"ปิยะเวท" โรงพยาบาลในแนวคิดใหม่

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อบุญ วนาสิน ประธานโรงพยาบาลธนบุรี และเฉลียว อยู่วิทยา ประธานบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด พร้อมทุ่มเงินและร่วมกันวางแผนให้ "ปิยะเวท" เป็นโรงพยาบาลเพื่อสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรื่องที่กำลังร้อนแรงและน่าสนใจที่สุดในวงการแพทย์ จึงเกิดขึ้นบนถนนพระราม 9

การเกิดขึ้นของโรงพยาบาลปิยะเวท เมื่อ 8 ปีที่แล้ว มีรูปแบบที่ "ท้าทาย" การตลาดโรงพยาบาลในยุคนั้นอย่างมากๆ หลายคนในวงการธุรกิจได้สรุปว่า "สมศักด์ ฮุนตระกูล" ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้มองข้ามช็อตการตลาดไปหลายปีทีเดียว เพราะ เป็นการลงทุนสร้างโรงพยาบาลที่ทันสมัยขนาด 500 เตียง ในอาคารสูง 27 ชั้น มีการตกแต่งโรงพยาบาลอย่างใหญ่โตหรูหรา ใช้งบประมาณการก่อสร้างไปเกือบ 2,000 ล้านบาท

ด้วยความมั่นใจในคอนเซ็ปต์ ให้ คนป่วยได้รับความสะดวกสบาย เฉกเช่นเดียวกับโรงแรมชั้นดี จะสามารถดึงลูกค้ามาใช้บริการได้แน่นอน โดยไม่ได้คำนึงว่า ณ พื้นที่ตรงนั้นโดดเดี่ยวเกินไปไม่มีชุมชนมาซัปพอร์ต ในขณะเดียวกันยังมีโรงพยาบาลดังอื่นๆ ตั้งอยู่รายรอบเช่นโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลพระราม 9 โรงพยาบาลรามคำแหง

และแล้วบทสรุปของความผิดพลาด ก็เกิดขึ้นให้เห็นเร็วกว่าที่คาดคือ ความเป็น โรงพยาบาลแห่งใหม่ที่ยังไม่ได้การยอมรับ ประกอบกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจส่งผลให้ระยะเวลาเพียง 5 ปี ปิยะเวทมีหนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 1,800 ล้านบาท

เมื่อนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการโรงพยาบาลธนบุรี สนใจเข้ามาดำเนินการต่อในปี พ.ศ.2543 นั้น เขาได้มองไปยังทรัพย์สินของโรงพยาบาลปิยะเวท ที่มีทั้งอาคารสถานที่ และเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยครบครัน ดังนั้น ปัญหาเรื่องหนี้สินไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่โจทกย์อยู่ตรงที่ว่าจะโฟกัสไปยังตลาดลูกค้ากลุ่มไหน จะขายความแตกต่างในเรื่องอะไรจึงจะสร้างเม็ดเงินและทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้ฟื้นตัวขึ้นมาและอยู่รอดได้

ก่อนหน้าที่นายแพทย์บุญจะเข้ามาบริหารโรงพยาบาลปิยะเวทมีผู้ถือหุ้นใหญ่คนหนึ่ง ที่น่าสนใจอย่างมากๆ คือ เฉลียว อยู่วิทยา ประธานบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด

ช่วงเวลาที่เฉลียวเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน รพ.ปิยะเวทนั้นเขาอายุประมาณ 76-77 ปี (ปัจจุบันอายุ 81 ปี) เป็นผู้มีรายได้มหาศาลจากยอดขายกระทิงแดงในต่างประเทศ ธุรกิจ โรงพยาบาลจึงไม่น่าใช่ธุรกิจที่คนวัยเขาจะสนใจบุกเบิกทำขึ้นมาใหม่แน่นอน

บุญ วนาสิน เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงสาเหตุการเข้ามาของเฉลียวว่า เขามีเจตนา ที่จะช่วยเหลือแพทย์กลุ่มหนึ่งที่เข้าไปหาและบอกว่า ต้องการสร้างศูนย์โรคหัวใจ แต่ขาดแหล่งเงินทุน เฉลียวก็เลยได้ให้เงินมาหลายร้อยล้านบาท ต่อมาเมือโครงการนี้ไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เขาเลยต้องกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คนหนึ่งนับแต่นั้นมา

ปัจจุบัน รพ.ปิยะเวท มีนายแพทย์บุญและโรงพยาบาลในเครือถือหุ้นอยู่ 45% เท่ากับ กลุ่มของเฉลียว อยู่วิทยา ซึ่งถืออยู่ 45% เช่นกัน

"ตอนแรกเลยที่ผมเข้ามาได้มีความเห็นตรงกับคุณเฉลียว คือ อยากทำเป็น non-profit คือไม่เอากำไรเลย ผมก็ไปหาคณบดี ทั้งที่รามา ศิริราช จะยกให้เป็นศูนย์โรคหัวใจแทน แล้วให้ที่ทั้งหมด 20 ไร่ด้วย ตรงนั้นเรามีที่ดินรวมทั้งหมดประมาณ 23 ไร่แล้ว ยังมีตึกอีก เป็นเงินตอนนี้ก็ 3 พันล้านบาทเข้าไปแล้ว ผมก็บอกว่าไม่ต้องไปสร้างใหม่ ให้มาอยู่ที่นี่ แต่เขาไม่รับ

