ตาที่สามบนหลังคาโลก

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

การเดินทางท่องเที่ยววัฒนธรรมทิเบตไม่เหมือนที่อื่นใดในโลก เพราะทิเบตมี 3 อย่างที่น้อยมาก คือ ออกซิเจน (68%) คน (2.6 ล้าน) และต้นไม้ แต่กลับมี economic value มาก ด้วยสัญลักษณ์เก่าแก่ 4 ประการ คือ เทือกเขาหิมาลัย, craftmanship, ผ้าแพรขาว Hada สำหรับต้อนรับและบูชา และล้อธรรมจักร (prayer wheel) ซึ่งเป็นกระบอกล้อหมุนรอบ ที่บรรจุมนตรา "โอม มณี ปัทมี หุง" ซึ่งแปลว่า "โอมมณีในดอกบัว"

ชาวทิเบตนิยมบริกรรมคาถานี้ขณะเดินหมุนล้อธรรมวันหนึ่งนับร้อยนับพันรอบเมืองลาซา ซึ่งมีถนนเวียนสามวงแหวน เป็นวิถีชีวิตที่เห็นสลับกับชีวิตทันสมัยบนถนนคอนกรีตที่นำความศิวิไลซ์ มาเรียงรายด้วยห้างสรรพสินค้า, ร้านค้าแบรนด์เนมดังๆ กับป้ายโฆษณาโทรศัพท์มือถือเกลื่อนเมืองหลวงลาซา

หลังอาหารเที่ยงแดดแรงแสงจัดจ้า ชีวิตทุกชีวิตของนครลาซาสงบนิ่งในกระแสลมหนาวราว 19 องศาในเดือนกันยายน ตามปกติชาวทิเบตนิยมพักผ่อนช่วงบ่ายๆ ก่อนจะเริ่มกิจวัตรประจำวันต่อหลังบ่ายสามโมงแล้ว ลมหายใจของทิเบตสงบ แต่สำหรับผู้มาใหม่ภายใน 1-2 วันกลับพบประสบการณ์แพ้อากาศเบาบาง (high altitude) มีอาการหัวใจเต้นแรง ปวดหัว สมองเต้นตุบๆ บางคนก็อาเจียน ท้องเสีย เมื่อออกแรงคุยนิดยกของหน่อยก็พาลเหนื่อยมาก ลมหายใจ ขาดเป็นห้วงๆ แทบเป็นลม จนบางครั้งต้องนอนพักสูดออกซิเจนที่โรงแรม Himalaya ตั้งเครื่องในห้องพักไว้บริการตามแต่จะรูดบัตรค่าอากาศมูลค่า 50 หยวนจ่าย แต่วิธีปรับตัวที่ดีที่สุดใน 1-2 วันแรกคือ ปฏิบัติธรรม สำรวมกายและใจ งดคุยและเดินช้าๆ เพื่อออมแรงและออกซิเจน จากนั้นอมบ๊วยจีนแล้วดื่มน้ำอุ่นมากๆ และ ทายาน้ำสมุนไพรทิเบตให้นอนหลับสนิท โดยยังไม่ต้องอาบน้ำในวันสองวันแรกเพื่อมิให้ร่างกายสูญเสียความร้อน

เขตปกครองตนเองทิเบตตั้งอยู่เหนือ ระดับน้ำทะเลกว่า 4,000 เมตร อยู่ระหว่าง อารยธรรมเก่าแก่ของจีนกับอินเดีย ขณะบินจากเฉิงตู เมืองหลวงมณฑลเสฉวนสู่ทิเบต จะแลเห็นยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ที่ปกคลุมด้วยหิมะสูงเสียดฟ้า 8,848 เมตร ภูมิประเทศที่นี่เต็มไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนเบื้องล่างเหมือนฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ตามหลักฐานธรณีวิทยาพบว่า ดินแดนทิเบต ที่เรียกว่าหลังคาโลกนี้เคยเป็นทะเล เมื่อ 20 ล้านปีก่อน เพราะเปลือกโลกส่วนทวีปเอเชีย ยุโรป และคาบสมุทรอินเดียเปลี่ยนแปลงรุนแรง ก่อให้เกิดที่ราบสูงแห่งใหม่ Qinghai-Tibet และเทือกเขาสูงใหญ่ในทิเบตเป็นต้นธารของสายแม่น้ำสำคัญๆ ของเอเชียทั้งสิ้น เช่น แม่น้ำคงคา ฮินดู พรหมบุตร โขง สาละวิน และ อิระวดี

