เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นแน่หรือ


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

การล้มละลายติดต่อกันราวใบไม้ร่วงของแบรนด์เก่าแก่ ของญี่ปุ่นสะท้อนความกลวงในของการฟื้นตัวของญี่ปุ่น

โลกกำลังดีใจที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นส่งสัญญาณฟื้นตัวเสียทีหลังจากที่รอกันมานาน แต่เรายังอาจจะดีใจเร็วเกินไป จริงอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลกเมื่อไตรมาสที่แล้ว และเติบโตติดต่อกันมาถึง 6 ไตรมาสแล้ว แต่นั่นอาจไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัว

ผู้ที่บอกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัว ดูเพียงแค่ยอดส่งออกที่แข็งแกร่งและตลาดหุ้นซึ่งตกต่ำมานานที่โตขึ้น 30% เท่านั้น แต่ละเลยภาวะเงินฝืด (ดัชนีราคาผู้บริโภคตกลง 0.4% ในเดือนมิถุนายน) การบริโภคในประเทศตกต่ำ (ยอดขายในซูเปอร์มาร์เก็ตหดตัวลง 5% ในเดือนกรกฎาคม) และภาวะกำลังการผลิตล้นเกินในแทบทุกอุตสาหกรรม

การล้มละลายติดต่อกันราวใบไม้ร่วงของแบรนด์เก่าแก่ของญี่ปุ่น น่าจะเป็นตัวสะท้อนถึงความกลวงในของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ต้นปี 2002 เป็นต้นมา บริษัทเก่าแก่ของญี่ปุ่นพาเหรดกันยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์กันเป็นทิวแถว เริ่มจาก Secaicho ผู้ผลิตรองเท้าวิ่งยี่ห้อ Panther ที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังในโอลิมปิกปี 64 ที่กรุงโตเกียว Tsukuda ผู้ผลิตของเล่นที่เคยทำให้ตุ๊กตา Dakko-chan และลูกบิดรูบิกโด่งดังไปทั่วประเทศ Tohato ผู้ผลิตขนมที่มีชื่อเสียงอย่างข้าวโพดเคลือบคาราเมลและทาร์ตลูกเกด Toh Toh Shu Honpo โรงกลั่นสุราที่เก่าแก่มาตั้งแต่ปี 1690 และล่าสุด Fukusuka ผู้ผลิตถุงเท้าขาวสำหรับใส่กับชุดกิโมโนที่มีอายุถึง 121 ปี ข้อมูลจาก Teikoku Data Bank ระบุว่า หนึ่งในสี่ของบริษัทที่ล้มละลายทั้งหมดของญี่ปุ่นเป็นบริษัทที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วกว่าที่เคยมีสัดส่วนเพียง 5% ของบริษัทที่ล้มละลายทั้งหมดในช่วงปลายทศวรรษ 1980

มีหลายสาเหตุที่ทำให้บริษัทเก่าแก่ของญี่ปุ่นต้องล้มหายตายจากไปในอัตราที่รวดเร็ว ความไม่สามารถในการก้าวตามแนวโน้ม ใหม่ๆ ภาระหนี้สินที่ค้างมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 การแข่งขันจากจีนและตลาดเกิดใหม่อื่นๆ และที่สำคัญที่สุดคือ บริษัทเก่าแก่เหล่านี้มุ่งเน้นแต่การรับใช้ตลาดในประเทศ ซึ่งอยู่ในสภาพตกต่ำเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ดำเนินมายาวนาน นอกจากนี้บริษัทเหล่านี้ยังไม่ใหญ่พอเข้าข่ายบริษัทประเภทที่ "ใหญ่เกินกว่าที่จะล้ม" ซึ่งทำให้เจ้าหนี้หรือรัฐบาลไม่อาจปล่อยให้ล้มไปได้

บริษัทเก่าแก่ของญี่ปุ่นดูจะไม่มีทางออกอื่นใด นอกจากการล้มละลาย สังคมญี่ปุ่นไม่ใคร่นิยมการควบรวมกิจการเหมือนสหรัฐฯ หรือยุโรป จึงไม่มีเครือข่ายอุตสาหกรรมการซื้อกิจการ อันประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเรื่องการซื้อกิจการ นักกฎหมายด้านการควบรวมกิจการธนาคารที่จะเป็นตัวเชื่อมการตกลงซื้อกิจการและบุคลากรที่เชี่ยวชาญเรื่องการซื้อกิจการในแง่มุมอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทหนึ่งสามารถกลืนกิจการของคู่แข่งได้โดยที่ยังคงความแข็งแกร่งเอาไว้ได้

ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีอัตราการตายและการเกิดใหม่ของธุรกิจในระดับต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมด้วยกัน ทั้งนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการเริ่มธุรกิจใหม่ที่สูงลิ่ว กฎหมายภาษีที่ไม่เอื้อต่อการริเริ่มธุรกิจใหม่ และกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดต่างๆ ทำให้การริเริ่มธุรกิจใหม่ในญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากกว่าที่ใดในโลกในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว นักเศรษฐกรบางคนชี้ว่า การมีอัตราการเกิดใหม่ของธุรกิจที่ต่ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งของญี่ปุ่น

ขณะนี้เศรษฐกรหลายคนในญี่ปุ่นยังเตือนด้วยว่า ให้ระวังการคืบคลานเข้ามาของ "สังคมนิยมระบบการเงิน" ซึ่งหมายถึงการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าควบคุมกิจการธนาคารที่สำคัญทุกแห่ง อย่างเช่นการเข้ากอบกู้ธนาคาร Resona Bank ธนาคารใหญ่อันดับ 5 ของญี่ปุ่น ด้วยเงินมหาศาล 2 ล้านล้านเยนเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลพร้อมจะผลักภาระไปให้ประชาชนผู้เสียภาษี ขณะที่ยังคงปล่อยให้ Resona ปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ธนาคารส่วนใหญ่เมินอยู่ต่อไป และดูเหมือนว่า รัฐบาลกำลังจะทำแบบเดียวกันนี้อีกกับธนาคาร Mitsui Mining ซึ่งกำลังจะเป็นธนาคารแรกที่จะต้องขอเข้ารับความคุ้มครองจาก Industrial Revitalization Corp ที่รัฐบาลญี่ปุ่นก่อตั้งในเดือนพฤษภาคมปีนี้ เพื่อฟื้นฟูกิจการที่มีหนี้สินรุงรังโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี Junichiro Koizumi ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และพยายามปฏิรูประบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้พ้นจากการเป็นระบบที่ปล่อยให้แบรนด์เก่าแก่ของประเทศต้องตาย ไม่เอื้อต่อการเกิดแบรนด์ใหม่ๆ และพยายามจะถ่ายโอนอำนาจทางเศรษฐกิจมาอยู่ในมือของรัฐบาล แต่จนถึงวันนี้เขายังไม่ประสบความสำเร็จแม้แต่เพียงนิดเดียว กระนั้นก็ตาม เชื่อกันว่า Koizumi จะชนะเลือกตั้งอย่างง่ายดายทั้งในระดับพรรคและระดับประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้น ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งจะทำให้เขามีโอกาสสานต่อความพยายามปฏิรูประบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต่อไป ดังนั้น ไม่ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ใครๆ ต่างก็เชื่อว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นแล้ว ทำให้ Koizumi มีโอกาสที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปและดำเนินการปฏิรูป ระบบเศรษฐกิจที่มีปัญหาของญี่ปุ่นให้ดีขึ้น เพื่อที่จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างแท้จริงต่อไป

แปลและเรียบเรียงโดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
linpeishan@excite.com Newsweek September 8, 2003



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.