ ได้แก่ ราคาน้ำมัน ที่หากเปลี่ยนแปลงทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะมีผลกระทบต่อจีดีพี 0.2% รองลงมาคืออัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยหากเงินบาทเปลี่ยนแปลงทุก 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 0.3% การเบิกจ่ายของรัฐบาล และโครงการไทยเข้มแข็งที่ทุกการใช้จ่าย 100,000 ล้านบาท จะมีผลทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น 0.4% แต่หากเบิกจ่ายไม่ได้ตามเป้าหมายเชื่อว่าจีดีพีปีหน้าจะไม่ใช่ 3.3% แน่นอน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากสถานการณ์ทางการเมือง หากนิ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตาว่าจะมีวิกฤตระลอก 2 ตามมาหรือไม่ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย ที่หากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเปลี่ยนแปลงทุก 1% จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย 1.03% และจากทุกปัจจัยเสี่ยงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา หากรุนแรงมากจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าไทยยังไม่มีปัญหาฟองสบู่จากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แน่นอน เพราะสินเชื่อยังหดตัว และราคาบ้านยังไม่ขยับขึ้น อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ยังมีวินัยทางการเงินสูงมากไม่ใจอ่อนพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเช่นที่ธนาคารสหรัฐทำ
สำหรับภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนส.ค.ที่ผ่านมา มีสัญญาณฟื้นตัวดีต่อเนื่อง เห็นได้จากเครื่องชี้วัดการบริโภค ทั้งจากภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวน้อยลงจากเดือนก.ค. ขณะที่การจำหน่ายรถยนต์นั่งก็หดตัวลดลงเช่นกัน ส่วนการลงทุนก็ปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นและภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวน้อยลง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|