กว่าห้าทศวรรษที่จีนได้ปกครองทิเบต ดินแดนขุมทรัพย์อันลี้ลับค่อยๆ เปิดสู่สายตาโลก ปีนี้น่านฟ้าทิเบตเปิดรับนักท่องเที่ยวกว่า 170,000 คนเข้าประเทศ โดยทางการจีนเปิดบินภายในระหว่างลาซา ถึงปักกิ่ง, เฉิงตู, เซี่ยงไฮ้, Guangzhou, Chongqing และซีอาน ขณะที่สายการบินระหว่างประเทศ มีเส้นทางบินจากลาซาถึง Kathmandu ในเนปาล เส้นทางสายไหมเหล่านี้ มีประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมเชื่อมโยงกันมานานนับพันๆ ปี

นอกจากนี้เส้นทางถนนระหว่างสนามบิน Gonggar ถึงนครลาซา ในอดีตต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะเดินทางถึงลาซาแต่ปัจจุบันรถวิ่งแค่ชั่วโมงครึ่งและในอนาคต อีกสองปีข้างหน้า คาดว่าจะใช้เวลาเดินทางแค่ครึ่งชั่วโมง เพราะสามารถลอดผ่านอุโมงค์ที่เกิดจากการเจาะทะลุภูเขาไปได้สบายๆ

ตลอดโปรแกรมเดินทางสัมผัสทิเบต 7 วัน Shirab Phuntsok หรือ"ซีผิง" เลขาสมาคมแลกเปลี่ยนวิเทศ สัมพันธ์ทิเบตได้ดูแลและประสานงานอย่างแข็งขัน เขาเป็นคนหนุ่มชาวทิเบตที่เกิดช่วงหลังๆ ปี ค.ศ.1959 ที่มีเหตุจลาจลหลังพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามาปลดปล่อยทิเบต ซึ่งจีนมองว่ายุคก่อนปี 1950 ชาวทิเบตส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบศักดินาแบบยุคกลางของยุโรป ซีผิงจบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยที่ทิเบต มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีนอย่างเห็นได้ชัดในฐานะคนรุ่นใหม่ เขาแสดงออกเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาอย่างเหมาะสม แต่ไม่เคยลบหลู่บรรพบุรุษ ในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับ "แชงกริลา" หรือดินแดนสุขาวดีหรือการกลับชาติมาเกิดของปัจเจกพุทธเจ้า

"ผมขออย่างหนึ่งอย่าเปรียบเทียบวัฒนธรรมของเรากับวัฒนธรรมที่อื่น ถ้าไม่เช่นนั้นคุณจะไม่เข้าใจ" ซีผิงกล่าว

สำหรับเวลาที่อยู่ทิเบตกับประสบการณ์ที่พานพบตัวแทนของคนในทิเบต หลากหลายสถานภาพอาชีพที่มีบทบาทพัฒนาทิเบต เช่น ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองทิเบต, พระลามะที่วัดจองกลาง (วัดต้าเจา), อธิการบดีมหาวิทยาลัยทิเบต, รองอธิบดีกรมเทคโนโลยีที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์, ผู้อำนวยการการแพทย์แผนทิเบตที่ปัจจุบัน ผลิตยาสมุนไพรกว่า 300 ชนิด, ไกด์หนุ่ม สาวที่นำชมโนบุลิงคา และวังโปตาลา มรดกโลกที่ทางรัฐบาลจีนทุ่มงบบูรณะใหญ่, คุณลุงชาวทิเบตผู้ลี้ภัยจากทิเบตไปสวิตเซอร์แลนด์ แล้วกลับคืนถิ่นกำเนิดอีก จนถึงผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านพัฒนา ซึ่งเป็นเจ้าของวัว 4 ตัว กับคณะนาฏศิลป์ชาวนาพื้นเมืองทิเบต ต้องยอมรับว่าความเข้าใจ ลึกซึ้งกับบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมและเศรษฐกิจการเมืองของทิเบตยังต้องใช้เวลามากกว่า 7 วัน แต่สิ่งที่โดนใจทันที คือ ทิเบตยังมีเสน่ห์ลี้ลับและงดงามในเชิงศิลปะวิทยาการโบราณเกี่ยวกับ เภสัชกรรมที่มีประวัติกว่า 3,000 ปี, ศาสนา, จิตรกรรม, นาฏศิลป์ และดนตรีอยู่มากๆ โดยมีทางการจีนให้การสนับสนุนเต็มที่