เมื่อเขาไม่รับ ก็มานั่งดูตัวเลข คือเรามีหนี้ 1,800 ล้านบาท ตอนนี้เหลือเพียง 620 ล้าน ได้ส่วนลดไปเยอะแล้วเราก็เพิ่มทุนอีก 200 ล้าน แสดงว่า หนี้ปิยะเวทภายในสิ้นเดือน กันยายนนี้จะเหลือเพียง 400 ล้านบาทเท่านั้นเอง นับว่าน้อยมากในกลุ่มโรงพยาบาล" นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานโรงพยาบาลปิยะเวท เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง และเพิ่มเติมว่า

ในแผนการตลาดกลุ่มผู้บริหารได้ตัดสินใจรุกตลาดต่างประเทศเต็มตัวโดยมีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่ด้านหลังอีก 20 ไร่ให้เป็นที่ตั้งของศูนย์แพทย์ทางเลือก เพื่อดูแลสุขภาพโดยวิธีการดูแลในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการบำบัดความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ แทนที่จะเป็น การรักษาด้วยยาและเครื่องมือสมัยใหม่ทางด้านการแพทย์อย่างเดียว โดยหวังจะให้เป็นศูนย์กลางทางด้านวิชาการในเรื่องแพทย์ทางเลือกที่ดีที่สุดของเอเชีย

ส่วนในพื้นที่โรงพยาบาลเดิมจะโฟกัสตลาดชัดเจนในเรื่องศูนย์กระดูก, ศูนย์รักษาโรคอ้วน และศูนย์ความงาม

เมื่อแผนการออกมาชัดเจน การดำเนินการส่วนหนึ่งก็ได้เริ่มต้นหมอไทยที่เก่งทางด้านกระดูก 4-5 คนในต่างประเทศ ถูกซื้อตัวกลับมาในอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาทต่อเดือน

สำหรับศูนย์โรคอ้วนได้ยึดโมเดลการทำงานมาจากโรงพยาบาลในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก มีตัวเลขการเข้ารักษาเพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งการเข้าเป็นสมาชิกของ Albert Einstein College of Medicine เพื่อรับรู้ข่าวคราวและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการแพทย์เกี่ยวกับโรคนี้

แพทย์เก่งๆ ที่โรงพยาบาลปิยะเวท ไปทาบทามมาจะได้รับการรับรองว่าที่นี่จะเป็นศูนย์กลางในการรักษาโรคอ้วนที่ดีที่สุดในเอเชีย กลยุทธ์การตลาดอย่างหนึ่งที่กำลังท้าทายความพร้อมของทีมแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวทก็คือ ขณะนี้กำลังติดต่อไปยังคนอ้วนคนหนึ่งในไทเป น้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม เดินไม่ได้ ให้มาทำการผ่าตัดรักษาตัวที่ รพ.ปิยะเวท โดยทางโรงพยาบาลจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด

ในกรณีนี้ทางโรงพยาบาลจะต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 2 ล้านบาท เพราะต้องเริ่มตั้งแต่พาคนไข้มาตรวจ และรักษาสุขภาพก่อนทำการผ่าตัดอย่างน้อย 3 เดือน รวมทั้งต้องดูแลหลังการผ่าตัดไปอีกระยะหนึ่ง แต่หากผ่าตัดสำเร็จ การยอมรับและชื่อเสียงจะเกิดขึ้นตามมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ศูนย์โรคอ้วนในโรงพยาบาลปิยะเวทจะเปิดตัวประมาณเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ โดยขณะนี้ได้ส่งหมอไทยไปเทรนที่ Albert Einstein College of Medicine จำนวน 2 คน ในปีแรกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากที่นั่นต้องมาเป็นผู้ช่วยทีมงานในห้องผ่าตัด หลังจาก นั้นจะมีการตั้งโทรทัศน์วงจรปิดไปที่อเมริกา เพราะโดยนโยบายในการเข้าเป็นสมาชิกของ สถาบันแห่งนี้ ต้องคอยดูแลและให้คำแนะนำตลอดเวลาในช่วงเวลาสำคัญในห้องผ่าตัด

ในเรื่องศูนย์ความงาม สิ่งที่ทำไปแล้วคือการดึงเอาสมาพันธ์คอสเมติกประเทศไทยมาอยู่บนชั้น 2 ของโรงพยาบาลปิยะเวท มีโครงการให้ทุนเพื่อทำการวิจัย มีโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องการผ่าตัดเต้านม รวมทั้งตั้งเป้าหมายให้ที่นี่เป็นศูนย์ศัลยกรรมพลาสติกที่มีชื่อของโลก

ภาพคนงานกำลังเร่งมือก่อสร้างศูนย์แพทย์ทางเลือกแห่งใหม่ กำลังปรากฏต่อสายตา พร้อมๆ กับการรุกคืบซื้อเครื่องมือที่ทันสมัย รวมทั้งทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญมาประจำในศูนย์ฯ ทั้งหมดเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำตลาดของโรงพยาบาลปิยะเวท หากไม่มี อะไรผิดพลาด อีกไม่นาน โรงพยาบาลปิยะเวทโฉมใหม่จะปรากฏต่อสายตา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.