ณ กระโจมการแสดงที่ต้องใช้เวลาจัดกางกว่าครึ่งวัน เพื่อต้อนรับสื่อมวลชนไทย เราพบว่านาฏศิลป์พื้นเมืองที่ชาวนา หนุ่มสาวร่ายรำขับขานร้องด้วยเสียงแหลมสูงจากขุนเขาทิเบต มีลีลาวัฒนธรรมเผ่าชนพื้นเมืองหลากหลายที่เร้าใจและน่าติดตามตลอดการแสดงทั้งสิ้น 12 ชุด ยกตัวอย่างเช่น การเต้นรำจับมือรอบวงในรูปแบบที่เรียกว่า Guoxie, การเต้นแท็ปแบบทิเบตที่เรียกว่า Duixie และการร้องรำ ทำเพลงของหมู่ชาวนาทิเบตในฤดูเก็บเกี่ยว ที่เรียกว่า Guozhuang ซึ่งชุดที่มีชื่อเสียงมากมาจากอัมโด (คนจีนเรียกชิงไห่) ส่วนชุด Qiangmu เป็นพิธีกรรมร่ายรำของหมอผีซึ่งทรงเจ้าขับไล่วิญญาณชั่วร้าย มีการขับร้องเสียงสูงแบบโอเปร่า ซึ่งแสดงเรื่องราว ท่วงทำนองดนตรี การร่ายรำและพิธีกรรมพิเศษ

ทิเบตยังรักษาขนบประเพณีโบราณ ทางศาสนาพุทธนิกายมหายานที่ดำรงนานกว่าพันๆ ปีไว้อย่างน่าศึกษา เช่น ภาพจิตรกรรมอันวิจิตรเกี่ยวกับพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "Thangka" ที่ช่างเขียนบนหนังจามรีบางๆ น่าเสียดายที่เราไม่ได้เห็นภาพเขียนพระพุทธเจ้าผืนสูงใหญ่กว่า 50 เมตรที่ชาวทิเบตบูชากางแนบภูผาสูงใกล้วัดใหญ่ในเทศกาลโยเกิร์ตที่ทำถวายวัดที่เรียกว่า Shoton ซึ่งเพิ่งจบไป แต่ถึงกระนั้นเราก็ได้ไปชมภาพพระพุทธเจ้านับพันองค์ที่เขียนสลักที่ภูผาธรรมศักดิ์สิทธิ์ Thousand Buddha Cliff ในลาซา

แต่ที่สุดยอดของลาซาที่ทุกคนไม่พลาดคือ พระราชวังโปตาลา มรดกโลกที่ซึ่งเป็นพระราชวังฤดูหนาวของกษัตริย์โบราณและทะไลลามะ สร้างเมื่อ ค.ศ.7 ทุกเรื่องเล่าประวัติศาสตร์การเมืองและศาสนาเก่าแก่เข้มข้นจนสัมผัสได้ ณ จุดที่สูงที่สุดในโลกบนดาดฟ้า หลังคาสีทองและโดมที่ส่องแสงประกายเจิดจ้า มองเห็นปีกทิศตะวันออกคือ White Palace (Potrang Karpo) และ Red Palace (Potrang Marpo) แต่กว่าจะไต่บันไดไม้ที่เล็กชันถึงยอดวังโปตาลาก็มีขุมทรัพย์ทางปัญญาให้ชมมากมาย

มีข้อสงสัยประการหนึ่งเกี่ยวกับกรณีที่เราจะทราบได้เช่นไรว่า ผู้ใดเป็นท่านลามะองค์เก่ากลับชาติมาเกิด หรือภาษาทิเบตเรียกกันว่า "ตุลกู" ซึ่งปรากฏว่าคณะเราได้พบ 2 ท่านต่างกรรมต่างวาระกัน คือ ประธานสมาคมพุทธศาสน-สัมพันธ์ของทิเบต ซึ่งมอบคัมภีร์กานจุรซึ่งเป็นพระธรรมของชาวทิเบตให้แก่คณะของเรา และอีกท่านคือสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของลาซาที่เคยเป็นลามะลี้ภัยไปอยู่สวิตฯ 28 ปี

ท่านแรกได้กรุณาตอบข้อสงสัยนี้ว่า เป็นเรื่องที่ตระหนักรู้ตั้งแต่สองขวบ เมื่อบิดามารดาได้นำเรื่องเสนอต่อเจ้าอาวาสในวัดละแวกบ้าน เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบโดยผูกดวงชะตาขึ้นเพื่อพยากรณ์ แต่ก่อนเกิด และตรวจสอบร่างกายว่ามีเครื่องหมายตามตัว จากนั้นคณะกรรมการ จะตรวจระลึกชาติว่า เมื่อชาติก่อนเกิดเป็นผู้ใด นอกจากนี้ยังพิสูจน์โดยนำสมบัติเก่าออกมาปะปนกับของอื่นๆ อีก 30 ชิ้น ท่านเลือกได้ถูกต้อง 9 ชิ้น แต่ถ้าเลือกผิดเกินกว่า 2 ชิ้นถือว่าไม่ใช่ตัวจริง

นี่เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสในสิ่งที่ตามองไม่เห็น ต้องอาศัยตาที่สาม...

ภายใต้กลุ่มควันหนาจากธูปและแสงตะเกียงน้ำมันเนยริบหรี่ในวัดจองกลาง (Lhasa Jokhang Temple) ทำให้เห็นรูปต่างๆ เคลื่อนไปมาอยู่เบื้องหน้าพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวรพันกร และพันตา ขณะท่านลามะผู้ใหญ่นำชมและเล่าประวัติเก่าแก่ ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองในทิเบต เพราะเมื่อ ค.ศ.641 เจ้าหญิง Wencheng แห่งราชวงศ์ถังได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้า โดยเจ้าหญิงได้นำพระพุทธรูป Jowo Shakyamuni ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้มาประดิษฐานที่วัดจองกลางซึ่งสร้างเพื่อการนี้ด้วย ชาวทิเบตบูชารูปปั้นเจ้าหญิง Wencheng ในวัดนี้มาก

เท่าที่สังเกต วัดใหญ่ในทิเบตไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่พระหรือนักปฏิบัติธรรมอยู่กันเท่านั้น แต่เป็นเมืองเล็กๆ ในตัวที่มีทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์ สามารถซื้อเสื้อผ้า หนังสือ และของใช้จากร้านค้าบริเวณวัดนั้น แต่ปัจจุบันที่บริเวณลานกว้างทางเข้าวัดจองกลาง กลายเป็นแหล่งชอปปิ้งราคาถูกของนักท่องเที่ยวไปแล้ว

ทั้งนี้ในทิเบตมี 4 นิกาย คือ นิงมาปา (หมวกแดง) การ์กู ศากยะ และเกลักปา (หมวกแดง) ซึ่งสังเกตความแตกต่าง จากเครื่องประดับที่สวมใส่บนศีรษะในพิธีฉลอง ปัจจุบันจำนวนวัด 1,700 แห่งโดยมีพระจำนวน 46,000 รูป โดยทางการจีนให้งบพัฒนากว่า 400 ล้านหยวน

ชาวทิเบตถือเอาวันที่ 8 และ 15 ของเดือนเป็นวันพระ วันนั้นผู้เปี่ยมศรัทธาทุกเพศทุกวัย จะมาวัด มาไหว้พระท่าอัษฎางคประดิษฐ์ที่ร่างกาย 8 จุดแตะพื้น โดยนอนราบคว่ำหน้ากับพื้นที่ปูด้วยเบาะ เมื่อกราบไหว้เสร็จก็วางเคลื่อนไปข้างหน้า บางคนที่มีความมุ่งมั่นแรงกล้าก็กราบไหว้และหมุนล้อธรรมจักรไปตามถนนวงแหวน Lingkhor รอบเมืองลาซาทีเดียว การปฏิบัติ บูชาที่ย้ำทำปริมาณมากๆ เช่นนี้มีเห็นทั่วไปในทิเบต

อย่างไรก็ตาม ทิเบตยังคงมนต์ขลังทรงคุณค่าในศิลปวิทยาการโบราณที่น่าศึกษา ดังเช่นคำบอกเล่าของผู้บริหารองค์การเภสัชกรรมทิเบต ได้อธิบายถึงแพทย์แผนทิเบตและตำรายาสมุนไพรโบราณที่ทรงคุณค่า สมุนไพรยาที่หายากมากและมีราคาแพงจนห้ามส่งออก เช่น หญ้าหนอนทิเบต ซึ่งต้องเก็บจากเทือกเขาสูง Nagqu 4,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะบำรุงตับและปอด, บัวหิมะ ซึ่งเก็บจากที่สูงกว่า 3,500-5,000 เมตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต แก้โรคแพ้ที่สูง (Altitude sickness & stress) แต่ต้องยอมรับว่ายาทิเบตแก้โรคท้องเสีย และ ปวดหัวได้ผลชะงัดจริงๆ เมื่อคนในคณะของเราป่วย

ของดีในทิเบตมีอยู่มากเหมือนดังขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าลี้ลับที่คนนอกอย่างเราต้องการตาที่สามสัมผัส เพราะลึกๆ ของจิตวิญญาณของชาวทิเบตกว่า 2.6 ล้านคนยังคงอยู่ในโลกทิพย์ ขณะที่กายพวกเขาต้องสัมผัสโลกวัตถุนิยมที่หมุนเปลือกรอบๆ ประดุจล้อธรรมจักรที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวัฏจักร เก่า-ใหม่นั่นเอง ฤานี่คือ ทิเบตในนิยาม Shangri-La ยุคใหม่ ที่ไม่เคยปรากฏในงานเขียน เมื่อร้อยปีก่อน อย่าง "The Lost Horizon" ของนักเขียนอังกฤษ James Hilton มาก่อน!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.